วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564

สุนทรียศาสตร์ทางดนตรี

 

สุนทรียศาสตร์ของดนตรี

คำว่า "สุนทรียศาสตร์" ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Aesthetics" มาจากภาษากรีกว่า "Aistheticos" ซึ่งแปลว่า รู้ด้วย ผัสสะ และคำว่า ผัสสะนี้ หมายถึงการสัมผัสรู้หรือหยั่งรู้สุนทรียะหรือความงามอย่างเข้าใจ กล่าวโดยสรุปคือ คำว่า สุนทรียศาสตร์ เป็นเนื้อหาว่าด้วยการศึกษาเรื่อง มาตรฐานของความงามในเชิงทฤษฎีอันเกี่ยวกับประสบการณ์ทางสุนทรียภาพ กฏเกณฑ์ทางศิลปะ สุนทรียศาสตร์นับเป็นแขนงหนึ่งของปรัชญาในส่วนที่เกี่ยวกับการแสวงหาคุณค่า ในสมัยก่อนวิชานี้เป็นที่รู้จักกันในรูปแบบของวิชาทฤษฎีแห่งความงามหรือ ปรัชญาแห่งรสนิยม  ในทางปฏิบัติจริงนั้น ศิลปินใช้ธาตุ 4 อย่าง เป็นองค์ประกอบในการสร้างงานศิลปะ ซึ่งธาตุทั้ง 4 อย่างนั้นได้แก่

1. สื่อ (Media) เช่น ศิลปะทางดนตรีใช้ เสียง เป็นสื่อ 

2. เนื้อหา (Context) เช่น ศิลปะทางดนตรีใช้ สเกลเสียง โหมดเสียง สังคีตลักษณ์หรือไวยากรณ์เพลงและเนื้อร้องที่เป็นเนื้อหาของดนตรี

3. สุนทรียธาตุ (Aesthetical elements) ซึ่งมี 3 อย่างคือ ความงาม (Beauty) ความน่าเพลิดเพลินเจริญใจ (Picturesqueness) และความเป็นเลิศ เช่น ศิลปะทางดนตรีใช้สังคีตลักษณ์ในกระบวนแบบต่างๆ เป็นสุนทรียธาตุ

4. ศิลปินธาตุ (Artistic elements) หมายถึง ความในใจ หรือประสบการณ์เดิม หรือความใฝ่ฝันหรือความเฉลียวฉลาดเฉพาะตัว ที่ศิลปินแต่ละคนนำออกมาสอดแทรกไว้ในชิ้นงานของตนเอง อย่างเช่น สังคีตกวีนำทำนองเพลงพื้นบ้านของชนชาติตนสอกแทรกไว้ในเพลงคลาสสิก เป็นต้น

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ บทเพลงศาสนา

บทเพลงที่เกี่ยวกับศาสนาหรือเพลงในโบสถ์ ได้แต่งขึ้นถูกหลักเกณฑ์ตามหลักสุนทรียศาสตร์ของดนตรี เพื่อจุดประสงค์ในการโน้มน้าวจิตใจผู้ฟังให้นิยมเลื่อมใสศรัทธาในศาสนา

การสร้างชิ้นงานศิลปะดนตรีของสังคีตกวีต้องใช้ "เสียง"  (tone) เป็นสื่อ แม้ว่าตามความเป็นจริงนั้นเสียงย่อมไม่อาจอธิบายความให้ผู้ฟังนึกเห็น "ภาพ" ที่ชัดเจนได้ แต่ความไม่ชัดเจนของภาพนี้เองเป็นสื่อกระตุ้นให้ผู้ฟังจินตนาการตามเสียงที่ได้ฟังจนเกิดอารมณ์คล้อยตามและปฏิกิริยาสนองตอบได้อย่างเต็มที่ ตามแต่ถนัด ความสนใจ พื้นฐานความรู้ และประสบการณ์ด้านดนตรีของแต่ละบุคคล ทั้งนี้เป็นเพราะเสียงของดนตรีมีส่วนประกอบสำคัญ คือ จังหวะ ทำนอง เสียงประสาน ลีลาสอดประสาน และกระบวนแบบของดนตรี รวมกันเป็นเนื้อเดียวกันอยู่แล้ว เสียงดนตรีจึงมีพลังและความคล่องตัวที่จะเป็นสื่อกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟังได้อย่างดีเยี่ยม

การรับรู้ความงามหรือสุนทรียะของดนตรี

ดนตรีเป็นสุนทรียะหรือที่เรียกกันว่า ความงาม ความไพเราะ เป็นเรื่องของนามธรรมยากที่จะอธิบายให้เข้าใจด้วยภาษาเพราะแต่ละคนจะมีรสนิยมในเรื่องของความงามที่ต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับจะมีอิทธิพลต่อความชอบ ความรัก ความไพเราะ ความงาม ที่เกิดขึ้นในแต่ละคน ถึงแม้ว่าสุนทรียะทางดนตรีเป็นเรื่องนามธรรมเกิดขึ้นจำเพาะตัวบุคคลแต่เราสามารถสร้างประสบการณ์ให้เกิดการเรียนรู้ได้

ขั้นตอนในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ทางสุนทรียะที่ควรคำนึงถึง คือ

1.      ความตั้งใจจดจ่อ

ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องผนวกความตั้งใจจดจ่อต่อศิลปะ หรืออาจจะพูดอีกแง่หนึ่งว่าต้องมีความศรัทธาต่องานศิลปะ ความตั้งใจจดจ่อหรือความศรัทธามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเข้าถึงงานศิลปะ และในทำนองเดียวกันความไม่ตั้งใจไร้ศรัทธาเป็นการปิดกั้นสุนทรียะของศิลปะตั้งแต่แรกเริ่ม การฟังดนตรีด้วยความตั้งใจจดจ่อ ฟังด้วยความศรัทธา โอกาสที่จะตอบสนองต่อเสียงดนตรีที่ได้ยินมีสูงทั้งทางร่างกายและทางความรู้สึก การที่ได้ยินเสียงดนตรีตามภัตตาคารต่าง ๆ ในระหว่างการรับประทานอาหารหรือเสียงดนตรีในงานเทศกาลต่าง ๆ เสียงดนตรีเหล่านั้นได้ยินผ่าน ๆ หูเราไปโดยมิได้ตั้งใจฟัง ซึ่งไม่สามารถสร้างความงามทางสุนทรียะให้เกิดขึ้นได้ สุนทรียะทางศิลปะเน้นความรู้สึกทางจิตมากกว่าความรู้สึกทางกาย 

2.      การรับรู้

ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยการรับรู้ การรับรู้ เป็นความรู้ที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นๆ คืออะไร คุณภาพดีไหม และมีความเกี่ยวพันกันอย่างไร เป็นเรื่องของความรู้ไม่ใช่เรื่องของความจำหรือการจินตนาการ การรับรู้เป็นการรวบรวมความรู้สึกทั้งภายนอกและภายในที่มีผลต่อสิ่งเร้า แล้วเอามาสร้างเป็นความคิดรวบยอดต่องานศิลปะนั้น ๆ ซึ่งสามารถแยกออกเป็นขั้นตอนได้ว่าเป็นความรู้สึก การรับรู้ และการหยั่งรู้หรือการสร้างมโนภาพ

3.      ความประทับใจ

ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความกินใจหรือประทับใจในการสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียะนั้น อารมณ์ที่กระทบต่องานศิลปะสามารถแยกออกเป็นสองขั้นตอนด้วยกันคือ สภาพของจิตที่เปลี่ยนไปกับความรู้สึกที่สนองต่อจิต ซึ่งเกิดขึ้นตามในลำดับต่อมา เช่น ความดันเลือดในร่างกายเปลี่ยนแปลงให้หน้าแดง หน้าซีด การหายใจถี่แรง หรือการถอนหายใจ ความรู้สึกโล่งอกหรืออัดแน่น รู้สึกง่วงนอนหรือกระปรี้กระเปร่า สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกที่มีผลมาจากแรงกระทบทางอารมณ์ทั้งสิ้นความกินใจต่อเหตุการณ์และเสียงที่ได้ยิน ทั้งเหตุการณ์และเสียงที่กินใจจะจารึกจดจำไว้ในสมอง ถ้าโอกาสหวนกลับมาอีก ความกินใจที่เคยจดจำไว้ก็จะปรากฏขึ้นในความรู้สึกอีก การที่เราเคยได้ยินเสียงดนตรีในงานศพของคนที่เราเคารพรักและหวงแหน หรือในขณะที่เราอยู่ในอารมณ์เศร้า เรามักจะจำเหตุการณ์วันนั้นและเสียงเพลงที่ได้ยินอย่างแม่นยำ

4.      ความรู้

ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความรู้ การเรียนรู้ของคนอาศัยประสบการณ์ สุนทรียะเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจเป็นประสบการณ์ที่สามารถแยกแยะหรือวิเคราะห์ การนำมาปะติดปะต่อหรือการสังเคราะห์การสรุปรวบยอด การจัดหมวดหมู่หรือแม้การประเมินผล สิ่งเหล่านี้อาศัยประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจ เป็นตัวสำคัญ

5.      ความเข้าใจวัฒนธรรม

ประสบการณ์ทางสุนทรียะต้องอาศัยความเข้าใจวัฒนธรรมที่เป็นองค์ประกอบของศิลปะนั้น ๆ เพราะศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการที่เราเข้าใจวัฒนธรรมเป็นผลให้เราเข้าใจศิลปะอีกโสตหนึ่งด้วยเพราะ ศิลปะของชนกลุ่มใดย่อมเหมาะกับชนกลุ่มนั้น

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น