วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

MRM อัตลักษณ์การสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ ดนตรี

อัตลักษณ์การสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้  ดนตรี
MRM  จากแนวคิดอัตลักษณ์เทคนิควิธีสอน  ทำให้ดู ให้ลงมือทำ เกิดองค์ความรู้ เพื่อเข้าใจ อธิบายบอกต่อ
M        หมายถึง     mirror(V)       =   นักเรียนทำเลียนแบบครู ครูเป็นกระจกให้นักเรียนทำตาม
R        หมายถึง     rehearse (V)  =   การซักซ้อมฝึกซ้อมคือการที่นักเรียนทำการปฏิบัติฝึกซ้อมที่จะทำให้ดีกว่าเดิม
M       หมายถึง     master(V)      = เรียนรู้เกิดการเข้าใจอย่างถ่องแท้ อย่างละเอียด คือlearn,understand  จนสามารถอธิบาย บอกต่อได้ 

            การคิดและการรู้ (thinking  and  knowing)  เป็นขั้นตอนประการสำคัญยิ่งในการเรียนวิชาการต่าง ๆ   มนุษย์เราจะไม่สามารถรับรู้   เรียนรู้   ตอบสนอง  หรือ  ประสบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้เลยถ้าปราศจาก  การคิดและการรับรู้   ตัวอย่างที่ง่ายที่สุด คือ   การที่นักเรียนในชั้นเรียนเดียวกัน (อาจจะมีจำนวนตั้งแต่ 5 – 40 คน)  ได้เรียนวิชาเดียวกัน   อาจารย์ผู้สอนคนเดียวกัน  ใช้หนังสือแบบเรียน  หลักสูตรเดียวกัน   ทำไมเด็กบางคนถึงประสบความสำเร็จ  สามารถสอบผ่านได้คะแนนระดับสูง  บางคนสอบได้ปานกลาง  บางคนก็เกือบสอบตก  บางคนก็เกือบสอบผ่าน   นี่เป็นเพราะกระบวนการเรียนรู้เป็นความสามารถเฉพาะตนของมนุษย์แต่ละคน   มนุษย์ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่สามารถโปรแกรมคำสั่งต่าง ๆ แล้วสามารถจดจำทำตามได้  แต่เงื่อนไขทางการรับรู้ของมนุษย์นั้นแตกต่างจากคอมพิวเตอร์    และสลับซับซ้อนกว่ามากนัก 
            ตามหลักกายวิภาคของสมองมนุษย์นั้น    กมลพรรณ  ชีวพันธุศรี (2546:25-26) ได้กล่าวว่า  สิ่งที่นักวิจัยค้นพบมากมายเกี่ยวกับสมองซีกซ้ายและซีกขวา  นั่นคือ  สมองซีกซ้ายมีความสามารถในการวิเคราะห์และการจัดการแบบแยกส่วน ๆ แต่สมองซีกขวาจะจัดการโดยเป็นภาพรวมทั้งหมด  สมองซีกซ้ายจะเกี่ยวกับความสามารถในการใช้ภาษาพูด  การวิเคราะห์   การจัดลำดับก่อนหลัง  ควมคุมพฤติกรรม  รู้เวลาและสถานที่   การเรียนรู้ภาษา  คณิตศาสตร์     สมองซีกขวาจะมีความสามารถเกี่ยวกับท่าทาง  ความสนุกสนานทางดนตรี  เรื่องของภาพรวม  จินตนาการ  ไหวพริบ  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  การสังเคราะห์  และการคิดสิ่งใหม่ ๆ    ดังนั้น    การวิจัยต่าง ๆ  จึงสนับสนุนให้ประเมินผลการเรียนรู้ของมนุษย์แบบ  Authentic  (ความเป็นมนุษย์ของคน ๆ นั้น) คือ ความรู้  ความมีสติ  ศักยภาพ  ความสามารถในการแก้ไขปัญหา  และผลงาน   มากกว่าที่จะประเมินด้วยการสอบวัดผลเพียงอย่างเดียว   สมัยนี้จึงมีการใช้แฟ้มสะสมงาน (Portfolio)  เป็นส่วนที่ใช้บอกศักยภาพของเด็กได้          
            ข้อความที่กล่าวมาข้างต้น   ทำให้ทราบว่าในการเรียนรู้วิชาการต่าง ๆ ของมนุษย์นั้น   มีผลมาจากการทำงานของสมองด้วย   ซึ่งความเข้าใจในเรื่องนี้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางการศึกษา   ความเชื่อเรื่อง IQ  ของมนุษย์ว่าจะเป็นตัวตัดสินความฉลาดของบุคคลก็ถูกลดความสำคัญลงมา  เพราะปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่า   ความฉลาดของมนุษย์นั้นไม่ได้มีเพียงความสามารถทางการคิดด้านเดียวเท่านั้น   ดังที่   โฮวาร์ด   การ์ดเนอร์ (Howard  Gardner)  ได้ศึกษาและจำแนกความเก่งของคนไว้ 7 ประการหลัก  ได้แก่  ด้านภาษา (verbal/linguistic)  ด้านดนตรี/ จังหวะ (musical/rhythmic) ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (logical/ mathematical)  ด้านการเคลื่อนไหว (body/kinesthetic) ด้านศิลปะ/มิติสัมพันธ์ (visual/spatial)  ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล/การสื่อสาร (interpersonal) และด้านความรู้สึก/ความลึกซึ้งภายในจิตใจ (intrapersonal) (วิชัย   วงษ์ใหญ่, 2541: 63-64)   ความเก่งหรือความสามารถนี้มีรูปแบบการพัฒนาเฉพาะตัว  มีรูปแบบทางความคิดที่แยกต่างหากออกไปชัดเจนจากสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน   ซึ่งมีอิทธิพลและส่งผลต่อการเสริมสร้างสติปัญญา  ความสามารถ   หรือความเก่งที่แตกต่างอย่างชัดเจน  
           
การเล่นและการร้อง (Playing  and  Singing) เป็นการแสดงออกทางความสามารถทางดนตรีด้วยอาการกระทำซึ่งเกิดจากความตั้งใจ    ถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่า  ในการแสดงออกซึ่งการเล่นและการร้องนั้น   ส่วนหนึ่งเกิดจากความพยายามฝึกฝน   ความจำในเพลง   การเล่นซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จนกระทั่งสามารถเล่นได้ไม่มีความผิดพลาด    ซึ่งดนตรีประเภทนี้จะพบบ่อยมากใน  ดนตรีคลาสสิค  อันเป็นดนตรีที่มีรูปแบบมาตรฐานการเล่นอย่างแน่นอน   และแนวทางในการพิจารณาตัดสิน หรือ ประเมินคุณภาพของนักดนตรี   มีเกณฑ์ตัดสินที่แน่นอน    แต่ในดนตรีบางประเภท  เช่น  ดนตรีแจ๊ส   ดนตรีพื้นบ้าน   ด้วยตัวเนื้องานของดนตรีนั้นเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ทางดนตรีอย่างปัจจุบันทันด่วน  หรือ  การสร้างคีตปฏิภาณ (Improvisation)  ซึ่งเกณฑ์การตัดสินประเมินคุณค่าย่อมมีความแตกต่างไปจากดนตรีคลาสสิค   แต่ทั้งนี้คุณค่าแห่งสุนทรียะก็ได้ถูกแสดงออกผ่านทางดนตรีหลากหลายรูปแบบ  
            ในเชิงของดนตรีคลาสสิคนั้น    กล่าวได้ว่าต้องใช้การคิดอย่างวิเคราะห์ตลอดเวลา เพราะ การพิจารณาในการเล่นแต่ละประโยคเพลง   แต่ละโน้ตเพลง  ต้องอาศัยการตีความบทเพลง (InInterpretation)   ดังที่  ณัชชา    โสคติยานุรักษ์. (2543: 91) ได้ให้ความหมายของการตีความบทเพลงว่า    Interpretation (อ) [ อิน  เทอร์  พริ  เท เชิน ]   การตีความบทเพลง  เป็นกระบวนการคิดวิเคราะห์ถึงเหตุผลต่าง ๆ  เพื่อให้ได้มาซึ่งการตีความบทเพลง  ทั้งในแง่ของลีลา  น้ำเสียง  ลักษณะเสียง  ทำนอง  จังหวะ  เสียงประสาน  ตลอดจนประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง  จากข้อความที่กล่าวมานี้    คีตกวี (Composer)  หรือผู้ประพันธ์เพลงเป็นผู้รังสรรค์งานดนตรีขึ้นมา  และได้จดบันทึกโน้ต  ทำนอง  เสียงประสาน  การเรียบเรียง   ผ่านกระดาษโน้ตดนตรีและส่งต่อให้นักดนตรีบรรเลง   ซึ่งในสมัยก่อนคีตกวีจะทำหน้าที่เป็นนักดนตรีผู้เล่นเอง   หรือ  เป็นวาทยกร ซึ่งอำนวยเพลงด้วยตนเอง    แต่ท่านเหล่านั้น  ก็ทำหน้าที่ได้เพียงเฉพาะยุคสมัยที่ท่านดำรงชีวิตอยู่ได้เท่านั้น   เมื่อคีตกวีได้สิ้นชีพลงแล้ว   ก็จะเหลือเพียงผลงานการประพันธ์เพลงที่เป็นกระดาษโน้ตดนตรีเท่านั้นที่เหลืออยู่    ดังนั้น  ผู้ที่มาบรรเลงเพลงในภายหลังแม้ว่าจะมีความรู้ทางทฤษฎีดนตรีและการปฏิบัติดนตรีเพียงใดก็ตาม   ก็ไม่อาจสามารถสื่อความรู้สึกที่แท้จริงของคีตกวีได้อย่างแน่ชัด หรือ ไม่มีมาตรฐานชัดเจนเช่นเดียวกับมาตรวัดทางคณิตศาสตร์    ซึ่งนี่อาจจะเป็นข้อเสียเปรียบของดุริยศิลป์ประการหนึ่ง    แต่แท้จริงแล้วนักดนตรีชั้นนำของโลกที่ร่วมสมัยกับคีตกวีจนถึงปัจจุบันนี้   ต่างมีวิธีการบรรเลงจากการวิเคราะห์ทางดนตรีขึ้นเฉพาะตน   เพื่อให้สามารถเข้าใจความหมายของบทเพลง  ภาพรวมของการประพันธ์เพลง   และประโยคเพลง   ตลอดจนแม้วลีที่เล็กน้อยที่สุดในเพลง  หรือ   กระทั่งโน้ตเพียงตัวเดียวว่าควรเล่นออกมาอย่างไร   จะสร้างความเป็นชีวิตชีวาในโน้ตเพลงหรือเสียงที่เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง   
            นักดนตรี  นักร้อง  วาทยกร  หรือ  ผู้เกี่ยวข้องกับการดนตรีที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย  จึงต้องมีภูมิการดนตรี (Musicianship)  ในระดับสูง   เพราะความรู้ที่ใช้ในการดนตรีจะเป็นความรู้ตามหลักการ (formal  musical  knowledge)  อันจะต้องเกิดจากการเรียน  การปฏิบัติ  การประพันธ์การตีความ  และคีตปฏิภาณ   ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาผ่านทางครูดนตรี   การอ่าน  การฟัง  การฝึกปฏิบัติ   ดังจะเห็นได้จากหลักสูตรการสอนดนตรีในทุกระดับ   จะมีแบ่งย่อยรายวิชาตามความสำคัญของการสอน  เช่น  ประวัติศาสตร์ดนตรี   ทฤษฎีดนตรี   วิชาการประสานเสียง  วิชาการฝึกโสตทักษะ  ฯลฯ     และความรู้อีกประเภทหนึ่งที่นอกเหนือข้างต้น  คือ  ความรู้ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ที่ไม่มีในตำรา (informal  musical  knowledge)   ความรู้ประเภทนี้ไม่สามารถสอนกับแบบเป็นทางการได้   แต่อยู่ที่ตัวบุคคลต้องขวนขวายในการพัฒนาตนเอง   ซึ่ง ศักดิ์ชัย   หิรัญรักษ์ (2546: 25) ได้กล่าวว่า  ความรู้ประเภทนี้สำคัญยิ่งสำหรับการสอนการเกิดสติปัญญาทางการฟังดนตรี            ความรู้ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นด้วยการเล่น  การสร้างงานทางดนตรีเท่านั้น  ความรู้แบบดังกล่าวเป็นความรู้ที่ผู้เชี่ยวชาญจะนำมาใช้ในการปรับการเล่นของตนเองนั้น   สามารถแสดงออกมาได้อย่างมีศิลปการทางดนตรี (artistically)   ซึ่งข้อความที่กล่าวมานี้   สามารถชี้แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า    การคิดและการรู้ (thinking and  knowing)  จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เรียนดนตรีต้องใช้ในขั้นตอนของการเรียนดนตรี   ซึ่งเขาจะแสดงออกถึงความเข้าใจว่าอยู่ในระดับใดด้วยการแสดงออกผ่านการกระทำ   ซึ่งนั่นก็คือ  การร้องและการเล่นนั่นเอง   
            เมื่อย้อนกลับไปตอนต้นบทความนี้     มนุษย์เราจะไม่สามารถรับรู้   เรียนรู้   ตอบสนอง  หรือ  ประสบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้เลยถ้าปราศจาก  การคิดและการรับรู้    นั้นย่อมทำให้    ความเข้าใจเรื่องว่า  มนุษย์เราเรียนรู้ได้อย่างไร?   การเรียนดนตรีก็เป็นส่วนหนึ่งในสติปัญญาของมนุษย์    การร้องและการเล่นจัดอยู่ในการกระทำซึ่งแสดงออกทางดนตรี  และจำเป็นต้องใช้การคิดและการรู้   เพื่อความเข้าใจถึงเนื้อหาของดนตรีไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่เป็นทางการ  หรือความรู้ที่นอกตำรา   ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองไปสู่ความรู้ระดับพุทธิปัญญา  และอภิปรัชญา   อันเป็นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดนตรีของทุกทฤษฎีการเรียนรู้ในที่สุด

บรรณานุกรม

           
กมลพรรณ    ชีวพันธุศรี. (2546). สมองกับการเรียนรู้. (พิมพ์ครั้งที่ 4).  กรุงเทพมหานคร :
               บริษัท  พรการพิมพ์  จำกัด.
 วิชัย     วงษ์ใหญ่. (2541). คู่มือพัฒนาโรงเรียนด้านการเรียนรู้. (พิมพ์ครั้งที่ 1).  กรุงเทพมหานคร :
               โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
ณัชชา    โสคติยานุรักษ์. (2543). พจนานุกรมศัพท์ดุริยางคศิลป์. (พิมพ์ครั้งที่ 1).  กรุงเทพฯ :   
                 สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 
ศักดิ์ชัย     หิรัญรักษ์. (2546).  เอกสารประกอบคำสอนวิชา  ดศดน  579  ปรัชญาและหลักสูตรดนตรี
    ศึกษา.  วิทยาลัยดุริยางคศิลป์  มหาวิทยาลัยมหิดล.(อัดสำเนา). 


            เพื่อให้สามารถมองภาพรวมของการจัดการศึกษาในระบบของประเทศไทย  จึงขอยกหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย   ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาดนตรีซึ่งปรากฏวัตถุประสงค์และรายวิชาดังนี้

หลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนต้น   พุทธศักราช  2521 (ฉบับปรับปรุง  ..2533) 
กำหนดให้วิชาดนตรีอยู่ในกลุ่มวิชาพัฒนาบุคลิกภาพ    ในวิชาศิลปศึกษา   มีจุดประสงค์ดังนี้
1.         เพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจพื้นฐานด้านศิลปะ
2.         เพื่อให้เห็นคุณค่าของศิลปะ   มีความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมไทย  และรู้จักรักษา
เพื่อเป็นมรดกสืบทอดต่อไป
3.         เพื่อให้สามารถใช้ศิลปะพัฒนาจิตใจ   บุคลิกภาพ  และรสนิยม
4.         เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานศิลปะได้ตามความสามารถ  ความถนัด และความสนใจของ
ตนเอง 
            รายวิชาที่ต้องเรียนได้แก่   วิชาศิลปะกับชีวิต 1-6 (101 –106) ,  วิชาดนตรีไทยและขับร้องไทย 1- 4 (021 – 024) , วิชาดนตรีสากลและขับร้องสากล 1-4 (025 – 028), วิชาดนตรีไทยปฏิบัติตามความถนัด 1-2 ( 029 – 0210), วิชาดนตรีสากลปฏิบัติตามความถนัด 1-2( 0211-0212)   
หลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย   พุทธศักราช  2524 (ฉบับปรับปรุง  ..2533) 
กำหนดให้วิชาดนตรีอยู่ในกลุ่มวิชาพัฒนาบุคลิกภาพ    ในวิชาศิลปศึกษา   มีจุดประสงค์ดังนี้
1.         เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจด้านศิลปะ
2.         เพื่อให้มีทักษะการแสดงออกอย่างเสรี  โดยอาศัยศิลปะเป็นสื่อ
3.         เพื่อให้เห็นคุณค่าของศิลปะ  มีความนิยมชมชื่นในศิลปวัฒนธรรมไทยและสากล  มี
นิสัยที่ดีในการทำงาน
4.         เพื่อให้นำความรู้และความถนัดทางศิลปะไปใช้ให้เกิดประโยชน์  มีส่วนร่วมในการ
อนุรักษ์และพัฒนาศิลปะ
            รายวิชาที่ต้องเรียนได้แก่   สังคีตนิยม 1-2 (ศ 021-022) ,  พื้นฐานดนตรีไทย (203) ,  ขับร้องไทย 1-4 (024 –027) ,  ดนตรีไทยปฏิบัติตามความถนัด 1 – 4 (ศ 028 – 0211) ,  ดนตรีพื้นเมือง 1-2 (0212 – 0213) ,  ทฤษฎีดนตรีสากล (0214) ,  ขับร้องสากล 1-4 (ศ 0215 – 0218)   , ดนตรีสากลปฏิบัติตามความถนัด 1 – 4  (0219 – 0222) 

            จากหลักสูตรข้างต้น   จะสังเกตได้ว่าจุดมุ่งหมายของหลักสูตรได้มุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในดนตรี   เห็นคุณค่า   สามารถปฏิบัติดนตรีได้   ตลอดจนการอนุรักษ์และพัฒนา    โดยมีรายวิชาต่าง ๆ  ทั้งเนื้อหาทางทฤษฎี  และการปฏิบัติควบคู่กันด้วย    ซึ่งเมื่อดูตามจุดมุ่งหมายแล้วก็นับว่าเป็นหลักสูตรที่มีความเหมาะสมกับการปฏิบัติอย่างดี      ซึ่งถ้าเปรียบเทียบระดับภูมิการดนตรีตามแนวทางของ Dreyfus  and  Dreyfus  จะแบ่งออกเป็น  5 ระดับ  คือ  ขั้นฝึกหัด (novice)  ขั้นก้าวหน้า (advance beginner)  ขั้นมีความสามารถ (competency)  ขั้นชำนาญการ (proficiency)  และขั้นเชี่ยวชาญ (expert) ( ศักดิ์ชัย   หิรัญรักษ์ ,2546: 30) ได้ การเรียนตามหลักสูตรนี้จะอยู่ในขั้นของ ขั้นฝึกหัดและขั้นก้าวหน้าเท่านั้น   เพราะนักเรียนที่สนใจเรียนสามารถเรียนได้ในรายวิชาปฏิบัติที่จะต่อเนื่องกันไปได้เพียง 4  ภาคเรียนติดต่อกันเท่านั้น    ควรส่งเสริมให้มีการเรียนได้ต่อเนื่องครบทุกภาคเรียน  
            สำหรับธรรมชาติของการเรียนดนตรีไทยนั้น   ไม่ว่าจะเป็นการสอนในระบบ   นอกระบบ  หรือตามอัธยาศัยจะไม่มีความแตกต่างกันมากนัก   การสอนยังคงยึดระบบแบบแผนเดิมที่สืบต่อ ๆ กันมา   ครูดนตรีส่วนใหญ่นิยมสอนนักเรียนด้วยวิธีการต่อเพลง  หมายถึง  ครูเล่นให้ฟัง  และเด็กเล่นเรียนแบบ  ท่องจำ  ทำซ้ำ ๆ  เพื่อฝึกฝนความชำนาญ  เด็กไทยสามารถเล่นดนตรีจากวิธีการสอนแบบนี้ได้อย่างดี  โดยไม่ต้องอาศัยการดูโน้ตเพลงแต่ประการใด   แต่ข้อเสียของการเรียนแบบนี้เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการทางการศึกษาจะได้ดังแผนภาพนี้

การศึกษาวิชาการอื่น ๆ 

            (ฟัง)                              (พูด)                             (อ่าน)                           (เขียน)  

การเรียนดนตรีไทย

            (ฟัง)                              (ปฏิบัติตาม)

            จะสังเกตได้ว่า   การสอนดนตรีดนตรีไทยแม้จะได้ผลดีในแง่ของการปฏิบัติได้เร็ว    มี
ความจำดี    มีความแม่นยำ   มีความเชี่ยวชาญในขั้นสูง   แต่ยังขาดทักษะของการคิดวิเคราะห์  ซึ่งเป็นผลมาจาก  การขาดการอ่าน   และการเขียน    อันเป็นกระบวนการสำคัญของการตีความดนตรี  หรือการสร้างสรรค์ทางดนตรี      ดังนั้น  อาจกล่าวได้ว่า   การเรียนของดนตรีไทยในระบบที่ยกมานี้  อยู่ในระดับภูมิการดนตรี  แบบความรู้ตามหลักการ  (ในที่นี้หมายถึง  ความรู้ที่ครูเป็นผู้ถ่ายทอดเพียงอย่างเดียว)   และความรู้แบบสั่งสมประสบการณ์ที่ไม่มีในตำรา (ในที่นี้หมายถึง  การที่นักเรียนได้ฝึกฝน   ฝึกความชำนาญ   ประสบการณ์จากการแสดงดนตรี  การเล่นแบบประสมวงต่าง ๆ การประชันต่าง ๆ ฯลฯ)   แต่ยังน่าเสียดายที่นักเรียนดนตรีไทยที่ปฏิบัติเครื่องมือเก่ง ๆ  ยังขาดความรู้ระดับพุทธิปัญญา  และ  ความรู้แบบอภิปัญญา   เนื่องจากการสอนของครูที่ได้ตีกรอบมาเท่านั้น 
            การคิดนอกกรอบของดนตรีไทย   มีปรากฏให้เห็นอยู่ในวงวิชาการปัจจุบัน  ดังที่  อานันท์  นาคคง  หนึ่งในผู้ก่อตั้งวงกอไผ่  ซึ่งเป็นวงดนตรีไทยแนวประยุกต์  กล่าวโดยสรุปไว้ว่า  ถ้าเราคิดว่า  ดนตรีไทยพัฒนาในประเทศก็จบกัน  ก็คงไม่พอ  เพราะสังคมปัจจุบันประกอบด้วยผู้คนต่างชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลาย  ดนตรีที่มีความเข้มแข็งอย่างดนตรีอินเดีย  ดนตรีจีน  ก็มีความหมายเทียบเท่ากับดนตรีไทย  หรือดนตรีสากล  ดังนั้นการทำดนตรีที่ประยุกต์ขึ้นใหม่ไม่ได้เป็นการล้มล้างความคิด  วัฒนธรรมเดิม   แต่เป็นการสร้างสรรค์งานศิลปใหม่    ซึ่งลดอัตตาในตัวผู้สอนลงและเพิ่มพูนความรู้ใหม่ขึ้น (อานันท์   นาคคง, 2549: 84-86)   
            ดังนั้น  การพัฒนาการสอนดนตรีไทยให้ไปถึงจุดสูงสุด   จึงน่าจะเป็นการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ทางศาสตร์ดนตรี    โดยใช้หลักการของการวิจัยทางการศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้อง   ควรมีงานวิจัยที่เน้นทางเรียนการสอนปฏิบัติดนตรีมากขึ้น   เช่นเดียวกับ  ดนตรีสากลที่มีงานวิจัยทางการศึกษามากมาย   แม้แต่ทฤษฎีการสอนบางอย่างที่ยอมรับแล้วว่า  เป็นความรู้ที่ตกผลึก เช่น  ทฤษฎีการสอนโคดาย , ทฤษฎีการสอนของออร์ฟ , ทฤษฎีการสอนของดาลโครซ , ทฤษฎีการสอนของซูซูกิ   ยังมีนักวิจัยได้ทำการศึกษาถึงความเหมาะสม  และพัฒนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ    ดังนั้น   ถ้าครูดนตรีไทยได้มาร่วมกันพัฒนาวิธีการสอน   นอกเหนือจากการสอนท่องจำ  ปฏิบัติตาม   มาเป็นการสอนในเชิงวิเคราะห์   การตีความ  และความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นกับเด็กได้   ก็จะเป็นคุณูปการอย่างยิ่งสำหรับเด็กไทยในวันข้างหน้า   และวิธีการเหล่านี้จะนำไปสู่  ระดับภูมิการดนตรีในขั้นพุทธิปัญญาและอภิปัญญาในที่สุด 


บรรณานุกรม

กระทรวงศึกษาธิการ. (2535). หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น  พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ..
   2533). กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพคุรุสภา.
กระทรวงศึกษาธิการ. (2535). หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย  พุทธศักราช 2524 (ฉบับปรับปรุง
   .. 2533). กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพคุรุสภา.
ศักดิ์ชัย     หิรัญรักษ์. (2546).  เอกสารประกอบคำสอนวิชา  ดศดน  579  ปรัชญาและหลักสูตรดนตรี
                 ศึกษา.  วิทยาลัยดุริยางคศิลป์  มหาวิทยาลัยมหิดล.(อัดสำเนา). 
อานันท์     นาคคง. (2549).  วารสารเพลงดนตรี   (ฉบับที่ 3).  วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ 
   มหาวิทยาลัยมหิดล.    

หลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ดนตรี  แผนการเรียนดุริยางคศิลป์ 
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร(ฝ่ายมัธยม)  ปีการศึกษา 2555
วิสัยทัศน์
         สร้างความรู้พื้นฐาน พบผู้เชี่ยวชาญ  ฝึกประสบการณ์กับมืออาชีพ
จุดมุ่งหมายหลักสูตรวิชาดนตรี
·  รู้และเข้าใจถึงความแตกต่างทางด้านเสียง องค์ประกอบ อารมณ์ ความรู้สึกของบทเพลงจากวัฒนธรรมต่าง ๆ มีทักษะในการร้อง บรรเลงเครื่องดนตรี ทั้งเดี่ยวและเป็นวงโดยเน้นเทคนิคการร้องบรรเลงอย่างมีคุณภาพ มีทักษะในการสร้างสรรค์บทเพลงอย่างง่าย อ่านเขียนโน้ต ในบันไดเสียงที่มีเครื่องหมาย แปลงเสียงเบื้องต้นได้ รู้และเข้าใจถึงปัจจัยที่มีผลต่อรูปแบบของผลงานทางดนตรี องค์ประกอบของผลงานด้านดนตรีกับศิลปะแขนงอื่น แสดงความคิดเห็นและบรรยายอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อบทเพลง สามารถนำเสนอบทเพลงที่ชื่นชอบได้อย่างมีเหตุผล มีทักษะในการประเมินคุณภาพของบทเพลงและการแสดงดนตรี รู้ถึงอาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดนตรีและบทบาทของดนตรีในธุรกิจบันเทิง เข้าใจถึงอิทธิพลของดนตรีที่มีต่อบุคคลและสังคม
·  รู้และเข้าใจที่มา ความสัมพันธ์ อิทธิพลและบทบาทของดนตรีแต่ละวัฒนธรรมในยุคสมัยต่าง ๆ วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้งานดนตรีได้รับการยอมรับ
·  รู้และเข้าใจรูปแบบบทเพลงและวงดนตรีแต่ละประเภท และจำแนกรูปแบบของวงดนตรีทั้งไทยและสากล เข้าใจอิทธิพลของวัฒนธรรมต่อการสร้างสรรค์ดนตรี เปรียบเทียบอารมณ์และความรู้สึกที่ได้รับจากดนตรีที่มาจากวัฒนธรรมต่างกัน อ่าน เขียน โน้ตดนตรีไทยและสากล ในอัตราจังหวะต่าง ๆ มีทักษะในการร้องเพลงหรือเล่นดนตรีเดี่ยวและรวมวงโดยเน้นเทคนิคการแสดงออกและคุณภาพของการแสดง สร้างเกณฑ์สำหรับประเมินคุณภาพการประพันธ์ การเล่นดนตรีของตนเองและผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม สามารถนำดนตรีไประยุกต์ใช้ในงานอื่น ๆ
·   วิเคราะห์ เปรียบเทียบรูปแบบ ลักษณะเด่นของดนตรีไทยและสากลในวัฒนธรรมต่าง ๆ เข้าใจบทบาทของดนตรีที่สะท้อนแนวความคิดและค่านิยมของคนในสังคม สถานะทางสังคมของนักดนตรีในวัฒนธรรมต่าง ๆ สร้างแนวทางและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและอนุรักษ์ดนตรี