วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564

การบรรเลงเครื่องดนตรี

 หน่วยการเรียนรู้ที่  12  การบรรเลงเครื่องดนตรี 

เครื่องดนตรี เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เล่นประกอบการบรรเลง หรือขับร้องบทเพลงต่าง ๆ ทำให้เกิดความไพเราะขึ้น การเล่นหรือการบรรเลงเครื่องดนตรีสามารถบรรเลงได้ 2 รูปแบบ คือ การบรรเลงเดี่ยวและการบรรเลงหมู่ซึ่งต้องอาศัยหลักการบรรเลงดนตรีและองค์ประกอบทางดนตรี ดังนี้

1.      หลักการบรรเลงดนตรี การบรรเลงดนตรีให้มีความไพเราะนั้นควรใช้หลักการโดยทั่วไป ดังนี้1. เล่นให้ถูกต้องตามจังหวะและทำนองของเพลง

      2.  ปรับระดับเสียงของเครื่องดนตรีให้มีความกลมกลืนสอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ในการบรรเลงเป็นวง

3.  ปฏิบัติตามสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายทางดนตรีได้ถูกต้อง

4.  ใช้หรือเล่นเครื่องดนตรีให้ถูกวิธีตามลักษณะเครื่องดนตรีชนิดนั้น

     2.  องค์ประกอบทางดนตรี ในการบรรเลงเครื่องดนตรี ผู้เล่นจะต้องรับรู้และเข้าใจองค์ประกอบทางด้านดนตรีด้วย เพื่อสามารถนำไปใช้ในการบรรเลงดนตรีได้ถูกต้อง ซึ่งองค์ประกอบทางดนตรี มีดังนี้ 

จังหวะ คือ อัตราความช้า-เร็วของบทเพลง ซึ่งมีสัญลักษณ์กำหนดไว้ในโน้ตเพลง

ทำนอง คือ แนวระดับเสียงของเพลงซึ่งมีทั้งเสียงสูง-ต่ำ นำมาเรียบเรียงให้อยู่ในแนวระดับที่ต้องการ
                        การประสานเสียง คือ การขับร้องและบรรเลงดนตรีพร้อม ๆ กัน หรือการขับร้องเป็นหมู่คณะโดยเสียงที่ได้จะต้องสอดคล้องกลมกลืนกัน

รูปแบบของบทเพลง คือ โครงสร้างของเพลงซึ่งจะกำหนดวรรคตอนเนื้อเพลง การซ้ำและการเปลี่ยนทำนองเพลง เป็นต้น
การใช้และดูแลรักษาเครื่องดนตรี

เครื่องดนตรีแต่ละชนิดถูกสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการบรรเลงให้มีความแตกต่างกัน โดยมีวิธีเล่นตามลักษณะเฉพาะของเครื่องดนตรีชนิดนั้น ซึ่งผู้เล่นควรเล่นให้ถูกต้องตามวิธีเล่น นอกจากนี้ ผู้เล่นจะต้องรู้จักวิธีการดูแลรักษาเครื่องดนตรีที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อรักษาและสามารถใช้งานได้นานยิ่งขึ้น 
     1.  การใช้เครื่องดนตรีประกอบจังหวะ
          เครื่องดนตรีประเภทนี้ ใช้บรรเลงประกอบจังหวะ ซึ่งมีวิธีการเล่นหลายวิธี ดังนี้
          1.  การตีกระทบกันเอง เครื่องดนตรีที่บรรเลงด้วยวิธีนี้ มีหลายวิธี เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ เป็นต้น
          2.  การใช้ไม้นวมตี เครื่องดนตรีที่ใช้วิธีการบรรเลงนี้ ส่วนมากเป็นเครื่องดนตรี เช่น โหม่ง ฆ้อง เป็นต้น
          3.  การตีด้วยมือ การบรรเลงดนตรีด้วยวิธีการนี้ ใช้กับเครื่องดนตรีประเภทขึงด้วยหนัง เช่น กลองยาว โทน รำมาะนา เป็นต้น
          4.  การใช้ไม้เฉพาะตี ไม้ตีเฉพาะเป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้บรรเลงเครื่องดนตรีบางชนิด เช่น กลองชุด กลองแตร็ก เป็นต้น
     2.  การเก็บและดูแลรักษาเครื่องดนตรี
          1.  หลังจากใช้งานแล้ว ควรทำความสะอาดเครื่องดนตรีด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ล้างทำความสะอาด ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด ๆ เช็ด เป็นต้น โดยคำนึงถึงความเหมาะสมตามลักษณะของเครื่องดนตรี
          2.  เครื่องดนตรีที่มีกล่องใส่เฉพาะ ควรเก็บใส่กล่องก่อนนำไปเก็บ
          3.  การเก็บเครื่องดนตรีไว้ในตู้ ควรเก็บเครื่องดนตรีที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากไว้ด้านล่าง
          4.  การเก็บเครื่องดนตรี ควรแยกประเภทเก็บ เพื่อสะดวกในการค้นหาและนำมาใช้ในครั้งต่อไป

 การขับร้องเพลงสากล

  ปัญหาร้องเพลงเพี้ยน
    1.การฟังเสียงมีปัญหา
    2.ลมไม่พอ แรงไมุ่ถึง
  การแก้ไขการร้องเพลงเพี้ยน
                สาเหตุการร้องเพี้ยนเกิดจากความบกพร่องของหู คือ หูได้รับเสียงนึง แต่ประมวลออกมาเป็นอีก เสียงหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงกับเสียงที่ได้รับมาตอนต้น จึงทำให้ส่งผลถึงเสียงที่เปล่งออก มา ไม่ตรงกับเสียงที่ได้ยิน หรือ อาจจะเกิดจาก ความบกพร่องของเส้นเสียง โดยตรง จึงไม่สามารถเปล่งเสียงได้ตามที่ต้องการ เราจะสามารถแก้ไขได้อย่างไรคะ ควรฝึกการฟังให้มาก ๆ ควรเริ่มฟังเสียงที่มีความซับซ้อนน้อย ๆ โน้ตน้อย ๆ ทำนองที่เคลื่อนที่ไม่มากนัก และพยายามติดตาม และเปล่งเสียงตามทำนองนั้น ๆ
  การขับร้องเพลงตามหลักสากล
       การขับร้องเพลงของคนเรานั้น สิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับการขับร้องเพลง ได้แก่ เสียง ร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ สมาธิ และวิธีฝึกที่ถูกต้อง
 1. เสียง เสียงของคนเราเกิดจากการสั่นสะเทือนของเสียง สายเสียง ( Vocal cord ) ในลำคอ เสียงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเสียงขั้นต้น ไม่มีความกังวานเพียงพอ ต้องอาศัย อวัยวะส่วนอื่นๆ ช่วยปรับแต่งให้เสียงดังกังวาน และมีระดับ เสียงต่ำ เสียงกลาง เสียงสูง บริเวณที่ช่วยขยายเสียงให้ระดับเสียงต่างๆ ได้แก่
- บริเวณลำคอและทรวงอก ช่วยขยายเสียงระดับต่ำ
- บริเวณลำคอและโพรงจมูก ช่วยขยายเสียงระดับกลาง
- บริเวณหน้าผากและโพรงกะโหลกศีรษะ ช่วยขยายเสียงระดับสูง
ในกรณีที่ใช้เสียงดังมากเกินไป เช่น ตะโกน หรือเกิดอาการเจ็บป่วย ที่บริเวณที่ทำให้เกิดเสียง ก็จะทำให้เสียงแหบแห้ง หรือเสียงหายไป การที่คนเราจะมีเสียงที่ไพเราะหรือไม่นั้น จะเป็นเรื่องธรรมชาติที่สร้างขึ้นมาคู่กับตัวเรา แต่การที่จะทำให้เสียงมีพลัง มีความดังสม่ำเสมอ และสามารถควบคุมได้นั้น จะต้องอาศัยการฝึกหัดให้เกิดความเคยชิน การฝึกเสียงให้มีพลัง มีความดังสม่ำเสมอ สามารถควบคุมระดับเสียงได้ ตามความต้องการ ควรฝึกปฏิบัติดังนี้
   1.1 ยืนหรือนั่งตัวตรง ศรีษะตั้งตรง ห้ามยกไหล่ ห้ามเกร็งร่าง ทำตัวให้สบาย แล้วใช้ปลายนิ้วทั้งสองข้าง จิ้มลงไปที่ลิ้นปี่ สูดลมหายใจเข้าทางจมูกให้มากทีที่สุดเท่าที่จะทำใด้ โดยมีข้อแม้ว่าเมื่อสูดลมหายใจเข้าปลายนิ้วจะต้องกระเด้งออก นั่นหมายความว่าเราได้หายใจเข้าถูกต้อง เพราะตามทฤษฏีขับร้องสากลเมื่อสูดลมหายเข้าไปในปอด ท้องจะป่องเล็กน้อย จากนั้นให้กลั้นลมหายใจ เพื่อกักลมไว้ให้มากที่สุด แล้วค่อยระบายลมออกมาทางปากอย่างช้า ๆ เป็นเสียง สระอะไรก็ได้ เช่น อา อี อู เออ เอย หรือ ปาม จนลมหมดแล้วสูดลมหายใจเข้าไปใหม่ ปฏิบัติเช่นนี้หลายๆ ครั้ง
   1.2 ปฏิบัติเช่น ข้อ (1.1) แต่เปลี่ยนการออกเสียงสระเป็น สระโอ คือเสียงโดต่ำ เพื่อเป็นการฝึกเส้นเสียง จากลำคอและทรวงอก
   1.3 ปฏิบัติเช่น ข้อ (1.1) แต่เปลี่ยนการออกเสียงสระเป็น สระโอ คือเสียงโซ เพื่อเป็นการฝึกเส้นเสียง จากลำคอและโพรงจมูก
   1.4 ปฏิบัติเช่น ข้อ (1.1) แต่เปลี่ยนการออกเสียงสระเป็น สระโอ คือเสียงโดสูง เพื่อเป็นการฝึกเส้นเสียง จากหน้าผากและโพรงกะโหลกศีรษะ
( ข้อควรจำ) ขณะที่สูดลมหายใจเข้า แต่ละครั้ง พยายามอย่าให้ไหล่ ขยับเขยื้อน เพราะจะทำให้ลมไม่เข้าปอดหรือ(ท้องไม่ป่องนั่นเอง)
 2. ร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นอีกประการหนึ่ง สำหรับการร้องเพลงโดยปกติแล้วจะใช้พลังของเสียงกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการออกเสียงและการหายใจ ซึ่งเปรียบเสมือนกับการทำงานอย่างหนึ่งที่ต้องใช้พลังที่มีอยู่ในร่างกาย ถ้าร่างกายไม่แข็งแรงสมบูรณ์ พลังเสียงขับร้องก็จะไม่ดังเท่าที่ควร เสียงเพลงก็จะไม่ไพเราะ เราควร ปฏิบัติดังนี้
  2.1 ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  2.2 พักผ่อนให้เพียงพอ
  2.3 รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
  2.4 ไม่เสพสิ่งเสพติด
  2.5 หลีกเลียงการเสี่ยงต่อมลพิษ
 3. สมาธิ หมายถึงการทำจิตใจให้จดจ่อกับสิ่งที่กระทำอยู่
 แนวทางปฏิบัติในการขับร้องเพลง
 1. ศึกษาทำนองว่าเป็นเพลงชนิดใด ให้อารมณ์อย่างไร
 2. ศึกษาคำร้องว่ามีความหมายอย่างไร
 3. ปรับจิตใจของผู้ขับร้องให้คล้อยตามอารมณ์ของเพลง
 4. แสดงท่าทางและสีหน้าให้เข้ากับบรรยากาศของเพลง
 5. ร้องให้ถูกต้องตามคำร้อง ทำนอง จังหวะ
 6. ร้องให้ตรงตามระดับเสียงของทำนองเพลง ไม่ควรหลบเสียง
 7. ร้องให้เต็มเสียง พยัญชนะและอักขระให้ถูกต้องชัดเจน
 8. แบ่งวรรคตอนการหายใจให้ถูกต้อง

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น