Opera
อุปรากร
เป็นเวลากว่า 300
ปีมาแล้ว อุปรากรถือว่าเป็นศิลปการแสดงที่มีไว้สำหรับความสุข
ความสำราญกับผู้นิยมศิลปะด้านสังคีต การแสดงอุปรากรเป็นจุดรวมของศิลปะหลายอย่าง
เช่น สถานที่แสดงฉาก เครื่องแต่งกาย นักร้อง ระบำ บทบาทท่าทางการแสดง ดนตรี
และกวีนิพนธ์ ซึ้งต้องสร้างสรรค์ ด้วยหลักวิชาและความสามารถชั้นสูง
อุปรากร Opera หมายถึงละครร้องประกอบการบรรเลงด้วยวงดุริยางค์
หรือการแสดงนาฏกรรมประกอบดนตรี ที่จัดว่าเป็นวิจิตรศิลป์ชั้นสูงเหนือนาฏศิลป์สากลทั้งหลาย
สำหรับการขับร้องจะต้องมีทั้งร้องเดี่ยว
ร้องหมู่ และร้องประสานเสียง
การแสดงต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ผู้ชมและผู้ฟังเกิดจินตนาการและอารมณ์ที่คล้อยตามบทบาทและเสียงร้องของผู้แสดง
และผู้แสดงจะต้องมีความสามารถทางการร้องแทนการพูด
ตามธรรมดาคนจะใช้สื่อความหมายซึ่งกันและกันโดยคำพูด
แต่ในอุปรากรต้องใช้คำร้องโต้ตอบกัน
นอกจากนี้จะต้องใช้แสงสี ฉากที่ประดิษฐ์ขึ้น
พร้อมทั้งผู้แสดงต้องแสดงออกต่อหน้าผู้ชมมากมาย โดยไม่ควรมีความประหม่า
อุปรากรจะเป็นศิลปะที่โน้มน้าวให้ผู้ชมตีความหมายต่างๆ
ได้กว้างขวางกว่าศิลปะการประพันธ์ ภาพวาด ละครทั่วไป หรือภาพยนตร์เสียอีก
สำหรับเสียงร้องของผู้แสดงจะต้องคัดเลือกเพื่อที่จะทำให้บรรยากาศในการจูงใจผู้ฟังและผู้ชมให้เข้าถึงอารมณ์ต่างๆ
เช่น รัก โกรธ เกลียด ริษยา รื่นเริง และเหตุผลของความจริง
ซึ่งกำลังดำเนินไปตามการแสดงบนเวที
ประกอบด้วยพลังแห่งเสียงดนตรีที่บรรเลงประกอบในขณะนั้น
ทำให้ผู้ฟังเกิดความประทับใจมากขึ้น
ในอุปรากรตอนหนึ่งๆ
อาจประกอบไปด้วยผู้แสดง 3, 4, 5, 6, 7 คนในเวลาเดียวกัน ซึ่งผู้แสดงแต่ละคนจะต้องให้ความรู้สึก อารมณ์ ท่าทาง
คุณภาพที่เป็นเยี่ยมที่สุด
และผู้แสดงทุกคนจะต้องร้องและแสดงออกทั้งอารมณ์และท่าทางให้เหมาะสม
และประทับใจผู้ชมในเวลาเดียวกัน
สำหรับนักร้องหมู่ประสานเสียง (Chorus) มีหน้าที่ร้องคลอผู้ที่ร้องเดี่ยว
บางครั้งก็ร้องเป็นหมู่ใหญ่อิสระอยู่หลังฉาก มักจะเป็นบทละครในแบบที่พัฒนาจากอุปรากรสมัยกรีก
นอกจากนี้การขับร้องหมู่ยังมีส่วนที่ทำให้การประพันธ์บังเกิดผลในด้านความสมบูรณ์
มีรสชาติยิ่งขึ้นอีกด้วย
การบรรเลงของวงดุริยางค์ (Orchestra) ก็มีส่วนในการคลอเคลียทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ และทำให้บรรยากาศในฉากต่างๆเป็นความจริงยิ่งขึ้น วงดุริยางค์มีหน้าที่บรรเลงเป็นอิสระอีกด้วย คือเพลงโหมโรง (Overture) จะเริ่มบรรเลงก่อนเปิดฉากองก์แรก และมีเพลงคั่น (Prelude) จากองก์หนึ่งต่อไปอีกองก์หนึ่ง นอกจากนั้นในการแสดงระบำ (Ballet) ดนตรีก็เป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งสำหรับอุปรากร บางครั้งระบำพื้นเมือง ระบำของชาติต่างๆ ก็จะมีแทรกอยู่ในอุปรากร โดยเฉพาะบทประพันธ์ในคริสต์ศักราชที่ 19 สำหรับบทร้อง (Libretto หรือ text) ของอุปรากร ผู้แต่งมีความจำเป็นต้องคำนึงถึงการสอดใส่เพลง ซึ่งต้องปรึกษาหารือกับคีตกวีผู้ประพันธ์เพลง หรือให้ทำนองโดยตรง เพื่อให้บทประพันธ์อุปรากรบทนั้นสมบูรณ์ทั้งเนื้อหา อารมณ์ ทำนองขับร้องและดนตรี
อลังการอุปรากร
อุปรากร(opera) คือละครร้องอันอลังการ
เป็นศิลปะที่เกิดจากการผสมผสานศิลปะการละครทุกแขนงเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น
วรรณคดี (เนื้อเรื่องและบทอุปรากร) ศิลปะการละคร (การออกท่าทางและการแสดงอารมณ์ด้วยภาษากาย)
ศิลปะการออกแบบเชิงทัศนศิลป์แขนงต่างๆ
(การออกแบบฉากและเสื้อผ้าเครื่องแต่งการตามท้องเรื่อง) นาฏศิลป์ และศิลปะดนตรี
(การขับร้องและการบรรเลง) นอกจากนี้ อาจต้องใช้เทคโนโลยีตามสมัย
เพื่อสร้างความสมจริงหรือความเหนือจริงตามท้องเรื่อง
อันที่จริงลักษณะของละครร้องดังที่กล่าวมา
ก็มีอยู่ในแถบทุกวัฒนธรรมดนตรีที่พัฒนามาสูง เช่นของจีนก็มีงิ้ว
ของไทยเราก็มีละครร้องและดนตรีดึกดำบรรพ์ หรือญี่ปุ่นก็มีละครโนะ เป็นตัน
ซึ่งพัฒนาการจากละครพูดมาสู่ละครร้องก็ออกจะเป็นเรื่องสามัญเป็นเหตุเป็นผลในแง่ของพัฒนาการทางศิลปะ
เพราะชาติที่มีพัฒนาการของวรรณกรรม ศิลปะการละคร
นาฏกรรมและศิลปะการดนตรีมาสูงก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะนำส่วนสำคัญของศิลปะต่างสาขาเหล่านี้มารวมกันเกิดเป็นละครร้องชั้นสูงแบบอุปรากรของฝรั่งหรืองิ้วของจีน
โดยแนวคิดแล้ว
ละครร้องต่างวัฒนธรรมเหล่านี้ก็คล้ายคลึงกัน ต่างกันเพียงท่าทีการแสดงออก
ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ใช้ วิธีการขับร้อง
หรือลีลาท่าทีการเคลื่อนไหวเดินเหินของตัวละคร อย่างไรก็ตาม
ด้วยท่าทีการแสดงออกที่แตกต่างกันนี้ สิ่งสำคัญที่มีร่วมกัน
คือการแสดงออกที่เหนือจริงเกินธรรมชาติ ไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของวิจิตรศิลป์ที่ได้รับการปรุงแต่งขึ้นอย่างวิจิตรในสังคมที่พัฒนามาสูง
จึงมีรายละเอียด มีระบบความคิดและรสนิยมอันละเอียดซับซ้อน
เช่นในแง่ของการขับร้องนั้น ไม่ว่าเป็นอุปรากรฝรั่ง
งิ้วของจีนละครร้องของไทยหรือละครโนะของญี่ปุ่น
วิธีการขับร้องและเสียงร้องจะไม่เหมือนการขับร้องอย่างธรรมดาสามัญที่คนเรากระทำกันในชีวิตประจำวัน
กระทั่งแนวทำนอง การเปล่งเสียง คุณภาพเสียงร้อง ล้วนใช้พลังมหาศาล
(ไม่ว่าเป็นเป็นพลังที่ปลดปล่อยออกมาให้เห็นเต็มที่ในกรณีของอุปรากรฝรั่งหรืองิ้วของจีน
หรือพลังแห่งความสำรวมและความสงบนิ่งอย่างในละครโนะหรือการขับร้องของไทย)
ล้วนต้องใช้ศักยภาพสูงสุดในตัวมนุษย์เพื่อปรุงแต่งธรรมชาติได้เหนือจริง
จนเกิดความวิจิตรอลังการตามท่าทีและรสนิยมของแต่ละวัฒนธรรม
พูดถึงศิลปะต่างๆที่ก่อให้เกิดเป็นอุปรากรที่สมบูรณ์นั้น
ศิลปะดนตรีเป็นส่วนสำคัญยิ่ง เพราะตัวละครสื่อสารและแสดงอารมณ์กันด้วยการขับร้อง
หากมีบทเจรจาบ้างก็เพียงประปราย นอกจากนี้
ยังมีการบรรเลงจากวงดุริยางค์ประกอบการขับร้องและการดำเนินเรื่องโดยตลอด
ดนตรีในอุปรากรแบ่งออกได้เป็น2ส่วนใหญ่
คือ เพลงบรรเลงและบทขับร้อง
เพลงบรรเลงที่สำคัญที่สำคัญที่สุดในอุปรากร
คือ บทโหมโรง(overture) ใช้บรรเลงตอนต้นของการแสดง ก่อนชักม่านเวทีขึ้นเมื่อเริ่มละคร
บทโหมโรงมักมีความยาวไม่มากนัก
มีลีลาดรตรีเร้าใจชวนให้ผู้ฟังนึกถึงสิ่งที่จะติดตามมา
บทโหมโรงมีหน้าที่สำคัญคือ
ปูพื้นบรรยากาศของท้องเรื่องละครนั้นในบทโหมโรงที่พัฒนาอย่างสมบรูณ์ มักจะมีการนำแนวทำนองเด่นของเพลงบทต่างๆซึ่งจะปรากฏต่อไปในละคร
มาสอดร้อยเข้าด้วยกันอย่างละนิดละหน่อยเป็นการเกริ่นถึงเนื้อหาทางดนตรีของละครนั้นๆ
นอกจากนี้ บทโหมโรงยังมีหน้าที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชม
เป็นช่วงเวลาให้ทั้งผู้แสดงและผู้ชมตั้งสมาธิและปรับสภาพจิตใจ ให้ละจากโลกแห่งความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน
เตรียมตัวสู่โลกแห่งจิตนาการบนเวที
ส่วนบทขับร้องในอุปรากรมีหลายลักษณะ
คือ
1. บทร้องพรรณนา หรือ อาริยา (aria) เป็นบทขับร้องเดี่ยวของตัวละครเอก
มีแนวร้องที่ไพเราะงดงาม แนวทำนองของบทอาริยาจะขึ้นลงอย่างโลดโผนวิจิตรพิสดาร ใช้คร่ำครวญพรรณนาอารมณ์ต่างๆของตัวละคร
บทอาริยามักมีบทบรรเลงนำ
บรรเลงประกอบและบรรเลงรับด้วยวงดุริยางค์อย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนโอบอุ้มแนวทำนองและเสียงร้องให้เข้มข้นเต็มอิ่มทางอารมณ์นอกจากนี้
บทขับร้องอาริยามักเป็นช่วงที่เปิดโอกาสให้นักร้องนำได้แสดงน้ำเสียงไพเราะเฉพาะตัว
และโชว์ชั้นเชิงกลเม็ดเด็ดพรายในการขับร้อง
2. บทร่าย หรือ เรชิตาตีฟ (recitative) เป็นบทขับร้องเดี่ยวของตัวละครเอกเช่นกัน
แต่แนวร้องมีลักษณะกึ่งร้องกึ่งพูด คล้ายบทพากย์โขนหรือบทขับเสภาของไทย
ใช้ดำเนินเรื่องให้กว้าหน้าไปอย่างรวดเร็ว และส่งเรื่องให้ตัวละครเข้าสู่อารมณ์ต่างๆซึ่งจะได้รับการตีความทางอารมณ์ต่อไปในช่วงบท
อาริยา (สำหรับในอุปรากรสุขนาฏกรรม
ตัวละครอาจสื่อสารเรื่องราวกันด้วยบทพูดแทนที่จะใช้บทร่ายก็มี)
ในอุปรากรแบบมาตรฐาน ที่พัฒนามาจนสมบูรณ์สูงสุดในสายศิลปะบาโรก และคลาสสิกของคริสต์ศตวรรษที่ 18
โดยเฉพาะในอุปรากรโศกนาฏกรราม(serious opera หรือ opera seria) ของสการ์ลัตติ (Alessandro Scarlatti),แฮนเดล (handel)
และ โมสาร์ท (Mozart) บทร่ายและบทอาริ ยามักว่างอยู่คู่กัน กล่าวคือ ในแต่ละสถานการณ์
ตัวละครเอกจะขับร้องเรื่องราวสำคัญของสถานการณ์นั้นๆด้วยบทร่าย
แล้วจึงขับร้องบทอาริยาตามติดมา เป็นการคร่ำครวญพรรณนาตีความ
ความรู้สึกนึกคิดหรืออารมณ์ต่างๆที่มีต่อสถานการณ์นั้นๆ คล้ายกับว่า
การดำเนินเรื่องราวของอุปรากร คือการเรียงร้อยกันไปของบทร่ายและบทอาริยา
ที่จัดวางอย่างเหมาะสมตามจังหวะจะโคนของละคร
อย่างไรก็ตาม
เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือสมัยโรแมนติกของศิลปะดนตรียุโรป
ลักษณะของบทร่ายและบทอาริยาในอุปรากรแบบโรแมนติก เริ่มกลายเข้าผสมกลมกลืนกัน
ในหลายบทหลายตอนฟังแล้วเหมือนกับตัวละครเจรจาส่งสารกันด้วยบทร่ายกลายๆ
หรือหลายบทหลายตอนก็ฟังแล้วเป็นบทอาริยาไพเราะขับร้องต่อเนื่องกันไปหลายบท
ในอุปรากรโรแมนติกนั้น บทร่ายและบทอาริยามิได้จับอยู่เป็นคู่ๆดังแต่ก่อน
แต่ตัวละครจะขับร้องเพลงลักษณะต่างๆไปตามแต่สถานการณ์ เช่นในอุปรากรของปุชชินิ(Puccini)หรือวาเนอร์(Wagner) เป็นต้น
อุปรากรลักษณะนี้ดูจะเป็นที่นิยมและคุ้นเคยกันมากกว่าบนเวทีอุปรากรชั้นนำทั่วโลกในปัจจุบัน
แต่ลักษณะอุปรากรโรแมนติกแบบนี้ก้พัฒนาเปลี่ยนแปลงโดยอิงอุปรากรแบบมาตรฐานของสมัยคริสต์ศตวรรษที่
18 ดังกล่าวมา
3. บทขับร้องกลุ่มเล็ก (vocal ensemble) เป็นบทขับร้องของกลุ่มตัวละครเอก
ตัวละครแต่ละตัวมีแนวร้องและบทร้องเป็นเอกเทศ แต่แนวร้องสอดประสานกลมกลืนกัน
ทั้งในแง่ของแนวทำนอง เสียงประสาน และจังหวะจะโคน
บท vocal ensemble มีประโยชน์มากในอุปรากรที่มีเรื่องราวมากและซับซ้อนเพราะแนวร้องเดี่ยวแต่ละแนวที่ดำเนินไปพร้อมๆกัน
ทำให้ผู้ชมรับรู้เรื่องและอารมณ์ของละครอย่างมากมายและกระชับฉับไวในเวลาจำกัด เช่น
ในบท vocal ensemble ของตัวละครเอก 4 ตัว อาจกำหนดให้ตัวละคร
2 ตัว โตถียงกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่
ตัวละครตัวที่สามซึ่งอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย
อาจขับร้องแสดงความคิดเห็นส่วนตัวและบอกภูมิหลังของตัวละคร 2ตัวแรก
ในขณะที่ตัวละครตัวที่สี่อาจขับร้องคาดการณ์ถึงเหตุการณ์ที่จะตามมาเป็นต้น
โมสาร์ท ได้รับการยกย่องมากว่า
พัฒนาบท vocal ensemble มาจนสมบูรณ์และใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในอุปรากรสุขนาฏกรรม
(comic opera หรือ opera buffa) เป็นแบบอย่างให้นักแต่งอุปรากรร่วมสมัยและรุ่นหลังท่านดำเนินตามสือมา
4. บทร้องประสานเสียง (chorus) เป็นบทขับร้องหมู่ของตัวประกอบ
มีหน้าที่เพิ่มความอลังการและสีสันแก่ละคร
อุปรากรมีบ่อเกิดในวัฒนธรรมดนตรีอิตาเลียนตอนต้นสมัยบาโรกละครร้องฝรั่งที่ได้รับการยกย่องเป็นอุปรากรสมบูรณ์แบบเรื่องเก่าแก่ที่สุดที่มีต้นฉบับอยู่ครบถ้วนในปัจจุบัน
คือ เรื่อง “เทพออร์เฟโร”(Orfeo) ประพันธ์ดนตรีโดย คลอดิโอ
มอนแตแวร์ดิ (Monteverdi) บทอุปรากร (libretto) โดย อเลสซานโดร สตริจโจ (Alessandro Striggio) เขียนขึ้นโดยอิงตำนานเทพปกรนัมของกรีก ออกแสดงครั่งแรกที่ราชสำนักแมนทัว (Court
of Mantua) เมื่อปี ค.ศ. 1607
จากนั้นเป็นต้นมาจนตลอกสมัยบาโรกและสมัยคลาสสิก
ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาประมาณ 200ปีของคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 อุปรากรอิตาเลียน
(บทร้องเป็นภาษาอิตาเลียน)
ก็เป็นที่นิยมและส่งอิทธิพลทางแนวคิดต่อวัฒนธรรมดนตรีชาติต่างๆในยุโรปมากจนกล่าวได้ว่า
ในวงการศิลปะดนตรีชั้นสูงของยุโรปในรอบ 200ปีดังกล่าว
อุปรากรอิตาเลียนกลายเป็นศิลปะสากล พ้นขอบเขตของภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นคีตกวี
นักร้องนักดนตรีและผู้ชมทั้งหลาย ทั้งชาวอิตาเลียนและต่างชาติ
ล้วนแต่งและเล่นอุปรากรอิตาเลียนกันทั้งสิ้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า คีตกวีที่ได้รับการยกย่องว่าพัฒนาอุปรากรอิตาเลียนทั้งแนวโศกนาฏกรรมและสุขนาฏกรรม
มาจนสมบูรณ์สูงสุดในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็คือ แฮนเดลและโมสาร์ท
ซึ่งเป็นชาวเยอรมันและออสเตรียรสของดนตรีสายเยอรมันและใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาแม
แสดงให้เห็นถึงความนิยมและความเป็นสากลของอุปรากรอิตาเลียน
จนเข้าสู่อีกรอบศตวรรษถัดมาในสมัยโรแมนติก
วัฒนธรรมอุปรากรของชาติอื่นๆจึงลืมตาอาปากและในที่สุดก็พัฒนามาจนสมบูรณ์มั่นคง
มีสถานภาพทางศิลปะเทียมเท่าอุปรากรอิตาเลียน ไม่ว่าจะเป็นอุปรากรเยอรมัน(เช่นผลงาน
ของ เวเบอร์,วากเนอร์ และ ชเตราส์) , อุปรากรฝรั่งเศส (เช่นผลงานของ บิเซต์ , เดบูสซี) อุปรากรรัสเซีย (เช่นผลงานของ ไชคอฟสกี และ มูสซอกสกี) , อุปรากรอังกฤษ (เช่นผลงานของบรทเทน) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้อุปรากรเชื้ออชาติภาษาต่างๆจะพัฒนาขึ้นจนมีสถานะทางศิลปะไม่น้อยหน้าอุปรากรอิตาเลียนแต่ในแง่ของความนิยมของผู้ชม
อุปรากรอิตาเลียนก็ดูจะครองใจผู้ชมผู้ฟังทุกยุคทุกสมัยไม่เคยตกจนปัจจุบัน
บนเวทีอุปรากรชั้นนำทั้งหลายของโลกในปัจจุบัน รับประกันว่ามีอุปรากรอิตาเลียนจากสมัยโรแมนติกเป็นกรุงหลัก
ไม่ว่าจะเป็นผลงานของแวร์ดี,ปุชชินิ,ลีโอนคาวัลโล
เป็นต้น
นอกเหนือจากอุปรากรแล้ว
ในช่วงสมัยโรแมนติกหรือคริสต์ศตวรรษที่ 19
ก็เกิดอุปรากรอีกแบบหนึ่งขึ้นเป็นอุปรากรขนาดย่อมเรียกกันว่า ‘จุลอุปรากร’
(operetta : โอเปเร็ตตา) เป็นละครร้องเหมือนกัน
แต่องค์ประกอบทุกอย่างดังที่กล่าวมาตอนต้น จะย่อมลง เบาลง ฟังและดูง่ายขึ้น
เนื้อเรื่องเบาสมองจนถึงรักใคร่ประโลมโลก เรียกเสียงหัวเราะและน้ำหูน้ำตาพอสนุก
ไม่ถึงขั้นหนักหน่วงปัญญาและอารมณ์จนอึดอัดใจ
เหมือนชมอุปรากรสุขนาฏกรรมหรือโศกนาฏกรรมแท้ๆของสมัยโรแมนติก
การดำเนินเรื่องในจุลอุปรากรมักใช้บทพูดบทเจรจา
(ไม่ใช่บทร่ายหรือเรชิตาตีฟเหมือนในอุปรากร) ในแง่ของบทร้องก็ไพเราะฟังง่าย
คล้ายพ็อพที่ได้ยินได้ฟังกันตามสมัยนิยอม
และมักมีฉากการเต้นรำและระบำให้ดูตะการตาเป็นส่วนผสมที่สำคัญด้วย
จุลอุปรากรแบบนี้สืบสายต่อมาเป็นละครเพลงแบบที่เรียกว่า “มิวสิกเคิล”
ตามที่พัฒนาและได้รับความนิยมมากในอังกฤษและอเมริกาจนทุกวันนี้
คีตกวีที่แต่งจุลอุปรากรและมิวสิกเคิลที่มีชื่อเสียงสืบทอดกันมาในแต่ละยุคสมัยจากปลายโรแมนติกจนปัจจุบัน
ได้แก่ อ็อฟเฟนบาค(Offenbach), โยฮันน์ ชเตราส์ จูเนียร์(Johann Atauss Junior), เลฮาร์(Lehar),
ซัลลิแวน(Sullivan), เกิร์ชวิน (Gershwin)ม เบิร์สไตน (Bernstein), ลอยด์ เวบบอร์(Lloyd
Webber) เป็นต้น
อุปรากรเป็นโลกอีกโลกหนึ่ง
เป็นโลกจำลองอันวิจิตรเหนือจริงซึ่งเป็นเวทีให้มนุษย์แสดงออกถึงศักยภาพสูงสุดได้อีกทางหนึ่ง
ประตู เข้าสู่โลกอุปรากรนี้ ในตอนแรกๆก็อาจผลักเข้ามายาก
เพราะวิจิตรเหนือจริงในการแสดงออกแต่เมื่อเข้าไปได้แล้วก็ย่อมตื่นตะลึงคุ้มค่า
ไม่ผิดอะไรกับเปิดประตูสู่โลกอันมหัศจรรย์ ของ
ความเป็นมาและลักษณะสำคัญของอุปรากร
ประมาณช่วงต่อระหว่างศตวรรษที่ 16 กับ 17
มีกลุ่มผู้ดีชาวฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี กลุ่มหนึ่งเรียกตัวเองว่า “คาเมราตา”
(Camerata) ได้ฟื้นฟูโศกนาฏกรรม (Tragedy) ของกรีกโบราณมาผสมผสานกับเพลงขับร้องแบบใหม่ๆของกลุ่มตน
(ซึ่งเรียกรวมๆกันว่า Nuove Musiche) เกิดเป็นนาฏดนตรีแบบใหม่ขึ้นเรียกว่า
“โอเปร่า”(Opera) หรืออุปรากรในภาษาไทย
อุปรากร ประกอบด้วยเนื้อเรื่อง (Libretto) กับดนตรีหลายแบบ คือเพลงขับร้องเดี่ยว (aria)เพลงสำหรับนักร้องหมู่
(Chorus) เพลงกึ่งร้องกึ่งพูดหรือคล้ายๆท่อนบ่น (recitative)
ดนตรีโหมโรง (overture) ด้วยวงดนตรีขนาดใหญ่
และในโอกาสอื่นๆบางโอกาสก็ใช้วงดนตรีขนาดเล็ก
อุปรากรตามลักษณะข้างต้นมีเนื้อเรื่องหนัก
และมักจบลงด้วยความเศร้าสลด จึงเป็นอุปรากรหนัก หรือ serious opera
เรื่องแรกที่มีหลักฐานปรากฏอยู่คือ เรื่อง”ยูริดิเซ” (Euridice)แต่ง libretto โดยกวีออตตาวิโอรินูจนิจจิ (Ottavio Rinunicci) และดนตรีโดย จูลิโอ คาจจีนิ (Giulio Caccini) สมาชิกคนสำคัญที่สุดของกลุ่ม Camerata กับจาโคโบ เปริ (Jacobo Peri) อุปรากรเรื่องนี้นำออกแสดงฉลองการอภิเษกสมรสของกษัตริย์เฮนรี่ ที่4 ของฝรั่งเศส กับมาเรียแห่งเมดิจิ ณ เมืองฟลอเรนซ์ ปี ค.ศ.1600
แบบของอุปรากร
1.
Grand
Opera หรือมหาอุปรากร อุปรากรแบบนี้ไม่มีบทเจรจา มีแต่การบรรเลงกับการขับร้องประกอบเหตุการณ์ตลอดทั้งเรื่อง
มิได้กำหนดด้วยว่าอุปรากรแบบนี้จะยาว หรือจะสั้น และมีตัวประกอบการแสดงมากหรือน้อย
2.
Opera
Comique หมายถึง อุปรากรที่มีบทร้องและบทเจรจาประกอบการแสดง
3.
Comic
Opera หมายถึง อุปรากรที่ดำเนินเรื่องที่สนุกสนานชวนหัว
และตลกขบขันมีบทร้องและบทเจรจาคละกันไปกับการแสดง
4.
Opera
Seria หมายถึง อุปรากรที่ดำเนินเรื่องอย่างเศร้าๆ
ทำให้ตื่นเจ้นสะเทือนใจตามแบบโศกนาฏกรรม
5.
Opera
Buffa หมายถึง อุปรากรที่ดำเนินเรื่องไปในทางสนุกโลดโผน และตลกขบขัน
6.
Ballad
Opera เป็นอุปรากรที่กำเนิดในประเทศอังกฤษเช่นเรื่อง The
Begger’s Opera ซึ่งนำออกแสดงเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2271
(ค.ศ. 1728) อุปรากรแบบนี้ดำเนินตามแบบละครพูด
และแทรกด้วยเพลงขับร้องเป็นตอนๆ โดยหยิบยืมจากบทเพลงสามัญที่รู้จักกันทั่วๆไป
มิได้ประพันธ์ขึ้นไว้โดยเฉพาะ
7.
Chamber
Opera เป็นอุปรากรขนาดสั้นใช้เวลาแสดงไม่นาน วงดนตรีที่ใช้บรรเลงเป็นวงเล็กๆ
แบบจุลดุริยางค์ มีการขับร้องหมู่แบบคอรัส
8.
Singspiel
เป็นอุปรากรที่มีบทเจรจาเป็นคำพูด ลักษณะคล้ายกับแบลแลด
โอเพอราของอังกฤษ และโอเปร่า บูฟฟา ของอิตาเลียน
อุปรากรเป็นนาฏกรรมประกอบดนตรีที่เป็นที่ยอมรับนับถือกันว่าเป็นวิจิตรศิลป์ชั้นสูงเหนือกว่านาฏศิลป์สากลทั้งปวง อุปรากรเป็นแหล่งรวมของศิลปะหลายสาขา อาทิ ดนตรี บทกวีวรรณกรรม ระบำ ท่าทาง เครื่องแต่งกาย และฉาก ศิลปะเหล่านี้ต้องสร้างสรรค์ขึ้นด้วยวิชาการ และความสามารถอันสูง มีความประณีตวิจิตรบรรจงเป็นพิเศษ นอกจากนี้ อุปรากรยังประกอบด้วยศิลปวัฒนธรรมอีกหลากหลายประการ เช่น สถานอุปรากร หรือสถานที่แสดง มารยาทและระเบียบผู้ชม การเลือกเฟ้นผู้แสดงที่มีความสามารถเป็นเยี่ยม โดยเฉพาะในการขับร้อง ด้วยเหตุนี้ อุปรากรจึงเป็นศิลปะที่ประชาชนในประเทศที่เจริญแล้วพากันสนใจและยอมรับในคุณค่ากันทั่วไป
กำเนิดโอเปร่า
โอเปร่าเกิดขึ้นในอิตาลีในสมัยประมาณ ค.ศ. 1600 และเป็นสิ่งซึ่งมีอิทธิพลโดยตรงแต่ดนตรีสมัยใกล้นี้ ความจริงละครซึ่งมีดนตรีประกอบได้มีมานานแล้ว ในกรีกนั้นได้เคยเล่นมากดังกล่าวแล้ว ละครของกรีกเป็นละครระบำแสดงความรู้สึกและมีร้องเพลงผสม ต่อมาได้กลายเป็นละครในทางศาสนาตั้งแต่ปลายกรีกมาจนถึงต้นสมัยโรมัน แต่เนื่องจากผลความเจริญของดนตรีหลายทำนองในมัยกลาง ทำให้ลืมลักษณะเดิมแห่งละครนั้นเสีย กลายเป็นเพียงแต่การเล่นไป มนสมัยศตวรรษที่ 16 ได้เกิดการฟื้นฟูอักษรศาสตร์และศิลปะกัน จึงเริ่มค้นคว้าเรื่องราวละครของกรีกขึ้นและเราเรียกผู้ค้นคว้าเหล่านี้ว่า “พวกสำนักฟลอเร้นซ์” ซึ่งเป็นพวกที่มีความปรพสงค์จะฟื้นฟูละครของกรีก นอกจากสำนักฟลอเร้นซ์แล้ว ยังมี “สำนักเวนิช” “สำนักฝรั่งเศส” เกิดตามขึ้นมาด้วย
อุปรากรยุคแรกๆ
การให้ความบันเทิงในรูปแบบของละครที่มีดนตรีประกอบนั้นเป็นที่รู้จักกันมาแต่โบราณแล้ว
แต่กลุ่มขุนนางชาวฟลอเรนไตน์กับผู้รักศิลปะทั้งหลาย อาทิ เคานท์บาร์ดีเปรี คาซซินี
และคนอื่นๆ ที่พยายามจะพัฒนาการแสดงให้แปลกเปลี่ยนออกไปเมื่อใกล้สิ้นศตวรรษที่ 16 นั้น
ได้ชื่อว่าเป็นผู้เปิดยุคแห่งอุปรากร ดนตรีในยุคนั้นถือตามหลักการผสมเสียงของดนตรีหลายๆอย่างให้กลมกลืนกันอย่างเคร่งครัด
ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับเพลงในศาสนาหรือในโบสถ์
แต่ไม่เหมาะนักที่จะมาใช้กับการแสดงละคร
ดังนั้นกลุ่มขุนนางชาวฟลอเรนไตน์และผู้รักศิลปะทั้งหลายในยุคฟื้นฟูจนถึงยุคอันรุ่งเรืองของกรีกและโรมในบรรพกาลก็ขวนขวายที่จะหาทางริเริ่มสร้างรูปแบบของดนตรีที่ครึกโครมขึ้น
ความพยายามของกลุ่มศิลปินดังกล่าวนั้น ปรากฏให้เห็นได้จาก งานอุปรากรเรื่องแรก
คือเรื่อง ดาฟเน (Dafne)
ซึ่งเปิดการแสดงครั้งแรกที่เมืองฟลอเรนซ์ ในพ.ศ. 2140 ผู้ประพันธ์คำร้องเป็นคีตกวีชาวอิตาเลียนชื่อ
ออต ตาวิโอ รินุชชินี (Ottavio Rinuccini) ส่วนดนตรีนั้น
จาโคโป เปรี (Jacopo Peri) มักเป็นผู้ประพันธ์
เปรีเป็นนักดนตรีชาวอิตาเลียนที่มีความสามารถผู้หนึ่งในสมัยนั้น แต่บางตอน จูลิโอ
กัชชินี (Giulio Caccini) นักดนตรีร่วมชาติร่วมสมัยอีกผู้หนึ่งก็ร่วมประพันธ์ด้วย
ดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงอุปรากรเรื่องแรกๆ
นั้นมีเพียง ๔ ชนิดคือ
๑.ฮาร์ปซิคอร์ด (Harpsichord) เป็นเครื่องดีดชนิดหนึ่งที่ใช้ลิ่มนิ้วคล้ายเปียโน
๒.พิณ หรือ ฮาร์ป (Harp)
เป็นเครื่องดีดอีกชนิดหนึ่ง
๓.ซอวิโอล (Viol) เป็นเครื่องสี
ลักษณะคล้ายซอวิโอลอนเชลโล (Violon cello)
๔.ลิวต์ (Lute) เป็นเครื่องดีดคล้ายแมนโดรินขนาดใหญ่
อุปรากรเรื่องแรกๆ นั้น ยังมีลักษณะที่ไม่สมบูรณ์นัก ยังไม่มีเพลงแบบอาเรียหรือทำนองเพลงที่ไพเราะขับร้อง บทเจรจาที่ใช้คำพูดธรรมดาๆ ไม่มีลีลาการขับร้องกึ่งเจรจาแบบริซิเตตีฟ (Recitiative) เช่นอุปรากรในปัจจุบัน หลังจากนั้นอีก ๓ ปี ก็ได้มีการปรับรูปอุปรากรให้มีขนาดที่เหมาะสมมากขึ้น จากเรื่อง ยูรีดีเซ (Euridice) ของเปรี และกัชชินี ผู้สร้างเรื่อง ดาฟเน นั่นเอง อุปรากรเรื่องนี้ได้เปิดการแสดงครั้งแรกใน พ.ศ.๒๑๔๓
แนวทางของอุปรากรในระยะต่อมา
แม้ว่าอุปรากรในสมัยแรกๆ
จะไม่สู้ละเมียดละไมนัก แต่ก็เป็นการเปิดทางใหม่ให้แก่นักประพันธ์เพลงอุปรากร
ในพ.ศ.๒๑๕๐ มอนอตแวร์ดี
ได้สร้างอุปรากรชื่อ ออร์เฟโอ (Orfeo) ขึ้น
มอนเตแวร์ดีเป็นชาวเมืองมิลานที่รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างอุปรากรที่สำคัญผู้หนึ่งของโลกในยุคแรก
เป็นผู้พัฒนาอุปรากรโดยเพิ่มเครื่องดนตรีในวงดุริยางค์ให้มากขึ้นจาก 4 เครื่องเป็น 36 เครื่อง ในเรื่อง ออร์เฟโอ
นอกจากนั้นยังได้แต่งเติมวิธีขับร้องกึ่งเจรจาแบบ เรซิเตตีฟ
ให้แนบเนียนมีชีวิตชีวาขึ้น ต่อจากนั้นก็มี อเลสซานโดร สการ์ลัตตี ชาวเนเปิลส์
ผู้สร้างเพลงขับร้องในอุปรากรให้ไพเราะยิ่งกว่าเดิม และเป็นผู้หนึ่งในบรรดานักแต่งเพลงอุปรากรยุคแรกที่สร้างแบบอาเรียให้สอดประสานเข้ากับบทเจรจาของตัวละครได้อย่างเยี่ยม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น