วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

อุปรากรเยอรมนี

 

อุปรากรเยอรมนี

ไรน์ฮาร์ด ไกเซอร์ (Reinhard Keiser) เป็นผู้ที่ได้มอบลักษณะพิเศษให้แก่อุปรากรเยอรมันเป็นเรื่องแรก โดยเปิดศักราชอุปรากรเยอรมันขึ้นในฮัมบูร์ก และฮัมบูร์กนี้เองที่ ฮันเดลเสี่ยงสร้างอุปรากรเรื่องแรกของเขาขึ้น อุปรากรเรื่องแรกที่เปิดแสดงต่อสาธารณะชนในฮัมบูร์กเมื่อ พ.ศ.๒๒๒๑ คือเรื่อง อะดัมและอีฟ (Adam and Eve) ของโยฮัน ทีล (Johann Theile) รูปแบบของการแสดงใกล้เคียงกับอุปรากรแบบที่เรียกว่า hallad-opera ของอังกฤษ แม้แต่โมสารท์เองซึ่งมักจะถือตามแบบฉบับของอิตาเลียนก็ยังชื่นชอบรูปแบบเช่นที่กล่าวนี้

อุปรากรโรแมนติกสมัยใหม่ของเยอรมันนั้นอาจกล่าวได้ว่าเริ่มมาจากงานของวีเบอร์ (Weber) ในเรื่อง “Der Freischiitz” ซึ่งเนื้อเรื่องในอุปรากรนี้ได้มาจากนิยายของเยอรมัน สปอห์ร (Spohr) และมาร์สชเนอร์ (Marschner) ก็มีส่วนร่วมในความเคลื่อนไหวของอุปรากรสมัยนี้ไม่น้อย และเป็นการถากถางการให้แก่ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) ที่โลกยอมรับว่าเป็นนักประพันธ์อุปรากรผู้ยิ่งใหญ่ด้วย วากเนอร์ใช่แต่จะมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อศิลปะของเยอรมันเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อนักแต่งอุปรากรของทุกชาติด้วย ทั้งในด้านของเรื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงและในด้านเพลงดนตรีของนาฏกรรม

พ้นจากยุคของวากเนอร์แล้ว ผู้ประพันธ์อุปรากรของเยอรมันที่ยิ่งใหญ่อีกผู้หนึ่ง ได้แก่ ริชาร์ด สเตร้าส (Richard Strauss) ในเรื่อง “Salome” และเรื่อง “Elektra” กับเรื่องอื่นๆ อีกในลักษณะเดียวกัน ผู้ที่เจริญรอยตามแบบงานของวากเนอร์ที่มีงานเป็นที่นิยมชมชอบนอกจากที่กล่าวมาแล้วก็มีเช่น ฮัมเปอร์ดิงค์ (Humperdinck) โกลด์มาร์ก (Goldmark) และสเมตานา (Smetana) สำหรับสเมตานานั้นมีงานชิ้นหนึ่งที่แสดงออกถึงลักษณะพิเศษของชาวโบฮีเมียน อันยังดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือเรื่อง “Bartered Bride” นักประพันธ์อุปรากรที่มีชื่อร่วมสมัยกับวากเนอร์ที่สำคัญอีกผู้หนึ่งคือ มายเออเบ (Meyerbeer) ซึ่งมีอิทธิพลครอบงำวงการอุปรากรของฝรั่งเศสอยู่ระยะหนึ่ง มายเออเบ สร้างกฎเกณฑ์ของเขาขึ้นเอง แต่ก็ได้ผลิตงานขึ้นตามแนวทางของเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี พร้อมกับความเรียบง่าย และได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอุปรากรโดยทั่วไปอยู่ไม่น้อย แต่ก็มิได้ตั้งสำนึกฝึกสอนและไม่มีศิษย์

อุปรากรเยอรมันนั้นนับว่าเยี่ยมทั้งในบทเจรจาและในทำนองเพลง ทั้งยังได้ช่วยเพิ่มพูนคุณลักษณะของอุปรากรให้สูงส่งโอ่อ่ายิ่งขึ้นวิทยาการอันยิ่งใหญ่ของศิลปะในการผสมผสาน ดุลยภาพ เครื่องดนตรี รวมทั้งการจัดฉากและเวที คู่เคียงไปกับมาตรฐานอันสูงส่งในสุนทรียภาพ ในปัจจุบันคุณลักษณะดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไป ส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางที่ถดถอยความงามลง แล้วเปิดทางให้แก่ความยิ่งใหญ่เข้ามาแทน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เยอรมันก็ยังคงรักษาแบบแผนอันยอดเยี่ยมของเบโทเฟนและวากเนอร์อยู่อย่างลึกซึ้งมาโดยตลอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น