วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คุณลักษณะทางดนตรี ในยุคบาโร้ค

คุณลักษณะทางดนตรีในยุคบาโร้ค ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า คุณลักษณะทางดนตรีสมัยบาโร้คที่จะกล่าวต่อไปนี้เพ่งเล็งเฉพาะในช่วง ค.ศ. 1680-1750 เท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาของบทเพลงยุคบาโร้คประเภทที่พวกเราได้ยินได้ฟังกันอยู่ในปัจจุบันเป็นส่วนมาก ในช่วงปลายยุคสมัยนี้บทเพลงบรรเลงมีความสำคัญขึ้นพอๆกับเพลงร้อง และแม้ว่าในช่วงแรกของยุคบรรดาคีตกวีจะเป็นแบบ Homophony Texture คือบทเพลงทำนองเดียวก็ตาม แต่ค่อยๆเพิ่มลักษณะของ polyphony คือบทเพลงหลายทำนองขึ้นในตอนปลายยุค ลักษณะสำคัญของดนตรียุคบาโร้ค ดนตรีในยุคนี้มีลักษณะที่สามารถสรุปได้ดังนี้ คือ 1. มีอารมณ์เดียวกันตลอดเพลง (Unity of Mood) เขียนบทเพลงที่เริ่มต้นด้วยอารมณ์สนุกสนาน ก็สนุกสนานไปตลอดเพลงตั้งแต่ต้นจนจบ โดยที่คีตกวีจะเลือกใช้จังหวะที่แน่นอนตายตัวควบคู่ไปกับท่างทำนอง ซึ่งสามารถจะพบได้ทั้งเพลงร้อง และเพลงบรรเลง 2. ใช้จังหวะเดียวกันตลอดเพลง (Unity of Rhythm) บทเพลงเพลงหนึ่งจะใช้จังหวะอย่างเป็นเอกภาพตลอดเพลง ไม่มีช้าลงหรือเร็วขึ้นไม่เปลี่ยนแปลงจังหวะ ซึ่งจะทำให้อารมณ์เพลงคงที่อยู่เช่นนั้นเรื่อยไป 3. ท่วงทำนองเพลงให้ความรู้สึกที่เชื่อมโยงติดต่อกัน (Continuity of Feeling) ทำนองที่ได้ยินตอนต้นเพลงจะมีการนำมาใช้บ่อยๆ ในลักษณะต่างๆกัน โดยไม่เปลี่ยนแปลง ให้ความรู้สึกที่เคลื่อนที่ไปอย่างต่อเนื่อง ทำนองสั้นๆ เมื่อขึ้นต้นเพลงจะถูกนำมาขยายให้ยาวขึ้นภายหลังโดยไม่มีหยุด แต่บรรเลงด้วยโน้ตติดต่อกันเป็นทำนองเต็ม 4. ใช้เสียงดังและเบาสลับกัน (Terraces Dynamics) ถึงแม้ว่าการบรรเลงดตนรีที่เป็นความเบาและดังประเภทค่อยๆดังขึ้นหรือค่อยๆเบาลง จะไม่มีปรากฏในยุคบาโร้คด้วยข้อจำกัดของเครื่องดนตรีที่ไม่อาจทำเช่นนั้นได้ก็ตาม แต่ก็มีการใช้เสียงดังและเบาสลับกันเป็นช่วงๆที่เรียกว่า Terraces Dynamics คือ ดังเป็น ff สลับกับเบา p เป็นสาเหตุที่ต้องใช้ Dynamic แบบนี้ก็เพราะเครื่องดนตรี เช่น ออร์แกน และฮาร์พซิคอร์ดที่ไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ และเม้ว่าตอนปลายยุคจะมีคลาวิคอร์ดซึ่งสามารถทำเสียงหนักเบาได้บ้างแต่ก็ในช่วงแคบๆ คือระหว่างเบาที่สุดไปจนถึงปานกลางเท่านั้น จึงไม่อาจสร้างอารมณ์ด้วยเสียงหนัก-เบาได้มากนัก 5. Texture หรือผิวพรรณของดนตรียุคบาโร้ค เด่นชัดในลักษณะของดนตรีหลายทำนอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำนองในระดับเสียงสูง (Soprano) และเสียงต่ำ (Bass) จะมีความสำคัญเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามคีตกวีบางคนเช่น Handel ก็ยังคงใช้ผิวพรรณแบบหลายทำนองกับแบบทำนองเดียวสลับกันไปมาอยู่บ้างเหมือนกัน 6. มีการใช้ Figured Bass หรือการกำหนดทำนองของ Bass โดยการเขียนเป็นตัวเลขที่เรียกว่า Figured Bass แทน การเขียนเป็นตัวโน้ต ซึ่งสามารถประหยัดเนื้อที่กระดาษได้เป็นอย่างมาก การกำหนดแนวเบสด้วยตัวเลขนี้มีลักษณะคล้ายกับการวางแนวทำนองหลักของเสียงเบสในดนตรี Jazz ซึ่งไม่ได้กำหนด Chord progression ไว้เป็นตายตคัว เปิดโอกาสให้คีตกวีสามารถตกแต่งทำนองต่างๆได้อย่างมาก และความงามของท่วงทำนองที่มีแนวเบสเป็นตัวนำนี้เองก่อให้เกิด “กลอนเพลง” (Sequences) ตามแบบฉบับของบาโร้คขึ้นมา 7. การบรรยายอารมณ์และความรู้สึกด้วยท่วงทำนองเฉพาะ (Words and Music) เช่น เสียงสูงหมายถึงสวรรค์ เสียงต่ำอาจจะหมายถึงนรก การเสียงสูงขึ้นหมายถึงการทำดี เสียงค่อยๆต่ำลงอาจหมายถึงความตกต่ำและความเจ็บปวด ความผิดหวังใช้การเรื่องเสียงต่ำลงของขั้นคู่สี่ เป็นต้น ซึ่งเป็นลักษณะที่ค่อนข้างเป็นมาตรฐานของดนตรีในยุคนี้ 8. ลักษณะการประสมวงดนตรี ดนตรียุคบาโร้คเน้นที่การรวมกันเป็นวงบรรเลง โดยใช้กลุ่มเครื่องสายตระกูลไวโอลินเป็นหลัก และถ้าเอาเกณฑ์ปัจจุบันเป็นมาตรฐานแล้ว วงออร์เคสตาร์ในสมัยบาโร้คนั้นค่อนข้างจะมีขนาดเล็ก คือประกอบด้วยเครื่องดนตรีตั้งแต่ 10 ชิ้น ไปจนถึง 30 ชิ้น และน้อยครั้งที่จะมากขึ้นไปถึง 40 ชิ้น เครื่องดนตรีที่ใช้ประสมวงก็ไม่แน่นอน แล้วแต่บทเพลงว่าคีตกวีจะกำหนดให้ใช้อะไร เครื่องดนตรีหลักที่บรรเลงแนวทำนอง Basso Continuo ได้แก่ ฮาร์ฟซิคอร์ด และเชลโล่ ดับเบิ้ลเบสหรือบาสซุน ส่วนทำนองเพลงเสียงสูงได้แก่ Violin 1st 2nd และ Viola ส่วนเครื่องดนตรีประเภทปี่ ขลุ่ย (หรือ Wood Wino) แตร (Brass) และเครื่องตี (Percussion) นั้น สุดแล้วแต่ความเหมาะสมของเพลงแต่ละบท ในส่วนของเครื่องดนตรีดำเนินทำนองในกลุ่มของเครื่องสาย ก็อาจจะเพิ่มขลุ่ยรีคอร์เดอร์ ฟลุท ปี่โอโบ แตรทรัมเป็ แตรทรอมโบน หรือกลองทิมปานี่ก็ยังได้ด้วย จำนวนของเครื่องดนตรีก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากันเสมอไป บทเพลงบางบทอาจจะใช้ฟรุทเลาเดียวขณะที่มีโอโบ 2 เลา และทรัมเป็ต 4 คัน แตรทรัมเป็ตและกลองทิมปานี่มักจะใช้ในตอนที่แสดงถึงเทศกาลงานฉลองต่างๆเสียเป็นส่วนมาก ลักษณะการประสมวงดนตรีในยุคบาโร้คนี้ไม่ได้เป็นไปตามการประสมวงในดนตรีปัจจุบันที่แบ่งเครื่องดนตรีออกเป็น 4 กลุ่ม คือ เครื่องสาย ปี่-ขลุ่ย แตร และเครื่องจัวหวะ ทรัมเป็ตในยุคบาโร้คคล้ายกับเฟรสซ์ฮอร์นในยุคแรกๆ คือไม่มีลูกสูบกดนำเสียงสูงต่ำ แต่ใช้ปากบังคบ สามารถเป่าเสียงสูงต่ำเป็นทำนองได้อย่างรวดเร็วในระดับเสียงค่อนข้างสูง เครื่องดนตรีชนิดนี้เล่นยากและเคยมีความสัมพันธ์อันดีกับราชวงศ์ และถือเป็นเครื่องดนตรีบรรดาศักดิ์ของวงออร์เคสตร้า ในอดีตหากนักเป่าทรัมเป็ตถูกจับได้ในสงครามแล้วมีการแลกเปลี่ยนเชลยศึกกันละก็นักเป่าทรัมเป็ตจะได้รับเกียรติในฐานะเดียวกับนายทหารเลยทีเดียว คีตกวีอย่าง Bach, Handel และ Vivaldi จะเลือกใช้เครื่องดนตรีอย่างระมัดระวังเพื่อให้เหมาะสมกับบทเพลงที่แต่งขึ้น แต่ละทางและนิยมทดลองใช้เครื่องนั้นเครื่องนี้จนกว่าจะพอใจ 9. รูปแบบของดนตรีในยุคบาโร้ค มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง และเป็นที่ทราบดีว่าแต่ละเพลงมักจะมีอารมณ์เพลงเป็นเอกภาพ เพลงบทหนึ่งๆ ประกอบด้วยหลายท่อน ซึ่งมีลักษณะขัดแย้งกัน แต่ละท่อนมีลักษณะที่จบสมบูรณ์ในตัวเอง และไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวพันกับท่อนต่อๆไป โดยที่แต่ละท่อนมักจะมีทำนองหลัก (Theme) ของตนเอง บทเพลงแบบ 3 ท่อนของยุคบาโร้คอาจจะขึ้นต้นด้วยลักษณะที่ตัดกันของจังหวะที่ช้าและเร็วตามด้วยท่อนช้าและสุขุมคัมภีรภาพ จบด้วยท่อนเร็วสบายๆหรือเต็มไปด้วยอารมณ์ขันก็ได้ รูปแบบของดนตรียุคบาโร้คมีทั้งบทเพลง 3 ท่อน ABA เพลงทั้งท่อน AB และเพลงที่มีท่อนเดียว ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นๆ และคือเป็นเรื่องธรรมดาที่จะให้มีลักษณะตัดกันระหว่างการบรรเลงของเครื่องดนตรีกลุ่มย่อยๆกับวงออร์เคสตร้าหรือระหว่างเครื่องดนตรีกับการขับร้องประกอบวงดนตรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น