รวบรวมข่าวสารดนตรีศึกษา ดนตรีวิทยา ดนตรีชาติพันธ์ การศึกษาทางมานุษยดุริยางควิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556
วินัยในตนเอง 2 รู้ว่าผิดแต่ยังทำอีก ทำไม?
โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียง จาก รายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
Q1: ทำไมคนเราถึงชอบทำความผิดทั้งๆ ที่รู้ตัวว่าสิ่งนั้นไม่ดี และจะแก้ไขได้อย่างไรบ้างคะ?
คำถาม: หลวงพ่อเจ้าคะ ลูกอยากกราบเรียนถามหลวงพ่อเจ้าค่ะ ทำไมคนเราถึงชอบทำความผิด ทั้งๆ ที่รู้ตัวว่าสิ่งนั้นไม่ดี และจะแก้ไขได้อย่างไรบ้างคะ
คำตอบ: ทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งนั้นผิด อะไรๆ ไม่ดีก็รู้หมด แต่อดไม่ได้ที่จะไปทำมันอีก ปัญหานี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดกับเรา มันเกิดมาพร้อมกับโลกใบนี้เกิด เพราะใจมนุษย์คุ้นกับกิเลส เหมือนปลาคุ้นน้ำ ลองจับปลาเป็นๆ โยนขึ้นมาบนบก แล้วจะเห็นว่า มันอยู่เฉยๆ หรือมันดิ้น จะเห็นว่ามันพยายามดิ้นจะกลับลงน้ำ ซึ่งความจริงในน้ำน่าจะหายใจไม่ออก น่าจะสำลัก อยู่บนบกน่าจะหายใจคล่อง มันไม่ใช่ เพราะมันเป็นปลา มันคุ้นกับน้ำ มากกว่าคุ้นกับอากาศ มันก็เลยดิ้นจะกลับลงน้ำต่อไป
ใจเราคุ้นอยู่กับกิเลส เมื่อเราอยู่ในท้องแม่ กิเลสก็ฝังอยู่ในใจ ติดตัวข้ามภพข้ามชาติมาแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เลยบีบคั้นใจเรามาตั้งแต่เกิด บีบคั้นมาข้ามชาติยังไม่พอ ชาตินี้บีบต่ออีก ให้เราคุ้นกับความไม่ดี เหตุนี้เองแม้รู้ว่าอะไรที่เป็นความดี ยังไม่ค่อยอยากทำเลย กลับย้อนไปทำความไม่ดีเสียอีก ใจคุ้นกับกิเลสเหมือนปลาคุ้นน้ำ
เพราะฉะนั้นในการแก้ไขตัวเองจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เรามีความจำเป็นที่จะยึดหลักง่ายๆ ในการแก้ไขตัวเองก็คือ นอกจากเราจะศึกษาให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว สิ่งที่ต้องทำเพิ่มนั้น มีอะไรบ้าง
๑. หาคนที่เขามีกำลังใจในการประกอบคุณงามความดี หรือคนที่เขาเคยไม่เข้าท่าเหมือนเรามาก่อน แต่วันนี้เขาชนะใจตนเองได้แล้ว หาคนประเภทนี้มาเป็นครูให้ได้ ถ้าได้ โชคดียิ่งกว่าถูกล็อคเตอรี่รางวัลที่ ๑ ร้อยครั้ง แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร สิ่งที่ต้องทำต่อคือ หัดเพิ่มกำลังใจให้กับตัวเอง วิธีเพิ่มกำลังใจให้ตัวเอง ทำอย่างไร?
หาคนที่เขาพอรู้ใจ แล้วเขาก็มีความปรารถนาดีต่อเรา อยากให้เราเป็นคนดียิ่งๆ ขึ้นไป ได้ใกล้ชิดกับท่านเหล่านี้บ่อยๆ ก็จะได้กำลังใจจากท่านมาบ้าง แต่ก็จะช่วยได้เป็นเพียงครั้งคราว
มันเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องสร้างกำลังใจเอง ในการสร้างกำลังใจให้กับตัวเองก็มีหลักง่ายๆ หลักขั้นต้น ลองตรองดูว่าความผิดไม่เหมาะไม่ควรอะไร ต่างๆ นานา มีโทษทางบ้านเมืองขนาดไหน มีโทษต่อการงานความเจริญก้าวหน้าของเราขนาดไหน พิจารณาให้มากๆ
อีกเรื่องหนึ่ง ให้หนักเข้าไปอีกว่า โทษในฐานะที่เป็นความชั่ว นรกขุมไหนรอเราอยู่ ต้องลงโทษตัวเองกันขนาดนั้น การลงโทษตัวเอง ตำหนิตัวเองแรงๆโดยเอานรกเป็นตัวตั้ง มันก็เป็นการให้กำลังใจได้อย่างหนึ่งเหมือนกัน ตรงนี้คงต้องไปถามท่านผู้รู้ ท่านที่ฝึกสมาธิ(Meditation)มามาก แตกฉานธรรมะมามาก แล้วท่านจะมีวิธีแนะนำหรือชี้ขุมนรกต่างๆ ให้ฟัง
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะทำให้เราเกิดความอายบาป กลัวบาปขึ้น คือมีหิริโอตัปปะเพิ่มขึ้นนั่นเอง และพลังแห่งความอายบาป กลัวบาป อายชั่ว กลัวนรกของเรา จะเป็นพลังขับดันให้เรา กล้าที่จะฝืนใจไม่ย้อนกลับไปทำความชั่วอีก นี่เป็นประการที่ ๑.
ประการที่ ๒. หมั่นนั่งสมาธิเยอะๆ ถ้าไม่มีกำลังใจในการนั่งสมาธิ ก็บอกได้คำเดียว “รีบตกนรกไปเถอะ” มันเป็นเรื่องที่เมื่อรู้แล้วมันจะต้องสู้ เพราะธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าช่วยได้เฉพาะคนที่คิดจะช่วยตัวเอง ถ้ายังไม่คิดจะช่วยตัวเอง ใครก็ช่วยเราไม่ได้ เพราะวิธีช่วยตัวเองและเพิ่มกำลังใจให้กับตัวเองที่ดีอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการนั่งสมาธินั่นเอง ให้นั่งไป ถึงแม้จะเมื่อยบ้าง ง่วงบ้าง สัปหงกบ้าง ก็ไม่เป็นไร หลับตาแล้วก็ยังมืดมิด คิดอะไรก็ไม่ออก ก็ช่างมัน ทำไปสักระยะหนึ่ง ไม่ช้าใจก็จะสงบ แล้วใจมันก็จะนิ่ง จะสว่างขึ้นมาได้เอง นี่เป็นวิธีสร้างกำลังใจให้กับตัวเองวิธีที่ ๒.
นอกจากตรึกนึกนรกแล้ว ยังตรึกนึกถึงธรรมะ แล้วทำสมาธิไป ยังมีอีกวิธีหนึ่ง ความจริงแล้วเป็นวิธีประกอบ แต่ว่าก็ได้ผลดี คือปู่ย่าตาทวดของเราก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว แต่ว่าคนรุ่นหลังไม่ค่อยทำตาม โดยท่านมีห้องพระเอาไว้ให้ เหมือนจำลองเอาพระนิพพานมาไว้ในบ้าน เอาไว้สวดมนต์ นั่งสมาธิอย่างที่ว่า
แล้วในห้องพระนั้น พระพุทธรูปก็มี รูปบรรพบุรุษของตัวเองที่ตั้งวงศ์ ตั้งตระกูล ตั้งฐานะมาได้ ก็มี ท่านประกอบคุณงามความดีไว้มาก รูปดีๆ ติดไว้ให้รอบบ้าน ที่ทำงานด้วย ไม่เฉพาะภาพของบรรพบุรุษที่สร้างตระกูลเรามา แม้แต่บรรพบุรุษของชาติ เอารูปของท่านมาติด แล้วกำลังใจของเราจะเพิ่มขึ้น
และรูปที่ไม่เหมาะสมทั้งหลาย ภาพเกี่ยวกับอบายมุข เอาไปทิ้งเสียให้หมด มีเอาไว้ก็อัปมงคล เทวดาจะไม่อยากมาลงรักษาบ้านเรา
อะไรที่เป็นอุปกรณ์ส่งเสริมความดี เอามาจัดเตรียมไว้ให้เต็มบ้าน รูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ท่านบำเพ็ญพระราชกรณียกิจให้กับพสกนิกรมาตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ไม่ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากใดๆ เลย ควรมีท่านเอาไว้บูชา แล้วเราก็ทำความดีตามท่าน
ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับผู้ชายใครที่เคยบวช รูปตัวเองสมัยบวช รูปของพระอุปัชฌาย์ ควรเอามาติดไว้ดูจะได้นึกถึงความดีที่เคยทำ อย่างนี้บรรยากาศในการสร้างความดี ทั้งที่ทำงาน ทั้งที่บ้าน แม้ห้องพระ ห้องนอน มันพร้อมหมด อย่างนี้กำลังใจที่จะสู้กับกิเลส กำลังใจที่จะเพิ่มพูนความดีให้กับตัวเอง มันจึงจะทับทวีนับอสงไขยไม่ถ้วนให้กับเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้วเราก็จะสามารถทำความดีจนคุ้น กลายเป็นคนดีที่โลกต้องการ
คำถาม : ถ้ามีญาติหรือมีเพื่อนมาขอยืมเงินเราควรจะวางตัวอย่างไรดี เพราะถ้าไม่มีให้ก็จะเสียน้ำใจ ถ้าให้บ่อยๆ เราก็เดือดร้อน วันนี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อของเราจะมาตอบคำถามนี้ให้เรารับทราบกันค่ะ
คำตอบ: การที่ใครจะมีเพื่อน มีญาติ สิ่งที่ต้องจำไว้ก็คือเราต้องเป็นที่พึ่งให้แก่เขาได้เมื่อถึงคราวจำเป็น ถ้าถึงคราวจำเป็น ใครพึ่งก็ไม่ได้ แล้วใครเขาจะอยากมาเป็นเพื่อน เป็นญาติกับเรา นี่ประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง เราก็ต้องรู้ไว้ว่าแม้คราวตัวเองก็เหมือนกัน บางครั้งอาจตกเข้าที่คับขัน สิ่งที่เราเตรียมไว้ มีไว้อย่างมหาศาล บางทีก็ถึงคราวขาดแคลนได้ เข้าทำนองถึงเวลาราชสีห์ก็ต้องพึ่งหนูเหมือนกัน ตรงนี้ก็ต้องทำความเข้าใจกันเอาไว้
เพราะฉะนั้นเมื่อถึงคราวญาติ หรือเพื่อน ขอความช่วยเหลือ วิสัยของคนดี คนที่หวังความก้าวหน้าจะต้องเตรียมพร้อมตรงนี้เอาไว้ตลอดเวลา ว่าพรรคพวกเพื่อนฝูงญาติสนิทมิตรสหายบ่ายหน้ามาแล้ว มาขอความช่วยเหลือแล้ว ต้องไม่ยอมให้กลับมือเปล่า จำคำนี้ไว้ก่อน ส่วนว่าจะช่วยกันได้มากน้อยแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง อย่างไม่ได้จริงๆ ก็ต้องมีค่ารถกลับบ้านได้ ไม่อย่างนั้นมาแล้ว เสียเวลาแล้ว หวังจะได้รับความช่วยเหลือบ้าง กลับไม่ได้อะไรเลย มันก็กระไรอยู่
อย่างไรก็ตาม การที่จะให้ความช่วยเหลือใคร มากน้อยแค่ไหน อย่างไร มีหลักพิจารณาอย่างนี้
๑. ดูความพร้อม ความรู้ ความสามารถ ดูกำลังของเราว่ามีกำลังจะให้เขาพึ่งได้เท่าไหร่ ตรงนี้ดูก่อน จะช่วยใครก็ได้ แต่ว่าอย่าให้เกินกำลังตัว อันนี้ต้องถือเป็นหลักเอาไว้ให้ดี
คราวนี้ ก็มาดูถึงบุคคลที่มาขอความช่วยเหลือเรา ไม่ว่าญาติหรือเพื่อน ดูอย่างไร ข้อแรก ก็คือดูความจำเป็นของเขาว่ามากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีความจำเป็นอะไรนัก มาเผื่อได้เท่านั้นเอง อย่างนี้ กินข้าว เลี้ยงข้าวสักมื้อหนึ่ง แล้วก็ให้ค่ารถกลับบ้านก็พอแล้ว
แต่ถ้าหากมีความจำเป็น เช่นตัวเขาเองป่วย หรือพ่อแม่ตาย ลูกหลานเกิดอุบัติเหตุฯลฯ มันเป็นเรื่องเหลือวิสัย ตรงนี้ต้องช่วยกัน ไม่มากก็น้อย ต้องช่วยกันให้เต็มที่ เต็มตามกำลังของเรา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเขาผู้นั้นเคยมีความสำคัญอันดีกับเราในอดีต เช่น เราเองก็เคยเป็นหนี้พระคุณเขามา ถึงคราวเราเดือดร้อน เขาก็ช่วยเหลือเราเต็มกำลังมาก่อน ถ้าในกรณีนี้ ถึงคราวเขาเดือดร้อนบ้างแล้ว เราก็ต้องช่วยให้เต็มที่ ในกรณีเช่นว่าพ่อแม่เขาป่วยหนัก ตัวเขาเองถูกกลั่นแกล้ง ถูกโกง ถูกคดีความ ต้องมีค่าประกันตัว ไม่เช่นนั้นเขาจะติดคุกติดตาราง ขึ้นโรงขึ้นศาลไม่หวาดไม่ไหว อะไรทำนองนี้ นึกถึงความจำเป็นและนึกถึงความสัมพันธ์อันดีในอดีตซึ่งมีต่อกันแล้ว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนชาวพุทธเอาไว้ว่า เพื่อนที่ดี ในวาระอย่างนี้ ต้องหาทางช่วยกันให้เต็มที่ อย่าว่าแต่เขาขอร้อง ขอยืมมาเท่าไหร่แล้วให้เท่านั้น เนื่องจากเขาเป็นคนดี เกรงใจผู้อื่น เพราะฉะนั้นที่เขาเอ่ยปากขอความช่วยเหลือนั้น มันคงเต็มที่แล้ว พระองค์จึงทรงสอนเอาไว้ว่ากรณีเช่นนี้ให้เป็น ให้เป็น ๒ เท่าที่เขาขอเลย เพราะเขาเป็นคนดี เคยมีพระคุณกับเรามาก่อน แล้วก็ครั้งนี้เขาจำเป็นจริงๆ แต่ว่าในเชิงปฏิบัติ ถ้าเราเป็นประเภทเราเองก็ตัวคนเดียว ไม่มีครอบครัวให้ห่วง ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ใช้คำว่าลูกผู้ชายใจนักเลง เทกันหมดกระเป๋าช่วยกันเลย ตรงนี้คือวิสัยที่ควรทำ
แต่ว่าถ้าเป็นกรณีทั่วๆ ไปแล้ว เขากับเราก็เพียงรู้จัก แล้วก็นิสัยใจคอก็เพียงแค่พื้นๆ ยังไม่ชัดเจนนักก็พิจารณาดูว่าจมอบายมุขไหม ถ้าจมอบายมุข อย่างนี้ถ้าให้ไปแล้วนอกจากไม่เกิดประโยชน์ ยังกลายเป็นส่งเสริมให้คนทำความชั่วด้วย ในกรณีอย่างนี้ไม่ควรให้ เช่นติดเหล้า เล่นการพนัน ฯลฯ ถ้าเขาจะโกรธก็โกรธไป เพราะถ้าให้ไป เขาก็จะไม่มีโอกาสได้แก้ไขนิสัยของเขาเลย
แต่ถ้าเขาเป็นคนตั้งใจทำมาหากิน นิสัยใจคอก็ ดูก็ไม่มีข้อเสียอะไร ถ้าอย่างนี้ก็ให้ไปตามสมควร ถ้าไม่มากนัก ในกรณีอย่างนี้ ก็ต้องทำใจ คือถ้าให้ไปแล้วไม่คืน หรือคืนแต่ไม่ตรงเวลา แล้วจะเกิดความเสียหายแก่เรา ถ้าอย่างนี้ คงต้องคิดมากสักหน่อย เอาไปสักแค่ครึ่งหนึ่งก็พอ นี่ยกตัวอย่าง ที่เหลือก็ให้เขาไปหาจากพรรคพวกคนอื่นบ้าง เพราะถ้าเขาไม่เอามาคืนตรงเวลา เดี๋ยวเราจะเดือดร้อน อันนี้ก็ช่วยกันไป เพราะว่ายังไม่มีประวัติในทางเสียหาย ช่วยเท่าที่ไม่เกินกำลังเรา
เมื่อให้ไปแล้ว วันหลังเขาเอามาคืนตามที่สัญญาเอาไว้ ในกรณีเช่นนี้ ก็ถือว่าประวัติใช้ได้ ก็เข้าทำนองที่ว่า หากวันหลังเดือดร้อนมาใหม่อีก ก็ให้อีก เพราะประวัติดี พอให้กันได้
แต่ถ้าประเภทไหนที่ให้ไปแล้ว ไม่เคยให้คืนกลับเราเลย ถ้ามาอีก ก็คงให้ไม่ได้ เข้าทำนองที่ว่า ไม่ให้ก็ไม่ให้ คือให้คุณไปแล้ว แล้วคุณไม่ให้คืนกลับ มาขอใหม่อีก ก็เลยไม่ให้
ประการที่ ๓. ในกรณีที่เขาก็เป็นคนดี นิสัยใจคอก็ดี แต่ว่าตอนนี้เขาเคราะห์หามยามร้าย กลายเป็นคนพิการไปแล้ว อาจจะรถเฉี่ยวรถชน หรือจะอะไรก็ตามที รู้เลยว่าให้ไปแล้วไม่ได้คืน เพราะวันนี้เขาช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยจะได้เสียแล้ว ในกรณีนี้ทำใจเสียต้องให้ในระดับที่เราไม่เดือดร้อน ให้ได้เท่าไหร่ให้ไป เพราะเขาเป็นคนดี แต่เพียงว่าเขาโชคร้าย เขาไม่ใช่คนเลว อย่างนี้ต้องให้กัน ถึงจะไม่มีปัญญามาใช้คืน ก็ไม่ว่ากัน คิดเสียว่าถ้าถึงคราวเราเคราะห์หามยามร้าย ต้องตกอยู่ในสภาพอย่างนี้ รถคว่ำ จนพิการ อุบัติเหตุ จนกระทั่งตาบอดหูหนวกไปเสียแล้ว ทำมาหากินก็ขาดแคลนเต็มที ขาดบ้าง ไม่ขาดบ้าง อย่างนี้เราก็ไม่รู้จะเจอภาวะอย่างนี้เมื่อไหร่
เพราะฉะนั้น ช่วยใครได้ก็ช่วยไป คือให้ไปแล้ว เขาจะคืนได้หรือไม่ เมื่อมาใหม่ก็ต้องให้ไปอีก นึกว่าสงสารลูกนกลูกกา เผื่อว่าถ้าคราวเราต้องเคราะห์หามยามร้ายอย่างนี้ ก็คงจะมีใครเมตตาเราบ้าง เพราะบุญที่เราทำไว้กับเพื่อนคนนี้ หรือญาติคนนี้
ถ้าจะให้ดี สร้างบุญไว้ตั้งแต่วันนี้เยอะๆ ถึงเวลาสมบัติมันจะเกิดกับเรา มันได้เกิดเยอะๆ ใครเดือดร้อนมา เราก็จะได้ช่วยเขาได้ทีเยอะๆ กลายเป็นไม้ใหญ่ให้นกให้กาได้อาศัยได้เยอะๆ ได้มากๆ มันก็ดีเหมือนกัน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น