วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เด็กเก่งดนตรีสร้างได้ พา เค้า มา หา เรา

เด็กเก่งดนตรีสร้างได้
               คงมีคุณพ่อคุณแม่หลายคนที่เคยได้ยินคำว่า Suzuki Method หรือวิธีการสอนไวโอลิน สำหรับเด็ก ตามแนวทางของ ดร.ชินอิชิ ซูซูกิ กันมาบ้าง แต่คงมีหลายคนที่งง และสงสัยว่าเรียนไวโอลิน แล้วทำไมถึงได้บทเรียนชีวิตผมเลยถือโอกาสนี้เล่าเรื่องราวของชีวิต Suzuki Method ให้ฟังครับ
             Suzuki Method ได้ถูกคิดค้นขึ้นโดย ดร.ชินอิชิ ซูซูกิ ครูดนตรีชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โน่นแหละครับและกลายเป็นการสอนไวโอลินเด็กที่มีความนิยมไปทั่วโลก ไม่นานมานี้ บ้านเราก็มีการจัดเวิร์คช็อป เรื่องนี้ขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งโดยเชิญวิทยากรมาจากญี่ปุ่น
             ดร.ซูซูกิ จบปริญญาเอกด้านดนตรีจากเยอรมนี ใช้ชีวิตอยู่ในเยอรมนีนานทีเดียวขนาดได้ภรรยาเป็นคนเยอรมัน แถมยังเป็นสหายฟังดนตรี สีไวโอลิน ของ อัลเบิร์ด ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ที่หายใจเข้าออกเป็นสูตรคณิตศาสตร์กับเสียงเพลงจากไวโอลินอีกเสียด้วย ดร.ซูซูกิ คิดค้น Suzuki Method ขึ้นมาจากการค้นพบธรรมชาติบางอย่างของเด็กโดยบังเอิญ วันหนึ่ง 70 ปีมาแล้ว มีคุณพ่อคนหนึ่งจูงลูกชายวัย 4 ขวบมาหา ดร.ซูซูกิ ที่บ้านแล้วบอกอยากให้ลูกชายเรียนไวโอลินช่วยสอนหน่อย คำร้องขอนี้ทำเอา ดร.ซูซูกิ ถึงกับมึน เพราะไม่รู้จะสอนเด็ก 4 ขวบ ให้เล่นไวโอลินได้อย่างไร
             แต่เขาก็เกิดคำถามขึ้นมาแวบหนึ่งในสมอง....ทำไมเด็กทุกชาติทุกภาษา จึงสามารถพูดภาษาแม่ ภาษาถิ่นของตนเองได้ โดยที่ไม่ต้องมีโรงเรียนสอนเลย เด็กญี่ปุ่นทุกคนพูดภาษาญี่ปุ่นได้ เด็กโอซากาพูดภาษาญี่ปุ่นสำเนียงโอซากา เด็กโตเกียวพูดภาษาญี่ปุ่นสำเนียงโตเกียว แล้วทำไมเด็กโตเกียวจึงไม่พูดญี่ปุ่นสำเนียงโอซากา คำตอบที่เขาตอบตัวเองก็คือเด็กเหล่านี้เกิดและเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่เป็นเช่นนั้น เด็กทุกคนเกิดและเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่พุดภาษาญี่ปุ่น เด็กโอซาก้าเติบโตท่ามกลางสำเนียงพูดแบบโอซาก้า ในขณะที่เด็กโตเกียวก็เติบโตท่ามกลางสำเนียงแบบโตเกียว และสิ่งแวดล้องนี่แหละคือปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอมให้เด็กเป็นอย่างนี้ นี่คือคำตอบที่ ดร.ซูซูกิได้รับ
             แล้วโยงมาที่การเรียนไวโอลิน และการเรียนรู้ชีวิตได้อย่างไร ?
ดร.ซูซูกิ ให้คำอธิบายไว้ว่า ก็ในเมื่อเด็กญี่ปุ่นไม่ว่าจะฉลาดมากหรือน้อยก็ตาม ต่างก็เรียนรู้และพูดภาษาญี่ปุ่นได้ เพราะเติบโตในสิ่งแวดล้อมภาษาญี่ปุ่น แล้วทำไมเราจะสอนให้เด็กมีความรุ้ความสามารถในเรื่องอื่นไม่ได้ หากเราสามารถที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาความสามารถนั้นของเด็ก หากเรามีวิธีการสอนที่สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็ก หากเราสอนเด็กในช่วงเวลาที่เหมาะสม
ดร.ซูซูกิ ลงมือทำตามความคิดของตัวเองทันที เด็กคนนี้อยากเรียนไวโอลิน ก็ให้เด็กได้เรียน ได้เล่น ให้เด็กได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมของเสียงเพลง เสียงไวโอลิน สิ่งแวดล้อมที่จะหล่อหลอมเขาให้เป็นนักไวโอลินที่ดี และในที่สุดเด็กคนนี้กลายเป็นนักไวโอลินที่มีชื้อเสียงระดับโลก น่าเสียดายครับที่เขาเพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้วนี่เอง ด้วยวัย 80 ปี เด็กน้อยคนที่กล่าวถึงนี้ก็คือ โตชิยะ อีโตะ (To shiya Eto) นักไวโอลินชื่อดังที่คอดนตรีคลาสสิกทั่วโลกติดตามผลงานของเขาอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ผมนำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง ก็เพราะอยากบอกว่าการพัฒนาความสามารถของมนุษย์นั้นต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ต้องอาศัยการฝึกฝน อาศัยการเรียนรู้ อาศัยครูที่รู้จักวิธีการที่เหมาะในการสอน มันถึงจะสามารถเกิดขึ้นได้ วิธีการของ ดร.ซูซูกิ ได้พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล และลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกก็มีอยู่มากมาย ประสบการณ์ของเขาเราสามารถนำมาเป็นบทเรียนเพื่อปรับใช้ในการอบรมเลี้ยงดูลูกของเราได้ครับ เรามาดูหลักคิดที่เป็นเสมือนปรัชญาของ Suzuki Method กันหน่อยครับ  ดร.ซูซูกิ ไม่เชื่อเรื่องพรสวรรค์ครับ แต่เชื่อเรื่องพรแสวงนั่นก็คือเด็กทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพได้ หากมีโอกาส สิ่งแวดล้อมคือหัวใจสำคัญ อยากให้เด็กเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่จะต้องสร้างสิ่งแวดล้อมนั้นขึ้นมา อยากให้เด็กมีมารยาทดีผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นแบบอย่าง อยากให้เด็กเก่งดนตรีก็ต้องสร้างบรรยากาศของดนตรีให้เด็กได้สัมผัส แต่ ดร.ซูซูกิ เขามองไว้มากกว่าดนตรีเขามองว่าเด็กจะต้องเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติในอนาคตด้วย ดั้งนั้น สถาบันดนตรีของเขาจึงเน้นการสร้างสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของการเป็นคนดีของสังคมให้เด็กด้วย จะว่าไป ดร.ซูซูกิ ใช้หลักการของทฤษฏีเซลล์กระจกเงามานานกว่าครึ่งศตวรรษ ก่อนจะมีการค้นพบเซลล์กระจกเงาในสมองมนุษย์แล้วครับ เด็กแต่ละคนจะมีความสามารถในการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน การสอนจะต้องเน้นที่สภาพของเด็ก ไม่ใช่ที่ความต้องการของครู ช่วงแรกๆ ของการเรียนรู้เด็กอาจจะช้าแต่พอถึงจุดหนึ่งเด็กจะไปไว และจุดที่ว่านี้ในเด็กแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ครูผู้สอนมีหน้าที่ที่จะต้องหาจุดนี้ในเด็กแต่ละคนให้เจอ ถ้าเด็กสนุก การเรียนรู้จะไปได้เร็ว การได้ฝึกฝน การได้ลงมือทำ จะช่วยให้การเรียนรู้มีความคงทนมากขึ้น ความรัก ความเมตตาของครู คือสิ่งที่จะทำให้การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
หากเราลองเอาแนวคิดของ ดร.ซูซูกิ มาเปรียบเทียบกับแนวคิดการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กที่กำลังเป็นที่เล่าขานกันอยู่ในบ้านเราทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น Child-Centered หรือ Brain-Based Leaning ผมว่ามันแทบจะไม่ต่างกันเลยและ Suzuki Method มันก็พิสูจน์ตนเองมากว่าครึ่งศตวรรษแล้วถ้าคุณพ่อคุณแม่จะลองเอาแนวคิดนี้ไปพิจารณาเพื่อปรับใช้หรือเก็บไว้เป็นความรู้ก็ไม่น่าจะมีอะไรเสียหายครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น