วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

บันทึกความทรงจำพระเจนดุริยางค(ปิติ วาทยะกร) ความหวังที่ล้มเหลว


ความหวังที่ล้มเหลว

พ.ศ.๒๔๗๖                       ในสมัยต้นของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง วงราชการก็ได้ตั้งใจให้มีการทำนุบำรุงศิลปะทางการดนตรีขึ้นอีกวาระหนึ่ง การทำนุบำรุงศิลปะที่ทางราชการได้กำหนดนี้ก็คือจัดตั้งสถานที่สามัญคยาจารย์เพื่อให้บรรดาครูสามัญได้รับการอบรมศึกษาทางด้านวิชาการดนตรี (แต่การกระทำนี้ก็ล้มเลิกลงใน ๒ ปี ต่อมา) และต่อจากนั้นก็ได้มีการจัดส่งนักศึกษาคนหนึ่งไปรับการอบรมที่เมืองมะนิลา ในประเทศฟิลลิปินส์
พ.ศ.๒๔๗๘                       ส่วนทางด้านเอกชนก็ได้มีการจัดตั้งสถานการศึกษาวิชาการดนตรีขึ้นเพื่อรับนักเรียนให้ได้มีการศึกษาโดยเคร่งครัด ในการนี้ เพื่อนข้าราชการทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ของข้าพเจ้าคนหนึ่งได้เป็นผู้ทำการวิ่งเต้นหาทุนมาช่วยเหลือและผลที่ได้สำเร็จลงอย่างน่าขอบคุณ โครงการพิเศษที่กำหนดนี้ได้รับทุนช่วยจากท่านรัฐบุรุษในคณะรัฐมนตรีบางท่านเป็นเงินซึ่งรวบรวมได้ประมาร ๓,๐๐๐ ถึง ๕,๐๐๐ บาท และในที่สุดสถานศึกษาวิชาการดนตรีก็ได้อุบัติขึ้น ณ ตึกว่างชั้นบนของบริษัทสยามอิมปอร์ต (เดิม) เชิงสะพานมอญ มีชื่อว่า วิทยาสากลดนตรีสถาน
พ.ศ.๒๔๗๗                        วิทยาลัยการดนตรีแห่งนี้รับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาวิชาการดนตรีได้ประมาณ ๔๐ ถึง ๕๐ ซึ่งเป็นนักศึกษาชาย, หญิงที่เข้ามาสมัครเรียนด้วยใจรัก แต่ทั้งหมดต้องการเรียนรู้วิชาการดนตรีเพื่อเป็นเพียงสมัครเล่น (Amateur) มากกว่าต้องการจะศึกษาเพื่อยึดถือเอาเป็นอาชีพ (Professional) อย่างจริงจังสถานที่ศึกษาแห่งนี้ได้เปิดทำการสอนขึ้นสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐น. ถึง ๑๙.๐๐ น. อันเป็นเวลานอกราชการ ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่บรรดาอาจารย์และนักศึกษาผู้มีธุรกิจธุระในเวลาปรกติ
พ.ศ.๒๔๗๙                          วิทยาสากลดนตรีสถานได้ดำเนินกิจการสืบมาเพียงชั่วเวลา ๒ ปี หลังจากนั้นข้าพเจ้าได้ถูกส่งออกไปดูกิจการดนตรียังต่างประเทศ เป็นเหตุให้หมดโอกาสที่จะควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด กิจการต่างๆ จึงมิได้ดำเนินไปโดยราบรื่น และภายหลังก็เลิกล้มไปในที่สุด



๑๐ เดือนในต่างประเทศ

                                          มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ ข้าพเจ้าถูกส่งตัวออกไปดูกิจการดนตรียังต่างประเทศ
พ.ศ.๒๔๘๐        ประเทศตามตำสั่งของทางราชการข้าพเจ้าคิดหวังด้วยความยินดีว่า ความปรารถนาดีของ    รัฐบาลที่มีขึ้นในบัดนั้น บางทีคงอาจเป็นผลให้ศิลปะทางการดนตรีเจริญขึ้นได้อีกในวาระหนึ่ง เพราะกิจการทางวิชาการดนตรีในอารยะประเทศย่อมเป็นแบบแผนอันดียิ่งสำหรับเขา          

                                                 ข้าพเจ้าออกเดินทางไปตามประเทศต่างๆ ที่มีการศึกษาวิชาการดนตรีชั้นเยี่ยมของโลก เช่นประเทศอังกฤษ(ที่กรุงลอนดอน) ,ประเทศฝรั่งเศส(กรุงปารีส),ประเทศเยอรมัน(กรุงเบอร์ลินและเมืองมิวนิค),ประเทศอิตาลี(กรุงโรงแรมและเมืองมิลาน) กับที่ประเทศออสเตรีย(คือที่กรุงเวียนนา) ทุกๆเมืองของทุกๆประเทศ ข้าพเจ้าได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ทางการดนตรีเป็นอย่างดี ข้าพเจ้าถูกพาเข้าชมรมกิจการของวิทยาลัยการดนตรีต่างๆ หลายแห่งเช่น :-
                                                 ในประเทศอังกฤษ กรุงลอนดอน (๑) Royal Academy of Music (๒) Royal College of Music (๓) Guildhall school of Music (๔) Trinity College of Music (๕) Royal Military School of Music Kneller Hall.
                                                  ในประเทศเยอรมัน กรุงเบอร์ลิน (๑) Hochschule fur Musik และที่เมืองมิวนิค (๒) Staatlicher Akademie der Tonkunst Hochschule fur Musik.
                                            ในประเทศฝรั่งเศส กรุงปารีส (๑) Conservatoire National de Musique (๒) Ecole Normal de Musique
                                            ในประเทศอิตาลี กรุงโรม (๑) Regia Academia di Santa Cecillia และที่เมืองมิลาน (๒) R. Conservatoire di Musica Giuseeppe Verdi.
                                            กับสถานที่การแสดง Opera หลายแห่งในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย สำหรับที่กรุงเวียนนานี้ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสที่จะเข้าดูกิจการศึกษาได้ เพราะเป็นเวลาที่วิทยาลัยการดนตรีปิดภาคเรียน
                                                   ทุกๆประเทศที่ข้าพเจ้าแวะเยี่ยม นอกจากจะได้ดูกิจการดนตรีตามวิทยาลัยต่างๆ ดังกล่าวนานมาแล้ว ข้าพเจ้ายังได้มีโอกาสเข้าฟังและชมการแสดง Symphony Concert และ Opera อีกด้วยหลายแห่ง เช่นที่ Queen’s Hall,Albert Hall, Convent Garden, Sadler’s Well กับสถานที่อื่นๆอีกมาก ทั้งในลอนดอน,เบอร์ลิน, ปารีส, โรม, มิลาน, ซาลสบูร์ก และเวียนนา ฯลฯ ข้าพเจ้าถูกเจ้าหน้าที่พาเข้าดูความเป็นไปต่างๆ ได้ฟังและได้ชมการแสดงหน้าเวที ได้ดูหลังฉากการสร้าง ได้ดูดำเนินงานภายในของเขา และทุกสิ่งทุกอย่างก็อยู่ในความสังเกตจดจำของข้าพเจ้ามาทุกๆระยะ
                                                  ข้าพเจ้ากลับมาสู่ประเทศไทยในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ.๒๔๘๐ พร้อมด้วยความหวังที่จะได้พบเห็นกิจการดนตรีของเราเจริญรุ่งเรืองขึ้น
พ.ศ.๒๔๘๑                               ข้าพเจ้าลงมือร่างโครงการการศึกษาเสนอให้กับกรมศิลปากรทันทีระเบียบและวิธีการดำเนินงานต่างๆ ที่มีอยู่พร้อมมูลในโครงการนั้นก็ได้เป็นไปตามแนวการศึกษา เช่น อารยะประเทศเท่าที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น แต่กรมศิลปากรก็กลับเพิกเฉยมิได้นำพาแต่อย่างใด ความหวังของข้าพเจ้าในอันใดที่จะได้เห็นกิจการทางด้านดุริยางค์ศิลปะของชาติเจริญรุ่งเรืองขึ้นในอนาคต ก็เลยต้องยุติสุดสิ้นลงพร้อมกันกับโครงการนั้นด้วย

ความผิดหวังทางด้านต่างๆ

พ.ศ.๒๔๘๒                               ภายหลังที่ข้าพเจ้ากลับมาประเทศไทยแล้ว ความหวังต่างๆ ที่จะให้ศิลปทางการดนตรีของชาติดำเนินไปอย่างรุ่งโรจน์ก็กลับต้องล้มเหลวลงทุกๆด้าน แม้กระทั่งวงดนตรีสากลของกรมศิลปากรเองแทนที่จะเจริญขึ้นก็กลับทรุดโทรมลงอีก จำนวนนักดนตรีลดน้อยลงกว่าเดิมโดยได้ลาออกไปเพื่อประกอบอาชีพทางอื่น เพราะไม่ได้รับความยุติธรรมในเรื่องเงินเดือนบ้าง ถูกปลดออกไปด้วยเหตุต่างๆบ่าง ฐานะของวงดนตรีจึงอยู่ในสภาพที่น่าสลดใจอย่างที่สุด และบทเพลงไทยก็พลอยรับเคราะห์กรรมถูกสั่งให้งดการบันทึกต่อไปด้วย
                                                   ครั้งหนึ่ง วงดนตรีสากลวงนี้ได้มีงานพิเศษโดยถูกขอร้องให้ไปทำการบรรเลง ณ สโมสรราชกรีฑาสมาคมเป็นงานประจำปี เดือนละ ๑ ครั้งหรือ ๒ครั้งทุกเดือน และวงดนตรีก็มีรายได้จากผลงานนั้นตลอดมาเป็นเงินประมาณ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ บาท เงินจำนวนนี้ทางการมิได้แจกจ่ายให้แก่นักดนตรีเลยแม้แต่น้อย คงเก็บไว้โดยอ้างว่าเพื่อบำรงวงดนตรีนี้ต่อไป และบัดนี้วงดนตรีก็ได้รับความททรุดโทรมลงควรที่จะได้รับการทำนุบำรุงแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ทำใบเสนอขึ้นเพื่อขออนุมัติการจ่ายเงิน เพื่อรับนักเรียนฝึกหัดรุ่นใหม่ เพราะทางการไม่มีเงินงบประมาณให้ คำร้องขอของข้าพเจ้าได้ดำเนินไปด้วยความติดขัด และกว่าจะสำเร็จลงได้ก็ต้องชี้แจงกับท่านผู้บริหารงานแห่งกรมศิลปากรมากมาย ในที่สุดก็ได้รับอนุญาตให้รับนักเรียนมาทำการฝึกหัดได้ ทั้งนี้ก็เพื่อเสริมจำนวนนักดนตรีของวงที่ขาดอัตราเดิมไป
                                                    ข้าพเจ้าจัดตั้งโรงเรียนขึ้นอีกครั้งหนึ่งภายในโรงโขนหลวงสวนมิสกวัน โรงเรียนอยู่ในห้องหลังโรงโขนซึ่งระเกะระกะไปด้วยฉากละครเก่าๆ และสกปรกอย่างที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ดี นักดนตรีทั้งหลายก็ร่วมมือกันช่วยทำความสะอาดและจัดที่ว่างเพื่อการศึกษาของนักเรียนฝึกหัดด้วย ความหวังอันแจ่มใสขงกาดนตรีที่เรานึกคิดกันอยู่ ทางกรมศิลปากรมิได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องเครื่องอุปกรณ์เลย ดังนั้นกระดานดำ, โต๊ะเรียน และม้านั่ง ฯลฯ จึงเป็นสิ่งของที่เอามาจากวิทยาสากลการดนตรีสถานที่ได้เลิกล้มไปแล้วทั้งสิ้น โรงเรียนการดนตรีที่ข้าพเจ้าสถาปนาขึ้นใหม่นี้ เริ่มรับนักเรียนในรุ่นแรกประมาณ ๒๘ คน  ๖ เดือนให้หลังก็มีการสอบไล่คัดเลือกเอาเฉพาะผู้มีไหวพริบและความเพียร คงเหลืออยู่เพียง ๑๗ คน
                                                   ในการรับนักเรียนรุ่นแรกนี้ ข้าพเจ้าได้ทำการตกลงกับท่านผู้มีอำนาจแห่งกรมศิลปากรไว้แล้วว่า เงินที่เสนอขอขึ้นไปนั้นจะต้องได้รับจ่ายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงให้สำหรับนักเรียนฝึกหัดเหล่านี้คนละ ๑๕ บาทต่อเดือน เมื่อปรากฏจำนวนนักเรียนที่แท้จริงเช่นนี้ แทนที่จะได้รับเงินจ่ายดังที่ทำการตกลงกันไว้ก็กลับผิดหวังอีก แม้ข้าพเจ้าจะได้เสนอคำร้องเรียนขึ้นไปก็มิได้รับผลตอบแทนประการใด ครั้นได้ส่งคำร้องฉะบับที่ ๒ ที่ ๓ เตือนขึ้นไปอีก ผลที่ได้รับก็คือข้าพเจ้าถูกสั่งปลดออกจากตำแหน่งหัวหน้ากองดุริยางค์ศิลปะ เปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นอาจารย์ใหญ่ขาดอำนาจหน้าที่ทางการปกครองเด็ดขาดตั้งแต่นั้น บรรดานักเรียนฝึกหัดทั้งหลายเมื่อหมดที่พึ่งจากเงินค่าเบี้ยเลี้ยง ต่างคนต่างก็พากันออกไปรับราชการเป็นนักดนตรีในกรมกองอื่นจนหมดสิ้น เช่นวงดนตรีกรมโฆษณาการ วงดนตรีทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และวงดุริยางค์ทหารอากาศเป็นต้น
                                                    วงดนตรีของกรมศิลปากรเมื่อขาดความหวังจานัเรียนฝึกหัดเช่นนี้แล้ว จำนวนนักดนตรีก็คงขาดตกบกพร่องอยู่เช่นเดิม ฐานะของวงทรุดหนักลงอีกจนเหลือวิสัยที่ข้าพเจ้าจะดิ้นรนเพื่องานนี้ต่อไปได้
                                                    เบื้องหลังของการที่วงดนตรีไม่ได้รับเงินค่าเบี้ยเลี้ยงสำหรับนักเรียนฝึกหัดนั้น เหตุผลที่ข้าพเจ้าสืบทราบมาภายหลังก็คือ จำนวนเงินนับพันที่มีอยู่นั้น เป็นแต่เพียงตัวเลขในบัญชีเท่านั้นเอง ส่วนตัวเงินที่แท้จริงได้อันตรธานไปทางใดข้าพเจ้าหาทราบไม่
                                                  ข้าพเจ้าได้ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของกรมศิลปากรได้ประมาณ
พ.ศ. ๒๔๘๔      ๖เดือนก็ถูกสั่งย้ายไปรับราชการทางกองทัพอากาศ เมื่อคราวที่เป็นสถาปนากอง
พ.ศ. ๒๔๘๕       ภาพยนตร์ขึ้นมา จึงจำต้องมีวงดนตรีเพื่อใช้ประกอบการทำภาพยนตร์เสียง และข้าพเจ้าได้ถูกย้ายมาเพื่อการนี้ ต่อมาภายหลังทางการได้ร้องขอให้ข้าพเจ้า
พ.ศ. ๒๔๘๖       มาช่วยเหลือดูแลกิจการดนตรีของวงดุริยางค์ศิลปากรอีกในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ข้าพเจ้าได้สละหน้าที่ทางกองภาพยนตร์ทหารอากาศกลับมาอีกครั้งหนึ่ง และภายหลังก็ได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ในแผนกดุริยางค์ศิลปแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น