วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

บันทึกความทรงจำพระเจนดุริยางค์(ปิติ วาทยะกร)วงกรมศิลปรากร(ต่อ)


สมรรถภาพของวงดนตรีที่ได้สร้างขึ้นไว้นั้น ยังส่งผลให้ประเทศชาติของเราได้รับเกียรติยศอย่างสูงเด่นน่าภาคภูมิใจยิ่ง ถึงกับถูกยกย่องจากชาวต่างประเทศที่เป็นนักติชมการบรรเลง
    (Critic) ว่าเป็นวงดนตรีที่ดีที่สุดในภาคตะวันออก
                         
            ประมาณ 2 ปี ก่อนหน้าที่จะได้เริ่มการแสดง Symphony Concert นี้วงดนตรีต้องไปทำ   การบรรเลงที่พระที่นั้งอัมพรเป็นงานประจำสัปดาห์ จุดประสงค์ของพระองค์ท่านก็เพื่อกวดขันสมรรถภาพของนักดนตรีไทยให้มีฝีมือและความเชี่ยวชาญยิ่งๆขึ้น เพื่อมิให้ละอายแก่ชาวต่างประเทศที่จะมาฟังการแสดงในลำดับต่อไป ในรัชสมัยของพระองค์วงดนตรีเคยถูกส่งไปบรรเลงตามสถานฑูตต่างๆอันเป็นงานนอกสถานที่ดังเคยปฏิบัติมาในรัชสมัยของพระมงกุฏเกล้าฯและทุกๆคราวงานเฉลิมพระชนม์พรรษาและงานสำคัญอื่นๆก็ได้มีการแสดง Popular Concert เป็นพิเศษและให้ประชาชนได้ฟัง เช่นการแสดง Symphony Concert คราวต้อนรับชาวต่างประเทศที่เข้ามาประชุมการแพทย์ในประเทศไทยที่เกี่ยวด้วยโรคตะวันออก (Tropical Diseases) การแสดง Symphony Concert นี้มายุติลงภายหลังที่มีการ    เปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932)  

พ.ศ. 2473 ในรัชกาลพระปกเกล้าฯ เพลงไทยก็มีโอกาสไหวตัวในทางดีขึ้น ด้วยการวางหลักการบันทึกเป็นโน๊ต สากลเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและเพื่อป้องกันการศูนย์หายหรือเลอะเลือน แต่ไหนแต่ไรมาเพลงไทยของเราเคยจารึกจดจำอยู่ในสมองของอาจารย์ดนตรีไทยทั้งหลาย เมื่อต่างคนต่างมรณะกรรมไป เพลงไทยก็ตายตามตัวไปด้วยที่มีเหลืออยู่ก็ค่อยๆลดจำนวนน้อยลงเป็นลำดับ ทั้งยังขาดตกบกพร่องผิดเพี้ยนกันไปหาความแน่นอนไม่ได้และโดยเหตุนี้ เพื่อจัดให้เพลงไทยได้รูปเป็นมาตรฐานถาวรมิห้สาปสูญไปเสียงานบันทึกเพลงไทยเป็นโน๊ตสากลจึงได้ถูกริเริ่มขึ้นในความอำนวยการของ สมเด็จกรมพระยาดำรงค์ฯ การจดบันทึกเพลงไทยนี้ได้ดำเนินไปที่วังวรดิสถนนหลานหลวงด้วยความละเอียดถี่ถ้วนอย่างยิ่ง กรรมการฝ่ายดนตรีไทยก็ได้เลือกเฟ้นเอาแต่ผู้ทรงคุณวุฒิจริงๆ ส่วนฝ่ายทางการจดบันทึกนั้นตกเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าในฐานะของหัวหน้าเป็นผู้วางหลักการบันทึก พร้อมด้วยนักดนตรีในวงดนตรีฝรั่งหลวงเป็นผู้ช่วยเหลืออีกหลายคน จากนั้นแล้วเพลงไทยก็ถูกบันทึกขึ้นเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่สำหรับดุริยางค์ศิลปประจำชาติของเราโดยป้องกันการศูนย์หายไปได้ขั้นหนึ่งแล้ว แต่อีกขั้นหนึ่งที่ยังวิตกอยู่คือ เพลงไทยทั้งหลายนั้นถูกจดไว้ด้วยตัวดินสอดำและด้วยกระดาษบางๆ        (โดยจุดประสงค์ที่จะให้เป็นต้นฉบับเพื่อทำการพิมต่อไปในภายหลัง) อาจจะลบเลือนหรือขาดวิ่นเพราะมดปลวกกัดกินก็ได้ บัดนี้เพลงไทยทั้งหมดถูกรวบรวมไว้ในกรมศิลปากร ข้าพเจ้าจึงวิตกว่าบทเพลงไทยเหล่านี้ที่ครั้งหนึ่งได้อุตสาห์ทำขึ้นด้วยความลำบากยากเข็ญอาจจะกลับล้มละลายหายศูนย์ตามลักษณะเดิมอีกก็เป็นได้ ศิลปะชิ้นเอกของไทยหากไทยไม่ช่วยกันรักษา เมื่อเสื่อมสลายลงไปแล้วก็จะโทษใครเล่า จะให้ดนตรีสากลเข้ามาแทรกอยู่ในประเทศของเราเพียงอย่างเดียวและละเลยของดีของเราเสียแล้วนั้นหรือ ต่อไปอนุชนรุ่นหลังของเราจะมีศิลปะไทยชิ้นไหนไว้อวดอารยะธรรมของประเทศให้ประจักษ์แก่ตาโลกเล่า.



                อันดนตรี, มีคุณ, อยู่ทุกอย่างไป                    ย่อมใช้ได้, ดังจินดา, ค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์, ครุฑา, เทวราช                                              จัตะบาท, กลางป่า, พนาสิน
แม้ปี่เรา, เป่าไป, ให้ได้ยิน                                              ก็สุดสิ้น, ส่งเมโท, ที่โกรธา
ให้ใจอ่อน, นอนหลับ, หมดสติ                                     อันลัทธิ, ดนตรี, ดีหนักหนา
ซึ่งสงสัย, ไม่สิ้น, ในวิญญาณ                                        จงนิทรา, เถิดจะเป่า, ให้เจ้าฟัง

                                                                                   คัดจากพระอภัยมณี (สุนทรภู่)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น