วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564

เพิ่มเติมเลือก ไวโอลิน ทักษะการเล่นไวโอลินพื้นฐาน

 

เพิ่มเติมเลือกไวโอลิน เทคนิคการเล่นไวโอลินพื้นฐาน

การจับไวโอลิน
ความรู้สึกที่ผ่อนคลายคือข้อพิจารณาอันดับแรกว่าคุณจับไวโอลินได้ดีหรือไม่ เวลาที่เล่นไวโอลินนั้น แผ่นหลัง หัวไหล่ ต้นคอ และกรามของคุณรู้สึกผ่อนคลายและไม่เกร็ง

ท่าทางการจับไวโอลินควรจะตรงและผ่อนคลาย การยืนตรงป็นสิ่งสำคัญต่อการแสดงเช่นเดียวกับเหตุผลด้านสุขภาพ เมื่ออยู่ในท่ายืน ช่วงห่างของเท้าควรจะกว้างเท่าๆ กับความกว้างของช่วงไหล่ กระจายน้ำหนักของร่างกายลงที่เท้าทั้ง 2 ข้างเท่าๆ กัน เมื่ออยู่ในท่านั่ง ควรจะนั่งห่างจากพนักเก้าอี้ เท้าข้างซ้ายอยู่ข้างหน้าวางราบไปบนพื้น ส่วนเท้าขวาควรจะพับไปข้างหลังขาเก้าอี้เล็กน้อย ซึ่งจะทำให้แขนขวามีพื้นที่เพียงพอที่จะลากคันชักได้ทุกทิศทางโดยไม่ไปชนกับเข่าขวา

ที่รองไหล่เป็นนวัตกรรมที่สำคัญที่ช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บให้กับนักไวโอลินและนักวิโอล่าหลายๆ คน ความสูงของที่รองไหล่ขึ้นอยู่กับช่วงคอของนักดนตรีแต่ละคน เมื่อคุณวางไวโอลินเปล่าๆ ไว้บนไหล่ ที่รองไหล่จะช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่างที่รองคางและกรามของคุณ
ถ้าระหว่างกรามและที่รองคาง (Chin rest) มีช่องว่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยก็ไม่จำเป็นต้องใช้ที่รองไหล่ คุณอาจจะใช้เพียงที่รองไหล่แบบแผ่นฟองน้ำบางๆ เพื่อกันไม่ให้ไวโอลินเลื่อนหลุดจากไหล่ของคุณ และอาจจะใช้แผ่นฟองน้ำแบบมีสายรัดกับแผ่นหลังไวโอลิน

การจับคันชัก
ท่าทางการจับไวโอลินควรเป็นธรรมชาติ วิธีตรวจสอบว่าตำแหน่งของมือขวาเป็นธรรมชาติหรือไม่นั้น ให้คุณยืนขึ้นปล่อยแขนและมือไว้ข้างลำตัว นั่นคือท่าทางการจับคันชักของมือขวาที่ควรจะเป็นโดยปรับแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สิ่งที่เปลี่ยนไปมี 2 อย่างคือนิ้วโป้งและนิ้วก้อย นิ้วโป้งจะอยู่ใต้นิ้วอื่นๆ เล็กน้อยและวางอยู่ที่ด้ามคันชักบริเวณช่องเล็กๆ ระหว่างโคนคันชัก(Frog) และปลอกหนังหุ้มด้ามจับ (Grip) นิ้วโป้งควรจะโค้งออกด้านนอกเป็นรูปวงกลมกับนิ้วอื่นๆ

ปลายนิ้วก้อยวางอยู่ด้านบนคันชักก่อนถึงปุ่มสกรู (Screw) โดยวางนิ้วเป็นแนวโค้งเพื่อรับน้ำหนักของคันชัก ส่วนอีก 3 นิ้วที่เหลือให้วางอย่างสบายๆ เหนือด้ามคันชัก ซึ่งจะทำให้นิ้วโป้งและนิ้วกลางไขว้กัน ควรจะออกแรงบีบนิ้วทั้งสองเล็กน้อยจะทำให้รู้สึกจับคันชักได้อย่างมั่นคง ทำให้นิ้วที่เหลือ ข้อมือ ข้อศอก และหัวไหล่รู้สึกผ่อนคลายและไม่เกร็ง



 


    การตั้งสายไวโอลิน
สิ่งที่ควรจะทราบก่อนที่จะเรียนรู้เรื่องการตั้งสายไวโอลินก็คือ ชิ้นส่วนต่างๆ ของไวโอลินที่เกี่ยวข้องกับการตั้งสาย

ลูกบิด (Peg)
ลูกบิดอาศัยหลักการของแรงฝืด (Friction fit) ซึ่งเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้ลูกบิดติดอยู่กับช่องใส่ลูกบิดได้ ห้ามใช้กาวหรือน้ำยาอื่นๆ ทาลูกบิดโดยเด็ดขาด

หย่อง (Bridge)
หย่องอาศัยหลักการของแรงฝืดเช่นเดียวกัน หย่องติดอยู่กับที่โดยอาศัยแรงดึงของสาย (ห้ามใช้กาวทาเช่นเดียวกัน) ปลายของหย่องอาจจะเคลื่อนที่ได้ โดยเฉพาะเวลาที่เราเปลี่ยนสายใหม่ ต้องหมั่นสังเกตดูว่าหย่องอยู่ในแนวตรงและตีนหย่องไม่เลื่อนไปมา หย่องควรจะอยู่ในแนวตรงเมื่อเทียบกับช่องเสียง (F - hole) และตีนหย่องต้องแนบสนิทกับไม้แผ่นหน้าไวโอลิน การเช็คว่าหย่องอยู่ในแนวตรงหรือไม่นั้นให้มองที่ด้านข้างไวโอลิน หย่องด้านที่หันไปทางหางปลา (Tailpiece) ควรจะทำมุม 90 องศากับไม้แผ่นหน้า ส่วนอีกด้านหนึ่งที่หันไปทางฟิงเกอร์บอร์ดจะเอียงเล็กน้อย

หลักเสียง (Sound post)
ถ้าสายเกิดอาการหย่อนจนถึงระดับที่จะทำให้หย่องล้มได้เนื่องจากมีแรงดึงของสายที่น้อยเกินไป หรืออาจจะเกิดในขณะที่เปลี่ยนสายชุดใหม่ เครื่องดนตรีของคุณอาจจะเสี่ยงต่อการล้มของซาวด์โพสท์ (แท่งไม้ขนาดเล็กที่ถ่ายทอดเสียงจากไม้แผ่นหน้าไปยังไม้แผ่นหลัง) เนื่องจากมันอยู่ได้ด้วยแรงดึงของสายเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนสายทีละสายและให้สายอื่นๆ บนไวโอลินมีความตึงอยู่บ้าง แต่ถ้าซาวด์โพสท์หลวมและทำให้ไวโอลินมีเสียงก๊อกแก๊ก คุณอาจจะต้องให้ช่างผู้เชี่ยวชาญช่วยปรับซาวด์โพสท์ให้อยู่ในตำเเหน่งที่เหมาะสม สำหรับช่างที่เก่งๆ แล้วไม่ถือว่าเป็นงานที่ยากแต่อย่างใด และไม่ควรจะใช้เวลาหรือเสียเงินมากนัก บางที่ช่างก็อาจจะทำให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ตัวปรับเสียง (Fine Tuner)
คุณอาจจะเคยสังเกตเห็นว่าไวโอลินของนักเรียนมักจะมีปุ่มปรับเสียงครบทุกสาย ทำให้นักเรียนสามารถตั้งสายได้เร็วขึ้น สำหรับนักไวโอลินที่เก่งๆ แล้ว ส่วนใหญ่จะใช้ปุ่มปรับเสียงที่สาย E เท่านั้น เพื่อช่วยให้ตั้งสายง่ายขึ้น เนื่องจากการตั้งสาย E ต้องอาศัยความพิถีพิถัน และมักจะเป็นสายที่เพี้ยนได้ง่าย

ตัวปรับเสียง (Fine Tuner) คือก้านโลหะขนาดเล็กที่สามารถปรับสายให้ตึงหรือหย่อนได้ ทำให้เสียงสูงขึ้นหรือต่ำลงทีละนิด โดยปกติจะมีสกรูขนาดเล็กสำหรับหมุนเพื่อปรับก้านโลหะดังกล่าว
- ถ้าหมุนสกรูตามเข็มนาฬกาจะทำให้สายตึงและเสียงจะสูงขึ้น
- ถ้าหมุนสกรู ทวนเข็มนาฬกาจะทำให้สายหย่อนและเสียงจะต่ำลง

เมื่อเราตั้งสายเปล่าไวโอลิน เราจะหมุนสกรูขึ้นจากเสียงที่ ต่ำกว่าทีละนิดจนกว่าจะได้ระดับเสียงที่ต้องการ หรืออธิบายได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นการปรับสายให้ตึงจนได้เสียงที่ต้องการ เทคนิคการตั้งสายเเบบนี้มีเหตุผล 2 ประการคือ ประสาทหูของเราจะรับรู้ได้ง่ายกว่าเล็กน้อยเมื่อเราปรับเสียงจนได้เสียงที่ถูกต้อง และสายจะอยู่ในระดับเสียงนั้นๆ นานกว่าการหย่อนสายเพื่อลดระดับเสียงลงไปหาเสียงที่ถูกต้อง




 


    การตั้งสายด้วยลูกบิด
คุณอาจต้องใช้ลูกบิดในการตั้งเสียงถ้าสายคลายตัวจนเสียงเพี้ยนมากๆ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ร้อนหรือเย็น และความชื้นในอากาศ หรืออาจจะเป็นเพราะลูกบิดหลวมเกินไป วิธีการตั้งสายด้วยลูกบิดทำได้ดังนี้

1. ตรวจดูว่าตัวปรับเสียง (Fine Tuner) บนสายมีปัญหาหรือไม่ (ถ้าใช้เพียงอันเดียว) ตำแหน่งของสกรูควรจะหมุนเข้าไปเพียง 1 ส่วน 4 เท่านั้น เมื่อตั้งสายด้วยลูกบิดจะทำให้คุณสามารถใช้ปุ่มปรับเสียงปรับเสียงในขั้นสุดท้ายได้
2. คุณอาจจะต้องคลายสายและลูกบิดเล็กน้อยเพื่อให้เสียงต่ำลง หลังจากนั้นจึงตั้งสายให้ได้ระดับเสียงที่ต้องการ วิธีตั้งสายอีกแบบหนึ่งที่ง่ายกว่าคือ ถือไวโอลินไว้บนตักของคุณและดีดสายในขณะที่ตั้งสายไปด้วย แต่ควรจำไว้เสมอว่า เมื่อไม่ใช้คันชักให้วางไว้ในที่ๆ ปลอดภัยทุกครั้ง
3. เนื่องจากลูกบิดอยู่ได้ด้วยแรงฝืด คุณต้องหมุนลูกบิดไปมาในช่องลูกบิด (Peg box) พร้อมกับตั้งสายไปพร้อมๆ กัน
4. คุณอาจจะใช้ลูกบิดตั้งเสียงแบบคร่าวๆ ให้อยู่ในช่วงเสียงที่ต้องการ หลังจากนั้นจึงใช้ตัวปรับเสียงเพื่อปรับเสียงให้ถูกต้อง
5. ทำซ้ำจนกว่าจะได้ระดับเสียงที่ถูกต้อง

วิธีแก้ปัญหาเมื่อลูกบิดหลวมหรือติดแน่น
ลูกบิดไวโอลินไม่ควรติดแน่นหรือหลวมจนเกินไป ข้อมูลข้างล่างเป็นวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ถ้ายังไม่ได้ผลให้นำไวโอลินของคุณไปที่ร้านซ่อม เพราะอาจจะมีปัญหาที่หนักเกินกว่าที่จะเราทำเองได้ เช่น ลูกบิดหรือช่องใส่ลูกบิดแตกร้าว

- ถ้าลูกบิดติดแน่นเกินไป คุณสามารถซื้ออุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘Peg Dope’ เพื่อลดความฝืดในช่องใส่ลูกบิด ให้ใช้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ‘Peg Dope’ มีลักษณะคล้ายแท่งลิปสติกใช้ทาที่ลูกบิดโดยตรงบริเวณที่ตรงกับช่องใส่ลูกบิด วิธีแก้ปัญหาง่ายๆ อีกแบบก็คือ ใช้ผงดินสอซึ่งมีส่วนประกอบของคาร์บอนถูลงบนก้านลูกบิดในตำแหน่งที่ตรงกับช่องใส่ลูกบิด

- ถ้าลูกบิดลื่นเกินไป ให้ใช้ผงยางสนจำนวนเล็กน้อยทาลงบนก้านลูกบิด โดยใช้หางม้าของคันชักถูไปมาบนก้านลูกบิด ผงยางสนจากหางม้าจะหล่นลงบนก้านลูกบิด ช่วยให้ติดลูกบิดติดกับช่องลูกบิดได้แน่นขึ้น

การตั้งสายเปล่าด้วยคันชัก

สาย A (สาย 2)
โดยปกติจะตั้งสาย A (สาย 2) เป็นสายแรก ในวงออร์เคสตร้าจะใช้เครื่องเป่าโอโบเล่นเสียง A (ปกติจะมีคลื่นความถี่อยู่ที่ 440 Hz แต่ในบางครั้งจะใช้สาย A ที่คลื่นความถี่แตกต่างกันออกไป เช่น 443 Hz ขึ้นอยู่กับวงออร์เคสตร้าวงนั้นๆ) นักดนตรีในวงจะตั้งเสียงเครื่องดนตรีของตนให้ตรงกัน การที่ใช้โอโบก็เพราะว่า มันเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงที่มีความพิเศษสามารถได้ยินได้ง่าย

สาย D (สาย 3)
สาย D เป็นสายที่ควรจะตั้งถัดจากสาย A โดยใช้สาย A เป็นหลัก ให้เล่นสาย A และ D พร้อมๆ กัน ขั้นคู่เสียง (Interval) ของโน้ตทั้ง 2 ตัวคือ คู่ 5’ (Perfect Fifth) ซึ่งเป็นโน้ตตัวแรกของเพลง “Twinkle, Twinkle, Little Star” (โน้ตตัวแรกของเพลงนี้คือโน้ตตัว D ต่ำ และโน้ตตัวที่ 2 คือ A ที่สูงกว่า) ใช้ประสาทหูของคุณในการปรับเสียงสาย D จนกระทั่งได้ยินเสียงสายเปิด (Open sound) ของเสียง คู่ 5’

สาย G (สาย 4)
การตั้งสาย G ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน โดยใช้สาย D ที่มีเสียงสูงกว่าเป็นหลัก

สาย E (สาย 1)
การตั้งสาย E ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากสาย E เป็นสายที่มีความละเอียดอ่อนที่สุด และสามารถเพี้ยนได้ง่ายในขณะที่เรากำลังตั้งสายอื่นๆ อยู่ เราจึงตั้งสาย E เป็นสายสุดท้าย นักไวโอลินส่วนใหญ่จะใช้ปุ่มปรับเสียงบนสาย E เพื่อปรับอย่างละเอียดเพื่อให้เสียงได้ คู่ 5’ (Perfect Fifth) กับสาย A

·       


http://www.pantown.com/images/delete.gif

 


    ตัวปรับเสียง (Fine Tuner)



 


    เทคนิคการตั้งเสียงขั้นสูง
บางครั้งการฟังเสียงของคู่ 5’ ก็เป็นสิ่งที่ยากพอสมควร โดยเฉพาะกับนักดนตรีมือใหม่ เทคนิคการตั้งเสียงขั้นสูงดังต่อไปนี้คงจะมีประโยชน์กับนักไวโอลินบ้าง

ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับเสียง ‘Harmonic’ (เสียงประสาน) หรือเสียง ‘Overtone’ (เสียงคู่ 8) เสียก่อน โน้ตแต่ละตัวที่เราได้ยินนั้นจะมีเสียงประสานที่ทำให้เกิดเป็นโทนเสียง เช่น การทำเค้ก ที่มีส่วนผสมของ เเป้ง, ไข่ไก่, น้ำตาล ฯลฯ และส่วนผสมอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อนำส่วนผสมทั้งหมดผสมเข้าด้วยกันก็จะได้ขนมเค้ก ตัวโน้ตที่เราได้ยินก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเสียง A หรือเสียงอะไรก็ตาม

เราสามารถได้ยินเสียง Harmonic ของไวโอลินโดยการใช้นิ้วแตะสายเบาๆ บนสายตรงตำแหน่งของมัน ซึ่งอยู่บริเวณกึ่งกลางสาย เมื่อลากคันชักผ่านสายที่จุดกึ่งกลางสายนั้นๆ ซึ่งเรียกว่า Node (ในทางฟิสิกส์หมายถึง เส้นหรือบริเวณของคลื่นที่มีการสั่นสะเทือนเล็กน้อยหรือไม่มีการสั่นสะเทือนเลย) ซึ่งเป็นจุดของสายที่ไม่มีการสั่นสะเทือน (คุณอาจจะเคยเห็นจากการเล่นกระโดดเชือกของเด็กมาบ้างแล้ว ถ้าคุณแกว่งเชือกอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ จะมีจุดที่ดูเหมือนว่าไม่มีการเคลื่อนไหวซึ่งเรียกว่า Node นั่นเอง) ใช้ปลายนิ้วแตะที่ส่วนนี้เบาๆ เมื่อลากคันชักผ่านสาย จะเกิดโน้ตที่เสียงสูงกว่าโน้ตตัวเดิม 1 ขั้นคู่เสียง (Octave)
นอกจากนั้นยังมี Node อีก 1 จุดตรงส่วนที่สายแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ใช้ปลายนิ้วแตะที่ส่วนนี้เบาๆ ในขณะที่ลากคันชักผ่านสาย จะเกิดโน้ตที่เสียงสูงกว่าโน้ตตัวเดิม 1 ขั้นคู่เสียง (Octave) บวกกับอีก คู่ 5’ (Perfect Fifth)

และด้วยพื้นฐานความรู้อันนี้ คุณสามารถนำไปใช้ตั้งสายไวโอลินของคุณได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1. ใช้ปลายนิ้วแตะที่จุดกึ่งกลางสาย E เมื่อลากคันชักผ่านสายจะได้เสียง ‘e’ ที่สูงกว่า 1 ขั้นคู่เสียง (โดยปกติแล้วเมื่อแตะนิ้วที่ระยะ 1/2 ของ Node สาย E จะให้เสียง ‘e’ ซึ่งสูงกว่า 1 ขั้นคู่เสียง แต่วิธีนี้ไม่สามารถใช้กับ Harmonic แบบอื่นๆ ได้)

2. ใช้ปลายนิ้วแตะที่จุด 1 ใน 3 ของสาย A จะได้เสียง ‘e’ ที่สูงกว่าเสียง A, 1 ขั้นคู่เสียงบวกกับอีก คู่ 5’ ซึ่งเป็นโน้ตตัวเดียวกับโน้ตที่คุณพึ่งเล่นด้วย Harmonic บนสาย E (ระยะ 1/3 ของ Node จะได้โน้ตที่เสียงสูงกว่าโน้ตตัว E บนสาย A)

3. ใช้ปลายนิ้วก้อยของมือซ้ายเล่นเสียง Harmonic บนสาย E โดยให้มือซ้ายอยู่ในตำแหน่งนั้นเอาไว้ ใช้ปลายนิ้วชี้หาเสียง Harmonic ของสาย A ซึ่งวิธีเล่นโน้ต Harmonic แบบต่างๆ เหล่านี้จะทำให้คุณจะพบว่า สามารถที่จะบอกถึงเสียงที่เพี้ยนได้ง่ายกว่า เนื่องจากเสียง Harmonic เหล่านี้จะให้ระดับเสียงที่ตรงกันพอดี

4. ปฏิบัติเช่นเดียวกันบนสายอื่นๆ วิธีการนี้จะช่วยฝึกประสาทหูของคุณได้เป็นอย่างดี

หวังว่าคุณคงไม่สับสนไปเสียก่อน เพราะยังมีวิธีตั้งสายอีกวิธีหนึ่งเช่นกัน ให้เลื่อนนิ้วมือขึ้นมาเล่นโพสิชั่น 4 ของสาย A ซึ่งนิ้วชี้จะอยู่บนโน้ตตัว E ของสาย A ลองหาโน้ตของสาย E ที่อยู่สูงกว่า 1 ขั้นคู่เสียงด้วยนิ้วก้อย เมื่อคุณพบโน้ตขั้นคู่เสียงที่ว่าเเล้ว ให้ผ่อนแรงกดบนสายของนิ้วทั้ง 2 จะทำให้ปลายนิ้วของคุณสัมผัสบนสายเบาๆ เท่านั้น ลากคันชักผ่านสายทีละสาย คุณจะได้เสียง Harmonic ของแต่ละสายที่ตรงกัน ใช้วิธีนี้ในการตั้งสาย E

เทคนิคการใช้สายเปล่าสาย A (440 Hz) ในการตั้งสายไวโอลินของคุณ มีวิธีการดังนี้
1. ตั้งสาย A กับเครื่องตั้งสาย เช่น Tuning Fork หรือเครื่องตั้งสายอีเล็คโทรนิค หรือตั้งให้เข้ากับเสียง A ของคนอื่นๆ ในวงดนตรี
2. หลังจากนั้นใช้เสียง Harmonic ของสาย A (ตำแหน่ง 1/3 ของสาย) เพื่อตั้งเสียง Harmonic สาย E (ตำแหน่ง 1/2 ของสาย)
3. หลังจากนั้นใช้เสียง Harmonic ของสาย A (ตำแหน่ง 1/2 ของสาย) เพื่อตั้งเสียง Harmonic สาย D (ตำแหน่ง 1/3 ของสาย)
4. หลังจากนั้นใช้เสียง Harmonic ของสาย D (ตำแหน่ง 1/2 ของสาย) เพื่อตั้งเสียง Harmonic สาย G (ตำแหน่ง 1/3 ของสาย)

ข้อควรจำก็คือ ไม่มีอะไรที่จะพัฒนาประสาทการฟังของคุณได้ดีไปกว่าการเล่นเครื่องดนตรีที่ตั้งเสียงอย่างถูกต้อง

 


    Vibrato
Vibrato เป็นเทคนิคที่นักดนตรีประเภทเครื่องสายนิยมใช้ สำหรับนักไวโอลินมือใหม่แล้วนับเป็นเทคนิคที่น่าสนใจที่สุดอย่างหนึ่งเลยทีเดียว คุณสามารถใช้เทคนิค Vibrato ได้เมื่อคุณเล่นโดยที่เสียงไม่เพี้ยน สามารถฟังและแก้ไขการเล่นให้ถูกต้องได้

Vibrato เป็นเทคนิคหนึ่งที่ควรจะนึกถึงเมื่อคุณกำลังจะหัดเล่นเพลงสักเพลง ในตอนแรกควรฝึกซ้อมเฉพาะการ Vibrato ก่อน โดยการฝึกสเกล ในขั้นแรกให้ฝึกสเกลต่างๆ เพื่อเรียนรู้เทคนิค Vibrato เมื่อเริ่มฝึกนั้น ควรฝึกด้วยสเกลต่างๆ ตามปกติและฝึกโดยใช้ Vibrato ควบคู่กันไป ซึ่งจะทำให้คุณได้ฝึกทั้งเรื่องเสียงและ Vibrato

Vibrato คือการเล่นโดยการลดเสียงลงเล็กน้อยอย่างรวดเร็วและกลับไปที่โน้ตตัวเดิม หูของคนเราจะชอบเสียงที่สูงมากกว่าเสียงต่ำ นั่นหมายความว่าถ้าคุณเล่นโน้ตเสียงสูงสลับกับโน้ตเสียงต่ำตัวที่ต้องการอย่างรวดเร็วอัตราจังหวะที่สม่ำเสมอจะได้เสียงที่ค่อนข้างเเหลม (สูงเกินไป) วิธีที่ถูกต้องคือโยกโน้ตตัวที่เสียงต่ำกว่าก่อน ก่อนที่จะกลับไปเล่นในโน้ตตัวที่ต้องการ

หลังจากที่ฝึกไปซักพักหนึ่งคุณจะค้นพบอัตราความเร็วที่จะทำให้เกิดเสียงที่ไพเราะ เพราะว่าระดับเสียงหรือโน้ตของไวโอลินและวิโอล่าสูงกว่าเชลโลหรือดับเบิ้ลเบส ซึ่งยืนยันเหตุผลว่าการทำ Vibrato ของนักไวโอลินควรจะเร็วกว่าเครื่องสายที่มีระดับเสียงต่ำกว่าเล็กน้อย

การฝึก Vibrato ควรจะอยู่ในอัตรา 5-7 จังหวะต่อวินาที (BPS - Beat Per Second) ซึ่งจะช่วยสร้างสีสันให้กับดนตรีสไตล์ต่างๆ ได้มากขึ้น วิธีการก็คือการเล่น Vibrato 5-7 รอบ โดยเริ่มจากโน้ตตัวที่ต้องการและลดลงไปยังโน้ตตัวที่ต่ำกว่าและกลับมายังโน้ตตัวเดิม

ความกว้างของการเล่น Vibrato (หรือระยะห่างจากจากโน้ตตัวแรก) จะให้สีสันของเพลงรวมถึงความไพเราะของบทเพลงที่แตกต่างกันไป โดยปกติแล้ว Vibrato ที่เร็วกว่าจะมีช่วงที่สั้นกว่า ถ้าคุณเล่น Vibrato ที่ช้าเท่าไหร่ ช่วงห่างไปจากโน้ตตัวแรกจะมากขึ้นเท่านั้น

ในทางดนตรีแล้ว Semi-tone (ระยะห่างที่ใกล้ที่สุดของโน้ต 2 ตัวตามทฤษฎีดนตรีตะวันตก) สามารถแบ่งออกเป็น 100 ส่วนหรือเรียกว่า Cents ซึ่งทำให้เราสามารถอธิบายถึงความแตกต่างของระดับเสียงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น คนส่วนใหญ่ไม่สามารถได้ยินความแตกต่างระหว่างเสียง 2 เสียงที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่าเพียง 1-2 Cents ได้ แต่นี่เป็นวิธีหนึ่งที่จะใช้อธิบายถึงเรื่องละเอียดอ่อนเหล่านี้

ความกว้างของ Vibrato ควรจะอยู่ที่ 40-50 Cents จากโน้ตตัวแรก (หรือต่ำกว่าโน้ตตัวแรกประมาณ ½ Semi-tone) ช่วง Vibrato ที่แคบเสียงจะใกล้เคียงเสียงโน้ตตัวเดิมมากที่สุด ประมาณ 5 Cents เท่านั้น และให้ผลลัพธ์ของเสียงที่มีประกายพลิ้วไหว โดยปกติแล้ว Vibrato ที่แคบจะเร็วกว่า Vibrato ที่กว้าง ควรจะฝึก Vibrato ที่แคบไปจนถึงปานกลาง ซึ่งจะทำให้คุณเล่นได้เสียงที่ถูกต้องและสามารถสร้าง Vibrato ที่สัมพันธ์กับความเร็วได้




 

    Arm vibrato
เทคนิค Vibrato นั้นสามารถทำได้หลายแบบ Vibrato ขั้นพื้นฐาน (Arm vibrato) สามารถทำได้โดยการเคลื่อนไหวแขนบริเวณข้อศอกเลื่อนเข้าและออกจากลำตัว ทำให้นิ้วที่อยู่บนฟิงเกอร์บอร์ดบนสายโยกไปมา ซึ่งจะทำให้เสียงเกิดการเปลี่ยนเเปลงอย่างต่อเนื่อง เทคนิค Arm vibrato นั้น ข้อมือต้องมั่นคง (เป็นแนวเดียวกับแขน) นิ้วต้องผ่อนคลาย ดังนั้นการเคลื่อนไหวข้อศอกสามารถส่งผลกับการวางปลายนิ้วบนสายได้

Hand vibrato
คือการดัดแปลงมาจาก Arm vibrato มีการเคลื่อนไหวของข้อมือแบบเดียวกัน โดยการโยกออกและโยกเข้าหาลำตัว แต่ใช้ข้อมือแทนข้อศอก นักไวโอลินบางคนจะเล่นโดยใช้ Hand vibrato เท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าได้ คุณอาจจะใช้ Hand vibrato เฉพาะการเล่นในโพสิชั่นสูงๆ เท่านั้น (โดยเฉพาะสาย G และสาย D) เมื่อข้อมือของคุณไม่ได้อยู่แนวเดียวกับแขน

Finger vibrato
เป็นเทคนิคที่ค่อนข้างเร็วและมีการเคลื่อนไหวของนิ้วในแนวดิ่ง (Vertical) เล็กน้อย เพื่อตอบสนองต่อการวางนิ้วบนฟิงเกอร์บอร์ด เทคนิคนี้ค่อนข้างยากในการที่จะฝึกให้ชำนาญและใช้กับวลีของเพลง (Phrase) ที่ค่อนข้างเร็ว ซึ่งคุณไม่มีเวลาพอที่จะเล่นด้วย Arm หรือ Wrist vibrato ได้

Open vibrato
เชื่อหรือไม่ว่ามีวิธีที่จะเล่น Vibrato บนสายเปล่าได้ โดยปกติจะใช้กับสายเปิดสาย G เท่านั้น เนื่องจากเป็นโน้ตตัวเดียวบนไวโอลินที่ไม่สามารถกดด้วยนิ้วได้ (ในวิโอล่าสายเปล่าจะเป็นโน้ตตัว C)
วิธีการเล่นก็คือกดโน้ตที่สูงกว่าโน้ตสายเปล่า 1 Octave ในสายถัดไปที่สูงกว่า (ตัวอย่างเช่น เล่นสายเปล่าสาย G และกดนิ้ว 3 หรือนิ้วนางบนสาย D) และทำ Vibrato บนโน้ตตัวนั้นในขณะที่เล่นเพียงสายเปล่าที่ต่ำกว่าเท่านั้น ซึ่งจะสร้างเสียง Vibrato ที่เป็นประกายพลิ้วไหวให้กับสายเปล่า

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการสั่นสะเทือนของสายเปล่าจะสร้างการสั่นสะเทือนที่ตรงกับสายถัดไป (โดยเฉพาะเมื่อสูงกว่า 1 Octave) และเนื่องจากคุณได้ทำ Vibrato บนโน้ตที่ Octave สูงกว่า ซึ่ง0tส่งปฏิกริยากลับไปที่สายเปล่าในแบบเดียวกันในระดับการสั่นสะเทือนที่ตรงกัน นอกจากนั้นยังส่งผลต่อเสียง Overtone (เสียงคู่แปดที่ผสมอยู่กับเสียงต่ำ) ของสายเปล่าอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น