วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การเขียนโครงการ (โครงงานดนตรี)


การเขียนใบเสนอโครงการ

1. ชื่อโครงการ เป็นส่วนที่บอกว่าเป็นโครงการประเภทใด ทำงานอะไร และมีใครเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการทำงานนั้น โดยชื่อโครงการควรมีลักษณะดังนี้
        - มีความชัดเจนและเข้าใจง่าย
        - ควรเป็นข้อความสั้น ๆ ที่สะท้อนสาระของโครงการ

2. ผู้รับผิดชอบโครงการ ให้ระบุหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินโครงการ ซึ่งอาจเป็นหน่วยงานเดียวหรือหลายหน่วยงาน

3. หลักการและเหตุผล บางครั้งใช้คำว่า ความเป็นมาของโครงการ หรือความสำคัญของโครงการ เป็นที่เริ่มต้นให้ผู้อ่านหรือผู้ใช้โครงการนั้นได้เข้าใจพื้นฐานความเป็นมา ของโครงการดังกล่าว ซึ่งลักษณะการเขียนความสำคัญของปัญหา ประกอบด้วย
        - ข้อความในส่วนนี้จะต้องชี้ให้เห็นปัญหาว่าทำไมต้องจัดทำโครงการ ทั้งในรูปแบบของโครงการใหม่ หรือโครงการที่ต้องการปรับปรุง
        - จะช่วยในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยอาศัยข้อมูลจากสภาพของปัญหา นโยบาย แผน ผลการศึกษาวิจัย สถิติข้อมูลหรือความคิดเห็นของบุคคลที่น่าเชื่อถือโดยรายละเอียดของหลักการ และเหตุผล ต้องชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการได้อย่างชัดเจน

4. วัตถุประสงค์ เป็นส่วนที่สำคัญโดยเฉพาะในเรื่องของการติดตามประเมินโครงการ โดยการกำหนดวัตถุประสงค์ต้องเฉพาะเจาะจง สามารถตอบคำถามได้ ว่าสิ่งที่ต้องการให้เกิดในการทำโครงการคืออะไร ต้องการผลงานหรือผลผลิตอะไร โดยต้องเป็นข้อความที่ผู้อ่านทราบว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อสิ้นสุดโครงการ ซึ่งการเขียนวัตถุประสงค์ควรคำนึงถึงลักษณะวัตถุประสงค์ 5 ประการ คือ SMART
        S=Specific (เฉพาะเจาะจง) วัตถุประสงค์ที่ดีต้องมีความชัดเจนในการดำเนินงานโครงการเฉพาะเจาะจงสำหรับโครงการนั้น
        M=Measurable (วัดได้) วัตถุประสงค์ที่ดีต้องสามารถวัดได้ และประเมินผลได้
        A=attainable (ระบุสิ่งที่ต้องการ) วัตถุประสงค์ที่ดีต้องระบุสิ่งที่ต้องการ มีการดำเนินการ อย่างชัดเจนและเฉพาะเจาะจงมาก
        R=Reasonable (สมเหตุสมผล) วัตถุประสงค์ที่ดีต้องมีความสมเหตุสมผล แสดงถึงความเป็นไป ได้ในการปฏิบัติงาน
        T=Time (เวลา) วัตถุประสงค์ที่ดีต้องมีขอบเขตของเวลาที่แน่นอนในการปฏิบัติงาน โดยต้องระบุเวลาเริ่มต้นและเวลาที่สิ้นสุดที่ชัดเจน

5. เป้าหมาย เป็นรายละเอียดที่บ่งบอกถึงความต้องการในการปฏิบัติงานภายหลังจากสิ้นสุดโครงการ ที่แสดงถึงความสำเร็จของโครงการมีระยะเวลาที่ชัดเจน โดยเป้าหมายของโครงการ สามารถแบ่งได้ 2 ลักษณะคือ
        1. เป้าหมายเชิงปริมาณ เป็นรายละเอียดที่กำหนดชนิด ประเภทของจำนวนของผลการดำเนินงานเมื่อสิ้นสุดโครงการ
        2. เป้าหมายเชิงคุณภาพ เป็นรายละเอียดที่ต้องแสดงถึงคุณค่าของผลผลิตที่ได้รับจากการดำเนินโครงการที่ชี้ถึงประสิทธิภาพ

6. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เป็นส่วนที่บอกถึงผลที่ได้รับจากโครงการนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ ผลที่คาดว่าจะได้รับคือผลกระทบในทางที่ดี ที่คาดว่าจะเกิดจากโครงการไม่ใช่ผลโดยตรงที่ได้จากวัตถุประสงค์ของโครงการ

7. ขอบเขตของโครงการ เป็นข้อความที่เขียนขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่าโครงการนั้นมีความครอบคลุมหรือไม่ ในเรื่องใดบ้าง โดยลักษณะขอบเขตของโครงการอาจระบุไว้ไน 4 ลักษณะ คือ
        1. ขอบเขตเรื่องระยะเวลา เป็นการกำหนดระยะเวลาเมื่อเริ่มต้นโครงการจนถึงสิ้นสุดโครงการ
        2. ขอบเขตทางภูมิศาสตร์ เป็นการระบุความกว้างขวางตามพื้นที่ที่โครงการนั้น ๆ จะดำเนินการครอบคลุมถึงหรือไม่
        3. ขอบเขตในทางปฏิบัติ เป็นการคาดคะเนที่คิดว่าเมื่อปฏิบัติหรือดำเนินโครงการนั้น ๆ แล้วจะมีปัญหาอุปสรรคที่จะต้องขีดวงเป็นขอบเขตของโครงการมีอะไรบ้าง
        4. ขอบเขตในลักษณะอื่น ๆ เช่น ข้อจำกัดของการดำเนินโครงการ

8. วิธีดำเนินการ เป็นส่วนที่ระบุถึงขั้นตอนที่แสดงถึงรายละเอียด แนวทาง กลยุทธ์และวิธีการที่จะทำในการดำเนินโครงการ จะต้องชี้แจงรายละเอียดว่าจะทำอะไร อย่างไร เพียงใด และใครรับผิดชอบและปฏิบัติด้วยวิธีการใดจึงจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งวิธีการดำเนินโครงการจะบอกถึงสิ่งต่อไปนี้
        1. ขั้นตอนต่าง ๆ ของการดำเนินงาน
        2. แผนการดำเนินงานที่แสดงวิธีการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยรูปแบบของแผนการดำเนินงานอาจทำได้ในลักษณะต่อไปนี้ คือ
- แผนกำหนดรายงานการปฏิบัติงาน
- แผนควบคุมการทำงาน
- ตารางการทำงาน
- และแบบอื่น ๆ

9. ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ เป็นการระบุระยะเวลาการดำเนินโครงการ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ จนกระทั่งสิ้นสุดโครงการว่าใช้เวลาทั้งหมดเท่าใด โดยทั่วไปจะนำเสนอตั้งแต่ วัน เดือน ปีอะไร และสิ้นสุด วัน เดือน ปีอะไร

10. งบประมาณและทรัพยากร เป็นการแสดงรายละเอียดของงบประมาณที่ใช้ในโครงการทั้งค่าใช้จ่าย และแหล่งที่มาของงบประมาณ พร้อมทั้งแหล่งทรัพยากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

11. การติดตามและประเมินผลโครงการ เป็นส่วนที่ทำให้ผู้รับผิดชอบโครงการทราบว่าในการดำเนินการ สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่ระบุไว้ในวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงใด ดังนั้น ในการเขียนจำเป็นต้องระบุรายละเอียดในเรื่องการตรวจสอบความก้าวหน้าของโครงการ ประเมินผล ระหว่างการดำเนินงาน และประเมินเมื่อสิ้นสุดโครงการว่าจะดำเนินการอย่างไร

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น