วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

สิทธิ กับ ระเบียบวินัย ตอบคำถามกันหน่อย

สิทธิ VS ระเบียบวินัย จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อาจทำให้สังคมมองว่าเด็กสมัยนี้ดูแรง ดูกล้ามากขึ้น แต่การจะถ่ายทอดและบ่มเพาะให้คนรุ่นใหม่เข้าใจกับคำว่า 'สิทธิ' และ 'ระเบียบวินัย' ได้อย่างลึกซึ้งนั้นก็ยังคงต้องเป็นหน้าที่ที่ปฏิเสธไม่ได้ของผู้ใหญ่ในสังคม สังคมไทยยังไม่เปิดโอกาสให้มีเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดของคนรุ่นใหม่ได้อย่างเต็มที่ เพราะสังคมไทยยังติดอยู่ในกรอบความคิดแบบมายาคติที่มีต่อนักเรียนนักศึกษาว่าต้องเป็นไป ตามกรอบที่สังคมกำหนด คือ เชื่อฟัง และ ไม่ตั้งคำถาม และยังสะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันของแนวคิดระหว่างกระแสโลกานุวัตร กับ ประเพณีดั้งเดิม ที่คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามและเรียกร้องวิถีชีวิตที่แตกต่างจากระเบียบประเพณีเดิม สังคมไทยยังต้องการให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ผลิต "พลเมือง" ที่มีประสิทธิภาพในการเข้าสู่ตลาดในระบบทุนนิยม มากกว่าผลิตบุคคลที่มีความคิดและสามารถตั้งคำถามกับสังคมได้ สังคมไทยมีความเกลียดชังคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากตนเอง และไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิดอย่างแท้จริง "จริงๆ แล้วคำว่า 'ระเบียบวินัย' เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นในสังคมสมัยใหม่ ถูกนำมาใช้ในการควบคุมวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบ และขับเคลื่อนสังคมให้ดำเนินไปภายใต้การปกครองอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็พึงมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัยและความเหมาะสม และไม่พึงละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิเสรีภาพในความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิในการพูด สิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง และสิทธิที่จะกระทำ หรือ ไม่กระทำ ในสิ่งที่ไม่ไปทำร้ายชีวิตผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องยอมรับ และก้าวข้ามให้พ้นความเกลียดชังที่มีต่อคนที่ความคิดเห็นแตกต่างจากตนเองให้ได้" หากสังคมไทยยังต้องการบุคลากรของประเทศที่มีประสิทธิภาพ ก็ต้องกลับมาดูกันว่าวันนี้เราได้ให้พื้นที่กับคำว่า 'สิทธิ' กับเด็กรุ่นใหม่มากแค่ไหน ได้อบรมและทำความเข้าใจเรื่อง 'ระเบียบวินัย' อย่างลึกซึ้งและจริงใจต่อกันหรือเปล่า "คำว่าระเบียบวินัยในสังคมยังต้องมี แต่ต้องแยกออกจากสิทธิขั้นพื้นฐาน ประเทศนี้ต้องมีระเบียบวินัยไม่งั้นประเทศก็ล่ม เราเพียงแต่มองว่าสิทธิขั้นพื้นฐานก็น่าจะคู่กับระเบียบวินัยไปด้วยกัน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น