วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

Classic Period รูปแบบเพลง

รูปแบบบทเพลงสมัยคลาสสิค รูปแบบและโครงสร้างของดนตรีที่บรรเลงด้วยวงออร์เคสตร้าในยุคคลาสสิค มักจะเป็นบทเพลงยาวๆ ที่ประกอบด้วยหลายๆท่อนในเพลงเดียวกัน แต่ละท่อนมักจะมีลักษณะที่ตัดกันทั้งจังหวะ ความเร็ว-ช้า และคุณลักษณะอื่นๆ เช่น สีสัน และความดัง ความเบาของท่วงทำนอง โดยทั่วไปแล้วบทเพลงสมัยนี้มักจะมี 4 ท่อนเรียงกันประกอบด้วย 1. ท่อนเร็ว (Fast Movement) 2. ท่อนช้า (Slow Movement) 3. ท่อนที่เป็นเพลงเต้นรำซึ่งสัมพันธ์กับบทเพลง (Dance Movement) 4. ท่อนเร็ว (Fast Movement) ที่จบเป็นการส่งท้ายเพลง เมื่อโครงสร้างเป็นเช่นนี้ก็เลยพูดกันเล่นๆติดปากว่า รูปแบบของบทเพลงยุคคลาสสิค คือ เร็ว-ช้า-เต้นรำ แล้วก็เร็ว (Fast-Slow-Dance-Fast) รูปแบบของเพลงลักษณะนี้พบมากในวงดนตรี Chamber Music โดยเฉพาะอย่างยิ่ง String Quatit แต่บทเพลงประเภท Sonata อาจจะประกอบด้วย 2-3 หรือ 4 ท่อนก็ได้ บทเพลงประเภท Symphony จะแต่งขึ้นสำหรับวง Orchestra Quartet (2 Violins, Viola และ Cello) แต่ประเภท Sonata สำหรับเครื่องดนตรีเพียง 2 ชิ้นเท่านั้น และบทเพลงเหล่านี้จะมีรูปแบบหลากหลายแล้วแต่คีตกวีจะเลือกใช้ เช่น เป็นแบบ A-B-A หรือแบบ Themes Variation บทเพลงแต่ละท่อนมักจะมีลักษณะที่ขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด มีหลายอารมณ์ และเมื่อพูดถึงดนตรียุคคลาสสิค ก็มักจะนึกถึงคีตกวีที่เป็นหลักของยุคนี้ 3 ท่าน คือ Haydn, Mozart และ Beethoven ซึ่งมีบุคลิกแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Beethoven ซึ่งมีผลงานโดดเด่นเป็นพิเศษด้วยสีสันและอารมณ์รุนแรง ขณะที่ Haydn และ Mozart มีลักษณะแบบละครแฝงอยู่ด้วย Mozart เองชอบแต่งเพลงที่สนุกสนาน กุ๊กกิ๊ก มีลูกเล่นมาก ได้อารมณ์สุนทรีและน่ารักๆ ในจำนวนบทเพลงประเภท Sonata และ Theme and Variation นั้น คำว่า “Sonata” มีสิ่งที่จะต้องอธิบายในรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด คำว่า Sonata ซึ่งเป็นประเภทของบทเพลงกับคำว่า Sonata Form นั้นเป็นคนละอย่าง คนละความหมาย Sonata เฉยๆ หมายถึงบทเพลงที่มีหลายท่อนเป็นแบบเร็ว-ช้า-ระบำ-เร็ว แต่คำว่า Sonata Form หมายถึงลักษณะของบทเพลงท่อนใดท่อนหนึ่งเพียงท่อนเดียวซึ่งประกอบด้วยส่วนสำคัญๆ 4 ส่วนด้วยกันคือ Exposition เป็นท่อนที่มีทำนองหลัก 2 ทำนอง ทำนองที่หนึ่ง เล่นในบันไดเสียงที่เป็นเสียงหลักของบทเพลงแล้วตามด้วยทำนองสั้นๆ ที่เชื่อมไปสู่ทำนองที่สอง ซึ่งเปลี่ยนไปบรรเลงในบันไดเสียงอื่นและจบด้วยทำนองนี้จึงได้ชื่อส่วนแรกนี้ว่า Exposition Development เป็นการนำเอาทำนองที่ได้เล่นมาแล้วมาพัฒนา คือขยายในรายละเอียด ใส่กลเม็ดเด็ดพรายต่างๆเข้าไป มีการปรับเสียงไปเล่นในบันไดเสียงอื่นๆต่อไป Recapitulation ส่วนที่ 3 กลับมาบรรเลงทำนองหลักในบันไดเสียงเดิมส่วนที่ 1 เหมือนเมื่อเริ่มต้นแล้วเชื่อมด้วยทำนองสั้นๆ ก่อนที่จะบรรเลงทำนองที่ 2 ในบันไดเสียงหลักจบลงด้วยทำนองในบันไดเสียงหลัก Coda ส่วนที่ 4 เป็นท่อนจบหรือลูกหมดบรรเลงในบันไดเสียงหลักที่เป็นรูปแบบของ Sonata Form ซึ่งอาจจะใช้กับท่อนไหนของบทเพลงก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น