วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ปีใหม่นี้น้องน้ำมาเดี๋ยวน้องน้ำก็ไปเอง พาเรียนรู้ประวัติเพลงปีใหม่

ปีใหม่นี้น้องน้ำมาเดี๋ยวน้องน้ำก็ไปเอง   พาเรียนรู้ประวัติเพลงปีใหม่

 
                 น้องน้ำมาเดี๋ยวน้องน้ำก็ไป  มักเป็นคำปลอบโยนที่ได้ยิน 
แต่มันป็นคำที่น่ารำคาญใจมากสำหรับประชาชน ชุมชนชาวพุทธมนฑลสาย 4  สาย 5 ชาวบางบัวทอง ที่น้ำยังท่วมอยู่อย่างไม่รู้ชะตากรรมว่าจะลดเมื่อไหร่  เมื่อไหร่น้ำจะลดแน่ๆ  ในยุคสมัยพ.ศ.2485 เป็นยุคที่รัฐบาลเข็มแข้ง ยุคที่รัฐบาลเปลี่ยนผ่านปรับปรุงวัฒนธรรมให้เทียบเท่านานาอารยะประเทศ  จนมีคำกล่าวที่ว่าเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย  ในสมัยปัจจุบันถ้านับคะแนนเสียงในสภา ความเข็มแข็งไม่น่าแพ้ในยุคก่อน  แต่คงไม่อาจใช้คำว่าเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยได้แน่นอน..
สวัสดี ปีใหม่แล้ว ผองไทยจงแคล้วปวงภัย ช่วยกันรับขวัญปีใหม่ เถลิงฤทัยไว้มั่น
สุขศรีปีใหม่หมาย สุขใจและกาย รวมกัน สำราญ สำเริง บันเทิงมั่น สุขสันต์ ยิ้มกันไว้ก่อน..."
จะว่าไปแล้ว เพลงปีใหม่เพลงแรกที่มีเนื้อร้อง ทำนอง รวมทั้งขับร้องและบรรเลงตามอย่างสากล นั่นก็คือ เพลงเถลิงศก ของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ซึ่งแต่งขึ้นในระยะที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการจัดงานรื่นเริงปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายนทั่วทั้งประเทศในราวปี 2477-2479 เพลงนี้มีสร้อยเพลงที่ติดหูคนฟังว่า
"...ยิ้มเถิด ยิ้มเถิดนะยิ้ม ยิ้มแย้มแจ่มใส สุขสราญบานใจ ขอให้สวัสดี.."
ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ไปเป็นวันที่ 1 มกราคมเพลง ๆ นี้ก็คงเสื่อมความนิยมไปด้วยเหตุที่เนื้อร้องในช่วงต้นที่ว่า "..วันที่หนึ่งเมษายน ตั้งต้นปีใหม่ แสงตะวันพร่างพรายใสสว่างแจ่มจ้า..." นั้นไม่เข้ากับเหตุการณ์อีกต่อไป
พอมาถึงในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการประกาศพระบรมราชโองการให้ถือวันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ ในสมัยนั้นจอมพล ป. ได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อสร้างชาติ และสร้างวัฒนธรรมเมืองแบบใหม่ มีการออกประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับในระหว่าง พ.ศ. 2482-2485 ที่สำคัญก็เช่น เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย การเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อสร้างวัฒนธรรมอันดีและวางแนวทางประพฤติปฏิบัติแก่ประชาชนให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวทั้งประเทศ  รัฐบาลขณะนั้นก็ประสงค์จะให้คนไทยทั้งชาติมีวันขึ้นปีใหม่ในวันเดียวกัน จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่นิยมยึดถือกันในนานาอารยประเทศ และ จอมพล ป. นั้นมีสื่อสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ใช้ในการสนับสนุนเผยแพร่นโยบายของท่านอย่างเป็นผล นั่นก็คือ เสียงเพลง และในขณะนั้นค่ายเพลงของรัฐมีอยู่สองหน่วยงาน คือกรมศิลปากร และกรมโฆษณาการเป็นกำลังสำคัญร่วมกันในการผลิตเพลงสนับสนุนนโยบายรัฐบาลอย่างแข็งขัน
...กรมศิลปากรมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นมันสมอง โดยมีวงดนตรีสากลของกรมศิลปากรที่โอนมาจากวงเครื่องสายฝรั่งหลวง กรมมหรสพ ซึ่งพระเจนดุริยางค์ฝึกฝนไว้เป็นกำลังสำคัญ   ส่วนกรมโฆษณาการนั้นมีขุนศึกทางเพลง อย่างพระราชธรรมนิเทศ จมื่นมานิตนเรศน์ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ครูเวส สุนทรจามร ชอุ่ม ปัญจพรรค์ และมีวงดนตรีของกรมที่ประกอบด้วยนักดนตรีเอกภายใต้การควบคุมวงของครูเอื้อ สุนทรสนาน
             เมื่อรัฐบาลประกาศเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่เป็น 1 มกราคม กรมศิลปากร และกรมโฆษณาการก็น่าจะมีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์ด้วยเสียงเพลงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์นั้น กำลังเริ่มโด่งดังอย่างยิ่งควบคู่กันกับชื่อวงสุนทราภรณ์ ด้วยเหตุที่ทั้งหัวหน้าวง นักร้อง นักดนตรี และผู้แต่งเพลงของทั้งสองวงนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นวง ๆ เดียว กันนั่นเอง
             เพลงปีใหม่ของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ หรือวงสุนทราภรณ์นั้น แม้จะยังไม่พบหลักฐานชัดเจนว่าแต่งขึ้นในปีใด แต่เมื่อพิจารณาเนื้อเพลงแล้ว ก็น่าจะแต่งขึ้นในยุคของการประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ 2484 ซึ่งอยู่ในยุคของการปลุกใจด้วย เช่น ชโยปีใหม่ ซึ่งมีเนื้อเพลงดังนี้
          ไชโยปีใหม่ ร้องอวยชัยชาติไทยไชโย (ไชโย) ไชโยขานโห่ ร้องไชโยให้ไทยรุ่งเรือง (ไชโย)
          ศุภฤกษ์ดิถี ศุภศรีมงคล เฉลิมปวงชน ร่าเริง เถลิงปีใหม่ ชาติไทย
         ขอให้ชาติรุ่งเรือง ให้กระเดื่องแดนไกล ให้อำนาจเกริกไกร ให้เป็นใหญ่ไพบูลย์ ให้ไทยวัฒนา       ให้ประชาสมบูรณ์ ให้สุขเสริมเพิ่มพูน ให้จำรูญจำเริญไกล
         ไชโยขานโห่ ร้องไชโยให้พร้อมเพรียงกัน (ไชโย) อวยชัยเสียงสนั่น พร้อมเพรียงกันให้ไทยเจริญ (ไชโย)
วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์หรืออีกนัยหนึ่งวงสุนทราภรณ์นั้นนับเป็นเจ้าตำรับเพลงปีใหม่ของไทยเลยทีเดียว ทั้งโดยจำนวนเพลงซึ่งทยอยแต่งขึ้นในปีต่าง ๆ จนนำมารวมเป็นแผ่นเสียงลองเพลย์ได้ครบหนึ่งแผ่น (ประมาณ 12 เพลง) และทั้งโดยความนิยมจากประชาชนซึ่งนำเพลงเหล่านี้มาใช้ขับร้องบรรเลงในเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะเพลงสวัสดีปีใหม่ จนกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยไปแล้ว
           อย่างไรก็ตามเพลงปีใหม่ที่สำคัญที่สุดของประชาชนชาวไทย ได้แก่ เพลง "พรปีใหม่" เพลงนี้มีความเป็นมาเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะพระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรเป็นบทเพลงในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่พุทธศักราช 2494 ต่อ 2495 จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" ขึ้น เมื่อพระราชนิพนธ์เสร็จแล้วได้พระราชทานให้วงดนตรีนำออกบรรเลงทางสถานีวิทยุ อ.ส. ทรงพระกรุณาให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ทรงเป่าแซกโซโฟนช่วงแรก และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป่าช่วงที่สองสลับกันไป ในคืนวันที่ทรงพระราชนิพนธ์เพลงพรปีใหม่นั้นมีเวลาจำกัด จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่วงดนตรีได้เพียงสองวง คือ วงของนิสิตจุฬาลงกรณ์ฯ และวงดนตรีสุนทราภรณ์

            ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่แก้ปัญหาน้องน้ำ ด้วยแต่เพียง MV เพลงปลอบใจกันไปวัน วัน....นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น