วัฒนธรรมส่งความสุขนี้แบบนี้... อย่าให้หาย
นายยงยุทธ เอี่ยมสอาด
สวัสดีปีใหม่ครับ เดือนมกราคมนี้ยังเป็นเดือนที่สามารถสวัสดีปีใหม่ ส่งความสุขให้กันและกันได้อยู่นะครับ ในค่ำคืนวันส่งท้ายปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่ ได้มีการบันทึกสถิติการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือที่มีข้อความวิ่งผ่านเครือข่าย ๑๖๖ ล้านข้อความในเวลา ๒๔ ชั่วโมง เฉลี่ยตกวินาทีละ ๑,๙๐๐ ข้อความ แน่นอนครับในโลกไร้พรมแดน โลกที่ต้องการความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร โลกาภิวัฒน์ วิวัฒนาการใหม่ๆเกิดขึ้นย่อมมีผลหรือเป็นผลต่อวัฒนธรรมเก่าๆที่เคยเป็นธรรมเนียมปฎิบัติกันมา
การส่งบัตรอวยพร... วัฒนธรรมส่งความสุขโดยบัตรอวยพรต้องช่วยกันรักษาหน่อยนะครับ...อย่าให้หาย ผมยังรู้สึกทราบซึ้งหรือยังคงเต็มอิ่มเอิบกับการที่จะได้รับบัตรอวยพรในเทศกาลปีใหม่มากกว่าวิธีอื่นๆ การส่งบัตรอวยพรจริงๆมีรายละเอียดที่ในแต่ละขั้นตอนในการเตรียมที่จะส่ง ต้องมีการเลือกบัตรที่ต้องใช้วิจารณญาณ รสนิยมทางศิลปะ ต้องเลือกสรรข้อความที่บ่งบอกความปราถนาดีต่างๆ ถือได้ว่าต้องมีการเตรียมทั้งกาย ทั้งใจต่อการส่งความสุขความปราถนาดี ซึ่งผมคิดว่าน่าเป็นวัฒนธรรมที่ควรรณรงค์ให้ดำรงค์อยู่ไว้.. อย่าให้หายไปนะครับ
บัตรอวยพรมีมาแต่โบราณ
การส่งบัตรอวยพรของต่างประเทศ เริ่มมีมามากกว่า ๒๐๐ ปี แล้ว ในหนังสือ The Oxford Companion to the Decorative Arts หน้า ๖๓๓ – ๖๔๔ ) ได้อธิบายถึงเรื่องรูปการ์ดต่างๆไว้ว่า รูปแบบของบัตรอวยพรที่นิยมใช้กันอยู่ทุกวันนี้ แบบแรกที่สุดจะเป็นบัตรเยี่ยม ( Visiting Card ) ซึ่งเริ่มมีใช้กันเมื่อ ราวกลางศตวรรษที่ ๑๘ หรือประมาณปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา
ตอบเรื่องวัฒนธรรม
บัตรเยี่ยมนี้จะใช้เขียนข้อความเพื่อเยี่ยมเยียนกัน มีขนาดเท่าไพ มีลวดลายประดับแบบคลาสสิกพิมพ์ลงไปให้ดูสวยงาม บางทีก็พิมพ์รูปอาคารโบราณต่างๆ ต่อมาก็มีการทิ้งบัตรเขียนแสดงความชื่นชมในเทศกาลปีใหม่ไว้ที่บ้านของผู้ที่ตนไปเยี่ยมเยียน ( ในวันขึ้นปีใหม่ ) ซึ่งแสดงได้ว่าเริ่มมี ส.ค.ส.เกิดขึ้นแล้ว
หนังสือเล่มเดิมได้อธิบายต่อไปอีกว่า ในราวช่วง๑๐ ปีหลังของ พ.ศ. ๒๓๐๓ หรือ ก่อนที่ไทยจะเสียกรุงครั้งที่ ๒ ไม่นาน มีการพิมพ์บัตรอวยพรปีใหม่ที่มีการเขียน โคลง กลอน โรแมนติก หรือข้อความสำเร็จรูปออกจำหน่าย จากบัตร ส.ค.ส. ต่อมาก็มีบัตรวาเลนไทน์ และมีการทำซองจดหมายสวยๆ ไว้ สำหรับส่งในวันคริสต์มาส ฯ ล ฯ จนกระทั่งมีบัตรอวยพรมากมาย หลากหลายรูปแบบเกิดขึ้นในปัจจุบัน สำหรับบัตร ส.ค.ส. และบัตรคริสต์มาสนั้น หลังจากปี พ.ศ. ๒๔๐๓ มีการพิมพ์จำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย เพราะในช่วงนี้มีความนิยม และความต้องการกันอย่างสูง
บัตรอวยพรแบบไทย สำหรับบัตรอวยพรของไทยนั้น เราได้รับธรรมเนียมมาจากฝรั่ง เช่นเดียวกับการพิมพ์นามบัตร หรือพิมพ์การ์ดเชิญต่างๆ บัตรอวยพรที่เก่าแก่ที่สุด หรือแบบแรกที่สุด คือ บัตรอวยพรปีใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงทำขึ้นเป็นพระองค์แรกเมื่อ๑๒๐กว่าปีก่อน บัตรอวยพรนอกจากนี้ได้แก่ บัตรอวยพรวันคริสต์มาส วันเกิด และ วันมงคลต่างๆ รัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ติดต่อกับประเทศตะวันตก และเรียนรู้ขนบธรรมเนียมตลอดจนวิทยาการของชาวตะวันตกหลายๆอย่าง การส่งบัตรอวยพรของพระองค์นั้นเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใดยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอนชัดเจนแต่ได้มีสำเนาคำพระราชทานพรขึ้นปีใหม่ ( พ.ศ. ๒๔๐๙ ) ของพระองค์ ซึ่งพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษปรากฏอยู่ใน น.ส.พ. THE BANGKOK RECORDER ( ฉบับภาษาอังกฤษ ) ของหมอบรัดเลย์ แปลความได้ว่า ทรงขอส่งบัตรตีพิมพ์คำอวยพรนี้ถึงบรรดากงสุลเจ้าหน้าที่กงสุลชาติต่างๆ และชาวต่างประเทศที่ทรงคุ้นเคยโดยทั่วถึงกัน
บัตรอวยพรในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีตัวอย่างในหอจดหมายเหตุแห่งชาตินับร้อยๆแผ่น เรียกว่ามากพอสมควร ซึ่งสามารถแยกออกเป็นประเภทต่างๆ คือ ใช้นามบัตรแผ่นเล็กๆ เป็น ส.ค.ส. นามบัตรที่ว่านี้จะเล็กกว่าปัจจุบันนี้เล็กน้อย ส่วนใหญ่จะมีแต่ชื่อไม่มีสถานที่ บางบัตรก็เป็นบัตรที่ใช้พิมพ์ บางบัตรก็ใช้ปากกาเขียนคำว่า ส.ค.ส ปีนั้น ปีนี้ลงไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น