วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

พระเจนดุริยางค์ครูผู้สอนอาจารย์มนัส ปิติสานต์


พระเจนดุริยางค์ครูผู้สอนอาจารย์มนัส  ปิติสานต์และผู้ก่อตั้งโรงเรียนดุริยางค์ทหารอากาศ
                เมื่ออายุ 7 ขวบ ท่านเริ่มรับการศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ในชั้นต้นได้เข้าเรียนในแผนกภาษาฝรั่งเศส จนจบหลักสูตร แล้วจึงได้เข้าเรียนต่อในแผนกวิชาภาษาอังกฤษ รวมเวลาที่อยู่ในโรงเรียนนี้ 11 ปี ระหว่างนี้ท่านก็ได้ศึกษาวิชาดนตรีจากบิดาพร้อมกับพี่ชายอีก 2 คน ซึ่งปัจจุบันได้ถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว เมื่อพระเจนดุริยางค์อายุได้ 10 ขวบ ท่านได้ฝึกหัดเชลโล เป็นเครื่องดนตรีประจำตัวต่อไป จากการฝึกหัดอย่างจริงจัง ทำให้ท่านมีความสามารถในการเล่นดนตรีอย่างยอดเยี่ยม และก่อให้เกิดความรักอันซาบซึ้งในดนตรีแบบ คลาสสิค ขึ้นอย่างมาก พออายุ 17 ปี จึงได้หัดเรียนเปียโนโนอีกอย่างหนึ่ง พร้อมกันนี้ท่านก็ได้เริ่มแสวงหาความรู้ทาง "ดุริยางค์ศาสตร์" อย่างกว้างขวาง รวมทั้งเริ่มหัดเครื่องดนตรีชนิดอื่นอีกหลายอย่างเช่น คลาริเนท ฟรุต และทรอมโบน ในปี พ.ศ. 2444 ท่านได้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนอัสสัมชัญ จนถึง พ.ศ. 2445 เป็นครูอยู่ 2 ปีก็ลาออกจากนั้นก็สมัครเข้ารับราชการในกรมรถไฟหลวงแผนกเดินรถ ถึง พ.ศ. 2456 ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น "ขุนเจนรถรัฐ" ท่านรับราชการอย่างสามารถอยู่ที่กรมรถไฟหลวงเป็นเวลา 14 ปี ด้วยความอัจฉริยะทางดนตรีอันเป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง จากนั้นเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2460 รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายไปรับราชการในกรมมหรสพ มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยปลัดกรมกองเครื่องสายฝรั่ง มีหน้าที่ฝึกฝนอบรมนักดนตรีทางการปฏิบัติเครื่องดนตรี สำหรับวงดนตรีฝรั่งหลวงแห่งราชสำนัก แล้วได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า "หลวงเจนดุริยางค์" เมื่อได้รับการทาบทามให้ไปอยู่กรมมหรสพนั้นท่านลังเลใจอยู่ เนื่องจากรำลึกถึงคำกำชับของบิดาว่ามิให้ยึดถือและอาศัยวิชาดนตรีที่ท่านได้ให้ไว้นั้นเป็นอาชีพอย่างเด็ดขาด เพราะ 

        "คนไทยเราไม่ใคร่สนใจในการดนตรีเท่าใดนัก ชอบทำกันเล่น ๆ สนุก ๆ ไปชั่วคราว แล้วก็ทอดทิ้ง" แต่เนื่องจากเป็นพระบรมราชโองการจึงต้องไป ท่านได้ทุ่มเทเวลาความสามารถทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ฝึกฝนนักดนตรีรุ่นใหม่ได้บังคับบัญชาอย่างกวดขัน ชั่วเวลาเพียง 2 - 3 ปีเท่านั้น วงดุริยางค์สากลวงแรกของไทยก็สามารถออกบรรเลงโชว์ฝีมือในงานพระราชพิธีต่าง ๆ จนได้รับคำชมเชยจากผู้ฟังทั้งชาวไทยและต่างประเทศมากมาย ถึงกับกล่าวกันว่า เป็นวงเก่งที่สุดในภาคตะวันออก จากความสามารถดังกล่าวนี้เองท่านก็ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระเจนดุริยางค์" ตำแหน่งปลัดกรมกองดนตรีฝรั่งหลวง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 24 ทำให้กิจการดนตรีสากลของไทยมีมาขึ้นทัดเทียมกับต่างประเทศ และจากความสามารถในการจัดสร้างวงดุริยางค์สากลได้สำเร็จเป็นอย่างดีขั้นต้น ในปี 2470 ท่านจึงได้ถูกขอร้องให้ไปช่วยเหลือปรับปรุงวงดนตรีของกองทัพเรือ ฃึ่งมีวงโยธวาทิต (แตรวง) และวงดุริยางค์ 

        ปี พ.ศ. 2473 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตสภา ได้ทรงเริ่มจัดการให้พระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เสนากระทรวงวัง เจ้าสังกัดวงปี่พาทย์และโขนหลวง สั่งให้ครูดุริยางค์ดนตรีและผู้ชำนาญการจดโน้ตเพลงมาร่วมกันบรรเลง และบันทึกเป็นตัวโน้ตไว้ทั้งนี้กระทำกัน ณ วังวรดิศ สัปดาห์ละ 2 วัน จนถึง พ.ศ. 2475 ก็หยุดชงักไปชั่วคราว พระเจนดุริยางค์ก็มีส่วนร่วมในการบันทึกโน้ตคือ มีหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการบันทึกโน้ต ซึ่งเป็นผลงานที่ท่านภาคภูมิในยิ่งอีกชิ้นหนึ่ง มาเมื่อปลายปี 2474 พระเจนฯได้พบปะกับเพื่อนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ผู้หนึ่ง ซึ่งสนิทสนมกันมาก่อนคือ นาวาตรี หลวงวินิจเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา) ซึ่งเป็นผู้ขอร้องให้พระเจนฯ แต่งเพลงให้บทหนึ่งให้มีทำนองเป็นเพลงที่มีความคล้ายคลึงกับเพลงชาติฝรั่งเศส ท่านก็ตอบว่าไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เพราะเพลงชาติที่มีชื่อ สรรเสริญพระบารมีของเราก็มีอยู่แล้ว นายทหารเรือผู้นั้นก็ตอบว่า อยากจะให้ไทยเรามีเพลงปลุกใจเพิ่มขึ้นอีกบ้าง เพราะเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นเป็นเพลงของพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนเพลงของประชาชนนั้นไม่มี พระเจนก็ได้ตอบปฎิเสธไป เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรากฎว่าเพื่อนคนนั้นได้ร่วมในคณะผู้ก่อการด้วย และขอร้องให้ท่านแต่งทำนองเพลงเพลงชาติให้ได้โดยบอกว่าเป็นความประสงค์ของผู้ก่อการท่านจึงยากที่จะปฏิเสธ และท่านได้ขอให้เวลาสำหรับแต่งเพลงสำคัญนี้ 7 วัน แต่พอจะครบกำหนดท่านก็ยังไม่สามารถแต่งได้จนกระทั่งถึงวันสุดท้าย ขณะที่ท่านกำลังนั่งรถรางสายบางขุนพรหมจะไปทำงานตามปกติ ท่านจึงเกิดนึกทำนองเพลงชาติขึ้นมาได้พอไปถึงที่ทำงานจึงลองเล่นเปียโนดูพร้อมกับจดโน้ตไว้ ปรากฏว่าสามารถใช้ได้ทันการพอดี ดังนั้นท่านจึงได้แต่งทำนองเพลงชาติขึ้นเป็นทำนองเพลงมารช์ใช้ได้คึกคักเร่งเร้าใจ ดังที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่อย่างทุกวันนี้ สำหรับเนื้อร้องของเพลงชาตินั้นเดิมเป็นของขุนวิจิตร มาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) และนายฉันท์ ขำวิไล ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นของ พ.อ. หลวงสารานุประพันธ์ ทั้งร้องอยู่ในปัจจุบัน 

        พ.ศ. 2477 กิจการของวงดนตรีสากลได้ย้ายไปสังกัดในกรมศิลปากร งบประมาณถูกตัดโดยทางราชการมีข้อเสนอให้เลือก 2 ประการคือ ให้ปลดนักดนตรีออกครึ่งหนึ่ง และให้ลดเงินเดือนของแต่ละคนออกครึ่งหนึ่ง ซึ่งพระเจนฯ ไม่สามารถจะเลือกปฏิบัติแต่อย่างใดได้เลย พอปี พ.ศ. 2479 กรมศิลปากรได้ส่งท่านไปดูงานดนตรีในต่างประเทศ เมื่อท่านกลับมาแล้วในพ.ศ. 2483 ได้ไปประจำอยู่กองทัพอากาศ

  เพื่อจัดตั้งวงดนตรีของกองทัพอากาศขึ้น เพื่อบรรเลงเพลงประกอบภาพพจน์ด้วย พอถึง พ.ศ. 2487 กรมศิลปากรก็เรียกตัวท่านคืน กิจการดนตรีสากลของกรมศิลปากรเมื่อถูกตัดงบประมาณลงไปแล้ว ทำให้ทรุดโทรมเรื่อยมา นักดนตรีบางพวกก็แยกย้ายกระจัดกระจายกันไปอยู่ที่อื่น เช่นไปอยู่กับคณะละครของกรมศิลปากรไปอยู่กับวงดนตรีแจ๊สของกรมโฆษณากร (กรมประชาสัมพันธ์) ตัวคุณพระเองก็ถูกปลดจากตำแหน่งหัวหน้ากองดุริยางค์ศิลปากรไปรับตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดดนตรีสากล แต่พอโรงเรียนฝึกหัดครูดนตรีสากลล้มเลิกไป ท่านก็ได้ตำแหน่งให้เป็นศาสตราจารย์วิชาการดนตรีประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร ครั้น พ.ศ. 2490 ทางราชการได้มีคำสั่งให้พระเจนฯ ย้ายไปประจำกองการสังคีต กรมศิลปากร เพื่อหาทางแก้ไขปรับปรุงวงดุริยางค์สากลให้ได้มาตรฐานดีเช่นเดิม แต่ท่านก็ได้พบอุปสรรค์มากมาย จึงเสนอขออนุมัติจัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาดนตรีขึ้น เพื่อผลิตนักดนตรีใหม่แต่ไม่เป็นผลท่านจึงได้ลาออกจากกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2497 รวมเวลาที่ท่านได้รับราชการในกรมมหสพและกรมศิลปากรเป็นเวลา 37 ปี เต็ม หลังจากออกจากราชการแล้ว ท่านก็ยังคงทำงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญแผนกดุริยางค์สากลของกรมศิลปากรอยู่อีกต่อไป ในบั้นปลายของชีวิตท่านถูกขอยืมตัวจากกรมศิลปากร ไปอยู๋ในกรมตำรวจ ท่านจัดตั้งวงดุริยางค์ตำรวจให้กับโรงเรียนพลตำรวจในภาคต่าง ๆ รวมทั้งโรงเรียนพลตำรวจนครบาล พร้อมกันนี้ท่านก็ได้รวบรวมตำราแบบเรียน แบบฝึกหัด สำหรับอบรมนักดนตรีในโยธวาทิตเพื่อทำหน้าที่เป็นครูฝึกนักดนตรีอีกด้วย ด้วยผลงานที่ท่านปฏิบัติมาก เป็นเหตุให้กรมตำรวจขอโอนท่านจากกรมศิลปากรมารับราชการในกรมตำรวจในตำแหน่งผู้อำนวยการฝึกสอนดนตรีและผู้เชี่ยวชาญวิชาดนตรี ประจำกองดุริยางค์ตำรวจ จนกระทั่งถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2511

        พระเจนดุริยางค์ได้แต่งบทเพลงอันไพเราะไว้มากพร้อมทั้งแยกเสียงประสาน เพื่อใช้เล่นกับวงดุริยางค์สากลได้อีกด้วย บทเพลงเหล่านี้ได้แก่ เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องบ้านไร่นาเรา เรื่องพระเจ้าช้างเผือก และบทเพลงในมหาอุปรากรเรื่อง "มหาดารณี" เป็นต้นนอกจากนี้ท่านยังได้นำเพลงไทยเดิมแยกประสานเสียง สำหรับบรรเลงด้วยวงดุริยางค์สากลหลายเพลงเช่น เพลงเขมรไทรโยค แขกเชิญเจ้า ต้นบรเทศ สุธากันแสง มหาฤกษ์ มหาชัย เป็นต้น ท่านได้แต่งตำราวิชาการดนตรีสากลไว้หลายเล่ม ซึ่งล้วนมีคุณค่าสำหรับประเทศไทย เช่น การดนตรี หลักวิชาการดนตรี และการขับร้อง แบบเรียนวิชาการประสานเสียงเล่ม 1 และ เล่ม 2 แบบเรียนดุริยางค์สากล ท่านได้อบรมลูกศิษย์ให้มีความรู้ ความสามารถในเรื่องดนตรีสากลเป็นจำนวนมากมายหลายคนกำลังเป็นนักดนตรี นักแต่งเพลงหรือหัวหน้าวงที่มีชื่อเช่น เอื้อ สุนทรสนาน ,สง่า อารัมภีร์, ชลหมู่ ชลานุเคราะห์, สุรพล แสงเอก และเรืออากาศโท ประกิจ วาทะยากร (บุตรของท่านเอง)

       มรณกรรมของคุณพระเจนดุริยางค์ ปรมาจารย์ทางดนตรีสากล เจ้าของทำนองเพลงชาติไทย อันเร้าใจและอมตะ และเป็นผู้วางรากฐานทางดนตรีสากลในเมืองไทยให้เป็นหลัก นับเป็นการสูญเสียงครั้งยิ่งใหญ่ในการดนตรีไทย แม้ว่าตัวของท่านจะจากไป แต่ผลงานอันเป็นอมระของท่านก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของพวกเราชาวไทยตลอดไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น