องค์ประกอบที่สำคัญของดนตรีแจ๊ส
ดนตรีแจ๊สมีองค์ประกอบสำคัญด้วยกัน 3 ประการ คือ วิธีการเล่นด้นสดหรือคีตปฏิญาณ(Improvisation), ลักษณะเฉพาะทางด้านจังหวะ (ที่เรียกว่าสวิง) และ ลักษณะความเป็นปัจเจกภาพของนักดนตรี
วิธีการเล่นด้นสดหรือคีตปฏิญาณ(Improvisation)การเล่นด้นสดคือ การคิดท่วงทำนอง จังหวะ หรือการประสานเสียงในขณะบรรเลง ผู้บรรเลงมีความเป็นอิสระในการที่จะสร้างสรรค์ตัวโน้ต รายละเอียด และสีสันต่างๆ ของท่วงทำนอง และจังหวะขึ้นใหม่ในขณะที่บรรเลงเพลงหนึ่งๆในแต่ละครั้งซึ่งในแนวเพลงแบบอื่นไม่มี หรือถ้าจะมีก็เป็นเพียงแค่บางช่วงของเพลงเท่านั้น อย่างไรก็ตามแจ๊สมิได้เกิดขึ้นโดยการเล่นด้นสดทั้งหมด ส่วนใหญ่ดนตรีแจ๊สมักประกอบด้วยการบรรเลงจากการประพันธ์ประกอบกับการเล่นด้นสด ปกติการเล่นด้นสดเกิดขึ้นโดยผู้บรรเลงดนตรีแปรเปลี่ยนทำนองหลักไป ฉะนั้นรูปแบบของการบรรเลงจึงเป็นธีมและ
แวริเอชั่นเกิดขึ้นโดยผู้บรรเลงจะเสนอทำนองหลักก่อน จากนั้นเครื่องดนตรีเดี่ยวบางชิ้นจะแปรเปลี่ยนทำนองโดยการเล่นด้นสด บางครั้งการแปรเปลี่ยนทำนองอาจเป็นการบรรรเลงร่วมกันของเครื่องดนตรีเดี่ยว สองหรือสามชิ้น แต่ละตอนของการแปรเปลี่ยนและทำนองหลักมีชื่อเรียกเฉพาะว่าคอรัส(chorus) ดังนั้นเพลงนั้นอาจจะมี4 - 6 คอรัส เป็นต้น โดยตอนแรกเป็นการเสนอทำนองหลัก
ลักษณะเฉพาะทางด้านจังหวะ (ที่เรียกว่าสวิง)
จังหวะสวิง (swings) เกิดจากการบรรเลงจังหวะตบผนวกกับความรู้สึกเบา หรือลอยความมีพลังผ่อนคลายในที และการรักษาจังหวะให้สม่ำเสมอ โดยปกติเครื่องตี เช่น กลอง แฉ และเบส จะบรรเลงจังหวะตบ อัตราจังหวะของเพลงแจ๊สมักจะเป็นกลุ่ม 4 จังหวะ คือ 4/4 แต่จังหวะเน้นแทนที่จะลงที่บีท 1 และ 3 เหมือนในบทเพลงทั่ว ๆ ไป แต่แจ๊สกลับนิยมลงที่บีท 2 และ 4 ส่วนจังหวะขัดจะลงหนักระหว่างจังหวะตบทั้งสี่ นอกจากนี้การบรรเลงจริง ๆ มักจะยึดค่าตัวโน้ต ไม่ได้ลงจังหวะตามที่เขียนเป็นโน้ตเสียทีเดียว กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การบันทึกดนตรีแจ๊สเป็นโน้ตเพลงที่จะให้ถูกต้องจริง ๆ เป็นสิ่งที่กระทำได้ค่อนข้างยาก ด้วยจังหวะการบรรเลงดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้ที่ฟังดนตรีมีความรู้สึกอยากเคลื่อนไหวยักย้ายไปตามจังหวะดนตรี
ทำนองก็เช่นเดียวกับจังหวะ มักมีการร้องเพี้ยนไปจากเสียงที่ควรจะเป็นไปตามบันไดเสียงเมเจอร์หรือไมเนอร์ที่แจ๊สใช้อยู่เสียงเพี้ยนมักจะต่ำกว่าเสียงที่ควรจะเป็น ตามปกติมักเกิดขึ้นในเสียงตำแหน่งที่ 3 , 5 และ7 ของบันไดเสียงลักษณะเช่นนี้เรียกว่า เบนท์หรือบลูส์โน้ต (blues note) สำหรับเรื่องเสียงประสานแม้จะใช้หลักการตามแบบของดนตรีคลาสสิก แต่ได้มีการพัฒนาในเรื่องของการสร้างคอร์ด ( Chord ) แปลก ๆ ขึ้น การจัดเรียงของคอร์ดตามแนวทางของดนตรีแจ๊ส ทำให้การประมานเสียงของดนตรีแจ๊สมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ทั้งนี้อาจจะเป็นไปได้ที่ว่า...ดนตรีแจ๊สมีพื้นฐานในแบบของดนตรีบูลส์ (Blues Music) เพราะในดนตรีบูลส์ก็มีการเล่นที่เป็นแบบโน้ตคล้าย ๆ สวิงนี้เหมือนกัน แต่ในบูลส์เรานิยมเรียกการเล่นจังหวะของโน้ตแบบนี้ว่า Shuftle Feel
ลักษณะความเป็นปัจเจกภาพของนักดนตรี
ขนบธรรมเนียมของแจ๊ส (Jazz Tradition) เปิดโอกาสให้นักดนตรีสามารถแสดงความเป็นตัวของตัวเองให้ปรากฏได้อย่างชัดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นลีลาอันนุ่มนวล, แข็งกระด้าง, การทอดเสียง, การสั่นไหว, การแปรทำนอง และเทคนิคต่าง ๆ โดยในขณะเดียวกัน ผู้ฟังที่มีประสบการณ์สามารถจะตระหนักรู้ได้โดยง่ายว่า เสียงที่ได้ยินนั้นเป็นการบรรเลงของนักดนตรีคนใด
อย่างไรก็ตามองค์ประกอบทั้ง 3 ที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ได้ผูกขาดเฉพาะเพียงดนตรีแจ๊สเท่านั้น หากเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ในการบ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะของดนตรีแขนงนี้.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น