วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

ดนตรีแจ๊ส 3

องค์ประกอบที่สำคัญของดนตรีแจ๊ส
ดนตรีแจ๊สมีองค์ประกอบสำคัญด้วยกัน 3 ประการ คือ วิธีการเล่นด้นสดหรือคีตปฏิญาณ(Improvisation), ลักษณะเฉพาะทางด้านจังหวะ (ที่เรียกว่าสวิง) และ ลักษณะความเป็นปัจเจกภาพของนักดนตรี
 วิธีการเล่นด้นสดหรือคีตปฏิญาณ(Improvisation)
การเล่นด้นสดคือ การคิดท่วงทำนอง จังหวะ หรือการประสานเสียงในขณะบรรเลง ผู้บรรเลงมีความเป็นอิสระในการที่จะสร้างสรรค์ตัวโน้ต รายละเอียด และสีสันต่างๆ ของท่วงทำนอง และจังหวะขึ้นใหม่ในขณะที่บรรเลงเพลงหนึ่งๆในแต่ละครั้งซึ่งในแนวเพลงแบบอื่นไม่มี หรือถ้าจะมีก็เป็นเพียงแค่บางช่วงของเพลงเท่านั้น อย่างไรก็ตามแจ๊สมิได้เกิดขึ้นโดยการเล่นด้นสดทั้งหมด ส่วนใหญ่ดนตรีแจ๊สมักประกอบด้วยการบรรเลงจากการประพันธ์ประกอบกับการเล่นด้นสด ปกติการเล่นด้นสดเกิดขึ้นโดยผู้บรรเลงดนตรีแปรเปลี่ยนทำนองหลักไป ฉะนั้นรูปแบบของการบรรเลงจึงเป็นธีมและ

แวริเอชั่นเกิดขึ้นโดยผู้บรรเลงจะเสนอทำนองหลักก่อน จากนั้นเครื่องดนตรีเดี่ยวบางชิ้นจะแปรเปลี่ยนทำนองโดยการเล่นด้นสด บางครั้งการแปรเปลี่ยนทำนองอาจเป็นการบรรรเลงร่วมกันของเครื่องดนตรีเดี่ยว สองหรือสามชิ้น แต่ละตอนของการแปรเปลี่ยนและทำนองหลักมีชื่อเรียกเฉพาะว่าคอรัส(chorus) ดังนั้นเพลงนั้นอาจจะมี4 - 6 คอรัส เป็นต้น โดยตอนแรกเป็นการเสนอทำนองหลัก

 ลักษณะเฉพาะทางด้านจังหวะ (ที่เรียกว่าสวิง)
จังหวะสวิง (swings) เกิดจากการบรรเลงจังหวะตบผนวกกับความรู้สึกเบา หรือลอยความมีพลังผ่อนคลายในที และการรักษาจังหวะให้สม่ำเสมอ โดยปกติเครื่องตี เช่น กลอง แฉ และเบส จะบรรเลงจังหวะตบ อัตราจังหวะของเพลงแจ๊สมักจะเป็นกลุ่ม 4 จังหวะ คือ 4/4 แต่จังหวะเน้นแทนที่จะลงที่บีท 1 และ 3 เหมือนในบทเพลงทั่ว ๆ ไป แต่แจ๊สกลับนิยมลงที่บีท 2 และ 4 ส่วนจังหวะขัดจะลงหนักระหว่างจังหวะตบทั้งสี่ นอกจากนี้การบรรเลงจริง ๆ มักจะยึดค่าตัวโน้ต ไม่ได้ลงจังหวะตามที่เขียนเป็นโน้ตเสียทีเดียว กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การบันทึกดนตรีแจ๊สเป็นโน้ตเพลงที่จะให้ถูกต้องจริง ๆ เป็นสิ่งที่กระทำได้ค่อนข้างยาก ด้วยจังหวะการบรรเลงดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้ที่ฟังดนตรีมีความรู้สึกอยากเคลื่อนไหวยักย้ายไปตามจังหวะดนตรี
ทำนองก็เช่นเดียวกับจังหวะ มักมีการร้องเพี้ยนไปจากเสียงที่ควรจะเป็นไปตามบันไดเสียงเมเจอร์หรือไมเนอร์ที่แจ๊สใช้อยู่เสียงเพี้ยนมักจะต่ำกว่าเสียงที่ควรจะเป็น ตามปกติมักเกิดขึ้นในเสียงตำแหน่งที่ 3 , 5 และ7 ของบันไดเสียงลักษณะเช่นนี้เรียกว่า เบนท์หรือบลูส์โน้ต (blues note) สำหรับเรื่องเสียงประสานแม้จะใช้หลักการตามแบบของดนตรีคลาสสิก แต่ได้มีการพัฒนาในเรื่องของการสร้างคอร์ด ( Chord ) แปลก ๆ ขึ้น การจัดเรียงของคอร์ดตามแนวทางของดนตรีแจ๊ส ทำให้การประมานเสียงของดนตรีแจ๊สมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ทั้งนี้อาจจะเป็นไปได้ที่ว่า...ดนตรีแจ๊สมีพื้นฐานในแบบของดนตรีบูลส์ (Blues Music) เพราะในดนตรีบูลส์ก็มีการเล่นที่เป็นแบบโน้ตคล้าย ๆ สวิงนี้เหมือนกัน แต่ในบูลส์เรานิยมเรียกการเล่นจังหวะของโน้ตแบบนี้ว่า Shuftle Feel

 ลักษณะความเป็นปัจเจกภาพของนักดนตรี
ขนบธรรมเนียมของแจ๊ส (Jazz Tradition) เปิดโอกาสให้นักดนตรีสามารถแสดงความเป็นตัวของตัวเองให้ปรากฏได้อย่างชัดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นลีลาอันนุ่มนวล, แข็งกระด้าง, การทอดเสียง, การสั่นไหว, การแปรทำนอง และเทคนิคต่าง ๆ โดยในขณะเดียวกัน ผู้ฟังที่มีประสบการณ์สามารถจะตระหนักรู้ได้โดยง่ายว่า เสียงที่ได้ยินนั้นเป็นการบรรเลงของนักดนตรีคนใด

อย่างไรก็ตามองค์ประกอบทั้ง 3 ที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ได้ผูกขาดเฉพาะเพียงดนตรีแจ๊สเท่านั้น หากเป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ในการบ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะของดนตรีแขนงนี้.

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

ความหมายดนตรีแจ๊ส

ความหมายของ"แจ๊ส" [Jazz]
แจ๊ส [jazz] เป็นแนวดนตรีที่ยากสำหรับการหาคำจำกัดความ ทั้งนี้เพราะแจ๊สมีหลายประเภทเช่น บีบ๊อบ, คูลแจ๊ส, ฟรีแจ๊ส เป็นต้น ผู้ที่จะคำจำกัดความคำว่าแจ๊สนั้นไม่สามารถนำแจ๊สทุกประเภทมารวมกันแล้ว
ให้คำจำกัดความเป็นเพียงแค่อย่างเดียวได้และเป็นเพราะแจ๊สนิยมเล่นกันก่อนแล้วถึงมาจดโน้ตกันทีหลังซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้เลย
คำจำกัดความของคำว่าแจ๊สในพจนานุกรมไทยวัฒนาพานิช, สอ; เสถบุตร:jazz n.a.v.i. ดนตรีเต้นรำเล่นลัดจังหวะ, เล่นดนตรีชนิดนี้, เต้นรำ เข้ากับดนตรีชนิดนี้ (วิทูลย์ สมบูรณ์ 2542) สำหรับพจนานุกรมฉบับของ อ๊อคฟอร์ดให้คำจำกัดความไว้ว่า "เป็นดนตรีที่ถือกำเนิดจากชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันซึ่งมีจังหวะชัดเจนที่เล่นอย่างอิสระโดยการประสานกันขึ้นเองของนักดนตรีในขณะที่กำลังบรรเลง" และมีคำกล่าวที่ว่า"Jazz is not a feeling more than anything else" หรือ "Jazz is not what you play but how you play it" คำกล่าวนี้กล่าวถึงจังหวะที่เรียกกันว่าสวิง ในหมู่นักดนตรีแจ๊สเขาถือว่าใครที่เล่นสวิงไม่ได้ถือว่าเล่นแจ๊สไม่เป็น นอกจากนั้นยังปรากฎในเพลงเปรียบเปรยของ ดุ๊ก เอลลิงตั้น นักเปียนโน นักแต่งเพลง และหัวหน้าวงบิกแบนด์ที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อดนตรีแจ๊สอย่างมากคนหนึ่งของโลก ในช่วงทศวรรษที่1930 - 1950 ในเรื่องสวิงว่า"It don't mean a thing (if it ain't got that swing)" ซึ่งจังหวะสวิงเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของดนตรีแจ๊ส.
  ต้นกำเนิดของดนตรีแจ๊ส
จากคำจำกัดความและคำพูดที่กล่าวมในตอนก่อน ๆ นี้ ทำให้ผู้อ่านความเข้าใจความหมายของคำว่า แจ๊ส เพียงอย่างเดียว ดังนั้น ในตอนต่อไปจะกล่าวถึงต้นกำเนิดของดนตรีชนิดนี้ว่ามีที่มาอย่างไร
เพียงชั่วเวลาไม่ถึงศตวรรษ ศิลปะการดนตรีที่เรียกกันว่า''แจ๊ส'' (Jazz) ได้พัฒนาและเปลี่ยนผ่านสาระสำคัญในตัวเองอย่างไม่หยุดนิ่ง กระทั่งอาจจะทำให้ผู้นิยมในดนตรีแขนงนี้ที่ยึดติดหรือชมชอบเฉพาะรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเป็นการส่วนตัว ไม่สามารถติดตามเชื่อมโยงความต่อเนื่องในรูปแบบใหม่ๆที่เกิดขึ้นได้ทันด้วยซ้ำไป เหตุนี้เอง แจ๊สจึงได้ชื่อว่าเป็นดนตรีสำหรับผู้มีจิตใจกว้างขวางโดยพื้นฐาน โดยมีจุดกำเนิดจากเพลงบลูส์, เพลงแรกไทม์, เพลงมาร์ชและเพลงพ๊อพ และกลายไปเป็นแจ๊สสไตล์ต่างๆในเวลาต่อๆมา
3.1 เพลงบลูส์
บลูส์ [Bluse] เป็นดนตรีที่เริ่มรู้จักกันในราวปี 1890 ลักษณะสำคัญคือ การใช้เสียงร้องหรือเสียงของเครื่องดนตรีที่เพี้ยนไปจากเสียงในบันไดเสียงปรกติ ซึ่งเรียกว่า เบนท์ หรือ บลูโน้ต (b5) และการไสลด์เสียง ปกติเพลงบลูส์เป็นเพลงในไทม์ซิกเนเจอร์ สี่/สี่ (4/4) ใน 1 ท่อนเพลงจะมี 12 ห้องเพลง (12 Bar Bluse ) การร้องแต่ละวรรคจะมีการอิมโพรไวเซชั่นไปจากทำนองเดิม เช่นเดียวกับการบรรเลงโดยเครื่องดนตรี แบสซี สมิธ(Bassie Smith)เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการร้องเพลงบลูส์นี้

3.2 เพลงแรคไทม์
แรกไทม์ เป็นดนตรีที่นิยมกันในช่วงระหว่าง 1890 - 1915 ลักษณะของแรคไทม์คือดนตรีสำหรับเปียโนที่ใช้จังหวะขัดเป็นหลัก เป็นเพลงในอัตราไทม์ซิกเนเจอร์ สอง/สี่ (2/4)หรือจังหวะมาร์ช ในขณะที่การบรรเลงเปียนโนโดยมือขวาเป็นแนวทำนองที่ใช้จังหวะขัด มือซ้ายจะรักษาจังหวะตบในลักษณะของเพลงมาร์ช ผู้ที่จัดเป็นราชาเพลงแรกไทม์คือ สก็อต จ๊อปลิน(Scott Joplin) เขาเป็นผู้ผสานเพลงแรกไทม์ เพลงพ็อพยุคนั้นกับเพลงคลาสสิกเบาๆเข้าไว้ด้วยกัน

3.3 เพลงมาร์ช
วงดนตรีที่ใช้นำขบวนแห่ต่างๆตามถนนในเมืองนิวออลีนส์ในช่วงต่อระหว่างศตวรรษนั้น ล้วนแต่เป็นวงโยธวาธิตหรือมาร์ชิงแบนด์ทั้งสิ้น ดังนั้นดนตรีประเภทมาร์ชจึงเป็นดนตรีหลักของวงเหล่านั้น และเป็นวัตถุดิบสำหรับวงคอมโบทั้งหลายด้วย นอกจากนี้ มาร์ชยังเป็นต้นแบบของแจ๊สในด้านเครื่องดนตรีประเภทเครื่อง.... และวิธีตีกลอง ตลอดจนวิธีการผสมวงขนาดใหญ่ในภายหลังอีกด้วย

3.4 เพลงยอดนิยมหรือเพลงพ็อพ (POP)
เพลงยอดนิยมของชนต่างๆที่อยู่ในนิวออลีนส์ คือ วัตถุดิบอีกกลุ่มหนึ่งสำหรับดนตรีแจ๊ส ทำนองของเพลงเหล่านี้จำนวนมาก เป็นต้นแบบสำหรับการด้น (อิมโพไวท์เซชั่น) ซึ่งทำให้จำนวนหนึ่งกลายเป็นบทบรรเลงที่งดงามและสำคัญยิ่งกว่าทำนองเดิมด้วย


ดนตรีทั้ง 4 แบบที่กล่าวมานี้มีบทบาทต่อวิวัฒนาการของแจ๊สมากน้อยไม่เท่ากัน แบบที่ถือว่าเป็นที่มาหลักเสมือนกระดูกสันหลังของแจ๊ส ได้แก่ 2 แบบแรก คือ ดนตรีบลูส์ และ ดนตรีแรคไทม์

วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555

ดนตรีแจ๊ส (JAZZ MUSIC)

ดนตรีแจ๊ส (Jazz Music )
              ดนตรีเป็นภาษาสากลอย่างหนึ่งที่คนทุกชาติ สามารถที่จะสื่อสารกันเข้าใจได้ และสามารถขจัดอุปสรรคทางภาษา วัย ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพราะภาษาดนตรีจะสื่อความหมายให้ทุกคนเข้าใจเป็นอย่างเดียวกัน ดนตรีจึงเป็นสื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกัน แม้ว่าเป็นจะเป็นคนละชาติ คนละภาษา หรือต่างศาสนากันก็ตาม ดังพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า " การดนตรีเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่สามารถก่อให้เกิดความปีติ ความสุข ความยินดี ความพอใจได้มากที่สุด หน้าที่ของนักดนตรีนั้นนอกจากจะสร้างความบันเทิงแล้ว ควรแสดงในสิ่งที่จะเป็นทางสร้างสรรค์ เช่น ชักนำให้คนเป็นคนดีด้วย "
ดนตรีแจ๊ส ( jazz music ) เป็นดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรด ประเภทของดนตรีแจ็สที่ทรงทโปรดนั้นคือ ดนตรีแจ๊สดิกซีแลนด์ ซึ่งเป็นสไตล์ชาวอเมริกันแห่งเมืองนิวออลีนส์ เป็นแจ๊สที่มีจังหวะตื่นเต้นครึกครื้นและสนุกสนานเร้าใจ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นระบายอารมณ์และความรู้สึกออกมาเป็นทำนองเพลงได้อย่างเสรี นอกจากนี้ยังตั้งวงได้ง่ายเพราะใช้เครื่องดนตรีเพียงไม่กี่ชิ้นก็สามารถเล่นได้ เหมาะสำหรับนักดนตรีสมัครเล่นที่จะจับกลุ่มตั้งวงขึ้นในหมู่มิตรสหายที่คุ้นเคยได้เป็นอย่างดี และได้ทรงฝึกเครื่องดนตรีได้แก่เครื่องเป่าต่าง ๆ เช่น คลาริเน็ท , แซ็กโซโฟน ทรงได้รับการฝึกตามแบบฉบับการศึกษาวิชาดนตรีอย่างแท้จริง ทรงสนพระทัยศึกษาประวัติเหล่านักดนตรีที่มีชื่อเสียง และทรงเปรียบเทียบฝีมือการเล่นดนตรีต่าง ๆ จากแผ่นเสียงที่บรรเลงโดยนักดนตรีเหล่านั้น แล้วจึงทรงบรรเลงสอดแทรกพร้อมกับแผ่นเสียงของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงตามสไตล์ที่โปรด เช่น สไตล์การเป่าโซพราโน แซ็กโซโฟน ของ ซิดนีย์ บิเชด, อัลโต แซ็กโซโฟน ของ จอร์นนี่ ฮอร์ด , เปียนโนและวงดนตรีของ ดุ๊ก เอลลิงตัน เป็นต้น ในครั้งหนึ่งนักข่าวชาวอเมริกันได้กราบบังคมทูลถามว่า พระองค์ทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สจริงหรือไม่ และโปรดดนตรีประเภทใดมากที่สุด มีพระราชดำรัสตอบว่า " ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่ใช่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวคนทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรี คือ สิ่งประณีตงดงามและทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาส และอารมณ์ที่ต่าง ๆ กันไป เมื่อพูดถึงการเล่นดนตรี ก็ต่างกันอีก ถ้าข้าพเจ้าเล่นเพลงคลาสสิค และมีใครทำเสียงดังอย่างงี้ ก็เป็นการรบกวน เพราะว่าดนตรีคลาสสิคต้องเล่นอย่างตั้งใจจริงจัง ข้าพเจ้าไม่ได้พักผ่อนเท่าไรนัก ต้องคอยระวังไม่ให้ผิดโน้ต และไม่ให้ใครมารบกวนข้าพเจ้า ถ้าหากว่าข้าพเจ้าต้องเล่นเพลงแจ๊ส ก็ดีกว่า เพราะว่าข้าพเจ้าเล่นทำนองได้ตามใจชอบ ตามที่รู้สึกในขณะนั้น ตามแต่อารมณ์และความนึกคิดของข้าพเจ้าจะพาไป ถ้าใครมาทำเสียงดังเวลานั้น ข้าพเจ้าก็ถือว่าเป็นเสียงประกอบ และถ้าข้าพเจ้าเล่นผิดโน้ต ก็เท่ากับว่า ข้าพเจ้าแต่งทำนองนั้นขึ้นเองในปัจจุบัน" จะเห็นได้ว่าสำหรับนักดนตรีบางคนนั้น คุณค่าของดนตรีมิได้อยู่ที่ความไพเราะระรื่นหูของจังหวะหรือความอ่อนหวานของท่วงทำนองเพียงอย่างเดียว แต่แท้ที่จริงแล้วคือความรู้สึกท้าทายที่เกิดจากเสียง *'บลูส์' ที่แปลกใหม่และจังหวะแจ๊สที่ขัดแย้งเร้าใจ
ดนตรีแจ๊สเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก "


แม้ในประเทศรัสเซียซึ่งเป็นประเทศคู่อริกับประเทศอเมริกาซึ่งเป็นต้นกำเนิดของดนตรีแจ๊สก็ยังมีคนชมชอบดนตรีชนิดนี้ แจ๊สสืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นยุคสมัยตั้งแต่ยุคนิวออลีนส์จนถึงปัจจุบันนี้ เป็นแจ๊สยุคใหม่หรือที่เรียกว่าฟิวชั่นแจ๊ส (Fusion jazz) เพราะฉะนั้นการเข้าใจดนตรีแจ๊สทั้งทางด้านประวัติ และองค์ประกอบต่างๆของดนตรีแจ๊สจะทำให้เราเข้าใจดนตรีชนิดนี้มากขึ้น.

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

มาร์ติน เทย์เลอร์ กีตาร์แจ๊ส

มาร์ติน เทย์เลอร์ นักกีตาร์ผู้มากความสามารถ ได้ก้าวเข้ามาสู่ความโดดเด่น ในช่วงปลาย 70 จากการร่วมงานกับสเตฟาน กราพเพลลี นักไวโอลินระดับตำนาน ปัจจุบันมาร์ติน เทย์เลอร์ ได้ตระเวณเปิดการแสดงสดชนิดที่กระชากหัวใจ ของผู้ชมในประเทศต่าง ๆ มาแล้วทั่วโลก มาร์ตินเริ่มหัดเล่นดนตรีเมื่ออายุ 4 ขวบ จากการที่คุณพ่อของเขา บัค เทย์เลอร์ นักดนตรีเบส ได้ให้กีตาร์ตัวเล็กๆ เป็นของขวัญแก่มาร์ติน เขาจึงหัดเล่นกีตาร์ด้วยตนเองนับตั้งแต่นั้น โดยฟังแผ่นเสียงที่ คุณพ่อของเขาเป็นผู้เล่น และ พยายามเล่นตาม เจ็ดปีต่อมา เมื่อมีอายุได้ 11 ปี มาร์ตินเล่นกีตาร์ร่วมกับ วงดนตรีท้องถิ่น และได้รับการยกย่องชื่นชมจากนักดนตรีมืออาชีพ ซึ่งตื่นตะลึง ที่ได้ยินฝีมือของมาร์ติน จนกระทั่งเรียกเด็กน้อยว่า พ่อมดแห่งกีตาร์ถึงแม้ว่าจะได้รับแรงบันดาลใจจาก แดงโก ไรน์ฮาร์ด
นักกีตาร์ยิบซี แต่ผู้ที่ผลักดันให้มาร์ติน เทเลอร์ มีสไตล์การเล่นของตนเอง และพัฒนาไปสู่ความเป็นนักกีตาร์โซโล คือนักเปียโน อาร์ต ทาทัม และบิล เอแวนส์
ปี ค.ศ. 1978 มาร์ตินมีอัลบั้มแรกของตนเอง ชื่อ Taylor Made ในปีต่อมา สเตฟาน กราพเพลลี ได้ขอให้มาร์ตินมาร่วมเล่นในการแสดง คอนเสิร์ตที่ประเทศฝรั่งเศสหลังจากคอนเสิรต์ที่ประทศฝรั่งเศสไม่นาน มาร์ตินได้ร่วมเล่นกับกราพเพลลีในทัวร์การแสดงแถบชายฝั่งทะเล ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงที่ คาร์เนกี้ ฮออล์ นิวยอรค์ และที่ ฮอลลีวู้ด โบลว์ การทัวร์นั้นก็คือการเริ่มต้นการทำงานร่วมกัน ของนักดนตรีทั้งสอง ในอีกสิบเอ็ดปีต่อมา เขาทั้งสองได้ร่วมกัน ทัวร์การแสดงในต่างประเทศอีกหลายครั้ง มีอัลบั้มออกตามมาอีก กว่า 20 อัลบั้ม รวมถึงการบันทึกเสียงร่วมกับเนลสัน ริดเดิล, มิเชล ลีแกรนด์, เยฮูดี เมนูฮิน, เพ็กกี ลี และร่วม ทำซาวด์แทรคภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง รวมถึงหนังของ หลุยมอลเล Milou en Mai และ Dirty Rotten Scoundrels
ที่นำแสดงโดย สตีฟ มาร์ติน และเซอร์ไมเคิล เคนพร้อมกับการทำงาน ร่วมกับกราพเพลลี มาร์ตินก็ได้ทำงานของตนเองในฐานะศิลปินเดี่ยว และได้ประสบความสำเร็จอย่างมากในสหรัฐฯ กับผลงานที่อัดเสียง ในลอส เองเจลิส อัลบั้มชื่อ Sarabanda
ปี ค.ศ. 1993 มาร์ติน เทย์เลอร์ ได้ออกอัลบั้มเดี่ยวกับบริษัทลินน์ เรคคอร์ต ชื่อ Artistry ซึ่งได้รับความนิยมขึ้นอันดับหนื่ง ใน HMV Charts นานถึง 6 สัปดาห์ ทำให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็น นักกีตาร์อคูสติค ยอดนิยมที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษ ปีต่อมา เขาได้ตั้งวงชื่อ Spirit of Django อัลบั้มแผ่นแรก รวมถึงเวอร์ชั่น Robert Palmer’s Johny and Mary ซึ่งใช้ในโฆษณาทีวี
ที่มีชื่อเสียงร่วมกับ Nicole-Papa สำหรับ Renalul Clio

ปี 1999 มาร์ติน เทย์เลอร์ เซ็นสัญญากกับบริษัทโซนี มิวสิค ได้ทำอัลบั้มสองชุด ที่ได้รับการวิจารณ์ อย่างสูง ได้แก่ Kiss And Tell และ Nitelife ซึ่งอัลบั้มทั้งสองนี้ได้แสดงให้เห็นถึง ความสามารถหลากหลายของมาร์ติน ทั้งในฐานะนักกีตาร์ และนักแด่งเพลง
นอกจากนี้ มาร์ติน ยังได้ร่วมงานกับนักดนตรีต่างแนวกันหลายคน เช่น เชท แอทกินส์, จอร์ช แฮริสัน อีริค แคลบตัน, คริส เรีย, บิล ไวแมน, ดิออน วอร์วิค, ลิซา มินเนลี, ซาซา ดิสเตล และ ไบรอัน เทอร์เฟล มาร์ตินเป็นศิลปินที่ได้รับความนิยมมากในประเทศญี่ปุ่น เขาได้ทำงานร่วมกับโนโบยา ซูกาวา นักแซกโซโฟน คลาสสิค แต่งเพลงให้กับละครทีวีที่ได้รับความนิยมสูงสุดของ NHK
เรื่อง Sakura ในแต่ละวันมีผู้ชมละครเรื่องนี้กว่า 26 ล้านคน

ปี ค.ศ. 1998 มาร์ตินได้จัดงาน The Kirkmichael International Guitar Festival ที่เมืองบ้านเกิด ของเขาใน Scotland ซึ่งได้กลายเป็นงานเกี่ยวกับกีตาร์ที่ใหญ่ที่สุด มีเกียรติภูมิสูงสุด
งานหนึ่งของโลก นอกจากนี้ มาร์ตินยังได้ทำหลักสูตรสำหรับโรงเรียน ซึ่งส่งเสริมการสอนกีตาร์ในโรงเรียนประถม มาร์ตินได้ใช้เงินที่หามาได้ จากงานของเขาเพื่อเป็นทุนในการซื้อกีตาร์และค่าลงทะเบียน สำหรับเด็กนักเรียนหลายร้อยคนทั่วทั้งตะวันตกเฉียงใต้ของสก๊อตแลนด์

มาร์ตินได้รับรางวัลและเกียรติยศชื่อเสียงอย่างมากมายปีแล้วปีเล่า รวมถึง The Freedom of the City of London, the gold Badge of Merit จาก The British Academy of Composers and songwriters และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย Paisley ในสก๊อตแลนด์

ปี ค.ศ. 2002 มาร์ตินได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Member of the Order of the British Empire (MBE) ในฐานะที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศอังกฤษทางด้านดนตรี
เนื่องในวโรกาสวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธ และได้รับรางวัลเป็นการส่วนพระองค์จากสมเด็จ พระราชินี ฯ ที่พระราชวังบัคกิงแฮม

อัตโนประวัติสำหรับ Sanctuary ตีพิมพ์ใน Kiss and Tell เผยแพร่ไปทั่วโลก คำนิยาม นักกีตาร์อคูสติคแห่งยุคสมัย - นิตยสาร Acoustic Guitar นักกีตาร์ผู้ยิ่งใหญ่ - สเตฟาน กราพเพลลี
นักกีตาร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของยุโรป - Jazz Time New York เป็นแรงบันดาลใจและน่าตื่นใจอย่างที่สุด - แพท แมธธินี   เทอร์รี เกรกอรี - เบส
เทอร์รี สนุกกับงานดนตรีหลายรูปแบบ นับตั้งแต่เป็นนักดนตรีประจำวง และเป็นนักดนตรีที่เล่นเครื่องดนตรีได้หลายอย่าง (Instrumentalist) และเป็นนักวิชาการทางด้านดนตรี อีกทั้งมีผลงานร่วมกับ Helen Shapiro, Harold Melvin & the Blue Notes, Jimmy Raffin, Eartha Kitt, Iris Williams, The Drifters, Five Stars, The Supreme & Billy Paul นอกจากนี้ ยังได้ร่วมงานกับนักกีตาร์ร็อค Steve Hackett แห่งวง Geneis ได้บันทึกเสียงและตระเวณแสดงทัวร์ไปทั่วประเทศอังกฤษ ยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา และ อเมริกาใต้

เทอร์รี ได้ร่วมบันทึกเสียงกับมาร์ติน เทย์เลอร์ ในอัลบั้มชุด Spirit of Django ถือได้ว่าเป็นผลงานยอดเยี่ยมในชีวิต เพราะอัลบั้มชุดนี้ ทำให้คณะนักดนตรีกลุ่มนี้ได้รับการโหวตให้เป็นนักดนตรีแจ๊สยอดเยี่ยม แห่งปี 1999 จาก BT British Jazz Awards ปัจจุบัน เทอร์รี เป็นหนึ่งในวงดนตรี Trio ของมาร์ติน เทย์เลอร์ และแสดงในรายการ The Hit London West End Show, Mamma Mia! ตลอดจน รายการอื่นๆ ของ West End Production รวมถึง Blood Brothers, Jesus Christ Superstar, Bugsy Marlone และ Sweet Charity

ในฐานะที่เป็นนักวิชาการที่มีความกระตือรือล้น เทอร์รี่เป็นครูสอนเบส ใน London College of Music, Thames Valley University และ The Colchester Institute นอกจากนี้เขายังเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง ของสถาบัน Basstech ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ Power House Music School นอกจาก เทอร์รี่ จะเป็นครูสอนเล่นดนตรีแล้ว เขายังได้ร่างหลักสูตร สำหรับหลายวิชาที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เช่น วัฒนธรรมดนตรีป๊อปของอังกฤษ

งานเขียนที่เป็นเครดิตของเทอร์รี่ รวมถึง แทรคทั้งสี่ สำหรับ ซีดีที่ออกวางตลาดล่าสุดได้แก่ Noise from the black Stuff (four Corners)

เจมส์ เทย์เลอร์ - กลอง เจมส์ เทย์เลอร์ เป็นหนึ่งในมือกลองและเพอร์คัสชันที่ ประสบความสำเร็จที่สุดในประเทศอังกฤษ งานดนตรีแจ๊สของเขาได้แก่งานบันทึกเสียงร่วมกับนักร้องเพลงแจ๊ส
ระดับรางวัล แคลร์ มาร์ตินและนักไวโอลิน ระดับตำนาน อย่าง สเตฟาน กราพเพลลี

ปี 1995 เขาได้ร่วมงานกับคุณพ่อของเขา ซึ่งก็คือ มาร์ติน เทย์เลอร์ ในวง Martin Taylor’s Group สำหรับอัลบั้ม Spirit of Django ซึ่งต่อมาวงดนตรีก็ได้รับรางวัล Jazz Group of the Year
จาก British Jazz Awards ในปี 1996 ในขณะเดียวกันที่อัลบั้ม ได้ขึ้นสู่อันดับ 1 ของ US Jazz Charts
นอกเหนือจากงานดนตรีแจ๊ส เจมส์ เทย์เลอร์ ได้ร่วมงานกับ The Edinburgh University Chamber Orchestra, The Scottish Fiddle Orchestra และ John Lodge นักกีตาร์เบสชื่อดังแห่งวง The Moody Blues ซึ่งได้ขายอัลบั้ม ได้มากกว่า 55 ล้านแผ่นทั่วโลก เจมส์เคยไปเปิดการแสดงทัวร์ ที่สแกนดิเนเวีย, อิตาลี, ไอร์แลนด์, สเปน, ปอร์ตุเกส และศรีลังกา เช่นเดียวกับการเปิดการแสดงในงานดนตรีแจ๊ส ในเอดินเบอระ บรีคอน, ลอนดอน และกลาสโกลว์

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

ประวัติแผนการเรียนศิลปดนตรี สาธิต มศว

ประวัติความเป็นมาแผนการเรียนดุริยางคศิลป์ ( MUSIC PROGRAM )
แผนการเรียนดุริยางคศิลป์เกิดจากโครงการความร่วมมือระหว่างคณะศิลปกรรมศาสตร์และ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม )เริ่มแรกเปิดเป็นหลักสูตรพหุศิลปศึกษา (ART EDCATION )
            คณะศิลปกรรมศาสตร์และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร(ฝ่ายมัธยม )  ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรพหุศิลปศึกษา (ARTS  EDCATION )  ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
            หลักสูตรพหุศิลปศึกษาเป็นวิชาสามัญบังคับและเลือก  สำหรับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย   นักเรียนที่ลงทะเบียนเรียนอาจมีวัตถุประสงค์เพื่อสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทางด้านศิลปกรรมศาสตร์หรือ  เพื่อเป็นพื้นฐานความรู้ความสามารถและประสบการณ์ชีวิต  หลักสูตรพหุศิลปศึกษาไม่ใช่หลักสูตรกวดวิชา เรียนลัด หรือเพื่อเตรียมตัวสำหรับการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา  แต่เป็นวิชาสามัญพื้นฐานเพื่อการพัฒนาสภาพการรู้คิด  และศักยภาพทางด้านศิลปกรรมศาสตร์  เพื่อเสริมให้หลักสูตรในระดับมัธยมตอนปลายมีความสมบูรณ์ทางศิลปกรรมศาสตร์ยิ่งขึ้น
            คณาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์และโรงเรียนสาธิต  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒทุกแห่ง ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร  คำอธิบายวิชาสื่อการเรียนรู้  และร่วมกันสอน หลักสูตรพหุศิลปะแยกเป็น 5 กลุ่มวิชาดังนี้
1 กลุ่มวิชาศิลปะการแสดง Performing Art
2. กลุ่มวิชานาฏศิลป์ Dance
3.กลุ่มวิชาดนตรี Music
4. กลุ่มวิชาออกแบบ Design
5.กลุ่มวิชาศิลปะจินตทัศน์ Imagine Art
            นักเรียนสามารถเลือกเรียนในกลุ่มวิชาใดกลุ่มวิชาหนึ่งตามความถนัด แต่ละกลุ่มวิชามีทั้งวิชาบังคับ และวิชาเลือกทุกภาคเรียน ตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6  ปัจจุบัน  มีนักเรียนจบการศึกษาจากแผนการเรียนไปแล้วจำนวน 4 รุ่น  และได้เปิดแผนการเรียนนาฏยศาสตร์ศิลป  เพิ่มอีก 1 วิชาเอก  โดยเปิดรับเพิ่มจากบุคคลภายนอกทั่วไปเพื่อสอบแข่งขันเข้ามาศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในปีการศึกษาที่ผ่านมา  ในแนวคิดที่ว่านักเรียนสารามารถเลือกเรียนตามความถนัดเฉพาะตน  เพื่อพัฒนาความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี และนาฏศิลป   

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

วงออเคสตร้าในยุคคลาสสิค

วงออร์เคสตร้าในยุคคลาสสิค

ได้กล่าวถึงเรื่องราวของลักษณะทางดนตรีหรือ Style ของดนตรีในยุคคลาสสิค คือระหว่างปี ค.ศ. 1750-1820 ไปแล้ว ต่อไปนี้จะกล่าวถึงลักษณะของวงดนตรีที่เรียกว่าวงออร์เคสตร้าในยุคนี้บ้าง พอเป็นที่เข้าใจกันได้ วงออร์เคสตร้าในสมัยบาโร้คนั้นมีรูปแบบไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไปตามใจของคีตกวีว่าบทเพลงไหนจะใช้เครื่องดนตรีอะไรบ้าง แต่พอตกมาถึงยุคคลาสสิค จึงกลายเป็นวงดนตรีที่มีการจัดระบบระเบียบชัดเจนขึ้น คือวงออร์เคสตร้ายุคนี้จะประกอบด้วยเครื่องดนตรี 4 ประเภท ได้แก่ กลุ่มเครื่องสาย กลุ่มพวกปี่และขลุ่ย กลุ่มพวกแตรต่างๆ และกลุ่มเครื่องเคาะเครื่องตี ซึ่งนิยมกำหนดเครื่องดนตรีไว้โดยประมาณดังนี้
     เครื่องสาย (String)         ได้แก่ ไวโอลิน 1 และ 2 วิโอล่า เชลโล และดับเบิ้ลเบสส์
     ปี่และขลุ่ย (Wood wind)        ได้แก่ ฟลุท 2 โอโม 2 คลาวิเนต 2 และบาสซูน 2
     แตร (Brass)                 ได้แก่ เฟรนซ์ฮอร์น 2 และทรัมเปต 2 (ทรอมโบนใช้ใน opera และเพลงศาสนา)
     เครื่องตี (Percussion)    ใช้กลอง Timpani เป็นหลัก
มีข้อสังเกตว่า กลุ่มเครื่องสายนั้นใช้เป็นหลักของวง พวกปี่-ขลุ่ยและแตรใช้เป็นคู่ๆ คือ อย่างละ 2 คัน คลาริเนตนั้นเพิ่มเข้ามาจากที่ไม่เคยใช้มาก่อน ส่วนทรอมโบนจะใช้เฉพาะในอุปรากรและบทเพลงทางศาสนาดังที่ Haydn และ Mozart ใช้ในคีตนิพนธ์ของท่าน อนึ่งจำนวนนักดนตรีในวงก็เพิ่มขึ้นจากยุคบาโร้ค แต่อาจจะปรับเปลี่ยนได้ตามกาละเทศะ เช่น Haydn ตามปกติจะใช้วงขนาด 25 คน แต่พอไปบรรเลงที่ London ในปี 1795 จะเพิ่มจำนวน เป็น 60 ตน
คีตกวีในยุคคลาสสิคนิยมแต่งเพลงแสดงให้เห็นความโดดเด่นของสีสันหรือสุ้มเสียงที่มีลักษณะเฉพาะของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดจึงไม่มีการใช้เครื่องดนตรี 2 ชิ้น เล่นทำนองเดียวกันทั้งท่อนอย่างที่เป็นในยุคบาโร้ค แต่มักจะผลัดกันแสดงความโดดเด่นโดยกำหนดให้เครื่องดนตรีบรรเลงในแนวทำนองที่ต่างกัน และเปลี่ยนบ่อยๆ ทำนองหลักอาจจะเริ่มด้วยวงออร์เคสตร้า จากนั้นก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเครื่องสายและตามด้วยปี่-ขลุ่ย เป็นต้น
เครื่องดนตรีแต่ละกลุ่มจะมีบทบาทหน้าที่ของตนโดยเฉพาะกลุ่มเครื่องสาย ได้แก่ ไวโอลิน วิโอล่า เชลโล และเบส ทำหน้าที่หลักโดยเป็นกระดูกสันหลังของวงออร์เคสตร้า โดยใช้ไวโอลิน 1 บรรเลงทำนองสำคัญ เครื่องสายเสียงต่ำบรรเลงแนวประสานเสียเป็นส่วนมาก ปี่-ขลุ่ย จะบรรเลงในแนวทำนองที่ตัดกันกับกลุ่มเครื่องสายและบรรเลงเดี่ยวบางทำนองเป็นครั้งคราว ส่วนออร์แกนและทรัมเป็ตจะสร้างความรู้สึกในพละกำลัง ในช่วงที่ต้องการเสียงดังหนักแน่นเพื่อจะเพิ่มเติมแนวประสาน แต่ไม่ค่อยใช้บรรเลงทำนองหลัก และกลองทิมปานี่จะตีเฉพาะในช่วงที่เน้นจังหวะจะโคน และแสดงถึงจุดสำคัญของบทเพลง เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้ววงออร์เคสตร้าสมัยคลาสสิคแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่น ความแปรผันตามความต้องการในการแสดงอารมณ์ สีสัน และความมีลักษณะพิเศษของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด ซึ่งคีตกวีสามารถจะเลือกใช้ได้ตามใจ เพื่อให้บทเพลงของตนมีสีสัน ได้อารมณ์และความรู้สึกอย่างที่ผู้แต่งต้องการ

ดนตรียุคคลาสสิค

ดนตรีในยุคคลาสสิค Classic (1725-1820)
ถ้าเราย้อนไปพิจารณาสังคมในยุคบาโร้คก็จะเห็นได้ว่าความเป็นอัจฉริยะของนักวิทยาศาสตร์อย่างกาลิเลโอและเซอร์ ไอแซค นิวตัน ได้เปลี่ยนแนวคิดและมุมมองของประชาชนในยุคนั้นไปอย่างสิ้นเชิง เพราะได้พากันหันมามองโลกในแง่ของเหตุผลและความจริงมากขึ้น จนกลายเป็นกลุ่มพลังเงียบที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในยุคถัดมา ความเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มต้นในราวกลางศตวรรษที่ 18 เมื่อความเชื่อในกลุ่มอำนาจการปกครองและศรัทธาในศาสนาเสื่อมถอยลงเพราะมีเหตุมาจากการเสนอแนวคิดเชิงปรัชญาของนักปรัชญาคนสำคัญๆ เช่น Voltaire (1694-1778) และ Deris Diderot (1713-1784) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์อย่างสำคัญจนมีการขนานนามยุคนี้ว่า ยุคแห่งการรู้แจ้ง (Enlightenment age)
ประชาชนในยุคนี้มีศรัทธาในความก้าวหน้าและความมีเหตุผลมากกว่าการปฏิบัติตามระเบียบประเพณีที่เคยชินมาแต่ก่อน เริ่มมีการต่อต้านอำนาจของบุคคลชั้นสูงและบรรดาเจ้านครต่างๆ ซึ่งเริ่มจะไม่แน่ใจในพลังอำนาจที่ตนเคยมีอยู่ แนวคิดของกลุ่มแห่งความรู้แจ้งเห็นจริงแสดงให้เห็นหลายประการ เช่น จักรพรรดิ Joseph II แห่ง Austria ที่ทรงสละราชบัลลังก์ในระหว่างปี 1780-1790 และยกเลิกระบบเจ้าขุนมูลนาย ปิดวัดและสำนักชีตลอดจนยกเลิกตำแหน่งขุนนางและบรรดาผู้ลากมากดีต่างๆจนหมดสิ้น โดยเฉพาะผุ้ที่ทำการต่างๆ อย่างผิดกฎหมายดอยใช้อำนาจในทางมิชอบได้มีการเปลี่ยนแปลงด้านพิธีกรรมทางศาสนาและประกาศิตต่างๆ เช่น การฝังศพแบบง่ายๆ ภายหลังกฎระเบียบนี้มีการปรับปรุงใหม่ทำให้เกิดมีพิธีฝังศพอย่างหรูหราเป็นระเบียบปฏิบัติมาจนปัจจุบันนี้ โดยเริ่มแรกเกิดขึ้นที่กรุงเวียนนาก่อนในปี 17991 แต่ถึงกระนั้นศพของ Mozart มหาคีตกวีแห่งยุค Classic ก็ยังถูกฝังอย่างไร้ศักดิ์ศรีและไร้ร่องรอยอยู่ดี
ในปี 1791 เกิดมีการต่อสู้ในสังคมและระหว่างประเทศอย่างขนานใหญ่ ในช่วง 70 ปี คือระหว่างปี 1750-1820 โดยมีสงครามอยู่ 7 ปี ได้แก่ การปฏิวัติในฝรั่งเศส สงครามกลางเมืองในอเมริกาและสงครามนโปเลียนทำให้ศูนย์กลางแห่งอำนาจเปลี่ยนจากบุคคลชั้นสูงและศาสนาจักรลงมาตกอยู่ในมือชนชั้นกลาง โดยนัยยะนี้เองที่ทำให้นโปเลียน โบนาปาร์ค กลายมาเป็นจักรพรรดิ์แห่งประเทศฝรั่งเศสไม่ได้ด้วยความฉลาดสามารถด้วยตัวของเขาเอง แต่เป็นเพราะการเกิดมาในชาติตระกูลผู้ครองนครและวิธีการสืบสันตตวงศ์
ในยุคนี้มีคำขวัญต่างๆ เกิดขึ้นมากมายเช่น คำว่า อิสรภาพ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ (Liberty, quality และ Fraternity) คำขวัญเหล่านี้ต้ดปากและติดใจผู้คนอยู่เสมอ ความคิด ความเชื่อต่างๆ มีการตรวจสอบและนำมาคิดใหม่มากมาย รวมทั้งในเรื่องที่ว่า พระเจ้ามีอยู่จริงหรือด้วย
ความเปลี่ยนแปลงทางความคิดทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางรูปแบบของศิลปะ จากรูปแบบที่แข็งแกร่ง หนักแน่น มั่นคงตามแบบฉบับของสถาปัตยกรรมและปฏิมากรรมแบบบาโร้คมาเป็นความอ่อนโยนและละมุนละมัยแบบ Rococo ที่ใช้สีอ่อน เส้นคดโค้ง และการประดับตกแต่งรายละเอียดอย่างสวยงาม โดยมีศิลปินคนสำคัญในสาขาต่างๆเกิดขึ้นมากมายตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19
ในตอนปลายศตวรรษก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอีกโดยที่มีความเห็นกันว่าศิลปแบบ Rococo นั้นถึงแม้จะสวยงามอ่อนช้อยแต่ก็ย่อหย่อนในทางคุณธรรม จึงกลายมาเป็นศิลปะแบบ Neoclassic ที่เป็นความมีสติปัญญา ความสงบ เรียบง่าย และสมถะ แบบกรีกและโรมันโบราณ โดยแสดงออกถึงเส้นอันหนักแน่น โครงสร้างที่ชัดเจนและเนื้อหาที่แสดงถึงคุณธรรมและจริยธรรมมากยิ่งขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของดนตรีจากแบบบาโร้คมาแบบคลาสสิค หาได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อสิ้นสุดยุคบาโร้ค ซึ่งกำหนดโดยความตายของ J.S. Bach ก็หาไม่ แต่ที่จริงแล้วดนตรีได้เริ่มมีเค้าการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่สมัยที่ทั้งบาคและแฮนเดลยังมีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำไป โดยมีลักษณะดนตรีที่เรียกว่า  Preclassic ในระหว่างปี ค.ศ. 1730-1770 ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้คู่ขนานไปกับแนวคิดและความเปลี่ยนแปลงทางวรรณกรรมและเป็นไปในระยะเดียวกันกับที่ทั้งบาคและแฮนเดลกำลังสร้างสรรค์งานชิ้นเอกของตนนั่นเอง
บุคคลสำคัญที่บุกเบิกงานดนตรีในลักษณะใหม่ๆ แบบนี้ ก็ไม่ใช่อื่นไกลเลย ที่แท้ก็คือบุคคลในตระกูล Bach นั่นเอง ได้แก่ Carl Phillip Euranuel Bach (1714-1788) และ Johann Christian Bach (1735-1782)  ในราวกลางศตวรรษที่ 18 คีตกวีให้ความสำคัญในการสร้างดนตรีแบบเรียบง่ายและชัดเจน โดยยกเลิกลักษณะที่มีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากตามแบบบาโร้คตอนปลายโดยสิ้นเชิง รูปแบบของดนตรีหลายทำนองแบบ Polyphony ถูกแทนที่ด้วยท่วงทำนองเบาๆ สบาย และการประสานเสียงแบบง่ายๆ C.E. Bach กล่าวถึงดนตรีแบบบาโร้คว่า แห้งแล้งและแสดงออกถึงผลงานของความเป็นผู้คงแก่เรียนมากเกินไป คีตกวีในยุคนี้จึงสร้างความรื่นเริงบันเทิงใจให้แก่ผู้ฟังด้วยบทเพลงที่แสดงถึง ความขัดแย้งทางอารมณ์และเนื้อหาของบทเพลง บทเพลงที่ฟังสบายๆและให้อารมณ์นี้รู้จักในลักษณะที่เรียกว่า “Gallant Style” (หนุ่มหล่อนักรัก)
ความจริงแล้วคำว่า “Classic” ค่อนข้างสร้างความสับสนให้แก่คนทั่วๆไป และมีหลายความหมาย เช่น อาจจะหมายถึงศิลปกรรมแบบกรีก-โรมันโบราณก็ได้ หมายถึงศิลปกรรมของชาติใดๆ ที่มีการวิวัฒนาการไปจนถึงจุดสูงสุดที่ถือเป็นแบบฉบับก็ได้ และในทางดนตรีอาจจะหมายถึงบทเพลงแบบฉบับที่ใช้ Jass หรือ Rock ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามในทางประวัติดนตรีตะวันตกเป็นการแย้มยิ้มคำว่า Classic นี้มาจากผลงานทางศิลปะยุคปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งนิยมทำเลียนแบบกรีก-โรมันโบราณ แม้ว่าในทางดนตรีจะแสดงออกถึงความเป็น ของเก่าน้อยเต็มทนเลยทีเดียวก็ตาม ดังนั้นศัพท์คำว่า “classic” ก็ดีหรือ “Neo classical” ก็ดี จึงมีความหมายแต่เพียงบทเพลงที่แสดงถึงความเรียบง่ายได้ดุลยภาพและความชัดเจนของโครงสร้างเท่านั้นเอง คุณลักษณะแบบนี้จะเห็นได้ชัดเจนในบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1770-1820 ซึ่งมีคีตกวีคนสำคัญๆ หลายคนในยุคนี้แต่งเพลงที่มีลักษณะดังกล่าวโดยเฉพาอย่างยิ่งก็คือ Joseph Haydn (1732-1809) Wolfgang Amadeus Mozard (1756-1791) และท้ายที่สุดคือ คีตกวีร่วมสมัยระหว่าง Classic กับ Romantic ท่าน Ludwig Van Beethoven (1770-1827) ซึ่งเราได้ศึกษาและฟังบทเพลงของท่านเหล่านี้ต่อไปภายหลัง