วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ชีวิตที่เลือกเอง (อ.วิศรุต)


             ลานท้องทุ่งสู่ลานวัด  ทุ่งนาเมืองพิษณุโลกเป็นที่วิ่งเล่นสำหรับเด็กทั่วๆไป  เด็กชายวิศรุต  ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่วิ่งเล่นตามท้องทุ่งนากว้างๆ  เลี้ยงควาย  ยิงนก  ตบปลา  ตามประสาลูกชาวนาและวิถีท้องถิ่น  และแล้ววันนึงหลวงพ่อวัดยางเอนได้รับอุปการะครอบครัวครูดนตรีไทยมาอาศัยอยู่ที่วัดและได้ทำการซื้อเครื่องดนตรีไทยพร้อมทั้งป่าวประกาศให้ลูกๆหลานๆ ชาวบ้าน ชาวนาในชุมชนมาฝึกหัดดนตรีไทยกันที่ลานวัดยางเอน  ในช่วงแรกๆได้มีเด็กๆมาเล่นด้วยกันมากเป็นจำนวนได้สามสิบคน  เครื่องมือชิ้นแรกเด็กชายวิศรุตเรียนคือฆ้องวงใหญ่เพลงแรกที่เรียนคือเพลงสาธุการ                
           
              ลานวัดเริ่มสนุกเลยมาผุดชมรมดนตรี    โรงเรียนท่าทองพิทยาคม  โรงเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นของเด็กชายวิศรุต  ความรักความสนุกในดนตรีทำให้ชีวิตในโรงเรียนก็จะมาอยู่ที่ชมรมดนตรีไทย  ต่อเพลง บรรเลงเพลง  แสดงเพลงตามวิถีนักเรียนชมรมดนตรี
            ดนตรี  กีฬา ต้องกล้าเลือก  ที่จริงแล้วอีกมุมหนึ่งของเด็กชายวิศรุตนั้นก็มีความชอบความใฝ่ฝันทางกีฬาไม่แพ้ทางดนตรีเลยทีเดียว  สมัยเด็กเป็นนักวิ่งให้โรงเรียน  ชอบเล่นฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ  แต่ในที่สุดมาเป็นนักกีฬาปิงปองตัวโรงเรียน   เป็นนักชกมวยงานวัดล่าเงินรางวัลแทบทุกๆงานวัดที่มีลานกีฬามีการแข่งขันมวยก็จะมีเด็กชายวิศรุตขึ้นชกมวย  ความใฝ่ฝันทางกีฬาของเด็กชายวิศรุตก็น่าจะไปไกลถึงนักกีฬาทีมชาติประมาณอย่างนั้น  ทำให้ชีวิตต้องเลือกในมัธยมศึกษาตอนปลายว่าจะเรียนโรงเรียนกีฬาหรือโรงเรียนดนตรีดี เก่งและเอาดีได้ทั้งสองอย่างแต่ด้วยความคิดในใจที่ว่า  การเอาโลก...  มาเป็นตัวตั้งเพื่อที่จะหาบทสรุปว่าจะเรียนอะไร  ก็มีความคิดที่ว่าถึงจะเก่งกีฬาอย่างไรก็คงจะทำให้เก่งที่สุดในโลกได้ยาก  แต่ถ้าเรียนเรียนดนตรีไทยก็คงจะสามารถที่จะเป็นที่หนึ่งของโลกได้อย่างแน่นอน  เพราะคงไม่มีฝรั่งคนไหนที่จะเก่งดนตรีไทยมากกว่าคนไทยแน่ๆ  จึงทำให้ในที่สุดเด็กชายวิศรุตสอบคัดเลือกเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย
              ถนนดนตรี  เส้นทางทีเลือกแล้ว  แม้จะต้องเดินทางข้ามจังหวัดมาเรียนที่สุโขทัยนายวิศรุตก็ไม่ย่อท้อเพราะเลือกและมุ่งมั่นที่จะเอาดีทางสายดนตรี  ในที่สุดนายวิศรุตก็ได้มาเข้าเรียนระดับชั้นกลางปีที่ ๑ ที่วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย  โดยยังเรียนวิชาเอกปี่พาทย์ในเครื่องดนตรีชิ้นเอกที่เลือกเรียนก็คือ ระนาดเอก  โดยในวิถีของนักเรียนทีวิทยาลัยนาฏศิลป์จะวัดความเท่ห์  ความดัง  ความเก่งหรือความสามารถกันที่งานหลวง การได้ออกงานหลวงจึงเป็นความฝันของเด็กๆในวิทยาลัยฯ  แต่ที่ด้วยในรุ่นใกล้เคียงกับนายวิศรุตมีนักระนาดรุ่นพี่ที่ชื่อพี่เบิ่ง  นายทวีศักดิ์  อัครวงศ์  ที่ตีระนาดเอกได้เก่งมากจนเป็นที่ยอมรับและ  ด้วยความมุ่งมั่นของนายวิศรุตที่จะเอาดีทางดนตรีให้ได้  จึงหักเหเริ่มมาเรียนปี่  ครูปี่คนแรกคืออาจารย์อวยชัย  สิทธิโชค  จนทำให้ในที่สุดนายวิศรุตก็ได้มาเป็นมือปี่และ ได้เล่นประจำวงดนตรีไทยในงานต่างๆที่เรียกว่างานหลวงนั่นแหละ... 
             พักการเรียน  เล่นดนตรีเป็นอาชีพ   หลังจากจบการศึกษาชั้นกลางปีที่ ๓ วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย  นายวิศรุตก็ได้เดินทางไปภูเก็ตเป็นนักดนตรีอาชีพให้บริษัทเลิศลักษณ์ไทยโชว์ เป็นคณะการแสดงที่รับงานโชว์ตามโรงแรมที่ภูเก็ต ณ ที่นี่นายวิศรุตถือได้ว่าได้นำวิชาที่เรียนมาออกมาใช้ทุกอย่าง  เล่นเครื่องดนตรีทุกชิ้น  บางครั้งต้องเป็นทั้งผู้รำ  ระบำ  โขน  ในชุดต่างๆก็ถือได้ว่าได้เรียนรู้และเดินทางสู่ถนนดนตรีสายอาชีพจริงๆ

             มุ่งสู่อนาคตที่ดีกว่า  หลังจากนายวิศรุตได้ทำงานอาชีพจริงๆได้ประมาณ ๒ ปีกว่าก็คิดถึงอนาคตที่ดีกว่า จึงกับมาเข้าสู่ระบบการเรียนอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกดุริยางคศาสตร์ไทย  และการมุ่งสู่อนาคตที่ดีกว่าในการกับมาเรียนครั้งนี้ทำให้นายวิศรุตเริ่มที่จะมีเส้นทางสู่ความสำเร็จโดยการคว้า ๒ เหรียญทองเยาวชนดนตรี  จากการประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทยครั้งที่ ๗  เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗  วิถีทางของการเป็นนักดนตรี  พัฒนาการทางด้านดนตรี  ความอดทนต่อการฝึกซ้อม ความผูกพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์  ความท้อแท้ผิดหวังจากการประกวดก่อเกิดแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดความรักในดนตรีจนสามารถได้รับรางวัลชนะเลิศ ๒ เหรียญทอง  นับว่าเป็นความสามรถพิเศษที่ไม่ธรรมดาที่ช่วยเจียระไนเหลี่ยมเพชรให้เปล่งปลั่งประกายแวววาวเจิดจำรัสในแวดวงดนตรี  จนเรียกได้ว่านายวิศรุต  สุวรรณศรี  เป็นเพชรในตรมของชาวดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเลยทีเดียว
            เส้นทางที่เลือกอย่างดีที่สุด  ปัจจุบันอาจารย์วิศรุต  ได้เลือกที่จะเป็นอาจารย์ประจำที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ( ฝ่ายมัธยม )  ได้ร่วมพัฒนาการเรียนการสอน  ชมรมดนตรีไทยทนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  ปลูกต้นดนตรีไทยให้แก่ชาวเทาแดงเพื่อแสวงหาเพชรในตรมเม็ดต่อๆไปที่จะเกิดขึ้นอีกในแดนดินถิ่นเรานี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น