๑
นายยงยุทธ เอี่ยมสอาด
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม ปริศนาธรรมจากพระพุทธทาสภิกขุมนุษย์ทั้งหลายไม่เลือกโคตรศักราชชาติภาษามักจะมีความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับลางสังหรณ์ รวมทั้งความฝัน ถ้าลางสังหรณ์เกิดกับไพร่บ้านพลเมืองระดับกระจิบกระจอกสิ่งที่จะเกิดตามมาก็เป็นเรื่องเฉพาะตนไม่เกี่ยวกับสังคมส่วนรวม แต่ถ้าลางสังหรณ์เกิดกับผู้มีบุญวาสนากำชะตาบ้านเมืองไว้ ท่านว่าผลของลางสังหรณ์นั้นจะมีผลต่อบ้านเมืองส่วนรวม ลางสังหรณ์บางอย่างมีผู้คนเห็นกันทั่วบ้านทั่วเมืองทั้งไพร่ผู้ดี ท่านก็ว่าลางเช่นนั้นจะมีผลกระทบถึงชนทั่วหน้า อย่างคราวที่โรคห่าระบาดครั้งรัชกาลที่ ๒ ก่อนหน้าห่าจะลงท้องฟ้าเกิดอาเพศ หรือคราวเกิดดาวหางพาดกลางท้องฟ้าเมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต
ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตกเคยมี “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเชื่อว่าเป็นคำพยากรณ์ของพระเจ้าเสือ พระเจ้าแผ่นดินสยามสมัยอยุธยาตอนปลาย หลักฐานประเด็นนี้มาจากคำให้การชาวกรุงเก่าที่เมื่อกรุงแตก พม่ากวาดชาวกรุงศรีฯ ไปเป็นเชลยนับแสนคน ครั้นถึงเมืองพม่าแล้วก็สอบสวนเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงศรีฯ บันทึกไว้ ชาวเรารู้จักเอกสารนี้ในชื่อ คำให้การชาวกรุงเก่า ชาวกรุงศรีครั้งกระโน้นจดจำเพลงยาวพยากรณ์ไว้ได้หลายคนจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๑ มีผู้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ตอนท้ายระบุว่า พระนารายณ์เป็นเจ้านพบุรีทำนายกรุงแต่เท่านี้เป็นตำนานผู้แต่งอีกประเด็นหนึ่ง ส่วนจะเชื่อหลักฐานฝ่ายไทยหรือพม่าก็สุดแล้วแต่ กระผมไม่ขอวินิจฉัย
เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาแต่งเป็น “กลอนเพลงยาว” คือเริ่มด้วยวรรครับแล้วจบด้วย “เอย” ความยาว ๕๗ คำกลอน เนื้อหากล่าวว่าคำพยากรณ์มีมาแต่ก่อน และว่ากรุงศรีอยุธยานี้เคยบริบูรณ์พูนสุข กระทั่งศักราชได้ “จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ” ก็แลมูลที่จะเกิดเหตุอัศจรรย์นั้นเพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่อยู่ในทศพิธราชธรรมทำให้บ้านเมืองเกิดเภทภัยต่างๆ
๑
อาจารย์ประจำกลุ่มสาระดนตรี – นาฎศิลป โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ( ฝ่ายมัธยม )
ลองอ่านจากเพลงยาวจะชัดเจนกว่าที่กระผมสาธยาย
๒
คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย จะเกิดอันตรายเป็นแม่นมั่น
ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศมิตราชธรรม์ จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ
คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพศ อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศานต์
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาฬ เกิดนิมิตพิสดารทุกบ้านเมือง
พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร
พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี พระกาลกุลีจะเข้ามาเป็นไส้
พระธรณีจะตีอกไห้ อกพระกาลจะไหม้อยู่เกรียมกรม
ในลักษณ์ทำนายไว้บ่ห่อนผิด เมื่อวินิจพิศดูก็เห็นสม
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด
มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
ทุกต้นไม้ใบหญ้าสารพัด เกิดวิบัตินานาทั่วสากล
เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปรุษจะแพ้แก่ทรชน มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูภัก จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า เพราะจัณฑาลมันเข้ามาเสพสม
ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์ เพราะสมัครสมาคมด้วยมารยา
ฯลฯ
พืชทั้งแผ่นดินจะผ่อนไป ผลหมากรากไม้จะถอยรส
ทั้งแพทย์พรรณว่านยาก็อาเพศ เคยเป็นคุณวิเศษก็เสื่อมหมด
จวงจันทน์พรรณไม้อันหอมรส จะถอยถดไปตามประเพณี
ทั้งข้าวจะยากหมากจะแพง สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่
จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน
กรุงประเทศราชธานี จะเกิดการกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล จะสาละวนทั่วโลกหญิงชาย
๒
กลอนเพลงยาวกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวิจารณ์เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาว่าผู้แต่งเพลงยาวสำนวนนี้อ้างคำพยากรณ์ที่มีมาแต่เดิม มิได้เป็นผู้พยากรณ์เอง และคำพยากรณ์เหล่านี้มีอยู่ในมหาสุปินชาดก ความโดยย่อในชาดกมีดังนี้
คืนวันหนึ่งพระเจ้าโกศลราชแห่งกรุงสาวัตถีทรงพระสุบินประหลาด ๑๖ ประการ หัวข้อโดยย่อในนิบาตชาดกได้แก่ “โคอุสุภราชที่ ๑ ต้นพฤกษชาติที่ ๒ นางโคที่ ๓ โคสามัญที่ ๔ ม้าพาชีที่ ๕ ถาดทองคำที่ ๖ สุนัขจิ้งจอกที่ ๗ กละออมน้ำที่ ๘ สระโบกขรณีที่ ๙ ข้าวสารหุงไม่สุกที่ ๑๐ แก่นจันทน์ที่ ๑๑ น้ำเต้าจมน้ำที่ ๑๒ ศิลาลอยน้ำที่ ๑๓ นางเขียดกลืนกินงูเห่าที่ ๑๔ สุวรรณราชหงส์ล้อมกาที่ ๑๕ เสือดาวกับแพะที่ ๑๖
พระเจ้าโกศลราชทรงหวั่นพระทัย ตรัสให้พราหมณ์ในราชสำนักถวายพยากรณ์ พวกพราหมณ์เจ้าเล่ห์ทูลว่า พระสุบินนิมิตของพระองค์นี้ เป็นต้นเหตุร้ายแรงกล้านัก ต้องทำการบูชายัญขนานใหญ่ด้วยชีวิตสัตว์จำนวนมาก จึงจะพ้นเคราะห์ต่างคิดกันว่าเราทั้งหลายครั้งนี้จะได้ทรัพย์เป็นอันมาก เราจะให้คนทำของที่ควรเลี้ยงแลเครื่องโภชนาหารต่างๆ มาให้เราตามปรารถนา
นั่นเป็นวิธีการของพราหมณ์ชั่วที่ตั้งตนเป็นผู้ทรงเวทหลอกเอาอามิสสินบนจากคนโง่ พฤติการณ์ทำนองเดียวกับเมื่อสองพันปีก่อนเดี๋ยวนี้ก็ยังทันสมัย อาจารย์สะเดาะเคราะห์ดูดวงทั้งหลายนิยมใช้กันเกลื่อนเมือง พราหมณ์ทูลแนะนำให้เจ้าโกศลราชบูชายัญ แต่พระนางมัลลิกามเหสีทูลทัดทานว่า เป็นบาปเป็นกรรม จึงขอให้เสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า พระสุบินทั้ง ๑๖ ประการนั้นเป็นสังหรณ์เหตุร้ายจริง แต่จะไม่เกิดในรัชกาลของพระเจ้าโกศลราชและในพุทธกาล จะเกิดในกาลภายหน้าเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ราษฎรไม่อยู่ในศีลธรรมจึงจะเกิดยุคเข็ญขึ้น แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงพยากรณ์นิมิต ๑๖ ข้อ
“กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม” ในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีฯ นั้น เนื้อหาใกล้เคียงกับพระสุบินของพระเจ้าโกศลราชข้อที่ ๑๒ ว่า “น้ำเต้าจมน้ำ” และข้อที่ ๑๓ ที่ว่า “ศิลาลอยน้ำ”
ในพุทธพยากรณ์ไม่ได้ระบุว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่ในเพลงยาวว่าเมื่อ ศักราชได้สองพัน น่าจะเป็นเพราะคนชอบเอาพุทธพยากรณ์ในมหาสุปินชาดกมาเปรียบเทียบกับความวิปริตผิดประหลาดของสังคมในยุคนั้น กระผมพิจารณาดูเนื้อหาในเพลงยาวเปรียบเทียบกับสภาพสังคมไทยวันนี้ ดูจะหนักกว่าครั้งกรุงแตกเสียอีก อะไรๆ ดูวิปริตผิดประหลาด เหตุเป็นดังนี้ไม่รู้ผลจะเป็นอย่างไร แต่ขออย่าให้เหมือนกับอดีตที่
กรุงศรีอยุธยาจะสูญแล้ว จะลับรัศมีแก้วเจ้าทั้งสาม
ไปจนคำรบปีเดือนยาม จนสิ้นนามศักราชห้าพัน
กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์
จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์ นับวันจะเสื่อมสูญเอย ฯ
๓
“กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน” คำพยากรณ์แต่โบราณนานมานี้ น่าจะบอกว่ายุคมืดจะมาถึง คือยุคที่คนดีจะถูกเหยียบย่ำ คนชั่วจะได้รับยกย่อง ซึ่งต้องเป็นผลของกรรม ที่ได้ทำกันมา ทั้งกรรมชั่ว และทั้งกรรมดี กรรมที่เอื้อมมือมาถึงแล้ว อย่างไรก็ตาม เราทุกคนพึงหลีกให้พ้นการเป็นมือแห่งกรรมชั่ว ที่จะเหยียบย่ำคนดี และหลีกให้พ้นจากการเป็นมือแห่งกรรมดี ที่จะยกย่องคนชั่ว เพราะจะเป็นการร่วมสร้างบ้านเมืองของตนให้สิ้นความงดงาม ที่จะเกิดจากกำลังใจของคนดี ที่จะเกิดจากกำลังความสามารถของคนดีบ้านเมืองจะเต็มไปด้วยความเลวร้ายที่เกิดจากกำลังใจของคนชั่ว ที่จะเกิดจากกำลังความสามารถของคนชั่ว พึงรอบคอบในการดูให้รู้จริง ว่าใครดี ใครชั่ว รอบคอบ ในการฟังเสียงบอกเล่า จึงจะช่วยประเทศชาติให้สวัสดีได้ และช่วยตนให้พ้นบาปได้ การพูด กับ การฟัง สองอย่างนี้ยากจะชี้ลงไปได้ ว่าอย่างไหนสำคัญกว่ากัน พูดแล้วต้องมีการฟัง เช่นนี้ก็เห็นได้ชัดว่า ต้องเกี่ยวเนื่องกันมีความสำคัญเสมอกัน แต่โดยมีความเชื่อเข้าเป็นเรื่องใหญ่ พูดแล้ว ฟังแล้ว เชื่อแล้ว เป็นเรื่องหนึ่ง ที่ความเชื่อมีความสำคัญที่สุด สำคัญกว่าการพูดและการฟัง พูดได้ ฟังได้ เชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ ความเชื่อมีความสำคัญตรงนี้ ตรงที่ฟังแล้ว เชื่อเลย ไม่พิจารณาให้เห็นความถูกผิด ความจริงความเท็จ ที่ได้ยินได้ฟัง เชื่อเพียงเพราะได้ยินได้ฟัง เชื่อก็คือเชื่อว่าเป็นความจริงตามที่ได้ยินได้ฟัง จากเสียงบอกเสียงเล่า ความจริงเป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผู้พูดอาจรู้ แต่ผู้ฟังไม่น้อยนักที่เชื่อว่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังคนนั้นบอกคนนี้เล่า เป็นเรื่องจริง น้อยนักที่ฟังแล้วไม่เชื่อ ไม่สนใจ ฟังแล้วก็แล้วกันไป ผู้ฟังประเภทหลังนี้โชคดี ที่ไม่ก่อความเสียหายให้แก่ผู้ตกเป็นเหยื่อของเสียงบอกเล่า นับว่าไม่ทำบาปแก่บางชีวิตของบางผู้บางคน ที่อาจไม่ควรต้องรับบาปเป็นความสกปรกจากปากคนใจสกปรก ที่ในโลกมีมากมายนัก เพราะกิเลสยังไม่เบาบาง ความเชื่อเป็นหนึ่งในเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ พึงมีสติให้เสมอเมื่อจะเชื่อข่าว หรือเชื่อคำบอกเล่าของผู้ใดผู้หนึ่ง ตราบใดที่กิเลสยังครอบงำใจคนอยู่เกือบทุกถ้วนหน้า เสียงบอกเล่าก็หาอาจเชื่อได้เสมอไปไม่ เป็นผู้ฟังต้องรอบคอบให้อย่างยิ่ง มีสติ ใช้ปัญญา ให้เต็มที่ ให้สมกับที่มีบุญนักแล้ว ได้เกิดเป็นมนุษย์ และได้พบพระพุทธศาสนา อัญเชิญพระธรรมคำทรงสอนไว้ในหัวใจ ในชีวิต ให้เป็นผู้มีกายวาจาใจ ไม่ก่อให้เกิดทุกข์โทษภัย ทั้งแก่ตนเอง และทั้งแก่ใครๆ ทั้งนั้นซึ่งเป็นไปได้ที่แม้เริ่มต้นแล้วย่อมแผ่ขยายยิ่งใหญ่ไปเป็นธรรมดา ให้เป็นความทุกข์ความร้อนของประเทศชาติ และของพระพุทธศาสนา ก็เป็นไปได้ _______________________________________________
๓
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก. แสงส่องใจ , ๒๕๔๙
เริ่มที่ความเชื่อที่เกิดแต่ความชั่วร้ายนานาประการ จากบุคคลนานาชนิด ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งใกล้ตัวเราทั้งไกลตัวเรา สติในความเชื่อจึงจำเป็นอย่างยิ่งแก้ไขความเชื่อ ที่อาจผิดไปแล้ว ให้ถูกได้ด้วยกันทุกคน แม้มีความจริงใจที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ อันเกิดจากคนมากมีกิเลส ทุกข์ที่ครองบ้านครองเมืองที่รักของเราอยู่ อย่างน่าสะพรึงกลัวนัก สถานการณ์ของบ้านเมืองเราแต่ปีก่อน และต่อเนื่องมาถึงปีที่แล้ว เป็นอย่างไร ก็เป็นที่ทราบกันอยู่แก่ใจ แต่อย่างไรก็ตาม เราได้มีรัฐธรรมนูญ และได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว นับว่าประเทศชาติของเรา ยังไม่ผ่านผ่านหัวเลี้ยวสำคัญของทางรอดของบ้านเมือง
จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะต้องช่วยกันประคับประคองกิจการของบ้านเมือง ให้ดำเนินไปด้วยดี ให้มีความเป็นปึกแผ่นและร่มเย็นเป็นปรกติสุข ทางที่เราจะช่วยกันได้ ก็คือการทำความคิดให้ถูกตรงและแน่วแน่ ในอันที่จะยึดถือชาติบ้านเมืองเป็นที่หมาย แต่ละคน แต่ละฝ่าย จะต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัว พยายามโอนอ่อนผ่อนปรนเข้าหากัน ด้วยไมตรีจิตและความเมตตากรุณา อย่าก่อปัญหาและก่อเงื่อนไข อันเป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบและความแตกแยก ผู้ใดมีภาระหน้าที่อันใด ก็เร่งกระทำให้สำเร็จลุล่วงไป ให้ทันการทันเวลา ผลงานของทุกคนทุกฝ่าย จักได้ประกอบส่งเสริมกัน ให้ประเทศชาติอันเป็นที่อยู่ที่อาศัยของเรา ดำรงมั่นคงอยู่ด้วยความผาสุกร่มเย็น
ในวันเวลาและสถานการณ์เหตการณ์การบ้านการเมืองที่ชวนให้อึดอัด หดหู่ ไม่อยากติดตามหรือรับรู้ข่าวสารใดๆแต่ก็เป็นไปไม่ได้ จึงได้คิดถึงมุมพลิกกลับในเรื่องดีๆให้กับชีวิตนี่ก็เดือนกันยายนเข้าไปแล้วอีกไม่กี่เดือนก็จะเป็นวันขึ้นปีใหม่สมควรที่เราจะได้ตั้งสติเรียนรู้เพลงพรปีใหม่เพื่อสร้างความหวัง และในวันขึ้นปีใหม่ของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทาน ส.ค.ส. แก่ปวงชนชาวไทย สำหรับในปี ๒๕๕๑ ส.ค.ส. พระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีนี้ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์ชุดปกติขาว ประทับนั่งฉายพระรูปกับคุณทองแดง สุวรรณชาด และเหลน จำนวน ๔ สุนัข ซึ่งพระราชทานชื่อว่า กันนิ, ราชปาลยัม, จิปปิปะไร และ คอมไบ ตามชื่อพันธุ์สุนัขของอินเดีย ที่ใช้เป็นแบบในการปั้นรูปสุนัข ซึ่งเป็นบริวารของ พระตรีมูรติ คือ กันนิ เพศเมีย นั่งบนพระเพลา, ราชปาลยัม เพศเมีย ยืนด้านขวา, จิปปิปะไร เพศผู้ นั่งด้านหน้าใกล้พระบาทขวา และ คอมไบ เพศเมีย ยืนด้านซ้าย
สวัสดี ปีใหม่แล้ว ผองไทยจงแคล้วปวงภัย ช่วยกันรับขวัญปีใหม่ เถลิงฤทัยไว้มั่น สุขศรีปีใหม่หมาย สุขใจและกาย รวมกัน สำราญ สำเริง บันเทิงมั่น สุขสันต์ ยิ้มกันไว้ก่อน จะว่าไปแล้วเพลงปีใหม่เพลงแรกที่มีเนื้อร้อง ทำนอง รวมทั้งขับร้องและบรรเลงตามอย่างสากล นั่นก็คือ เพลงเถลิงศก ของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ซึ่งแต่งขึ้นในระยะที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการจัดงานรื่นเริงปีใหม่ในวันที่ ๑ เมษายนทั่วทั้งประเทศในราวปี ๒๔๗๗ - ๒๔๗๙ เพลงนี้มีสร้อยเพลงที่ติดหูคนฟังว่า "...ยิ้มเถิด ยิ้มเถิดนะยิ้ม ยิ้มแย้มแจ่มใส สุขสราญบานใจ ขอให้สวัสดี.."
ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ไปเป็นวันที่ ๑ มกราคมเพลง ๆ นี้ก็คงเสื่อมความนิยมไปด้วยเหตุที่เนื้อร้องในช่วงต้นที่ว่า "..วันที่หนึ่งเมษายน ตั้งต้นปีใหม่ แสงตะวันพร่างพรายใสสว่างแจ่มจ้า..." นั้นไม่เข้ากับเหตุการณ์อีกต่อไป พอมาถึงในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการประกาศพระบรมราชโองการให้ถือวันที่ ๑ มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ ในสมัยนั้นจอมพล ป. ได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อสร้างชาติ และสร้างวัฒนธรรมเมืองแบบใหม่ มีการออกประกาศรัฐนิยม ๑๒ ฉบับในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๒ - ๒๔๘๕ ที่สำคัญก็เช่น เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย การเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมีวัตถุประสงค์ก็เพื่อสร้างวัฒนธรรมอันดีและวางแนวทางประพฤติปฏิบัติแก่ประชาชนให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวทั้งประเทศ
รัฐบาลขณะนั้นก็ประสงค์จะให้คนไทยทั้งชาติมีวันขึ้นปีใหม่ในวันเดียวกัน จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ ๑ มกราคม ซึ่งเป็นวันที่นิยมยึดถือกันในนานาอารยประเทศ และ จอมพล ป. นั้นมีสื่อสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ใช้ในการสนับสนุนเผยแพร่นโยบายของท่านอย่างเป็นผล นั่นก็คือ เสียงเพลง และในขณะนั้นค่ายเพลงของรัฐมีอยู่สองหน่วยงาน คือกรมศิลปากร และกรมโฆษณาการเป็นกำลังสำคัญร่วมกันในการผลิตเพลงสนับสนุนนโยบายรัฐบาลอย่างแข็งขัน กรมศิลปากรมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นมันสมอง โดยมีวงดนตรีสากลของกรมศิลปากรที่โอนมาจากวงเครื่องสายฝรั่งหลวง กรมมหรสพ ซึ่งพระเจนดุริยางค์ฝึกฝนไว้เป็นกำลังสำคัญ ส่วนกรมโฆษณาการนั้นมีขุนศึกทางเพลง อย่างพระราชธรรมนิเทศ จมื่นมานิตนเรศน์ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ครูเวส สุนทรจามร ชอุ่ม ปัญจพรรค์ และมีวงดนตรีของกรมที่ประกอบด้วยนักดนตรีเอกภายใต้การควบคุมวงของครูเอื้อ สุนทรสนาน
เมื่อรัฐบาลประกาศเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่เป็น ๑ มกราคม กรมศิลปากร และกรมโฆษณาการก็น่าจะมีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์ด้วยเสียงเพลงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์นั้น กำลังเริ่มโด่งดังอย่างยิ่งควบคู่กันกับชื่อวงสุนทราภรณ์ ด้วยเหตุที่ทั้งหัวหน้าวง นักร้อง นักดนตรี และผู้แต่งเพลงของทั้งสองวงนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นวง ๆ เดียว กันนั่นเอง
เมื่อรัฐบาลประกาศเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่เป็น ๑ มกราคม กรมศิลปากร และกรมโฆษณาการก็น่าจะมีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์ด้วยเสียงเพลงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมประชาสัมพันธ์นั้น กำลังเริ่มโด่งดังอย่างยิ่งควบคู่กันกับชื่อวงสุนทราภรณ์ ด้วยเหตุที่ทั้งหัวหน้าวง นักร้อง นักดนตรี และผู้แต่งเพลงของทั้งสองวงนี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นวง ๆ เดียว กันนั่นเอง
เพลงปีใหม่ของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ หรือวงสุนทราภรณ์นั้น แม้จะยังไม่พบหลักฐานชัดเจนว่าแต่งขึ้นในปีใด แต่เมื่อพิจารณาเนื้อเพลงแล้ว ก็น่าจะแต่งขึ้นในยุคของการประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ๒๔๘๔ ซึ่งอยู่ในยุคของการปลุกใจด้วย เช่น ชโยปีใหม่ ซึ่งมีเนื้อเพลงดังนี้ ไชโยปีใหม่ ร้องอวยชัยชาติไทยไชโย (ไชโย) ไชโยขานโห่ ร้องไชโยให้ไทยรุ่งเรือง (ไชโย) ศุภฤกษ์ดิถี ศุภศรีมงคล เฉลิมปวงชน ร่าเริง เถลิงปีใหม่ ชาติไทย ขอให้ชาติรุ่งเรือง ให้กระเดื่องแดนไกล ให้อำนาจเกริกไกร ให้เป็นใหญ่ไพบูลย์ ให้ไทยวัฒนา ให้ประชาสมบูรณ์ ให้สุขเสริมเพิ่มพูน ให้จำรูญจำเริญไกล ไชโยขานโห่ ร้องไชโยให้พร้อมเพรียงกัน (ไชโย) อวยชัยเสียงสนั่น พร้อมเพรียงกันให้ไทยเจริญ (ไชโย)
วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์หรืออีกนัยหนึ่งวงสุนทราภรณ์นั้นนับเป็นเจ้าตำรับเพลงปีใหม่ของไทยเลยทีเดียว ทั้งโดยจำนวนเพลงซึ่งทยอยแต่งขึ้นในปีต่าง ๆ จนนำมารวมเป็นแผ่นเสียงลองเพลย์ได้ครบหนึ่งแผ่น (ประมาณ ๑๒ เพลง) และทั้งโดยความนิยมจากประชาชนซึ่งนำเพลงเหล่านี้มาใช้ขับร้องบรรเลงในเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะเพลงสวัสดีปีใหม่ จนกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยไปแล้ว
อย่างไรก็ตามเพลงปีใหม่ที่สำคัญที่สุดของประชาชนชาวไทย ได้แก่ เพลง "พรปีใหม่" เพลงนี้มีความเป็นมาเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะพระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรเป็นบทเพลงในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่พุทธศักราช ๒๔๙๔ ต่อ ๒๔๙๕ จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง "พรปีใหม่" ขึ้น เมื่อพระราชนิพนธ์เสร็จแล้วได้พระราชทานให้วงดนตรีนำออกบรรเลงทางสถานีวิทยุ อ.ส. ทรงพระกรุณาให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ทรงเป่าแซกโซโฟนช่วงแรก และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป่าช่วงที่สองสลับกันไป ในคืนวันที่ทรงพระราชนิพนธ์เพลงพรปีใหม่นั้นมีเวลาจำกัด จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่วงดนตรีได้เพียงสองวง คือ วงของนิสิตจุฬาลงกรณ์ฯ และวงดนตรีสุนทราภรณ์
พรปีใหม่ (New Year Greeting)พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
พระราชนิพนธ์เมื่อ : พ.ศ. ๒๔๙๕
คำร้อง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์ เพ็ญศิริ จักรพันธ์
พระราชนิพนธ์เมื่อ : พ.ศ. ๒๔๙๕
คำร้อง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์ เพ็ญศิริ จักรพันธ์
สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี โปรดประทานพรโดยปราณี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ทุกวัน ทุกคืน ชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้ ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี โปรดประทานพรโดยปราณี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ทุกวัน ทุกคืน ชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้ ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ
การเปลี่ยนเพลงปีใหม่ ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นเรื่องที่ต้องคิดทบทวนอย่างดี และทำให้ต้องระมัดระวังเรื่อง ปี ในการอ้างอิง เพราะมักเกิดความประมาทเกี่ยวกับปีดังกล่าว รายละเอียดความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องปีใหม่ไทย จากสารคดีเรื่องเทศกาลงานปีใหม่ ในหนังสือ วันก่อนคืนเก่า ของ ส.พลายน้อย (พิมพ์คำสำนักพิมพ์ : ๒๕๔๓ ) ซึ่งเมื่ออ่านแล้วก็อาจจะไม่เข้าใจ เพราะ วันปีใหม่ไทย นั้นได้มีการเปลี่ยนกันมาหลายครั้ง โดยแต่ครั้งดั้งเดิม ปีใหม่ของไทยถือเอา วันที่ ๑๓ เมษา ซึ่งเป็น วันตรุษสงกรานต์ เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่โดยให้เลื่อนมาเป็น วันที่ ๑ เมษายน และให้ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของทางราชการไทยมาเรื่อย
แต่ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะในชนบทก็ยังคงถือเอาวันตรุษสงกรานต์ คือวันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่เหมือนเดิม จนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ทางราชการก็ได้ประกาศย้ำอีกครั้งหนึ่งโดยให้มีการจัดงานปีใหม่อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๗ ดังเคยมีเพลงของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) แต่งฉลองวันขึ้นปีใหม่ ๑ เมษายน เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ มีเนื้อเพลงบางตอนระบุไว้ ดังนี้ ยิ้มเถิด ยิ้มเถิดนะยิ้ม ยิ้มแย้มแจ่มใส ....
ทว่า ต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวคือ เมื่อเห็นว่านานาชาติถือเอาวันขึ้นปีใหม่เป็น วันที่ ๑ มกราคม ดังนั้น จอมพล ป. ในยุค รัฐนิยม จึงเสนอพระบรมราชโองการ โดยตรา พระราชบัญญัติปีปฏิทิน พุทธศักราช ๒๔๘๓ ประกาศใช้ให้ วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่แทนวันที่ ๑ เมษายนของรัชกาลที่ ๖ และให้ถือเป็นจารีตประเพณีตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ ซึ่งจากสาเหตุนี้เองที่ทำให้เกิดความสับสน เพราะทำให้ผู้ที่เกิดในช่วงตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ก่อนปี พ.ศ.๒๔๘๔ ต้องถูกลบหายออกไปเหมือนไม่มีตัวตน
ก็คือ ผู้ใดก็ตามที่เกิดในช่วง ๓ เดือนดังกล่าว และเกิดก่อนปี พ.ศ.๒๔๘๔ จะต้องถูกหักลบ พ.ศ.ไป ๑ ปี ส่วนผู้ที่เกิดในช่วงตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน เป็นต้นมา แม้จะเกิดก่อนปี พ.ศ.๒๔๘๔ ก็ถือว่าให้หักลบปี พ.ศ.กันตามปกติได้ เช่นในปี พ.ศ.๒๔๕๙ มาลัย ชูพินิจ (นามปากกา 'แม่อนงค์') ผู้เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๙ แต่เนื่องจากเพราะเกิด หลัง วันที่ ๑ เมษายน แม้เขาจะเกิดก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ก็ให้ถือว่ามีอายุ ๑๐๐ ปีชาตกาล เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ที่ผ่านมานี้ได้ ส่วน พัฒน์ เนตรรังษี (นามปากกา 'พ.เนตรรังษี') ผู้เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๙ เนื่องจากเพราะเกิด ก่อน วันที่ ๑ เมษายน และเกิดก่อนปี พ.ศ.๒๔๘๔ ดังนั้น อายุของ 'พ.เนตรรังษี' จึงอยู่ใน ๓ เดือนอันตราย ที่ถูกลบหายไปเพราะประกาศวันปีใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ ของจอมพล ป. ที่ให้เลื่อนจากวันที่ ๑ เมษายน มาเป็นวันที่ ๑ มกราคม ดังนั้น ปีเกิดเมื่อเทียบ พ.ศ.ปัจจุบันจึงถูกหักลบไป ๑ ปี 'พ. เนตรรังษี' จึงมีอายุ ๙๙ ปี ชาตกาลเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ศกนี้ ไม่ใช่ ๑๐๐ ปีชาตกาล
ด้วยพระอัจฉริยะภาพด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพลงสวัสดีปีใหม่ ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยจนถึงทุกวันนี้เพลงปีใหม่ ที่มีความสำคัญต่อชาวไทยมากที่สุด คือ เพลงพรปีใหม่ เป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานให้วงดนตรีนำออกบรรเลงทางสถานีวิทยุ อ.ส. ทรงพระกรุณาให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์ เพ็ญศิริ จักรพันธ์ ทรงเป่าแซกโซโฟนช่วงแรก และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป่าแซกโซโฟน ช่วงที่สอง สลับกันไป
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้นพสกนิกรชาไทยต่างทราบซึ้งกันดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปกครอง การแก้ไขปัญหาดูแลทุกข์สุขของประชาชน การกีฬา ศิลปะ และการดนตรี ในด้านการดนตรีนั้น พระองค์ท่านทรงพระปรีชาสามารถเทียบเท่ากับศิลปินเอก ทางด้านดนตรีของโลก บทเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงแล้วเพลงเล่า ที่พระองค์ท่านพระราชทานให้กับพสกนิกรทั่วทุกภูมิภาค มีทั้งความไพเราะ ลึกซึ้งกินใจ เตือนสติคนไทยให้หันหน้าเข้าหากันมีความสามัคคี หรือบางบทเพลงที่ให้ ความสนุกสนานทรงทำออกมาได้อย่างลึกซึ้ง พระปรีชาสามารถทางการดนตรีเช่นนี้ พสกนิกรคนไทยทั่วหน้าจึงถวายให้พระองค์ท่านเป็น "คีตราชัน"
๔
พวกเราเหล่ามาชุมนุม ต่างคุมใจรัก สมัครสมาน ล้วนมิตรจิตรชื่นบาน สราญเริงอยู่ ทุกครู่ทุกยาม กิจใด ธ ประสงค์มี ร่วมใจภักดี แด่พระจอมสยาม พร้อมพรึบดังมือเดียวยาม ยากเย็นเห็นง่าย บ่หน่ายบ่วาง ที่หนักก็จักเบาคลาย ที่อันตราย ขจัดขัดขวาง ฉลองพระเดชบ่จาง กตเวธิคุณ พระกรุณา สามัคคีนี่แหละล้ำเลิศ จะชูชาติเชิด พระศาสนา สยามรัฐจะวัฒนา ปรากฎเกียรติฟุ้งเฟื่อง กระเดื่องแดนดิน อันความกลมเกลียว กันเป็นใจเดียว ประเสริฐศรี ทุกสิ่งประสงค์จงใจ จักเสร็จสมได้ ด้วยสามัคคี
หลายคนที่รู้จักเนื้อ Auld Lang Syne ภาษาฝรั่ง ลงความเห็นว่าร้องไปอย่างนั้นไม่ค่อยรู้ความหมาย แม้แต่ชื่อเพลงอ่านแล้วยังงงอยู่ ไม่รู้แปลว่าอะไรอีกเหมือนกัน เห็นฝรั่งเขาร้องตอนปีไหม่ ก็ ปะล่อมปะเล่มร้องไปด้วย ความจริงไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะฝรั่งเองส่วนมากเองก็ไม่รู้เหมือนกับเรา เนื่องด้วยเป็นเพลงของฝรั่งแห่งดินแดนสกอตแลนด์ ดินแดนสกอตแลนด์แม้จะรวมอยู่ในสหภาพอาณาจักรอังกฤษเหมือนกับแคว้นเวสส์และ ไอร์แลนด์เหนือ แต่มีอะไรต่างกับเขาอื่นพิกล เช่น มีผู้ชายนุ่งกระโปรงสั้นพะเยิบไปพะยาบมาแล้วเสียวไส้กลัวโป๊ ต้องหาอะไรหน้าตาคล้ายๆตะปิ้งของผู้หญิงไทยมาคอยถ่วงดุลไว้ข้างหน้า หากจะสรุปสั้นๆความหมายของเพลงนั้นก็คือ อย่าลืมวันเวลาเก่าๆ และมิตรสหายคนเก่าๆที่รู้จักกันมา ซึ่งฟังเข้าท่าดีอยู่ ตามเรื่องราวที่เล่ากัน เนื้อเรื่องของ Auld Lang Syne นี้ เขียนโดยกวีเอกศิลปินแห่งชาติชาวสกอต คือ Robert Burns เกิด ค.ศ. ๑๗๕๙ – ๑๗๙๖ ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าท่านเบิร์นส์ ท่านเบิร์นส์เป็นลูกชาวนาเกิดมาในชนบทของสกอตแลนต์ แต่พ่อซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติสกอตนั้นเป็นคนช่างอ่านและใฝ่หาความรู้ ส่วนแม่เป็นคนชอบดนตรี ชอบร้องเพลง ช่างจำ และช่างเล่านิทานพื้นบ้านต่างๆให้ลูกเจ็ดคนฟังอยู่เสมอ เพราะเหตนี้เบิร์นส์ซึ่งได้รับการศึกษาเพียงภาคบังคับในสมัยโน้น จึงกลายเป็นเด็กช่างอ่านช่างเรียนเหมือนพ่อ ทำให้มีความรู้กว้างขวางกวีนิพนธ์ใดๆที่ว่าเลิศ วรรณคดีเอกๆเด็กชายโรเบิรต์ก็กวาดมาอ่านหมด ในขณะเดียวกันก็มีนิสัยชอบจำนิทานพื้นบ้านและเป็นมิตรรักนักเพลงอย่างแม่ เที่ยวจดเพลงและนิทานและนิทานเก่าแก่ของสกอตมารวบรวมไว้ ที่เห็นว่าแหว่งๆเวิ่นๆก็แต่งเพิ่มเติมต่อให้สมบูรณ์
๔
เจ้าพระยาเสด็จสุเรนทราธิบดี ( ม.ร.ว. เปีย มาลากุล )
ชาวสกอตจึงถือว่าท่านเบิร์นส์เป็นคนมีบุญคุณต่อชาติยิ่งนักที่ไม่ปล่อยให้เรื่องราวพื้นเมืองสูญหายละลายไปกับกระแสของเวลาจนลูกหลานที่ตามมาโง่งมทื่อมื่อราวกับข้าวหลามเผา หลงคิดว่าตัวเกิดจากกระบอกไม้ไผ่ ไม่รู้จักโครตเง่าเหล่าตระกูล บทกวีนิพนธ์ของท่านเบิร์นส์หลายบทจึงมีอารมณ์ขันแทรกทำให้มีเสน่ห์ ไม่ใช่นิพนธ์ชนิดที่ตั้งหน้าแต่จะเพ้อฝัน เจ็บช้ำหรือโศกเศร้า ด้วยอารมณ์ของมนุษย์นั้น เปรียบเสมือนเส้นลวดแข็งแรงต่อให้มีความร้าวรานร้าวฉานเจ็บปวดอันใดเกิดขึ้นอารมณ์ขันสามารถจะรัดหัวใจให้คงสภาพที่ค่อนข้านจะสมบูรณ์ไม่แตกสลายออกเป็นเสี่ยงๆ นานๆก็จะช่วยให้รอยแตกร้าวเชื่อมเข้าด้วยกัน
และเพราะความเป็นกวีนี่เอง ท่านเบิร์นส์จึงเกลียดอาชีพทำไร่ทำนาเป็นที่สุดเพราะขนาดขุดดินลงไปทำรังหนูแตกท่านเบิร์นส์ถึงกับคร่ำครวญตีโพยตีพายจนร้อยกลองออกมาเป็นบทกวีชื่อ To a Mouse อันกลายเป็นที่รู้จักของมิตรรักนักกลอนฝรั่ง ท่านเบิร์นส์ไม่ใช่คนร่ำรวยส่วนลูกเมียจะหน้าแห้งบ้างนั้นถือว่าเกิดมาเป็นกรรมที่เกิดมาเป็นลูกเป็นมียของกวี ท่านเบิร์นส์จากไปเสียตั้งแต่ในวัยหนุ่มอายุเพียง ๓๗ ปี คนที่อยู่ข้างหลังก็ได้แต่ร้องเพลงที่ท่านได้รวบรวมหรือแต่งไว้เป็นการปลอบใจ
เนื้อเพลงภาษาไทยของ Auld Lang Syne ซึ่งประพันธ์โดยเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ( ม.ร.ว. เปีย มาลากุล )นั้น ออกจะยาวแต่ที่คนนิยมร้องกันจะเป็นท่อนเพลงที่ว่า “ พวกเราเหล่ามาชุมนุม ต่างคุมใจรักสมัคสมาน ล้วนมิตรจิตชื่นบานสราญเริงอยู่ ทุกครู่ทุกยาม อันความกลมเกลียวกันเป็นใจเดียวประเสริฐศรี ทุกสิ่งประสงค์จงใจ จักเสร็จสมได้ด้วยสามัคคี” เจ้าพระยาพระสุเรนทราธิบดี พ.ศ. ๒๔๑๐ – ๒๔๕๙ นี้เป็นพระอภิบาลของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งเสด็จฯไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษขณะนั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ตามประวัติว่าเป็นนักพูด นักปกครอง นักศึกษาและนักคิดคนสำคัญของเมืองไทยนอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้เขียนหนังสือสมบัติผู้ดีซึ่งเป็นหนังสือเรียนของเด็กไทยมาหลายสมัยส่วนเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีจะแต่งเนื้อร้องเพลงสามัคคีชุมนุมตั้งแต่เมื่อใดนั้นมิได้บันทึกไว้
สำหรับการตั้งความหวังในปีใหม่ที่จะถึงนี้ของข้าพเจ้า หากจะนำท่อนเพลง “ We’ll take a cup O’ kindness….อันความกรุณาปราณี” ของ Auld Lang Syne ฝรั่งมาประกอบกับท่อนของไทยที่ว่า
“ อันความกลมเกลียว กันเป็นใจเดียวประเสริฐศรี ทุกสิ่งประสงค์จงใจ จักเสร็จสมได้ ด้วยสามัคคี...” ก็เห็นว่าน่าจะช่วยให้สถานการณ์บ้านเมืองของคนไทยเราผ่านไปได้โดยไม่ร้ายกาจรุนแรงนัก สุดท้ายนี้จากเพลงยาวพยากรณ์อยุธยาพาเรียนรู้เพลงพรปีใหม่ฝักใฝ่หาสามัคคีชุมนุม ไม่ว่าท่านจะมีโอกาสไปสามัคคีชุมนุมกับใครๆ หรือว่าอยู่ตัวคนเดียวก็ขอให้มีความสุขทั้งกายและใจ ในเพลงพรปีใหม่ที่จะได้ยินในอีกไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรีโปรดประทานพรโดยปราณี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย...
บรรณานุกรม
คณะกรรมการอำนวยการการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี. ดนตรีจากพระราชหฤทัยศูนย์รวมใจแห่งปวงชน.พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ: ด่ารสุทธาการพิมพ์, ๒๕๓๙.
คณะกรรมการดำเนินการจัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบ ๔๙ ปีและ๕๐ ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์. สุนทราภรณ์ครึ่งศตวรรษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เพื่อนชีวิต, ๒๕๓๒.
ถวิล มนัสน้อม. เพลงไทยตามนัยประวีติครูเงิน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ต้นอ้อ ๑๙๙๙จำกัด, ๒๕๔๒.
พุทธทาสภิกขุ. คู่มือมนุษย์ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ธรรมสภา, ๒๕๔๒.
โรงเรียนจิตรลดา. ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด(มหาชน), ๒๕๓๙.
ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช. ฉายหนังฟังเพลง. พิมพ์ครั้งที่ ๓ .กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ,๒๕๔๙.
ส.พลายน้อย. เกร็ดโบราณคดีประวัติศาสตร์ไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: อักษรพิทยาการพิมพ์, ๒๕๓๔.
ส.พลายน้อย. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย(ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่).พิมพ์ครั้งที่๖.กรุงเทพฯ: อักษรพิทยาการพิมพ์, ๒๕๔๒.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น