วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2564

การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ED291

 




การวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ 

ความหมายการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้

         ภัทรา  นิคมานนท์ (2552: 1) กล่าวถึง ความหมายของการวัดผลไว้ว่า คือ การใช้เครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่งที่จะค้นหาหรือตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อมูลซึ่งเป็นปริมาณหรือคุณภาพที่มีความหมายแทนพฤติกรรมหรือคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือแทนผลงานที่แต่ละคนแสดงออกมา เช่น การให้คะแนนการตอบข้อสอบของนักเรียนแต่ละคน

         สมบูรณ์ ตันยะ (2545: 10) กล่าวถึง ความหมายการวัดผลไว้ว่า คือ กระบวนการในการกำหนดหรือหาจำนวน ปริมาณ อันดับ หรือรายละเอียดของคุณลักษณะหรือพฤติกรรมความสามารถของบุคคล โดยใช้เครื่องมือเป็นหลักในการวัด กระบวนการวัดจะทำให้ได้ตัวเลขหรือข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ที่ใช้แทนจำนวนและสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้น

         เกย์ (Gay 1985: 8) กล่าวถึง ความหมาการวัดผลไว้ว่า คือ ขบวนการให้ปริมาณของสิ่งที่จะวัด อาจเป้นคนหรือสิ่งของก็ได้ เช่น คุณลักษณะทางจิตวิทยา บุคลิกภาพ หรือสิ่งของที่ต้องการปริมาณ

         วัฒนาพร  ระงับทุกข์ (2542: 124) กล่าวถึง ความหมายของการวัดผลไว้ว่า คือ การตรวจสอบว่าผู้เรียนมีพฤติกรรมทางด้านความรู้ ทักษะ เจตคติเปลี่ยนไปตามจุดประสงค์การเรียนรู้หรือไม่ โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เป็นตัวสำรวจ การเลือกใช้เครื่องมือทดสอบชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้ ผลที่ได้จากการวัดผลจะเป็นเชิงปริมาณ เช่น เป็นคะแนนหรือเป็นค่าร้อยละ ซึ่งยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าผู้เรียนมีคุณภาพเป็นอย่างไร

         กรอนลันด์ (Gronlund 1981: 5-6) กล่าวถึง ความหมายการประเมินผลไว้ว่า คือ กระบวนการอย่างเป็นระบบที่จะกำหนดขนาดหรือจำนวนซึ่งนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน

         วัฒนาพร  ระงับทุกข์ (2542: 124) กล่าวถึง ความหมายของการวัดผลไว้ว่า คือ การตัดสินว่าผู้เรียนมีคุณภาพเป็นอย่างไร เมื่อนำคะแนนที่ได้จากการวัดผลมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้ การประเมินผลจะออกมาในเชิงคุณภาพ

         กล่าวโดยสรุป การวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ คือ กระบวนการที่ผู้สอนใช้เครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่งในการตรวจสอบคุณภาพของผู้เรียน และนำผลเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนเต็มศักยภาพ

 

หลักการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้

         วัฒนาพร  ระงับทุกข์ (2542: 124) กล่าวว่า การวัดและการประเมินผล จัดเป็นกิจกรรมสำคัญที่สอดแทรกอยู่ในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดการเรียนการสอน เริ่มตั้งแต่ก่อนการเรียนการสอนจะเป็นการประเมินเพื่อตรวจสอบความรู้พื้นฐานของผู้เรียน ระหว่างการเรียนการสอนจะเป็นการประเมินเพื่อปรับปรุงผลการเรียนและเพื่อให้ผู้เรียนทราบผลการเรียนของตนเป็นระยะ ๆ และเมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนในแต่ละรายวิขาหรือภาคเรียน จะเป็นการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียนเพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่า ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์การเรียนที่กำหนดไว้

         สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2557: 2-4) กล่าวว่า การวัดและประเมนิผลการเรียนรู้ของผู้เรียนต้องอยู่บนหลักการพื้นฐานสองประการ คือ การประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียนและเพื่อตัดสินผลการเรียน  ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ให้ประสบผลสำเร็จนั้น ผู้เรียนจะต้องได้รับการพัฒนาและประเมินตามตัวชี้วัดเพื่อให้บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ สะท้อนสมรรถนะสำคัญและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับชั้นเรียน ระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับชาติ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ เป็นกระบวนการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยใช้ผลการประเมินเป็นข้อมูลและสารสนเทศที่แสดงพัฒนาการ ความก้าวหน้า และความสำเร็จทางการเรียนของผู้เรียน ตลอดจนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาและเรียนรู้อย่างเต็มตามศักยภาพ

         สุมาลี  จันทร์ชลอ (2544: 11) กล่าวว่า การวัดผลประเมินผล เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการเรียนการสอน แต่ต้องมีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และกับการเรียนการสอนกล่าวคือ การวัดผลต้องวัดจากวัตถุประสงค์การเรียน และวัดในสิ่งที่ผู้สอนได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน ผลจากการวัดจะให้ข้อมูลแก่ผู้สอนและบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อการปรับปรุงแก้ไขกิจกรรมการเรียนการสอน และเพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์เพียงใด

         นอกจากนี้ ศศิธธร  เวียงวะลัย (2556: 242-243) กล่าวถึง หลักและการวัดผลและประเมินผลการเรียน ไว้ดังนี้

         1. ต้องวัดให้ตรงกับจุดประสงค์การเรียนรู้ คือ การวัดผลจะเป็นการตรวจสอบผลการจัดการเรียนรู้ของครูว่า นักเรียนเกิดพฤติกรรมตามที่ระบุไว้ในจุดประสงค์การจัดการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด

         2. เลือกใช้เครื่องมือวัดที่ดีและเหมาะสม การวัดผลครูต้องเลือกใช้เครื่องมือวัดที่มีคุณภาพ และใช้เครื่องมือวัดที่หลากหลาย เพื่อช่วยให้การวัดถูกต้องสมบูรณ์

         3. ระวังความคลาดเคลื่อนหรือความผิดพลาดของการวัด เมื่อจะใช้เครื่องมือชนิดใดต้องระวังความบกพร่องของเครื่องมือหรือวิธีการวัดของครู

         4. ประเมินผลการวัดให้ถูกต้อง เช่น คะแนนที่เกิดจากการสอนครูต้องแปลผลให้ถูกต้องสมเหตุสมผลและมีความยุติธรรม

         5. ใช้ผลการวัดให้คุ้มค่า จุดประสงค์สำคัญของการวัด คือเพื่อค้นและพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน จึงต้องพยายามค้นหาผู้เรียนแต่ละคนว่ามีจุดเด่น-จุดด้อยในเรื่องใด และหาทางปรับปรุงแต่ละคนให้ดีขึ้น

จุดมุ่งหมายการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้

         การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และสุมาลี  จันทร์ชลอ (2544: 21-22) ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายดังนี้

         1. การประเมินผลก่อนการเรียน (Pre Evaluation) เป็นการประเมินก่อนเริ่มแต่ละบทเรียน โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

             1.1       เพื่อค้นคว้าว่าผู้เรียนมีความรู้ก่อนการสอนหรือไม่ หรือมีความรู้ในสิ่งนั้น ๆ มากน้อยเพียงใด ผลจากการประเมินจะช่วยให้ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้เหมาะสมกับผู้เรียน

             1.2       เพื่อค้นหาว่าผู้เรียนมีทักษะหรือพฤติกรรมที่จำเป็นในการเรียนหรือไม่ ซึ่งถ้ายังไม่มีทักษะหรือพฤติกรรมพื้นฐานที่จำเป็นจะต้องจัดกิจกรรมเพ่อให้เกิดทักษะหรือพฤติกรรมนั้น ๆ ก่อน

             1.3       เพื่อค้นหาว่าส่วนใดของบทเรียนที่ผู้เรียนเรียนรู้แล้ว มีทักษะแล้ว ส่วนใดยังไม่รู้ไม่มีทักษะ

             1.4       เพื่อวางแผนจัดกิจกรรมให้กับผู้เรียนอย่างเหมาะสม เช่น ในส่วนที่ผู้เรียนรู้แล้วอาจไม่ต้องนำมาสอบหรือสอนแต่น้อย ส่วนใดที่ไม่รู้เลยควรต้องจัดกิจกรรม หรือเสริมบทเรียนให้มากขึ้น

             1.5       เพื่อนำผลไปเปรียบเทียบกับการสอบครั้งต่อไป เป็นการประเมินความก้าวหน้าของผู้เรียน

         2. การประเมินผลระหว่างเรียน (Formative Evaluation)        เป็นการประเมินผลในขณะดำเนินการเรียนการสอนแต่ละบท แต่ละเรื่อง หรือแต่ละจุดประสงค์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อการปรับปรุงการเรียนการสอน ในกรณีที่ประเมินพบว่าผู้เรียนยังไม่บรรลุจุดประสงค์จะได้ทำการสอนซ่อมเสริม หรือแก้ไขปรับปรุงการสอนก่อนที่จะประเมินผลสรุป การประเมินผลระหว่างเรียนมีจุดประสงค์ดังนี้

             2.1       เพื่อค้นหาว่าผู้เรียนบรรลุตามจุดประสงค์ที่ต้องไว้หรือไม่และบกพร่องจุดประสงค์ใด

             2.2       เพื่อค้นหาว่าผู้เรียนบรรลุตามจุดประสงค์ในขั้นตอนใด และไม่บรรลุจุดประสงค์ในขั้นตอนใด

             2.3       เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการเรียนการสอนเป็นรายบุคคล

             2.4       เพื่อเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการสอนและแนวทางในการใช้วัสดุอุปกรณ์ให้เหมาะสม

         3. การประเมินผลสรุป (Summative Evaluation) เป็นการประเมินผลเมื่อการเรียนการสอนผ่านไประยะหนึ่งอาจะเป็นกลางภาคเรียนหรือเมื่อสิ้นสุดการเรียนในแต่ละภาค เพื่อประเมินผลรวมของการจัดการเรียนการสอน โดยทั่วไปการประเมินผลสรุปจะใช้เพื่อตัดสินผลการเรียน ส่วนประโยชน์อื่น ๆ ที่จะนำไปใช้ได้แก่

             3.1       เพื่อศึกษาว่าผู้เรียนมีความรู้ทั้งหมดเท่าไร

             3.2       เพื่อศึกษาว่าผู้เรียนเก่งหรืออ่อนวิชาใด

             3.3       เพื่อหาข้อมูลในภาพรวมของการจัดการเรียนการสอนว่ามีประสิทธิภาพเพียงใดควรปรับปรุงแก้ไขส่วนไหน

             3.4       ผลการประเมินจะสามารถนำไปเป็นข้อมาลในการเยนหรือทำงานต่อ

             3.5       เพื่อตัดสิน ได้-ตก และให้ระดับคะแนนแก่ผู้เรียน

             3.6       เพื่อนำผลไปเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้เรียน

 

องค์ประกอบของผลการเรียนรู้

         หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถตามมาตรฐาน หรือ ตัวชี้วัดที่กำหนสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระ มีผลการอ่าน คิด วิเคราะห์และเขียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้จึงต้องให้ครบถ้วนในองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2557: 13-15)

 


แผนภาพแสดงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้

        1. ผลการเรียนรู้ในรายวิชาตามกลุ่มสาระการเรียนรู้

             ผู้สอนทำการวัดและประเมินผลผู้เรียนเป็นรายวิชาในตัวชี้วัดที่กำหนดในหน่วยการเรียนด้วยวิธีการที่หลากหลาย ให้ได้ผลการประเมินตามความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน โดยทำการวัดและประเมินผลไปพร้อมกับการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ การสังเกตพัฒนาการและความประพฤติของผู้เรียน การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรม และการทดสอบ ซึ่งผู้สอนต้องนำนวัตกรรมการวัดและประเมินผลที่หลากหลาย เช่น การประเมินสภาพจริง การประเมินการปฏิบัติงาน การประเมินจากโครงงาน และการประเมินจากแฟ้มสะสมงาน ควบคู่ไปกับการใช้แบบทดสอบแบบต่าง ๆ และต้องให้ความสำคัญกับการประเมินระหว่างเรียนมากกว่าการประเมินปลายปี หรือ ปลายภาค

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


   2. ผลการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน


            
การประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน เป็นการประเมินศักยภาพของผู้เรียนในการัอ่าน การฟัง การดู และการรับรู้ จากหนังสือ เอกสาร และสื่อต่าง ๆ เพื่อหาความรู้เพิ่มพูนประสบการณ์ความสุนทรีย์และประยุกต์ใช้ แล้วนำเนื้อหาสาระที่อ่านมาคิดวิเคราะห์ นำไปสู่การแสดงความคิดเห็น การสังเคราะห์ สร้างสรรค์ การแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ และถ่ายทอดความคิดนั้นด้วยการเขียนที่มีสำนวนภาษาที่ถูกต้อง มีเหตุผลและลำดับขั้นตอนในการนำเสนอ สามารถสร้างความเข้าใจแก่ผู้อ่านได้อย่างชัดเจนตามระดับความสามารถในแต่ละระดับชั้น

             การประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน สถานศึกษาต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสรุปผลรายปีหรือรายภาค เพื่อวินิจฉัยและใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาผู้เรียนและประเมินการเลื่อนขั้น ตลอดจนการจบการศึกษาระดับต่าง ๆ

 

 

 



 

  3. การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์

             การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เป็นการประเมินด้านคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม จิตสำนึก สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ทั้งในฐานะพลเมือไทยและพลโลก หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักาช 2551 กำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 คุณลักษณะ การประเมินจะประเมินแต่ละคุณลักษณะแล้วรวบรวมผลการประเมินจากผู้ประเมินทุกฝ่ายและแหล่งข้อมูลหลายแหล่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลมาสู่การสรุปผลเป็นรายปีหรือรายภาค และใช้เป็นข้อมูลเพื่อประเมินการเลื่อนชั้นและการจบการศึกษาระดับต่าง ๆ

 4. การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

             การประเมินกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียน เป็นการประเมินการปฏิบัติกิจกรรมและผลงานของผู้เรียนและเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแต่ละกิจกรรม และใช้เป็นข้อมูลประเมินการเลื่อนชั้นและการจบการศึกษาระดับต่าง ๆ

 


 กระบวนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร

         การวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร เป็นการประเมินความรู้ทักษะต่าง ๆ ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ที่บูรณาการไปพร้อม ๆ กัน กับการประเมิน การอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และการประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน

         สิ่งที่ผู้สอนต้องวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช ประกอบด้วย ด้านจิตพิสัย และด้านทักษะพิสัย ทั้ง 3 ด้านมีลักษณะที่สำคัญดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2557: 97)

         1.    ผลการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย

             ผลการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย หมายถึง ข้อมูล สารสนเทศ หลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงถึงความสามารถด้านสติปัญญา 6 ด้าน คือ ความจำ ความเข้าใจ การประยุกต์ใช้ การวิเคราะห์ การประเมินค่า และการคิดสร้างสรรค์ โดยพฤติกรรมที่สะท้อนว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย ได้แก่ การบอกเล่า อธิบาย หรือเขียนแสดงความคิดรวบยอดโดยการตอบคำถาม เขียนแผนภูมิ แผนภาพนำเสนอแนวคิดขึ้นตอนในการแก้ปัญหา การจัดการ การออกแบบประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์ชิ้นงาน เป็นต้น

         2. ผลการเรียนรู้ด้านจิตพิสัย

             ผลการเรียนรู้ด้านจิตพิสัย หมายถึง ข้อมูลสารสนเทศที่สะท้อนความสามารถด้านการเรียนรู้ในการจัดการอารมณ์ ความรู้สึก ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม และเจตคติ โดยพฤติกรรมที่สะท้อนว่า ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ด้านจิตพิสัย คือ ผู้เรียนมีการแสดงอารมณ์ ความรู้สึกในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสมตามบรรทัดฐานของสังคม มีความสามารถในการตัดสินใจเชิงจริยธรรม และมีค่านิยมพื้นฐานที่ได้รับการปลูกฝัง โดยแสดงพฤติกรรมที่สะท้อนให้เห็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์อย่างน้อย 8 ประการ ตามที่หลักสูตรกำหนด

         3. ผลการเรียนรู้ด้านทักษะพิสัย

             ผลการเรียนรู้ด้านทักษะพิสัย หมายถึง ข้อมูลสารสนเทศที่แสดงถึงทักษะการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายซึ่งเกิดจากการประสานงานของสมองและกล้ามเนื้อที่ใช้งานอย่างคล่องแคล่วประสานสัมพันธ์กัน

 

เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลและประเมินผลการเรียน

         การวัดผลและประเมินผลการเรียนดำเนินการด้วยเครื่องมือและวิธีการวัดผลและประเมินผลหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายและความต้องการของการวัดผลและประเมินผลแต่ละครั้งในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งจำแนกได้ดังต่อไปนี้ (เพชราวดี  จงประดับเกียรติ. 2559: online)

         1.  แบบสังเกต (Observation) เป็นเครื่องมือวัดผลที่ผู้ทำหน้าที่ในการวัดใช้ประสาทสัมผัสเป็นเครื่องมือ โดยครูจะสังเกต ผลงาน และพฤติกรรมของผู้เรียน เช่น สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนในขณะที่เรียนว่ามีความสนใจในบทเรียนเพียงไร มีความขยันหมั่นเพียรหรือไม่ ให้ความร่วมมิในการทำงานกลุ่มมากน้อยแค่ไหน โดยทั่วไปครูใช้การสังเกตในการวัดพฤติกรรมจิตพิสัยและทักษะพิสัยของนักเรียน

         2. การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นเครื่องมือวัดผลที่ผู้ทำหน้าที่ในการวัดใช้การสนทนาหรือการพูดโต้ตอบกันอย่างมีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาความรู้ ความจริง ตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า นิยมใช้เป็นเครื่องมือวัดผลการศึกษาเกี่ยวกับคุณลักษณะด้านความรู้สึกเป็นส่วนใหญ่ เช่น เกี่ยวกับบุคลิกภาพ การปรับตัว เจตคติ ความสนใจ รวมทั้งคุณลักษณะเกี่ยวกับการปฏิบัติในด้านวิธีการปฏิบัติ

         3. แบบสอบถาม (Questionnaire) เป็นชุดของข้อความหรือข้อคำถามที่สร้างขึ้นมาเพื่อสอบถามความคิดเห็น ความต้องการ ความสนใจ เจตคติ ของผู้ตอบที่มีต่อสิ่งที่ผู้สร้างต้องการทราบ

         4. การจัดอันดับ (Rank Order) เป็นเครื่องมือวัดผลและประเมินผลให้นักเรียน หรือผู้ได้รับแบบสอบถามเป็นผู้ตอบโดยการจัดอันดับความสำคัญ หรือจัดอันดับคุณภาพและใช้จัดอันดับของข้อมูลหรือผลงานต่าง ๆ เช่น การตรวจแบบทดสอบวิชาวาดเขียน การฝีมือ พลศึกษา หรือการประเมินผลทางด้านบุคลิกภาพ เพื่อเป็นการแก้ไขให้ยุติธรรมขึ้นโดยใช้วิธีนำเอาผลงานของแต่ละคนมาเปรียบเทียบกันทั้งหมด แล้วจัดอันดับคุณภาพของงานแต่ละชิ้น ของนักเรียนแล้วจึงให้คะแนนภายหลังเพื่อการประเมิน

         5. การประเมินผลตามสภาพจริง (Authentic Assessment) เป็นเครื่องมือและวิธีการวัดผลและประเมินผลด้วย กระบวนการสังเกต การบันทึกและรวบรวมข้อมูลจากงานและวิธีการที่นักเรียนทำ เช่น การประเมินกระบวนการ (Process) การประเมินผลผลิต (Product) การประเมินการปฏิบัติ (Performance) การนำเสนอ การสาธิต

         6. แบบทดสอบ (Test) เป็นชุดของคำถาม ปัญหา สถานการณ์ กลุ่มของงานหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นสิ่งเร้า กระตุ้นยั่วยุ การชักนำหรือให้ผู้ถูกทดสอบแสดงพฤติกรรมหรือปฏิกิริยาตอบสนองตามแนวทางที่ต้องการ แบบทดสอบเป็นเครื่องมือวัดสมรรถภาพทางสมองได้ดีที่สุด สามารถจำแนกตามจุดมุ่งหมายในการใช้ประโยชน์ 3 ประเภท คือ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ แบบทดสอบความถนัด แบบทดสอบวัดบุคลิกภาพ โดยทั่วไปครูใช้การทดสอบเพื่อวัดพฤติกรรมด้านพุทธพิสัย

         7. แบบสำรวจรายการ (Checklist) เป็นเครื่องมือวัดที่มีลักษณะเป็นชุดรายการที่ต้องการตรวจสอบ ซึ่งต้องการคำตอบเพียง 2 กรณี คือ ตอบรับกับตอบปฏิเสธ เช่น นักเรียนปฏิบัติได้หรือปฏิบัติไม่ได้ นักเรียนมีพฤติกรรม หรือไม่มีพฤติกรรม นิยมใช้ประกอบการสังเกตว่า นักเรียนมีพฤติกรรมด้านจิตพิสัยหรือทักษะพิสัยที่ครูต้องการตรวจสอบหรือไม่

         8. มาตรประมาณค่า (Rating Scale) เป็นเครื่องมือวัดมีลักษณะเป็นชุดรายการที่ต้องการตรวจสอบ เหมือนกับแบบสำรวจรายการ ต่างกันตรงที่สามารถบอกระดับคุณภาพหรือหรือระดับประมาณว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น นักเรียนปฏิบัติได้ดี ปฏิบัติได้พอใช้ หรือปฏิบัติไม่ได้ นิยมใช้ประกอบการสังเกตพฤติกรรม จิตพิสัยหรือทักษะพิสัยที่ต้องอการทราบระดับคุณภาพ

         9. การจดบันทึก (Records) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจดบันทึกพฤติกรรมหรือเหตุการณ์จากที่สังเกตได้ โดยการเขียนข้อความเกี่ยวกับสิ่งที่สังเกตได้ลงในสมุดบันทึก อย่างเป็นระบบตามความเป็นจริง นิยมใช้เป็นเครื่องมือประกอบการสังเกตพฤติกรรมจิตพิสัย

 

วิธีการประเมิน

         การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กล่าวถึงวิธีการประเมินไว้ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. 2557: 89-93)

         1. การสังเกตพฤติกรรม เป็นการเก็บข้อมูลจากการดูการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียน โดยไม่ขัดจังหวะการทำงานหรือการคิดของผู้เรียน การสังเกตพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ทำได้ตลอดเวลา แต่ควรมีกระบวนการและจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่าต้องการประเมินอะไร โดยอาจใช้เครื่องมือ เช่น แบบมาตรประมาณค่า แบบตรวจสอบรายการ สมุดจดบันทึก เพื่อประเมินผู้เรียนตามตัวชี้วัด และควรสังเกตหลายครั้ง หลายสถานการณ์ หลายช่วงเวลาเพื่อขจัดความลำเอียง

         2. การสอบปากเปล่า เป็นการให้ผู้เรียนได้แสดงออกด้วยการพูด ตอบประเด็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ตามมาตรฐาน ผู้สอนเก็บข้อมูล จดบันทึก รูปแบบการประเมินนี้ผู้สอนและผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กันโดยตรงสามารถมีการอภิปราย โต้แย้ง ขยายความ ปรับแก้ไขความคิดกันได้ มีข้อที่พึงระวัง คืออย่าเพิ่งขัดความคิดขณะที่ผู้เรียนกำลังพูด

         3. การพูดคุย เป็นการสื่อสาร 2 ทางอีกประเภทหนึ่ง ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน สามารถดำเนินการเป็นกลุ่มหรือรายบุคคลก็ได้ โดยทั่วไปมักใช้อย่างไม่เป็นทางการเพื่อติดตามตรวจสอบว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เพียงใด เป็นข้อมูลสำหรับพัฒนา วิธีการนี้อาจใช้เวลา แต่มีประโยชน์ต่อการค้นหา วินิจฉัยข้อปัญหา ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ ที่อาจเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเรียนรู้ เช่น วิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เป็นต้น

         4. การใช้คำถาม การใช้คำถามเป็นเรื่องปกติมากในการจัดการเรียนรู้ แต่ข้อมูลงานวิจัยบ่งชี้ว่าคำถามที่ครูใช้เป็นด้านความจำ และเป็นเชิงการจัดการทั่ว ๆ ไปเป็นส่วนใหญ่ เพราะถามง่ายแต่ไม่ท้าทายให้ผู้เรียนต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ให้ลึกซึ้ง การพัฒนาการใช้คำถามให้มีประสิทธิภาพแม้จะเป็นเรื่องที่ยาก แต่สามารถทำได้ผลรวดเร็วขึ้น หากผู้สอนมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินในชั้นเรียน ดังนี้

         วิธีที่ 1 ให้คำตอบที่เป็นไปได้หลากหลาย เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการเริ่มต้นการถามแบบความจำให้เป็นคำถามที่ต้องใช้การคิดบ้าง เพราะมีคำตอบที่เป็นไปได้หลายคำตอบ คำถามแบบนี้ทำให้ผู้เรียนต้องตัดสินใจว่า คำตอบใดถูก หรือใกล้เคียงที่สุดเพราะเหตุใด และที่ไม่ถูกเพราะเหตุใด นอกจากนี้การใช้คำถามแบบนี้จะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ยิ่งขึ้นอีก หากมีกิจกรรมให้ผู้เรียนทำเพื่อพิสูจน์คำตอบ

         วิธีที่ 2 เปลี่ยนคำถามจำให้เป็นประโยคบอกเล่า เพื่อให้ผู้เรียนระบุว่าเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย พร้อมเหตุผล การใช้วิธีนี้จะต้องให้ผู้เรียนได้อภิปรายกัน ผู้เรียนต้องใช้การคิดที่สูงขึ้นกว่าวิธีแรก เพราะผู้เรียนจะยกตัวอย่างสนับสนุนความเห็นของตน ประโยคของผู้เรียนจะต้องสะท้อนความคิดเห็น ผู้เรียนจะต้องปกป้องหรืออธิบายทัศนะของตน การฝึกด้วยวิธีการนี้บ่อย ๆ จะเป็นการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ฟังที่ดี มีจิตใจเปิดกว้างพร้อมรับฟังและเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นผ่านกระบวนการอภิปราย ครูใช้วิธีการนี้กดดันให้เกิดการอภิปรายอย่างมีคุณภาพสูง ระหว่างเด็กต่อเด็ก และให้ข้อมูลเพื่อการพัฒนาแก่ทุกคนในชั้นเรียน

         วิธีที่ 3 หาสิ่งตรงกันข้าม หรือสิ่งที่ใช้หรือถูก ส่งที่ไม่ใช่หรือผิด และถามเหตุผล วิธีการนี้ใช้ได้ดีกับเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง เช่น จำนวนในวิชาคณิตศาสตร์ การสะกดคำโครงสร้างไวยากรณ์ในวิชาภาษา เป็นต้น จะเป็นโอกาสให้ผู้เรียนคิดและอภิปรายมากกว่าเพียงการถามว่าทำไมโดยไม่มีการเปรียบเทียบกัน และวิธีการนี้จะใช้กับการทำงานคู่มากกว่าถามทั้งห้อง แล้วให้ยกมือตอบ

         วิธีที่ 4 ให้คำตอบประเด็นสรุปแล้วตามด้วยคำถามให้คิด เป็นการให้ผู้เรียนต้องอธิบายเพิ่มเติม

         วิธีที่ 5 ตั้งคำถามจากจุดที่เห็นต่าง เป็นวิธีที่ต้องใช้ความสามารถทั้งผู้สอนและผู้เรียน เพราะมีประเด็นที่ต้องอภิปรายโต้แย้งเชิงลึก เหมาะที่จะใช้อภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ปัญหาสุขภาพ ปัญหาเชิงจริยธรรม เป็นต้น

             นอกจากนี้ การใช้ Bloom’s Taxonomy เป็นกรอบแนวคิดในการตั้งคำถาม ก็เป็นวิธีการที่ดีในการเก็บข้อมูลการเรียนรู้จากผู้เรียน

         5. การเขียนสะท้อนการเรียนรู้ เป็นรูปแบบการบันทึกการเขียนอีกรูปแบบหนึ่งที่ให้ผู้เรียนเขียนตอบกระทู้ หรือคำถามของครู ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับความรู้ ทักษะที่กำหนดในตัวชี้วัด การเขียนสะท้อนการเรียนรู้ นอกจากนี้ทำให้ผู้สอนทราบความก้าวหน้าในผลการเรียนรู้แล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือประเมินพัฒนาการด้านทักษะการเขียนได้อีกด้วย

         6. การประเมินการปฏิบัติ เป็นวิธีการประเมินงานหรือกิจกรรมที่ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนปฏิบัติงานเพื่อให้ทราบถึงผลการพัฒนาของผู้เรียน การประเมินลักษณะนี้ ผู้สอนต้องเตรียมสิ่งสำคัญ 2 ประการ คือ ภาระงาน (Tasks) หรือกิจกรรมที่จะให้ผู้เรียนปฏิบัติ เช่น การทำโครงการหรือโครงงานการสำรวจ การนำเสนอ การสร้างแบบจำลอง การท่องปากเปล่า การสาธิต การทดลองวิทยาศาสตร์ การจัดนิทรรศการ การแสดงละคร เป็นต้น และเกณฑ์การให้คะแนน (Scoring Rubrics)

         การปะเมินการปฏิบัติ อาจจะปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะงานหรือประเภทกิจกรรม ดังนี้

             6.1       ภาระงานหรือกิจกรรมที่เน้นขั้นตอนการปฏิบัติผลงาน เช่น การทดลองวิทยาศาสตร์ การจัดนิทรรศการ การแสดงละคร แสดงการเคลื่อนไหว การประกอบอาหาร การประดิษฐ์ การสำรวจ การนำเสนอ การจัดแบบจำลอง เป็นต้น ผู้สอนจะต้องสังเกตและประเมินวิธีการทำงานเป็นขั้นตอนและผลงานของผู้เรียน

             6.2       ภาระงานหรือกิจกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างลักษณะนิสัย เช่น การรักษาความสะอาด การรักษาสาธารณสมบัติหรือสิ่งแวดล้อม กิจกรรมหน้าเสาธง เป็นต้น จะประเมินด้วยวิธีการสังเกต จดบันทึก เหตุการณ์เกี่ยวกับผู้เรียน

             6.3       ภาระงานที่มีลักษณะเป็นโครงการหรือโครงงาน เป็นกิจกรรมที่เน้นขั้นตอนการปฏิบัติและผลงานที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ จึงควรมีการประเมินเป็นระยะ ๆ เช่น ระยะก่อนดำเนินโครงการหรือโครงงาน โดยประเมินความพร้อมการเตรียมการและความเป็นไปได้ในการปฏิบัติงาน ระยะระหว่างดำเนินโครงการหรือโครงงาน จะประเมินการปฏิบัติจริงตามแผน วิธีการและขั้นตอนที่กำหนดไว้ และปรับปรุงระหว่างการปฏิบัติสำหรับระยะสิ้นสุดการดำเนินโครงการหรือโครงงาน โดยการประเมินผลงาน ผลกระทบและวิธีการนำเสนอ ผลการดำเนินโครงการหรือโครงงาน

             6.4       ภาระงานที่เน้นผลผลิตมากกว่ากรบวนการขั้นตอนการทำงาน เช่น การจัดทำแผนผัง แผนที่ แผนพิมพ์ กราฟ ตาราง ภาพ แผนผังความคิด เป็นต้น อาจประเมินเฉพาะคุณภาพของผลงานก็ได้

         ในการประเมินการปฏิบัติงาน ผู้สอนต้องสร้างเครื่องมือเพื่อใช้ประกอบการประเมิน เช่น แบบประมาณค่า แบบบันทึกพฤติกรรม แบบตรวจสอบรายงาน แบบบันทึกผลการปฏิบัติงาน เป็นต้น

         7. การประเมินด้วยแฟ้มสะสมผลงาน เป็นการรวบรวมชิ้นงานของผู้เรียนเพื่อสะท้อนความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้เรียน เช่น แฟ้มสะสมงานที่แสดงความก้าวหน้าของผู้เรียน ต้องมีผลงานในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่แสดงความก้าวหน้าของผู้เรียน หากเป็นแฟ้มสะสมงานดีเด่น ต้องแสดงผลงานที่สะท้อนความสามารถของผู้เรียน โดยผู้เรียนต้องแสดงความคิดเห็นหรือเหตุผลที่เลือกผลงานเก็บไว้ตามวัตถุประสงค์ของแฟ้มสะสมงาน แนวทางในการจัดทำแฟ้มสะสมงาน มีดังนี้

             7.1       กำหนดวัตถุประสงค์ของแฟ้มสะสมงาน ว่าต้องการสะท้อนเกี่ยวกับความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้เรียนในเรื่องใดด้านใด ทั้งนี้ อาจพิจารณาจากตัวชี้วัดหรือมาตรฐานการเรียนรู้

             7.2       วางแผนการจัดทำแฟ้มสะสมงานที่เน้นการจัดทำชิ้นงาน กำหนดเวลาของการจัดทำแฟ้มสะสมงานและเกณฑ์การประเมิน

             7.3       จัดทำแผนแฟ้มสะสมงานและดำเนินการตามแผนที่กำหนดให้ผู้เรียนรวบรวมชิ้นงาน

             7.4       ให้มีการประเมินชิ้นงานเพื่อพัฒนาชิ้นงาน ควรประเมินแบบมีส่วนร่วม โดยผู้ประเมิน ได้แก่ ผู้เรียน เพื่อน ผู้สอน ผู้ปกครอง บุคคลที่เกี่ยวข้อง

             7.5       ให้ผู้เรียนคัดเลือกชิ้นงาน ประเมินชิ้นงานตามเงื่อนไขที่ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันกำหนด เช่น ชิ้นงานที่ยากที่สุด ชิ้นงานที่ชอบที่สุด เป็นต้น โดยดำเนินการเป็นระยะ อาจจะเป็นเดือนละครั้งหรือบทเรียนละครั้งก็ได้

             7.6       ให้ผู้เรียนนำชิ้นงานที่คัดเลือกแล้วจัดทำเป็นแฟ้มที่สมบูรณ์ ซึ่งควรประกอบด้วย หน้าปก คำนำ สารบัญ ชิ้นงาน แบบประเมินแฟ้มสะสมงาน และอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

             7.7       ผู้เรียนต้องสะท้อนความรู้สึกและความคิดเห็นต่อชิ้นงานหรือแฟ้มสะสมงาน

             7.8       สถานศึกษาควรจัดให้ผู้เรียนแสดงแฟ้มสะสมงานและชิ้นงานเมื่อสิ้นภาคเรียน/ปีการศึกษาตามความเหมาะสม

         8. การวัดผลและประเมินผลด้วยแบบทดสอบ เป็นการประเมินตัวชี้วัดด้านการรับรู้ข้อเท็จจริง (Knowledge) ผู้สอนควรเลือกใช้แบบทดสอบให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการวัดและประเมินค่านั้น ๆ เช่น แบบทดสอบเลือกตอบ แบบทดสอบถูก-ผิด แบบทดสอบจับคู่ แบบทดสอบเติมคำ แบบทดสอบความเรียง เป็นต้น ทั้งนี้ แบบทดสอบที่จะใช้ต้องเป็นแบบทดสอบที่มีคุณภาพ มีความเที่ยงตรง (Validity) และเชื่อมั่นได้ (Reliability)

         9. การประเมินด้านความรู้สึกนึกคิด เป็นการประเมินคุณธรรม จริยธรรม คุณลักษณะ และเจตคติ ที่ควรปลูกฝังในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งการวัดและประเมินผลเป็นลำดับขั้นจากจากต่ำสุดไปสูงสุด ดังนี้

             9.1       ขั้นรับรู้ เป็นการประเมินพฤติกรรมที่แสดงออกว่า รู้จัก เต็มใจ สนใจ

             9.2       ขั้นตอบสนอง เป็นการประเมินพฤติกรรมที่แสดงว่าเชื่อฟัง ทำตาม อาสาทำ พอใจที่จะทำ

             9.3       ขั้นเห็นคุณค่า (ค่านิยม) เป็นการประเมินพฤติกรรมที่แสงดความเชื่อ ซึ่งแสดงออกโดยการกระทำหรือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ยกย่องชมเชย สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือทำกิจกรรมที่ตรงกับความเชื่อ

ของตน ทำด้วยความเชื่อมั่น ศรัทธา และปฏิเสธที่จะกระทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตน

             9.4       ขั้นจัดระบบคุณค่า เป็นการประเมินพฤติกรรมที่แสดงความเชื่อ ซึ่งแสดงออก โดยการกระทำหรือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ยกย่องชมเชย สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือทำกิจกรรมที่ตรงกับความเชื่อของตน ทำด้วยความเชื่อมั่น ศรัทธา และปฏิเสธที่จะกระทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตน

             9.5       ขั้นจัดระบบคุณค่า เป็นการประเมินพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรม อภิปรายเปรียบเทียบจนเกิดอุดมการณ์ในความคิดของตนเอง

             9.6       ขั้นสร้างคุณลักษณะ เป็นการประเมินพฤติกรรมที่มีแนวโน้มว่าจะประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นอยู่เสมอในสถานการณ์เดียวกัน หรือเกิดเป็นอุปนิสัย

             การวัดและประเมินผลด้านจิตพิสัย ควรใช้การสังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติเป็นหลักและสังเกตอย่างต่อเนื่องโดยมีการบันทึกการสังเกต ทั้งนี้ อาจใช้เครื่องมือวัดและประเมินผล เช่น แบบมาตรประมาณค่า แบบตรวจสอบรายการ แบบบันทึกพฤติกรรม แบบรายงานพฤติกรรมตนเองเป็นต้น

             นอกจากนี้ อาจใช้แบบวัดความรู้และความรู้สึกเพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม เช่น แบบวัดความรู้ โดยสร้างสถานการณ์เชิงจริยธรรม แบบวัดเจตคติ แบบวัดเหตุผลเชิงจริยธรรม แบบวัดพฤติกรรมเชิงจริยธรรม เป็นต้น

         10.  การประเมินตามสภาพจริง เป็นการประเมินด้วยวิธีการที่หลากหลาย เพื่อให้ได้ผลการประเมินที่สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน จึงควรใช้การประเมินปฏิบัติ (Performance Assessment) ร่วมกับการประเมินด้วยวิธีการอื่น ภาระงาน (Task) ควรสะท้อนสภาพความเป็นจริงหรือใกล้เคียงกับชีวิตจริงมากกว่าเป็นการปฏิบัติกิจกรรมทั่ว ๆ ไป ดังนั้นการประเมินตามสภาพจริงจะต้องออกแบบการจัดการเรียนรู้และประเมินผลไปด้วยกันและกำหนดเกณฑ์การประเมิน (Rubrics) ให้สอดคล้องหรือใกล้เคียงกับชีวิตจริง

         11.  การประเมินตนเองของผู้เรียน เป็นทั้งเครื่องมือประเมินและเครื่องมือพัฒนาการเรียนรู้เพราะทำให้ผู้เรียนได้คิดใคร่ครวญว่าได้เรียนรู้อะไร เรียนรู้อย่างไร และผลงานที่ทำนั้นดีแล้วหรือยัง การประเมินตนเองจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง การใช้การประเมินตนเองของผู้เรียนให้ประสบความสำเร็จได้ดีจะต้องมีเป้าหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจน มีเกณฑ์ที่บ่งบอกความสำเร็จของชิ้นงานหรือภาระงาน และมาตรการปรับปรุงแก้ไขตนเอง

             เป้าหมายการเรียนรู้ที่กำหนดชัดเจนและผู้เรียนได้ทราบหรือร่วมกำหนดด้วย จะทำให้ผู้เรียนทราบว่าตนถูกคาดหวังให้รู้อะไร ทำอะไร มีหลักฐานใดที่แสดงการเรียนรู้ตามความคาดหวังนั้น หลักฐานที่มีคุณภาพควรมีเกณฑ์ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เรียนพิจารณาประเมิน ซึ่งหากเกณฑ์เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนด้วยจะเป็นการเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนเรียนรู้เพิ่มขึ้น การที่ผู้เรียนได้ใช้การประเมินตนเองบ่อย ๆ โดยมีกรอบแนวทางการประเมินที่ชัดเจน จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนประเมินได้ค่อนข้างจริง และซื่อสัตย์ คำวิจารณ์ คำแนะนำของผู้เรียนมักจะจริงจังมากกว่าของครู การประเมินตนเองะเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น หากผู้เรียนทราบสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขและตั้งเป้าหมายการปรับปรุงแก้ไขของตน แล้วฝึกฝน พัฒนาโดยการดูแลสนับสนุนจากผู้สอนและความร่วมมือของครอบครัว

             เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินตนเองมีหลายรูปแบบ เช่น การอภิปราย การเขียนสะท้อนผลงาน การใช้แบบสำรวจ การพูดคุยกับผู้สอน เป็นต้น

         12.  การประเมินโดยเพื่อน เป็นเทคนิคการประเมินอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าจะนำมาใช้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เข้าถึงลักษณะของงานที่มีคุณภาพ เพราะการที่ผู้เรียนจะบอกได้ว่าชิ้นงานนั้นเป็นเช่นไร ผู้เรียนต้องมีความเข้าใจอย่างชัดเจนก่อนว่าเขากำลังตรวจสอบอะไรในงานของเพื่อน ฉะนั้น ผู้สอนต้องอธิบายผลที่คาดหวังให้ผู้เรียนทราบก่อนที่จะลงมือประเมิน

             การใช้การประเมินโดยเพื่อนอย่างมีประสิทธิภา จำเป็นต้องสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่สนับสนุนให้เกิดการประเมินรูปแบบนี้ คือ ผู้เรียนต้องรู้สึกผ่อนคลาย เชื่อใจกัน และไม่อคติ เพื่อการให้ข้อมูลย้อนกลับจะได้ซื่อตรง เป็นเชิงบวกที่ให้ประโยชน์ ผู้สอนที่ให้ผู้เรียนทำงานกลุ่มตลอดภาคเรียนแล้วใช้เทคนิคเพื่อนประเมินเพื่อนเป็นประจำ จะสามารถพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน

เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลและประเมินผลการเรียน

         บทนี้ยกตัวอย่างเครื่องมือประกอบการประเมินการปฏิบัติงาน ในรายวิชาวิเคราะห์และพัฒนาสื่อ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 วิชาเอกดุริยางคศิลป์ ในการมอบหมายงานให้นักเรียนสร้าง

โปสเตอร์ โดยประเมินทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านพุทธิพิสัย ด้านจิตพิสัย และด้านทักษะพิสัย

 

 

 

แบบประเมินผลงานนักเรียน (โปสเตอร์)

ชื่อสมาชิก  1.     .........................................................................................

             2. .........................................................................................

 

โปรดใส่เครื่องหมาย P ในช่องตัวเลขให้ตรงกับสภาพการทำงานของนักเรียน ดังนี้

                5      หมายถึง            มากที่สุด

                4      หมายถึง            มาก

                3      หมายถึง            ปานกลาง

                2      หมายถึง            น้อย

                1      หมายถึง            น้อยที่สุด

 

ลำดับที่

หัวข้อประเมิน

ระดับคุณภาพ

5

4

3

2

1

ด้านที่ 1 ด้านเนื้อหา

1

การเรียบเรียงเรื่องราว

 

 

 

 

 

2

เนื้อหามีความเหมาะสมตามแก่นเรื่อง (Theme)

 

 

 

 

 

3

เนื้อหามีความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

 

 

 

 

 

4

เนื้อหาตรงและครอบคลุมตามจุดประสงค์

 

 

 

 

 

5

ใช้ภาษาถูกต้องเหมาะสมตามแก่นเรื่อง (Theme)

 

 

 

 

 

รวม (25 คะแนน)

 

ด้านที่ 2 ด้านการออกแบบ

6

จัดองค์ประกอบโปสเตอร์ตามหลักการออกแบบ เลย์เอาต์

 

 

 

 

 

7

มีองค์ประกอบของโปสเตอร์ครบ (พาดหัวหลัก, เนื้อหา, เครดิต, ภาพประกอบ)

 

 

 

 

 

8

โปสเตอร์มีโลโก้ประจำกลุ่ม

 

 

 

 

 

9

รูปแบบตัวอักษร มีขนาดชัดเจน อ่านง่าย

 

 

 

 

 

10

เลือกใช้โทนสีโปสเตอร์ตรงตามแก่นเรื่อง (Theme)

 

 

 

 

 

รวม (25 คะแนน)

 

ด้านที่ 3 การนำเทคโนโลยี AR มาประยุกต์ใช้

11

โปสเตอร์แสดงให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยี AR

 

 

 

 

 

12

มีการแนะนำขั้นตอนการใช้งานแอพพลิเคชั่น AR

 

 

 

 

 

รวม (10 คะแนน)

 

 

ลำดับที่

หัวข้อประเมิน

ระดับคุณภาพ

5

4

3

2

1

ด้านที่ 4 ด้านการนำเสนอ

13

มีความพร้อมในการนำเสนอ

 

 

 

 

 

14

สามารถนำเข้าสู่การนำเสนอได้เป็นอย่างดี

 

 

 

 

 

15

บุคลิกภาพ ท่วงท่า วาจาของผู้นำเสนอ

 

 

 

 

 

16

มีความรู้ในเนื้อหาที่นำเสนอ

 

 

 

 

 

17

มีความมั่นใจในการตอบคำถาม

 

 

 

 

 

รวม (25 คะแนน)

 

ด้านที่ 5 คุณธรรมและจริยธรรม

18

ส่งงานตามเวลาที่กำหนด

 

 

 

 

 

19

ไม่นำทรัพย์ทางปัญญาของผู้อื่นมาเป็นของตน

 

 

 

 

 

20

อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล รูปภาพ ฯลฯ

 

 

 

 

 

รวม (15 คะแนน)

 

รวม (100 คะแนน)

 

 

 

 

                        ลงชื่อ.......................................................ผู้ประเมิน

                        วันที่.............................................

 

สรุปเนื้อหา การวัดประเมินผลการเรียนรู้

 

         ความหมายการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้

         หลักการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้

         จุดมุ่งหมายการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้

         องค์ประกอบของผลการเรียนรู้

         กระบวนการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร

         เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลและประเมินผลการเรียน

     

กิจกรรมท้ายบท

 

1.  ให้นิสิตออกแบบเครื่องมือวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ ตามแผนการจัดการเรียนรู้รายคาบ จากเอกสารประกอบการสอน

2.  นิสิตฝึกออกข้อสอบ เพื่อวัดประเมินผลการเรียนรู้ ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ได้รับมอบหมาย

 

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น