วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2564

ดนตรีในยุคโรแมนติก ep02

 

   ความเป็นมาและอิทธิพลต่าง ๆ ที่มีต่อดนตรีในยุคโรแมนติก

ประมาณ   .. 1820 – 1900 

 ด้านสังคม  การเมืองและ การปกครอง

            ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ดังกล่าวทำให้เมืองต่างๆ ในอังกฤษกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่เริ่มแออัด ด้วยคนเข้ามาอาศัยในสังคมเมืองเพื่อหางาน  ทำให้เกิดสังคมเมืองกระทบต่อด้านอื่นๆ ด้วย  ความก้าวหน้าเหล่านี้ขยายขอบเขตของอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลทำให้ระบบทุนนิยม (Capitalism) มีอิทธิพลสูงขึ้นมาจนก่อให้เกิดความคิดเป็นปฏิปักษ์ในภายหลัง นอกจากนี้ เกิดกฎหมายเกี่ยวกับการผังเมือง รวมทั้งการจัดสร้างสวนสาธารณะก็เป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน  ยิ่งคนมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้นทำให้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น  การคมนาคมมีความสะดวกสบายมีการใช้เรือที่มีเครื่องจักรไอน้ำ  มีรถไฟ  การสื่อสารมีการใช้โทรเลข  มีโทรศัพท์  มีกล้องถ่ายรูป  การพัฒนาทางด้านการแพทย์ทำให้โรคภัยไข้เจ็บน้อยลง  ก่อผลสะท้อนที่เป็นปัญหาใหม่ ๆ ขึ้นมาก เช่นปัญหาการว่างงาน  ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ  เกิดลัทธิทุนนิยมและลัทธิสังคมนิยมขึ้น  สำหรับลัทธิสังคมนิยมนี้ เขียนโดย คาร์ล   มากซ์  ผู้เป็นนักเขียนชนชั้นกลางชาวเยอรมันได้แนะวิธีการปฎิรูปสังคมด้วยการปฏิวัติ


ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18  เกิดการปฏิวัติในฝรั่งเศสนับเป็นเหตุการณ์สำคัญของโลกและเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในฝรั่งเศสซึ่งไม่เฉพาะแต่ในด้านการปกครองเท่านั้น ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนความคิดเห็นของราษฎร ในด้านการปกครองเป็นการโค่นล้มระบบเก่าหรือเรียกได้ว่าภาคประชาชนลุกขึ้นมาล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช  แล้วแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ซึ่งให้อำนาจประชาชนในการเลือกผู้นำของตนเอง  โดยอาศัยปรัชญาแนวคิดที่ว่าทุกคนควรจะมีความเท่าเทียมกัน  และทุกคนควรจะเติบโตจากตำแหน่งเล็กๆ  ไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่าได้ด้วยความพยายามและความสามารถของคนโดยไม่คำนึงถึงชาติกำเนิดและชนชั้น  การปฏิวัติในฝรั่งเศสนี้เป็นแม่บทของการปฏิวัติต่อมาโดยเฉพาะการปฏิวัติรัสเซีย  

นอกจากนี้ในศตวรรษนี้ก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้นหลายแห่ง เช่นเกิดสงครามไครเมีย ในปี1854-1856 สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา ปีค.ศ.1861-1865 และสงครามฟรังโก-ปรัสเซียน ในปีค.ศ.1870-1871 

3.  วรรณกรรม งานเขียน ในยุคโรแมนติก

แบ่งออกเป็น 2 ยุค คือ ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19   และยุคสัจนิยม (Realism) กลางคริสต์ศตวรรษที่  19

วรรณกรรมยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19

 

ยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่เข้าสู่สังคมแบบอุตสาหกรรม ทำให้บุคคลกลุ่มหนึ่งในยุคนี้ เริ่มเบื่อหน่ายต่อการเทิดทูนเหตุผลและการใช้ปัญญาความคิด และหันมาให้ความสนใจต่อความรู้สึกที่ไม่อาจควบคุมได้ อารมณ์แห่งความรักและความประทับใจในความงามหรือศาสนา ซึ่งไม่อาจอธิบายได้ด้วยเหตุผล ทั้งนี้ เพราะบุคคลเหล่านี้ต้องการปลดปล่อยจินตนาการของตนเองให้เป็นอิสระจากกฎเกณฑ์และทัศนะที่เห็นธรรมชาติเป็นจักรกล ศิลปินในยุคนี้ ซึ่งเรียกว่า ยุคโรแมนติค (Romanticism) มีแนวคิดที่แตกต่างไปจากเดส์การ์ต โดยเห็นว่า “I feel, therefore I am” – “เพราะฉันรู้สึก ฉันจึงดำรงอยู่พวกเขาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของ ฌอง ฌาคซ์ รุสโซ ชาวฝรั่งเศสที่ว่า มนุษย์สามารถหลีกหนีความสามานย์ของสังคมได้เมื่อหันไปหาธรรมชาติ เพราะธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดีงามและศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ ศิลปินในยุคโรแมนติค ยังหันไปหาเรื่องเร้นลับ แปลกประหลาดเหนือธรรมชาติในโลกแห่งจินตนาการ เช่นเรื่องราวในยุคกลางที่เป็นยุคแห่งการผจญภัยและวีรกรรมอาทิเรื่องเกี่ยวกับอัศวินและเวทมนตร์
            ยุคนี้ เป็นยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบานในหลายประเทศ หลังจากที่ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา มีการปฏิวัติใหญ่ ทำให้มีการมุ่งเน้น อุดมคติแห่ง เสรีภาพ ความเสมอภาค และ ภราดรภาพ” (Liberty, Equality, and Fraternity) มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีอิทธิพลต่อศิลปินในยุคนี้ ขณะเดียวกัน ความวุ่นวายทางสังคมและการเมืองหลังการปฏิวัติ ทำให้งานเขียนและศิลปะในยุคนี้ มีลักษณะหลีกหนี (escape)” จากความเป็นจริง ไปสู่โลกแห่งจินตนาการ การปฏิวัติฝรั่งเศสทำให้คนชั้นสูงหมดอำนาจลง และ การประกาศอิสรภาพจากอังกฤษในสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐฯ เป็นอิสระจากการเป็นอาณา-นิคมในปกครองของขุนนางอังกฤษ ส่งผลให้คนชั้นกลางมีอำนาจมากยิ่งขึ้น การปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้คนชั้นล่างหลั่งไหลเข้าสู่เมืองใหญ่ คนกลุ่มนี้ มีรสนิยมทางงานเขียนที่แตกต่างไปจากยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการและยุคนีโอคลาสสิกที่ผ่านมา  ดังเช่นผลงานของนักเขียนดังต่อไปนี้

- วิลเลียม  เวิร์ดสเวิร์ท(William Wordsworth: ค.ศ.1770-1850) ชาวอังกฤษ เป็นนักแต่งบทกวีที่ถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของตนเองเกี่ยวกับชีวิตของคนธรรมดาและเหตุการณ์สามัญที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันในชนบท ซึ่งคนทั่วไปอาจเห็นว่าไม่มีราคาค่างวดใด ๆ เช่น

            บทกวีชื่อ To the Daisy  เขียนถึงดอกเดซีอันเป็นดอกหญ้าที่ต้อยต่ำ แต่เขาทำให้ดอกไม้นี้กลายเป็นดอกไม้ที่มีความหมายขึ้นมา

            บทกวีชื่อ She Dwelt among the Untrodden Ways กล่าวถึงหญิงสาวธรรมดาที่ชื่อลูซี่ที่มีชีวิตอยู่ทามกลางธรรมชาติในชนบท

            บทกวีชื่อ I Wandered Lonely as a Cloud ได้พรรณนาว่าการปลดปล่อยอารมณ์ให้เพลิดเพลินไปกับธรรมชาติรอบตัว ทำให้หัวใจเปี่ยมสุขและโลดเต้นไปกับดอกเดฟโฟดิลที่เริงระบำอย่างร่าเริงอยู่ในสายลม

            นอกจากนี้วิลเลียม  เวิร์ดสเวิร์ม ยังชอบเขียนถึงความเรียบง่ายที่มีความอ่อนหวานและไร้เดียงสาของเด็กเป็นพิเศษ ดังงานเขียนที่ชื่อ Intimations of Immortality from Recollection of Early Childhood ซึ่งเขาแสดงความชื่นชมว่าเด็กเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์และดีงาม

- แวมวล เทย์เลอร์ โคลริดจ์(Samuel Taylor Coleridge:ค.ศ.1772-1834)ชาวอังกฤษ มีลักษณะต่างจากบทกวีของวิลเลียม  เวิร์ดสเวิร์ม คือ เขาชอบเขียนเรื่องเร้นลับเหนือธรรมชาติที่มีอยู่ในโลกแห่งจินตนาการและเรื่องในอดีตที่ไกลตัวดังเช่น บทกวีชื่อ The Rime of the Ancient Mariner ซึ่งเขียนในรูปแบบของบัลลาด เนื้อเรื่องกล่าวถึงกะลาสีเรือแก่ที่ต้องประสบเคราะห์กรรมกลางทะเลลึก เพราะเขาทำลายธรรมชาติโดยฆ่านกอัลบาทรอสซึ่งเป็นตัวแทนของธรรมชาติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกวีที่ยาวที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดของแวมวล เทย์เลอร์ โคลริดจ์

-  เซอร์วอลเตอร์  สกอต(Sir  Walter  Scott : ค.ศ.1771-1832) ชาวอังกฤษ เขียนนวนิยายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับอัศวินยุคกลาง การเล่าเรื่องจะออกในแนวผจญภัยที่ระทึกใจของยุคสมัยที่ผ่านมาแล้ว ตัวละครในเรื่องจะมีหญิงงามที่เศร้าสร้อยและมีวีรบุรุษรูปงามและกล้าหาญ ท่ามกลางเวียงวัง ปราสาท ผลงานของเขาอย่างเช่น Ivanhoe    และ The Talisman

- วิกตอร์ อูโก (Victor Hogo:ค.ศ.1802-1855) เป็นนักเขียนยุคโรแมนติกที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเขียนทั้งนวนิยาย บทกวี และบทละคร ผลงานของเขาที่สำคัญเช่น นวนิยายเรื่อง ไอ้ค่อมแห่งนอตรดาม         (The Haunchback of Notre Dame) และเรื่องที่สำคัญคือ เหยื่ออธรรม (Les Miserables) ทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องของสามัญชนที่ถูกอำนาจคุกคาม และต้องทุกข์ทน ตัวเอกของเรื่องเป้นผู้กล้าหาญและยอมสละทุกสิ่งให้ผู้ที่ตนรักได้

-  วอชิงตัน  เออร์วิง (Washington  Irving: ค.ศ. 1783-1859) เป็นนักเขียนชาวอเมริกัน ผลงานของเขาเสียดสีสังคมอย่างมีอารมณ์ขัน ถึงจะเป็นเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติแต่ก็ไม่น่ากลัวเพราะเขาจะสอดแทรกอารมณ์ขันเข้าไปด้วย ซึ่งแตกต่างกับนักเขียนในแถบยุโรป เช่นเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายกลัวเมีย  ผู้หญิงขมขู่สามี ซึ่งตัวละครค่อนข้างมีชีวิตชีวา        เรื่องที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ เรื่อง ริป แวน วิงเคิล(Rip Van Winkle) เกี่ยวกับชายชื่อริปไปพบพวกคนแคระแลโดนคนแคระให้ดื่มเครื่องดื่มชนิดหนึ่งทำให้หลับไปถึง 20 ปี ระหว่างนั้นสังคมอเมริกันเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง  ซึ่งชายคนนี้ไม่ทราบเรื่องอะไรเลยเปรียบได้กับคนที่ไม่ยอมรับรู้เรื่องอะไรในสังคมของตนเองในขณะนั้นเลย

-  เจมส์ เฟนิมอร์ คูเปอร์ (James Fenimore Cooper:ค.ศ. 1789-1851) นักเขียนชาวอเมริกัน นวนิยายเรื่องเยี่ยมที่สุดมีความนิยมทั้งในอเมริกาและยุโรป คือ เรื่องเดอร์สปาย(The Spy) เป็นนิยายการผจญภัยของอเมริกาสมัยปฏิวัติ ซึ่งเกี่ยวกับชายหนุ่มผู้รักชาติ 

- นาทาเนียล ฮอว์ทอร์น (Nathaniel Hawthorne:ค.ศ.1804-1864) ชาวอเมริกันเขียนนวนิยายแนวไสยศาสตร์และเขียนเรื่องสั้นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ความหน้าไหว้หลังหลอกของมนุษย์ที่มีให้กัน แต่ก็ยังมีการเขียนเกี่ยวกับเรื่องแปลก ๆ ลึกลับที่เต็มไปด้วยจินตนาการจนได้รับการยกย่องในเรื่องการใช้สัญลักษณ์และตัวละครที่มีจิตใจซับซ้อน มีการต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่วในตัวของมนุษย์

-  เอ็ดการ์ แอลลันโพ (Edgar  Allan Poe:ค.ศ.1809-1849) ชาวอเมริกัน มีความสารถในการเขียนหลายประเภท ทั้งกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น และวรรณคดีวิจารณ์ บทกวีของเขาได้รับอิทธิพลจากกวียุโรป งานของเขาจึงมีเนื้อหาที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรยากาศแห่งความตายและความลึกลับน่ากลัวในดินแดนของการจินตนาการ เช่นงานกวีชื่อ The City in the sea  นอกจากนี้ยังเขียนทฤษฎีการเขียนเรื่องสั้นขึ้นเป็นคนแรก ซึ่งปัจจุบันก็ยังนำมาใช้เป็นหลักในการเขียนเรื่องสั้น 

            กวีและนักเขียนโรแมนติกอเมริกันแม้จะได้รับอิทธิพลจากยุโรป แต่ผลงานก็ยังมีความเป็นเอกลักษณ์ต่างจากยุโรป เช่นผลงานของนักเขียนกลุ่มทรานเด็นทัลลิสม์(Transccendentalism) โดยมีราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน(Ralph Waldo Emerson:ค.ศ.1803-1882) เป็นผู้นำ นักคิดกลุ่มนี้เน้นเรื่องปัจเจกบุคคล สามัญสำนึกและเชื่อว่ามนุษย์สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดไปสู่ภาวะที่เหนือเหตุผล ซึ่งช่วยให้เข้าถึงสัจธรรมและความรู้อันยิ่งใหญ่ได้ด้วย สัญชาตญานของตนเอง กลุ่มนี้จึงเป็นคตินิยมโรแมนติกแนวปรัชญา เช่นงานเขียนของเอเมอร์สัน งานเขียนจะเน้นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ เขากล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิญญาณของมนุษย์กับธรรมชาติ โดยเน้นความคิดมากกว่าสุนทรียรส ทุกสิ่งทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันไม่มีสิ่งใดดีงามได้เพียงลำพัง ทุกสิ่งล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของ ความสมบูรณ์แบบ ดังเช่นนกก็จะร้องเพลงได้ไพเราะเมื่ออยู่ตามธรรมชาติ หากพรากมันจากธรรมชาติเสียงเพลงของนกก็หมดความไพเราะ

 ยุคสัจนิยม (Realism) กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19

ยุคนี้เริ่มปฏิเสธการเน้นอารมณ์หวือหวาเพ้อฝันของกวีและเริ่มถ่ายทอดภาพชีวิตอย่างที่เป็นจริง ไม่พยายามหลีกเร้นจากโลกแห่งความจริงไปสู่ดินแดนในจินตนาการ แนวการเขียนแบบนี้เริ่มเป็นที่นิยมทั้งในยุโรปและอเมริกาดังเช่น

โอโนเร เดอ บัลซัก (Honore de Balzac:ค.ศ.1799-1852) ชาวฝรั่งเศส เขียนนวนิยายและเรื่องสั้นจำนวน 90 เรื่องในหนังสือ สุขนาฏกรรมแห่งชีวิต (The Human Comedy) เนื้อเรื่องส่วนให้ เกี่ยวกับสภาพความเป็นจริงในสังคม มีการโจมตีคนที่มีความละโมบโลภมาก เอาแต่ได้

กุสตาฟ โฟลแบร์ต (Gustave  Flaubert: 1821-1880)  ชาวฝรั่งเศส เป็นนักเขียนที่สะท้อนความขัดแย้งระหว่างความจริงที่น่าเบื่อหน่ายกับความฝันแบบโรแมนติก เช่นนวนิยายเรื่อง มาดามวารี (Madame Bovary) เป็นเรื่องของหญิงสาวที่เบื่อหน่ายชีวิตการแต่งงานของตนเองกับหมอที่บ้านนอกไม่มีความโรแมนติก ต่างจากพระเอกในนิยายประโลมโลกที่เธอชอบอ่านเป็นเหตุให้เธอนอกใจสามี  จากเรื่องนี้ทำให้ กุสตาฟ โฟลแบร์ต ถูกรัฐบาลฝรั่งเศสสั่งปรับข้อหาละเมิดศาสนาและศีลธรรมอันดีงามของประชาชน

ชาลส์  ดิกเกนส์ (Charles Dickens: ค.ศ.1812-1870) ชาวอังกฤษ เป็นนักเขียนที่ถือว่าเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กที่ถูกกดขี่แรงงานในสังคมอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังเน้นสภาพสังคมโรงพยาบาลและบ้านเด็กอนาถาของลอนดอน  ถึงจะมีอารมณ์ขันแต่ก็แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน บางเรื่องก็เกี่ยวกับการปฏิรูปสังคม เช่นนวนิยายเรื่องโอลิเวอร์ ทวิสต์ (Oliver Twist) ซึ่งตีแผ่ชีวิตเด็กสลัม

ทอมัส ฮาร์ดี (Thomas  Hardy:ค.ศ.1840-1928) ชาวอังกฤษ เขียนนวนิยายส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นการมองโลกในแง่ร้าย และกล่าวถึงเรื่องทางเพศ ความรัก และศีลธรรม อย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นนวนิยายโศกนาฏกรรมของมนุษย์ผู้ต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่ในโลก เช่น เรื่อง Far From the Madding Crowd

อิวาน  เตอร์เกอเนฟ (Ivan Turgenev:ค.ศ. 1818-1913) ชาวรัสเซีย นวนิยายเรื่อง A  Sportsman’s  Sketches ซึ่งกล่าวถึงชะตากรรมของชาวนายากจนผู้เป็นทาสติดที่ดิน

เลโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy:ค.ศ.1828-1910) ชาวรัสเซีย  นวนิยายเรื่อเยี่ยมที่สุดคือ สงครามและสันติภาพ (War  and  Peace) ที่อิงประวัติศาสตร์สมัยนโปเลียนยกทัพมารุกรานในรัสเซีย

            วรรณกรรมในยุคโรแมนติกมีทั้งบทกวี นวนิยาย เรื่องสั้นและบทวิจารณ์ โดยเริ่มจากอังกฤษ และขยายไปยังประเทศแถบยุโรปและอเมริกา ต้น ๆ ของยุคเนื้อหาจะเกี่ยวกับความเฟ้อฝัน จินตนาการ ความลี้ลับ ผจญภัย หลีกหนีความจริงในสังคม กล่าวถึงธรรมชาติ ชีวิตที่ราบเรียบ หากแต่ปลาย ๆ ของยุคนิยมเขียนเกี่ยวกับเรื่องที่มีแง่มุมชีวิตจริงของมนุษย์ สะท้อนสภาพชีวิตสังคมในยุคที่มีการปฏิรูปสังคม ในหลาย ๆ ด้าน และความสลับซับซ้อนของตัวละครที่คล้ายกับชีวิตจริงของมนุษย์ 

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น