รวบรวมข่าวสารดนตรีศึกษา ดนตรีวิทยา ดนตรีชาติพันธ์ การศึกษาทางมานุษยดุริยางควิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2556
ทำอย่างไรให้เรียนรู้มากขึ้น....
ทำอย่างไรให้สอนน้อยลง…ได้เรียนรู้มากขึ้น
มีผู้กล่าวว่า “การปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน” เป็นแนวคิดสู่การปฏิบัติที่เริ่มทำมานานมากกว่า 10 ปีแล้ว แต่กลับเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายสำหรับครูส่วนมาก เมื่ออบรมเสร็จแล้ว ก็ขาดการนำไปใช้จริงในห้องเรียนมักเป็นเรื่องสูญเปล่า ดังนั้นการนิเทศภายในของสถานศึกษายังมีความจำเป็นในการจัดการเรียน การสอนของครู ซึ่งการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นกิจกรรมร่วมกัน อย่างใกล้ชิดระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ในส่วนของการเรียนการสอน หากผู้สอนใช้เวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนน้อยลง แต่เพิ่มเวลาให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มขึ้น และผู้เรียนเกิดการเรียน รู้มาก ย่อมถือว่าเป็นประสิทธิภาพในการสอนดีของครูที่เลือกใช้นวัตกรรมการสอนได้ สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน นับเป็นการสอนน้อยลง…ได้เรียนรู้มากขึ้น (Teach less , Learn More) ถ้าเปรียบได้กับทางด้านเศรษฐกิจ เราจะลงทุนน้อยได้กำไรมาก ส่วนผู้สอนได้ใช้ความพยายามเป็นอย่างยิ่ง มีความเหนื่อยยาก และใช้เวลาเพื่อการนี้เป็นจำนวนมากจนไม่มีเวลาที่จะทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่มนุษย์ปกติเขาทำกัน แต่ผลที่ได้ออกมามันไม่มากเหมือนที่ได้ตั้งใจร่วมกันเอาไว้ กล่าวคือ คนเรียนสอบตกมากกว่าสอบได้ ดังผลการทดสอบระดับชาติที่ปรากฏให้ทราบกันแล้ว นับเป็นการลงทุนมากแต่ได้กำไรน้อย และเมื่อพบว่าประสิทธิภาพของการเรียนการสอนน้อยหรือต่ำ
ในศตวรรษที่ 21 ครูต้องการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิผลมากขึ้น ใช้เวลาในการสอนน้อยลงและผู้เรียนมีความเข้าใจมากขึ้น ต้องทำอย่างไรจึงจะยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน ผู้เรียนแต่ละคน มีวิธีการรับรู้ต่างกัน สามารถเรียนรู้ด้วยทักษะที่ต่างกัน มีความถนัดในการทำความเข้าใจที่ไม่เหมือนกัน ครูที่เข้าใจในวิธีการรับรู้และการเรียนรู้ประเภทต่างๆ จะสามารถยก ระดับคุณภาพการเรียนการสอนให้สูงขึ้นได้ โดยใช้เวลาน้อยลงกว่าเดิมและมีประสิทธิผลมากขึ้น มีเวลาในการทำกิจกรรมอื่นๆเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้สัมพันธภาพระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนดีขึ้น มีความเข้าใจกันมากขึ้น ผู้เรียนมีแรงจูงใจในการเรียน มุ่งมั่นในการเรียนรู้ ผลการเรียนดีขึ้น และให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่างๆมากขึ้น นอกจากสอนน้อยแล้ว ที่สำคัญกว่านั้นคือ สอนเท่าที่จำเป็น ครูต้องรู้ว่าตรงไหนควรสอน ตรงไหนไม่ควรสอน เพราะเด็กเรียนได้เอง โดยครูออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนให้เด็กเรียนจากกิจกรรม นั้น แล้วครูชวนเด็กฝึกค้นคว้าหาความรู้ ว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง และยังไม่ได้เรียนรู้อะไรบ้าง ครูจะเข้าใจอัตราความเร็วของการเรียนรู้ของเด็กที่หัวไวไม่เท่ากัน และที่สำคัญยิ่งคือ ให้เด็กบอกว่าอยากเรียนรู้อะไรบ้าง สำหรับครูเอามาออกแบบการเรียนรู้ต่อไป ในส่วนของพฤติกรรม แต่ละคน ต้องการอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้เพื่ออนาคตของศิษย์ทุกคน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น