วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

แผนการเรียนศิลป์ดนตรีความถนัดเฉพาะทางที่คุณลูกเลือกได้

เก่งดนตรีสร้างได้  พา เค้า มา หา เรา  ตอน 2
              จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกมีความถนัดทางดนตรี...มักจะเป็นคำถามที่ติดใจพ่อแม่อยู่เสมอๆ และมักจะถามเมื่อลูกโตเข้าสู่วัยนี้แล้ว...ทั้งนี้ก็เพราะว่า พ่อแม่จะเลี้ยงลูกแบบตั้งรับ ด้วยหวังว่าความถนัดของลูกจะโผล่ออกมาเองจากตัวลูก โผล่มาจากไหนก็ไม่รู้ หากความสามารถหรือความถนัดของลูกไม่โผล่อะไรออกมาเลย ลูกก็ต้องโตขึ้นไปตามยถากรรม ซึ่งเป็นความผิดและเป็นกรรมของลูกแท้ๆ ที่ไม่มีความถนัดอะไรแสดงออกมาเลย  พ่อแม่แบบโบราณ คิดแบบโบราณ เชื่อตามกันมาว่าลูกเล็กเด็กนั้นไร้เดียงสา คือไม่รู้อะไร รอไว้ให้โตใหญ่ขึ้นแล้วค่อยเรียนรู้ บุญกรรมจะเป็นตัวกำหนดให้ลูกมีชีวิตและเป็นไปกับพ่อแม่สมัยใหม่อยู่กับความเจริญ มีเงิน ใช้เงินเลี้ยงลูก ลูกมีพี่เลี้ยงคอยดูแล พี่เลี้ยงก็ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูลูกอย่างดี เอาใจเด็ก ให้เด็กมีความสุขตามที่เด็กต้องการ ความสำเร็จของการเลี้ยงดูก็คือ การปรนเปรอให้เด็กได้รับความพอใจ ... พ่อแม่ทั้งสองแบบนี้จะหาความถนัดของลูกไม่เจอเลย  แต่พ่อแม่ที่รู้วิธีเลี้ยงลูก จะปลูกฝังสิ่งที่ดีให้เข้าไปในตัวลูก อะไรก็ตามที่พ่อแม่เลือกแล้วว่าเป็นสิ่งที่ดีและอยากให้ลูกได้รู้ พ่อแม่จะต้องขวนขวายให้ลูกได้เรียนได้รู้ เมื่ออยากให้ลูกเล่นดนตรีก็ให้ลูกได้ฟังดนตรี อยู่ในบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมของดนตรี ได้เล่นดนตรี เรียนดนตรีตั้งแต่เล็กๆ เมื่อลูกได้มีประสบการณ์แล้ว อาการลูกจะบอกได้ว่า ลูกมีความถนัดมีความชอบอะไร  สิ่งแรกที่พ่อแม่จะต้องทำก็คือ ทำความเข้าใจว่าดนตรีจำเป็นสำหรับลูกเพราะดนตรีเป็นเรื่องของเสียง เสียงมีพลัง พลังสร้างความเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวสร้างความเปลี่ยนแปลง และความเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการพัฒนาดนตรี จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาสมอง ร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคมให้กับเด็ก  เมื่อเข้าใจ เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะให้ลูกเรียนดนตรีแล้ว ลำดับต่อมาจะต้องสร้างประสบการณ์ทางดนตรี ให้กับลูกทั้งโดยตรง คือ ให้ลูกได้เรียนดนตรีจริงๆ และโดยอ้อม คือการให้ลูกได้อยู่ในบรรยากาศสิ่งแวดล้อมทางดนตรี   เด็กได้ยินเสียงดนตรีซ้ำๆ บ่อยๆ จะคุ้นเคยกับเสียงทำให้หูฟังเสียงได้ชัดขึ้น ละเอียดมากขึ้น เด็กมีหูที่ดี (perfect pitch) เป็นประโยชน์สำหรับอาชีพดนตรีของเด็กอย่างยิ่ง ตัวอย่าง ทำไมเด็กอีสานพูดภาษาอีสานถูกต้องสมบูรณ์ ทำไมเด็กสุพรรณพูดเหน่อตามภาษาสุพรรณบุรีได้ถูกต้อง ก็เพราะว่า เด็กได้ฟังภาษาพูดจากต้นฉบับมาแต่กำเนิด จึงพูดได้ตามที่ได้ยินมา   ลำดับสุดท้าย พ่อแม่จะตอบได้เองว่า ลูกมีความถนัดทางดนตรีหรือไม่ โดยไม่ต้องไปถามใครอีกต่อไป     จะส่งเสริมทักษะทางดนตรีให้ลูกได้อย่างไร   ดนตรีเป็นเรื่องของทักษะ ทักษะเป็นเรื่องของการฝึก พูดเป็นภาษาฝรั่งได้ว่า “Practice makes perfect” แปลได้ว่า อัจฉริยะได้มาจากการฝึกทักษะเป็นเรื่องของความชำนาญ มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ท่านเคยพูดไว้ว่าไม่เก่งแต่ชำนาญ ไม่เชี่ยวชาญแต่เคยมือหมายความว่า แม้จะไม่เก่งแต่มีความชำนาญ แม้จะไม่เชี่ยวชาญแต่ทำจนเคยมือ  การสร้างความพร้อมให้กับลูกที่จะเรียนดนตรี ลูกจะต้องมีเครื่องดนตรี มีครูสอนดนตรี มีห้องฝึกซ้อมดนตรี มีเครื่องดนตรี มีแผ่นเสียงที่จะฟังดนตรี มีหนังสือโน้ตเพลงสำหรับการเรียนดนตรี สิ่งเหล่านี้แม้จะหายากในเมืองไทย แต่ปัจจุบันก็อยู่ในวิสัยที่จะหาได้ เมื่อลูกมีความพร้อมทางกายภาพแล้ว ก็ต้องสร้างความพร้อมภายใน ให้ลูกอยากเรียนอยากฝึกซ้อมดนตรี  เมื่อลูกอายุยังน้อย จะต้องสร้างบรรยากาศการฝึกซ้อมดนตรีอย่างสม่ำเสมอ สร้างลูกให้เห็นความสำคัญของการฝึกซ้อมดนตรี เมื่อฝึกซ้อมดนตรีแล้วให้สังเกตว่าเกิดอะไรขึ้น ฝึกซ้อม 1 ชั่วโมงทุกวันเกิดอะไรขึ้น ฝึกซ้อม 2 ชั่วโมงทุกวัน เกิดอะไรขึ้น ฝึกซ้อม 3 ชั่วโมงทุกวันเกิดอะไรขึ้น และถ้าฝึกซ้อม 5 ชั่วโมงทุกวัน จะเกิดอะไรขึ้น  ความชำนาญที่เป็นผลมาจากการฝึกซ้อมจะเป็นคำตอบของการเรียนดนตรี การฝึกซ้อมดนตรีมาดี เมื่อขึ้นเวทีก็จะได้รับการปรบมือ การฝึกซ้อมมาดีเมื่อเรียนกับครูก็จะได้คำชื่นชม การฝึกซ้อมมาดีเมื่อไปเล่นดนตรีให้ใครฟัง หรือมีใครบังเอิญได้ยินก็จะได้รับคำกล่าวขวัญถึง สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นส่งเสริมให้เด็กอยากเรียนดนตรี
และหากลูกได้มีโอกาสเรียนรวม เล่นร่วมวงกับเพื่อนๆ ก็จะสร้างความสนุกสนานและกำลังใจในการเรียนดนตรีมากขึ้น เพราะการเรียนดนตรีเฉพาะกับครู 'เดี่ยว' บางครั้งเป็นเรื่องที่น่าเบื่อสำหรับเด็ก  การที่เด็กได้ชมการเล่นดนตรีของนักร้อง นักดนตรีที่เด็กชื่นชอบ ก็เป็นการสร้างบรรยากาศในการเรียนดนตรีที่ดีมากอีกอย่างหนึ่ง เพราะเป็นตัวอย่างที่เด็กปรารถนา เป็นความใฝ่ฝันที่เด็กอยากเป็น และอยากเลียนแบบ เมื่อเด็กได้เห็นนักดนตรีเก่งๆ แสดงสด จะทำให้มีพลังที่อยากจะเรียน อยากจะเป็นนักดนตรีอย่างไม่น่าเชื่อ  รวมทั้งกายที่เด็กได้ออกแสดงดนตรีในที่สาธารณะ ได้แต่งตัว ใส่ชุดแสดงที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ ก็สร้างความภูมิใจให้เด็ก ขณะเดียวกัน ตอกย้ำความอยากเรียนดนตรีให้เพิ่มมากขึ้น เพราะเด็กทุกคนอยากเด่น อยากแตกต่าง อยากเท่ห์ อยากได้รับคำชื่นชม (บ้ายอ) แต่คำชื่นชมต้องอยู่บนพื้นฐานที่เป็นจริง  เลือกดนตรีประเภทไหนให้ลูกได้ลองเล่น   การที่พ่อแม่จะเลือกดนตรีประเภทไหนให้ลูกเรียนนั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากพ่อแม่เองก็ไม่รู้อะไร ความไม่รู้ทำให้เลือกยาก เพราะอาศัยจมูกคนอื่นหายใจ ต้องอาศัยความรู้ของคนอื่น ต้องเลือกตามคำแนะนำของผู้อื่น สิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับพ่อแม่ที่ไม่รู้อะไร ให้เตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อว่าจะได้มีเวลาหาข้อมูล ฟังคำแนะนำจากหลายๆ คน ดูมาก อ่านมาก ฟังมาก จากความไม่รู้ก็จะค่อยๆ เพิ่มพูนความรู้มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรู้มากขึ้นแล้วค่อยหาคำตอบว่าลูกควรเลือกเรียนเครื่องดนตรีอะไร     เมื่อจะเลือกเครื่องดนตรี มี 2 กรณีด้วยกัน กรณีแรก 'ชีวิตที่ไม่มีทางเลือก' วิธีนี้พ่อแม่ให้ลูกเล่นเครื่องดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่งก็ได้ตั้งแต่เล็กๆ โดยลูกไม่มีทางเลือก เมื่อไม่มีทางเลือก ก็ต้องทำในสิ่งที่มีอยู่ให้ดีที่สุด ความตั้งใจของเด็กจะมีสูง มีความมุ่งมั่น ไม่วอกแวก เพราะมีอยู่ทางเดียว ซึ่งมักจะเกิดกับครอบครัวที่ไม่มีทางเลือก แต่วิธีนี้ก็ไม่จำเป็นว่า จะต้องเป็นครอบครัวที่ไม่มีทางเลือกเท่านั้น  กรณีที่สอง 'พ่อแม่ที่พอมีฐานะ' ครอบครัวมีทางเลือกและโดยธรรมชาติแล้วพ่อแม่มักจะหาทางเลือกให้กับลูก     เมื่อชีวิตมีทางเลือก จึงมีอยู่หลายทาง พ่อแม่ลูกใช้เวลาในการเลือกนาน บางครั้งนานจนไม่เลือกทางใดๆ เลย เล่นได้หลายเครื่องดนตรี เล่นได้ไม่ดีสักอย่าง รักพี่เสียดายน้อง ลงทุนเยอะเพราะต้องเรียนเยอะ เสียเวลาเยอะเพราะหลากหลายเครื่องดนตรี ตัดสินใจช้าเพราะคิดว่ายังมีเวลาตัดสินใจ ปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ เพราะต้องคอยดูใจว่ารัก ชอบอะไร เล่นดนตรีหลายๆ เครื่องเพื่อเผื่อเลือก  บางครั้งการมีทางเลือกมากก็ไม่เป็นกำไรเหมือนกัน ซ้ำร้ายยังเป็นภาระและเป็นเครื่องถ่วงเวลาในการตัดสินใจด้วยซ้ำไป
หากพ่อแม่ใช้วิธีตั้งรับในการตัดสินใจ จึงต้องทำความเข้าใจให้ดี หากจะเลือกในฐานะผู้ที่มีความรู้ทางด้านการศึกษา และพัฒนาการของเด็ก ควรให้เด็กมีประสบการณ์กับเครื่องดนตรีหลากหลายชิ้น แล้วตัดสินใจให้เร็ว มุ่งมั่นที่จะเรียนชิ้นใดชิ้นหนึ่งได้เร็วก็จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเด็ก...ยิ่งเล็กยิ่งดี ยิ่งเร็วยิ่งกำไร   อัจฉริยะมาจากการฝึกยิ่งทำยิ่งมีครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น