วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

วรรณกรรมข้ามชาติพันธ์ จากรามายณะ ถึงรามเกียรติ์ มุ่งสู่พระลักพระลาม


ถอดบทเรียนเขียนบทความโครงการภาคสนามทางมานุษยดุริยางควิทยา
ณ เมืองหลวงพระบาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
 ระหว่างวันที่ 3  - 6 เมษายน 2559

โดย นายยงยุทธ เอี่ยมสอาด  

วรรณกรรมข้ามชาติพันธ์ จากรามายณะ ถึงรามเกียรติ์  มุ่งสู่พระลักพระลาม

วรรณกรรมถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นการแลกเปลี่ยน  เผยแพร่  และถ่ายโยงทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังแฝงไว้ซึ่งวิถีความคิด คติชนที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มชาติพันธ์ เศรษฐกิจ และการเมืองของแต่ละสังคม   มหากาพย์รามายณะของอินเดีย มีอิทธิพลต่อวรรณกรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในส่วนของประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว    มีการเลือกรับและปรับเปลี่ยนตามความเชื่อของท้องถิ่นและกลายเป็นวรรณกรรมเรื่อง พระลักพระลามและพระรามชาดกในวรรณกรรมเรื่องดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นความเชื่อที่ผสมผสาน ระหว่างศาสนาพุทธ พราหมณ์ และการนับถือผี ผ่านทางคติการดำรงชีวิตของชาวลาว เช่น การให้เกียรติผู้เป็นน้อง การปฏิบัติตามจารีต ทั้งยังสื่อให้เห็นถึงลักษณะการเมืองการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ และวิถีการดำเนินชีวิตของสังคมลาว ณ ขณะนั้น เป็นต้น นอกจากนี้พระลักพระลาม ยังได้แทรกตำนานและนิทานประจำถิ่น เช่น ตำนานชื่อบ้านนามเมือง คติความเชื่อเรื่องพญาแถน นิทานการสร้างเมืองเป็นต้นการนำความเชื่อท้องถิ่นผสมผสานกับวรรณกรรมซึ่งได้รับอิทธิพลจาก ภายนอก ถือเป็นการปรับตัวของวรรณกรรมต่อบริบททางสังคมในแต่ละพื้นที่
 ในการถอดบทเรียนโครงการภาคสนามทางมานุษยดุริยางควิทยาเรื่องพระลักพระลามนั้น ช่วยให้เห็นเครือข่ายลักษณะร่วมทางวรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทและผู้คนในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ช่วยส่งเสริมการศึกษาด้านภาษา เพื่ออนุรักษ์วรรณกรรมพื้นบ้าน อีกทั้งยังเป็นการศึกษาสีสันของท้องถิ่นและทำให้เห็นรายละเอียดของแต่ละสังคม ผ่านเบื้องลึกเบื้องหลังทางการเมืองสังคมและวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ความสำคัญของพระลักพระลามที่มี ต่ออาเซียนนั้นพระลักพระลามได้ สะท้อนภาพของการผสมผสานระหว่างศาสนา เพื่อให้เห็นการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในอาเซียนอีกทั้งยังสื่อให้เห็นถึงการติดต่อข้ามพรมแดนของ ผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมผ่านลักษณะร่วมทางวรรณกรรมนอกจากนี้การเรียนรู้เรื่องราวของแต่ ละประเทศในภูมิภาคผ่านวรรณกรรม ยังช่วยให้เข้าใจวิถีวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านได้ดียิ่งขึ้น

รามายณะ รามเกียรติ์ หรือ พระลักพระลาม ได้สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ร่วมของอาเซียน ที่ช่วยผูกโยงประชาคมให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นนอกจากนี้วรรณกรรมดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงการ เผยแพร่การถ่ายโยงการตีความเพื่อสอดคล้องวัฒนธรรมทางสังคมและวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ นำมาสู่ความเข้าใจและเรียนรู้ระหว่างกัน
                                         
                                                        ภาพ 1 โครงการภาคสนามทางมานุษยดุริยางควิทยา ณ หลวงพระบาง
            จากการศึกษาโครงการภาคสนามทางมานุษยดุริยางควิทยา ณ เมืองหลวงพระบาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและการเข้าชมการแสดงพระลักพระลามข้าพเจ้าได้ ถอดบทเรียน  และขอนำเสนอทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ดังต่อไปนี้


ทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม (Cultural  Diffusion Theory)

ทฤษฎีนี้จะเน้นถึงกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่ใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เรียกว่า “ลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์” (Historical Particularism) นักมานุษยวิทยาในแนวความคิดนี้คือ ฟรานซ์ โบแอส (Franz Boas) เป็นนักมานุษยวิทยาชาวเยอรมันทำงานในตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกาเน้นว่า“การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมเป็นกระบวนการที่มีลักษณะสำคัญของ วัฒนธรรมหนึ่งแพร่กระจาย ไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง โดยปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมใหม่” นอกจากนั้นยังเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดแนวคิดที่เชื่อว่า “วัฒนธรรมสามารถวัดได้ โดยนำวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาเปรียบเทียบกันและพิจารณาคุณลักษณะที่สูงกว่าหรือด้อยกว่าของ แต่ละวัฒนธรรม แต่ยังคงเชื่อว่าวัฒนธรรมนั้นไม่มีวัฒนธรรมใดที่ดีกว่าหรือเลวกว่ากัน”
เอช.จี.บาร์เนท(H.G.Barnett)นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันผู้ซึ่งสนใจศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวกับนวัตกรรม (Innovation) ที่ถือว่าเป็นตัวแทนจากวัฒนธรรมหนึ่งและมีการถ่ายทอดไปยังวัฒนธรรม อื่น ในงานเขียนชื่อ “Innovation : The Basis of Cultural Change” (1953) กล่าวไว้ว่านวัตกรรมก็คือ ความคิดหรือพฤติกรรมหรือสิ่งใดๆก็ตามที่เป็นของใหม่ เพราะมันแตกต่างทางด้านคุณภาพไปจากรูปแบบที่มีอยู่ บาร์เนทเชื่อว่า “วัฒนธรรมเปลี่ยนไปเพราะนวัตกรรมแต่ขณะเดียวกันวัฒนธรรมบางวัฒนธรรมอาจเป็นตัวถ่วงหรือไม่สนับสนุนให้เกิดมีนวัตกรรมก็ได้ฉะนั้นเขาจึงเสนอว่าจำเป็นต้องมีวิธีการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมขึ้นในสังคมหรือวัฒนธรรม” เอฟเวอเรท เอ็ม. โรเจอร์ (Everett M. Rogers) ผู้เขียนงานชื่อ “Diffusion of Innovations”ได้เน้นว่า“การเปลี่ยนแปลงสังคมส่วนใหญ่เกิดจากการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามามากกว่า เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นภายในสังคม และนวัตกรรม (Innovation) ที่ถ่ายทอดกันนั้นอาจเป็นความคิด (Idea) ซึ่งรับมาในรูปสัญลักษณ์ (Symbolic Adoption) ถ่ายทอดได้ยาก หรืออาจเป็นวัตถุ (Object) ที่รับมาในรูปการกระทำ (Action Adoption) ซึ่งจะเห็นได้ง่ายกว่า” โรเจอร์ ยังได้กล่าวอีกว่า นวัตกรรมที่จะยอมรับกันได้ง่าย ต้องมีลักษณะ 5 ประการ ได้แก่
(1) มีประโยชน์มากกว่าของเดิม (Relative Advantage)
(2) สอดคล้องกับวัฒนธรรมของสังคมที่รับ (Compatibility)
(3) ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อนมาก (Less Complexity)
(4) สามารถแบ่งทดลองรับมาปฏิบัติเป็นครั้งคราวได้ (Divisibility)  
(5) สามารถมองเห็นเข้าใจง่าย (Visibility)     
นอกจากนั้นโรเจอร์ยังได้นำเสนอขั้นตอนการตัดสินใจรับเอานวัตกรรมใหม่อีก 5 ขั้นตอนได้แก่
(1) ขั้นตอนในการรับรู้นวัตกรรม (Awareness)
(2) เกิดความสนใจในนวัตกรรมนั้นๆ (Interest)
(3) ประเมินค่านวัตกรรม (Evaluation)
(4) ทดลองใช้นวัตกรรม (Trial)  
(5) การรับหรือไม่รับเอานวัตกรรม (Adoption or Refection)
โดยผู้รับนวัตกรรมอาจมีทั้งผู้รับเร็วหรือช้าแตกต่างกันไปสรุปทฤษฎีการแพร่กระจายทาง วัฒนธรรมนี้จะช่วยอธิบายวิธีการ ขั้นตอน ของการเผยแพร่วัฒนธรรมหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง ซึ่งจะต้องคำนึงถึงข้อเหมือนและข้อต่างของวัฒนธรรมทั้งสองเป็นสำคัญ
จากทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมข้าพเจ้าได้ถอดบทเรียนในมุมมองของ วรรณกรรม ข้ามชาติพันธ์ จากรามายณะ  มุ่งสู่รามเกียรติ์  ถึงพระลักพระลาม  ดังนี้



วรรณกรรมข้ามชาติพันธ์  จากรามายณะ

ไม่มีวรรณกรรมของอินเดียโบราณเรื่องใดจะยิ่งใหญ่เทียบเท่าได้กับมหากาพย์ชิ้นเอกอย่าง "มหาภารตะ” และ "รามยณะ”ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาพราหมณ์ เป็นทั้งบันทึกทางประวัติศาสตร์และวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลกและแม้จะผ่านยุคสมัยอันยาวนาน นับพันปีแต่มหากาพย์ทั้งสองเรื่องนี้ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในฐานะบทประพันธ์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลก

เชื่อว่า "รามยณะ” แต่งขึ้นก่อนมหาภารตะในชมพูทวีปเมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว เป็นนิทานที่เล่าสืบต่อกันมายาวนานเกี่ยวกับการทำศึกสงครามระหว่างฝ่ายพระรามกับทศกัณฐ์ โดยถูกรวบรวมขึ้นเป็นภาษาสันสกฤตด้วยบทร้อยกรองประเภทฉันท์ที่เรียกว่า "โศลก” จำนวน 24,000 โศลก แบ่งออกเป็นทั้งหมด 7 ภาค
ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างรู้จักและคุ้นเคยกับมหากาพย์มหาภารตะและรามายณะ ในฐานะคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะในกลุ่มนักบวชและชนชั้นปกครองซึ่งมีศาสนาพราหมณ์ ฮินดู เป็นเครื่องพยุงสถานะหลักฐานที่เห็นได้ชัดถึงอิทธิพลของมหากาพย์ทั้งสองคือเทวสถานอายุนับพันปี หลายแห่งในเอเชียตะ วันออกเฉียงใต้ที่สลักเรื่องราวของมหากาพย์ทั้งสองเรื่องนี้ไว้ เช่น ภาพสลักรามายณะที่ปรัมบานันในอินโดนีเซียและภาพจำหลักของมหากาพย์ทั้งมหาภารตะและ รามายณะยาว 50 เมตร ที่ระเบียงคดทางเข้าของปราสาทนครวัด ในกัมพูชา

ย้อนไปเมื่อราว 1,500 - 1,800 ปีก่อน อารยะธรรมจากอินเดียถูกนำเข้ามาโดยพ่อค้าและนักบวชที่เดินทางด้วยเรือข้ามมหาสมุทรเพื่อค้าขายและเผยแผ่ศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับนำเอามหากาพย์ทั้งสองเรื่องมาแพร่เข้ามาใน ภูมิภาคนี้ด้วยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มหาภารตะยังคงมีอิทธิพลเด่นชัดที่สุดในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะ บาหลีเป็น ชุมชนที่ยังรักษาวัฒนธรรมฮินดูเอาไว้ได้เข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่งในโลก หลักปรัชญาอินเดียกับความเชื่อของท้องถิ่นสามารถผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืน
ส่วนหนึ่งยังมีอิทธิพลของมหาภารตะแทรกอยู่รอบตัวเสมอ ดังเช่นการแสดง "บารอง” นาฏศิลป์ที่ผสมผสานระหว่างเรื่องราวในมหาภารตะ นางทุรคา กับตำนานผีพื้นเมืองเข้าไว้ด้วยกัน

สำหรับเขมรโบราณที่เชื่อว่าได้รับอิทธิพลของอินเดียผ่านทางชวาคัมภีร์มหาภาระตะนับว่ามี อิทธิพลต่อสังคมเขมรอย่างมากโดยเป็นแรงบันดาลใจให้นำชื่อบุคคลในคัมภีร์นี้มาใช้ตั้งชื่อศิวลึงค์ ประจำเทวาลัย การตั้งราชทินนามให้แก่ขุนนาง รวมทั้งสถานที่สำคัญต่าง ๆ แต่เมื่อเปรียบเทียบความนิยมแล้วในศิลปะเขมรเรามักพบภาพสลักการเล่าเรื่องราวจากรามายณะมากกว่ามหาภารตะ ตรงกันข้ามกับอินโดนีเซียที่ตามเทวสถานต่าง ๆ จะพบภาพสลักทั้งมหาภารตะและภาพสลักรามยณะมากพอกัน
            "รามายณะ” ได้รับความนิยมแพร่หลายกลายเป็นวรรณคดีที่มีการดัดแปลง เล่าใหม่ไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งไทย ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละพื้นที่ได้เพิ่มเติมรายละเอียดจนแตกต่างออกไปจากต้นฉบับเดิม แต่ยังคงเรื่องราวเกี่ยวกับการทำศึกสงครามระหว่างฝ่ายพระรามกับทศกัณฐ์


                    
                   ภาพที่ 2 หนังใหญ่ก่อนเป็นโขน                                                 ภาพที่ 3 การเชิดหนังใหญ่

"รามเกียรติ์” เป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของไทย ที่มีต้นเค้ามาจาก "รามายณะ” โดยได้รับอิทธิจากเขมรโบราณผ่านเข้าสู่รัฐละโว้ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นเมืองร่วมสมัยเดียวกับ นครวัด ก่อนจะสืบทอดสู่กรุงศรีอยุธยาในยุคต่อมา ยุคแรกของ "รามเกียรติ์” ที่รับจากเขมรเป็นสิ่งที่อยู่เฉพาะในหมู่ผู้ปกครองโดยแสดงผ่านพิธีกรรมการเล่นโบราณ เช่น "หนังใหญ่” หนังใหญ่ได้พัฒนาต่อมาจนกลายเป็นการแสดงที่เรียกว่า "โขน” ซึ่งภายหลังได้เผยแพร่ลงสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง และแม้จะมีรากเหง้าจากอินเดียแต่การแสดงได้ถูกสร้างให้เป็นแบบฉบับเฉพาะของเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ที่ไม่สามารถพบได้ในอินเดีย

คำถามที่น่าสนใจก็คือ เหตุใดในสังคมยุคต่อ ๆ มาในเขตแผ่นดินใหญ่ (Main Land) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะในสังคมไทยโบราณจึงเลือกยกย่องความยิ่งใหญ่ของมหากาพย์รามายณะขณะที่มหาภารตะกลับค่อยๆลดบทบาทความสำคัญลงไปอาจเพราะรามายณะมีเนื้อหาที่ แสดงออกถึงฝ่ายธรรมกับฝ่ายอธรรม สามารถจำแนกเป็นสีขาวและสีดำได้อย่างชัดเจน
อีกทั้งรามายณะยังสอดแทรกระบบความสัมพันธ์ต่างๆที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้ปกครองหรือกษัตริย์ ซึ่งต้องการแผ่อำนาจสู่การเป็น"จักรพรรดิราช”ทำให้เลือกที่จะยกย่องรามายณะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ของอุดมการณ์ทางการเมืองในการปกครองราช อาณาจักร

จากยุคกรุงศรีอยุธยาวรรณกรรมรามกียรติ์ได้สืบทอดมาสู่ยุครัตนโกสินทร์ นับเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของรามายณะในประเทศไทย โดยรัชกาลที่ 1 ได้ทรงรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ซึ่งมีมาแต่เดิมและทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่เพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ในสังคมอินเดียทั้ง "พระราม” ,"พระลักษณ์” และ”นางสีดา” รวมถึงลิงที่เป็นทหารเอกอย่าง"หนุมาน”ล้วนได้รับยกให้เป็นเทพอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้คนสักการะนับถือจำนวนมากแต่หลังจากดัดแปลงให้เป็นวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ของไทยบทบาทของตัวละครจำนวน มากได้ถูก เปลี่ยนไปด้วย หนุมานในรามายณะ คือเทพศักดิ์สิทธิ์ที่ถือพรหมจรรย์เคร่งครัด ในหัวใจหนุมานมีเพียงพระรามและนางสีดาที่มอบความจงรักภักดีให้เท่านั้นขณะที่หนุมานใน รามเกียรติ์ของไทยกลับมีบุคลิกเจ้าชู้และมีภรรยามากมายทั้งนางฟ้า ยักษ์ แม้กระทั่งนางเงือก ไม่รวมนางสนมที่พระรามได้มอบเป็นของกำนัลอีก 5,000 คน เมื่อครั้งที่เอาชนะศึกกับทศกัณฐ์ได้

นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงจากมหากาพย์อันยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย มาสู่การกำหนดบทบาทและหน้าที่ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับค่านิยมของท้องถิ่น ซึ่งที่สุดแล้วรามเกียรติได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมให้กับสังคมไทยโดยไม่รู้ตัว
ความสำคัญของการศึกษาและเรียนรู้มหากาพย์อันยิ่งใหญ่ของโลกอย่างลึกซึ้ง

รามายณะ (สันสกฤต: रामायण) เป็นวรรณคดีประเภทมหากาพย์ของอินเดีย เชื่อว่าเป็นนิทานที่เล่าสืบต่อกันมายาวนานในหลากหลายพื้นที่ของชมพูทวีป แต่ผู้ได้รวบรวมแต่งให้เป็นระเบียบครั้งแรกคือฤๅษีวาลมีกิ เมื่อกว่า 2,400 ปีมาแล้ว โดยประพันธ์ไว้เป็นบทร้อยกรองประเภทฉันท์ภาษาสันสกฤต เรียกว่า โศลก จำนวน 24,000 โศลกด้วยกัน โดยแบ่งเป็น 7 ภาค (กาณฑ์ หรือ กัณฑ์) ดังนี้
1. พาลกัณฑ์
2. อโยธยากัณฑ์
3. อรัณยกัณฑ์
4. กีษกินธกัณฑ์
5. สุนทรกัณฑ์
6. ยุทธกัณฑ์
7. อุตตรกัณฑ์
รามายณะเป็นวรรณคดีที่มีการดัดแปลง เล่าใหม่ และแพร่หลายไปในหลายภูมิภาคของเอเชีย โดยมีเนื้อหาแตกต่างกันไป และอาจเรียกชื่อแตกต่างกันไปด้วย เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการทำศึกสงครามระหว่างฝ่าย พระราม กับ ฝ่าย ทศกัณฐ์ (ยักษ์) โดยพระรามจะมาชิงตัว นางสีดา (มเหสีของพระราม) ซึ่งถูกทศกัณฑ์ลักพาตัวมา ทางฝ่ายพระรามมีน้องชาย ชื่อ พระลักษมณ์ และ หนุมาน (ลิงเผือก) เป็นทหารเอกช่วยในการทำศึก รบกันอยู่นานท้ายที่สุดฝ่ายยักษ์ก็ปราชัย
รามายณะเมื่อแพร่หลายในหมู่ชาวไทย คนไทยได้นำมาแต่งใหม่ก็เรียกว่า รามเกียรติ์ ซึ่งมีหลายฉบับด้วยกัน ส่วนในหมู่ชาวลาวนั้น เรียกว่า พะลักพะลาม (พระลักษมณ์พระราม)

 รามายณะสมบัตินานาชาติ
       เรื่องราวของพระรามได้รับการเผยแพร่ไปสู่ดินแดนอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลศาสนาฮินดูและวัฒนธรรมอินเดีย เช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา ไทย เป็นต้น
       
       ยกตัวอย่างเช่น อินโดนีเซีย ที่พรหมมานัน เกาะชวา มีเรื่องราวเกี่ยวกับรามายณะและมหาภารตะเยอะมาก ที่พรหมมานันทุกวันนี้เขามีการแสดงรามายณะกลางแจ้งกันอยู่ มีเทศกาลช่วงหน้าแล้ง ของที่ระลึก สิ่งที่เป็นการแสดง เช่น วายังกุลิต ตัวใหญ่คือพระราม ตัวเล็กคือสีดา แม้อินโดนีเซียจะนับถือศาสนาอิสลาม แต่คนอินโดมีรากฐานวัฒนธรรมฮินดู คนทุกวันนี้ก็ยังรู้จักรามะและสีตา ที่นครวัดมีภาพแกะสลักหินเยอะมาก
       ในประเทศไทยเองที่ทับหลังกับหน้าบันที่ปราสาทหินของไทยมีภาพจำหลัก ที่พนมรุ้ง ที่พิมาย ที่น่าแปลกคือเรารู้ได้ว่ามิใช่รามเกียรติ์แต่เป็นรามายณะ เพราะตอนาคบาศเป็นตอนที่นิยมกันมาก มีภาพมนุษย์ 2 คนถูกนาครัด ถ้าเป็นรามเกียรติ์จะเป็นพระลักษมณ์เพียงผู้เดียวที่ถูกนาคบาศ แต่ฉบับอินเดียพระรามต้องศรนาคบาศด้วย
       ที่วัดวิษณุในกรุงเทพฯ ก็จะเป็นประติมากรรม มีเทวรูปพระวิษณุกับลักษมี ช่องทางซ้าย-ขวาก็แสดงถึงอวตารปางสำคัญ นี่ก็มีปางที่เป็นพระราม แล้วก็มีหนุมานด้วย
       นอกจากที่ปรากฏในรูปประติมากรรม จิตรกรรม ในปัจจุบันก็มีการจัดการประชุมรามายณะ นานาชาติอยู่เป็นประจำด้วย แม้ในประเทศที่ไม่ได้รับวัฒนธรรมฮินดู เรื่องรามายณะเป็นที่จับใจคนไปทั่วโลก
       มหากาพย์ นั้นเป็นบทประพันธ์ที่ใช้กาพย์แต่งขึ้น โดยใช้เรื่องราวปรัมปราเล่าสืบต่อกันมา เรียกว่า อิติหาส (อิติ+หา+อาส แปลว่า เป็นเช่นนั้นจริงๆ หมายถึงวิชาประวัติศาสตร์นั่นเอง)
รามายณะแปลว่าการไปของพระรามซึ่งหมายถึงการเดินทางบุกป่าฝ่าดงของพระรามในการ ติดตามหานางสีดานั่นเอง ต่อมาเรื่องราวของมหากาพย์นี้ได้เผยแพร่ไปในประเทศแถบเอเชียอาคเนย์ ทำให้เกิดการแต่งวรรณคดีเรื่องนี้ขึ้นในหลายชาติเช่น อินโดนิเซีย มลายู กัมพูชา ลาว พม่า และไทย สำหรับไทยนั้นได้แต่งเติมและสร้างเรื่องใหม่ให้เหมาะสมกับขนบธรรมเนียมฝ่ายกรุงศรีอยุธยาในชื่อว่า รามเกียรติ์ สำหรับใช้ในการแสดงโขน เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของ พระราม กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยอาศัยเค้าโครงมาจากคัมภีร์รามายณะ
สำหรับคัมภีร์รามายณะนั้นได้ใช้เป็นหลักในการสร้างศรัทธาของกษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรของชนชาติสยามมาแต่โบราณ สำรวจพบแหล่งโบราณสถานหลายแห่งเชื่อว่า ได้มีการนับถือพระวิษณุ พระอิศวร และพระพิฆเนศขึ้นในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะดินแดนทางตอนใต้ จนในที่สุดชนชาติไทยได้สร้างวรรณคดีเรื่อง "รามเกียรติ์" ขึ้นเองจากเค้าโครงเรื่องรามายณะ และแต่งให้รามเกียรติ์เป็นต้นแบบของ พระนารายณ์ (พระวิษณุ) พระผู้เป็นเจ้าของพราหมณ์ฝ่ายไทยโดยเฉพาะ จึงแตกต่างจากต้นฉบับรามายณะที่ชาวฮินดูหรือพราหมณ์ใช้เป็นบทสวด (โศลก) ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้นได้มีการเรียนรู้ถึงเรื่อง พระนารายณ์สิบปาง เพิ่มเติมอีกด้วย

วรรณกรรมข้ามชาติพันธ์    ถึงรามเกียรติ์
รามเกียรติ์ เป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของไทย โดยมีต้นเค้าจากวรรณคดีอินเดีย คือมหากาพย์รามายณะที่ฤๅษีวาลมีกิ ชาวอินเดีย แต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต เมื่อประมาณ 2,400 ปีเศษ  เชื่อว่าน่าจะเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ จากอิทธิพลของลัทธิพราหมณ์ฮินดู โดยแฝงไว้ซึ่งคติยกย่องพระมหากษัตริย์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอวตารของพระนารายณ์
สำหรับเรื่องรามเกียรติ์ ของไทยนั้น มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับให้ละครหลวงเล่น ปัจจุบันมีอยู่ไม่ครบ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีมาแต่เดิมให้ครบถ้วน สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อให้ละครหลวงเล่น โดยได้ทรงเลือกมาเป็นตอน ๆ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ โดยใช้ฉบับของอินเดีย (รามายณะ) มาพระราชนิพนธ์ ใช้ชื่อว่า "บ่อเกิดรามเกียรติ์"

ประวัติรามเกียรติ์
ต้นเค้าของเรื่องรามเกียรติ์น่าจะมาจากเรื่องรามายณะ ของอินเดีย ซึ่งเป็นนิทานที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้ต่อมาอารยธรรมอินเดียได้แพร่หลายเข้ามาใน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ่อค้าชาวอินเดียได้นำอารยธรรมและศาสนาเข้ามาเผยแพร่ด้วย ทำให้เรื่องรามายณะแพร่หลายไปทั่วภูมิภาค กลายเป็นนิทานที่รู้จักกันเป็นอย่างดี และได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของประเทศนั้นจนกลายเป็นวรรณคดีประจำชาติไป ดังปรากฏในหลายๆชาติ เช่น ลาว พม่า เขมร มาเลเซีย อินโดนีเซีย ล้วนมีวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์เป็นวรรณคดีประจำชาติ

โครงเรื่องรามเกียรติ์
เหตุเกิดเมื่อนนทกไปเกิดใหม่เป็นทศกัณฐ์มีสิบหน้ายี่สิบมือตามคำพระนารายณ์ก่อนนั้นเมื่อ พระนารายณ์สังหารนนทกแล้ว ได้ไปขอพระอิศวรจะให้เหล่าเทวดา และตนไปตามสังหารนนทกในชาติหน้า หลังจากนั้น ทหารเอกทั้งห้า จึงเกิดตามกันไป ได้แก่
            หนุมาน  เกิดจากเหล่าศาสตราวุธของพระอิศวรไปอยู่ในครรภ์นางสวาหะ
         สุครีพ  เกิดจากพระอาทิตย์แล้วโดนคำสาปฤๅษีที่เป็นพ่อของนางสวาหะ
องคต  เป็นลูกของพาลีที่เป็นหลานของสุครีพ
ชมพูพาน  เกิดจากการชุบเลี้ยงของพระอินทร์
นิลพัท  เป็นลูกของพระกาฬ ฝ่ายพระรามและฝ่ายทศกัณฑ์ได้เกิดศึกชิงนางสีดา จนไพร่พลฝ่ายยักษ์ล้มตายเป็นจำนวนมาก และสุดท้าย ทศกัณฑ์เองก็ถูกพระรามฆ่าตายเช่นเดียวกัน

ความแตกต่างระหว่างรามายณะ  และรามเกียรติ์ มีหลายประการ เช่น
1.ในรามายณะหนุมานเป็นอวตารปางหนึ่งของพระอิศวรชื่อรุทรอวตารหนุมานในรามายณะ ไม่เจ้าชู้เหมือนหนุมานในรามเกียรติ์ซึ่งแสดงค่านิยมของชายไทยโบราณอย่างเห็นได้ชัด
2. ในรามายณะชาติก่อนทศกัณฑ์กับกุมภกัณฑ์เป็นนายทวารเฝ้าที่อยู่ของพระนารายณ์ชื่อ ชัยกับวิชัย ซึ่งพระนารายณ์ห้ามไม่ให้ใครเข้าในเวลาที่ทรงเกษมสำราญ ต่อมามีฤๅษีมาขอเข้าพบพระนารายณ์นายทวารทั้งสองไม่ยอมให้เข้าฤๅษีจึงสาปให้ชัยกับวิชัยต้องไป เกิดในโลกมนุษย์ได้รับความทรมานพวกเขาจึงไปขอความเมตตาจากพระนารายณ์เพราะตนเพียงแต่ทำตามคำสั่งเท่านั้น พระนารายณ์บอกว่าแก้คำสาปฤๅษีไม่ได้แต่บรรเทาให้เบาบางลงได้ โดยให้ทั้งสองไปเกิดเป็นยักษ์เพียงสามชาติและทั้งสามชาติพระนารายณ์จะลงไปสังหารทั้งสองเองเพื่อให้หมดกรรม ชาติแรกชัยกับวิชัยเกิดเป็นหิรัณยักษ์กับหิรัณยกศิปุ พระนารายณ์อวตารเป็นหมู และนรสิงห์ไปปราบ ชาติที่สองนายทวารทั้งสองเกิดเป็นทศกัณฑ์กับกุมภกัณฑ์ พระนารายณ์อวตารเป็นพระรามไปปราบ ชาติที่สามนายทวารทั้งสองเกิดเป็นพญากงส์ และศรีศุภปาน พระนารายณ์อวตารเป็นพระกฤษณะไปปราบ
3.กุมกรรณในรามายณะมีลักษณะคล้ายกุมภกรรณในรามเกียรติ์คือเป็นคนซื่อสัตย์เที่ยงธรรม แต่ในรามายณะ กุมภกรรณได้เคยขอพรพระพรหมให้ตนเองมีสภาพคล้ายพระวิษณุ คือนอนหลับอยู่เป็นเวลานานจึงตื่นเพียงวันเดียว และหยั่งรู้ความเป็นไปของโลกในการนอนหลับนั้น ดังนั้นเมื่อทศกัณฑ์ปลุกกุมภกรรณให้ไปรบกับพระนารายณ์นั้นเขาย่อมรู้ว่าพระรามนั้นที่แท้คือ พระวิษณุ  และเขาไม่มีทางรบชนะเด็ดขาด แต่ด้วยหน้าที่ของการเป็นทหาร กุมภกรรณยังคงตัดสินใจไปรบโดยทูลทศกัณฑ์ว่า ถ้าตนตายในการรบก็ขอให้ทศกัณฑ์ยอมแพ้เสีย เพราะถ้าตนรบชนะไม่ได้ก็ย่อมไม่มีใครในลงกา  รบชนะพระรามได้
4. ในรามายณะไม่มีตัวละครหลายตัวที่รามเกียรติ์แต่งเพิ่มขึ้นมา เช่น ท้าวจักรวรรดิ ท้าวสหัสเดชะ ท้าวมหาชมพู และมีตัวละครหลายตัวที่ถูกรวมเป็นตัวเดียว เช่น สุกรสารในรามเกียรติ์ มาจากสายลับของกรุงลงกาสองคนชื่อสุก กับ สรณะ

วรรณกรรมข้ามชาติพันธ์  มุ่งสู่พระลักพระลาม

วรรณกรรมเรื่องรามายณะ รามเกียรติ์ หรือภาษาลาวและอีสานเรียกว่า พระลักพระลาม
เหตุที่สำนวนลาวใช้ชื่อว่า “พระลัก พระลาม” นั้นแสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งได้รับ
อิทธิพลจากอินเดียและผสมผสานกับความเชื่อพื้นถิ่น จนกลายเป็นวัฒนธรรมและวรรรกรรมแต่ละ
ท้องที่
            มหากาพย์รามายณะถือเป็นวรรณกรรมที่มีอิทธิพลอย่างมากในกลุ่มชาติพันธ์ตระกูลไต หรือไท เนื่องจากเป็นวรรณกรรมร่วมแต่มีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามกลุ่มชาติพันธ์ คนไทยภาคกลาง
เรียกว่า “รามเกียรติ์” คนไตเรียกว่า “ลังกา 10 หัว” ทางภาคเหนือประเทศไทยเรียกว่า “พรหมจักร” หรือ “หอระมาน”  ส่วนคนลาว หรืออีสาน เรียกว่า “พระลักพระลาม” หรือ
“พระรามชาดก”
            เรื่องพระรามชาดกนั้น ถีอเป็นการปรับความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ฮินดูให้กลายเป็น
ส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่นิยมใช้เทศน์ในงาน “เฮือนดี” หรืองานศพ การเล่าเรื่อง
ของพระรามชาดก อธิบายถึงการถือกำเนิดและการเกิดอีกครั้งของพระลาม พระลัก และ
ท้าววราพณาศวร ซึ่งถือเป็นการม้วนชาดกตามแบบฉบับของนิทานอีสานและกวีลาว

                         
                   ภาพที่ 4 ฟ้อนเปิดการแสดง                                       ภาพที่ 5 การแสดงพระลักพระลาม


ภูมิหลังพระลักพระลาม
            ในสังคมลาวสมัยก่อน ตั้งแต่สมัยพระเจ้าฟ้างุ่ม คนส่วนใหญ่นับถือผีเป็นหลัก แต่เมือ
พระองค์เสด็จกลับจากเขมร พระเจ้าฟ้างุ่มได้นำพุทธศาสนาและ ขนบธรรมเนียมศิลปวัฒนธรรม
พร้อมกับพระมเหสีนามว่า พระนางแก้วเก็งยา (แก้วกัลยา) ธิดาของกษัตริย์เขมร กลับไป
หลวงพระบาง  ด้วยความที่พระนางแก้วเก็งยานับถือศาสนาพุทธ เมือพระนางเห็นอำมาตย์
ราชมนตรี ฆ่าวัวควาย เพื่อทำพิธีบูชายัญพระนางแก้วเก็งยาจึงได้กราบทูลเจ้าฟ้างุ่ม  ให้นำ
พระพุทธศาสนามาประดิษฐาน ณ ประเทศลาว แทนการนับถือผี ไม่เช่นนั้นพระนางจะเสด็จ
กลับเขมร  ทำให้เจ้าฟ้างุ่มต้องนำพระพุทธศาสนา และศิลปวัฒนธรรมอย่างการฟ้อนอัปสรา
เข้ามาในเมืองลาว
            ต่อมา เมื่อครั้งที่หลวงพระบางและล้านนา มีการติดต่อระหว่างกันทำให้รามเกียรติ์
ของล้านนาเข้ามามีอิทธิพลในหลวงพระบาง และล้านช้าง พระเจ้าโพธิสารราช ซึ่งเป็น
กษัตริย์ของหลวงพระบาง  ได้นำเอาวรรณกรรมดังกล่าวมาเผยแพร่และแปลเป็นภาษาลาว
ในชื่อว่า “พระลักพระลาม” การปรับเปลี่ยนดังกล่าวถือเป็นการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่วรรณกรรม
            การเล่าเรื่องพระลักพระลาม เริ่มต้นจากการสร้างโลก โดยมีพระมหาพรหมลงมา
กินง้วนดิน  ทำให้กลับขึ้นไปบนสวรรค์ไม่ได้ จึงสร้างเมืองสร้างมนุษย์ขึ้นมา  อย่างไรก็ตาม
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องวงศ์ของพระลักพระลามนั้น พบว่าพระลักพระลามในสำนวนของทางลาว
มีเชื้อสายเขมร เนื่องจากท้าวธตรฐได้หลบหนีจากเมืองอินทปัฏเพื่อไปสร้างเมืองเวียงจันทร์
เพราะน้อยใจท้าวตัปรเมศวร ผู้เป็นบิดาที่ยกเมืองอินทปัฏให้ท้าววิรุฬหะผู้เป็นน้องได้ปกครอง
            ลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความเชื่อของสังคมลาวอย่างหนึ่งเหตุใดวรรณกรรม
พระลักพระลามจึงต้องใช้ชื่อ “พระลัก” ขึ้นก่อน เนื่องจากสังคมลาวนั้นเน้นการให้เกียรติ
ผู้น้อง นำไปสู่ความเข้าใจที่ว่า สาเหตุที่ท้าวตัปรเมศวรยกเมืองอินทปัฏให้ท้าววิรุฬหะมาจาก
การให้เกียรติแก่ผู้เป็นน้อง ส่วนผู้เป็นพี่ต้องอออกไปสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ด้วยตนเอง
            พระลักพระลามของลาว เป็นสำนวนที่มีความยาวมาก ผู้แต่งได้จัดเป็น 2 ภาค
แบ่งเนื้อเรื่องเป็นบั้นต่างๆ ในพระลักพระลาม ภาคที่ 1 จะดำเนินเรื่องคล้ายกับวรรณกรรม
เรื่องสังข์ศิลป์ชัยหรือภาษาอีสานภาษาลาวเรียกว่า “สินไชย” วรรณกรรมเอกในลุ่มน้ำโขง
มีตัวละครที่สำคัญคือ นางจันทา
            ส่วนพระลักพระลาม ภาคที่ 2 จะกล่าวถึงเรื่องนางสีดาฉะนั้น ความต่างของพระลักพระลาม
กับรามเกียรติ์ของไทยคือ การซ้ำอนุภาค  การซ้ำอนุภาคในที่นี้หมายถึง  การซ้ำเรื่องของการ
พลัดพรากหรือเรื่องของการลักพาตัว จะเห็นได้ว่าในสำนวนไทยมีการลักพาตัวแค่ครั้งเดียว
คือนางสีดา  แต่สำนวนในลาวนั้น มีการลักพาตัวถึงสองครั้ง และครั้งแรกเป็นการลักพาตัวนางจันทา ซึ่งเป็นพี่สาวของพระลักพระลาม และครั้งที่สองเป็นการลักพาตัวนางสีดา และความต่างอีกประการ
คือนางสีดาในสำนวนของลาวนั้น เป็นธิดาของท้าวราพณาศวร (ทศกัณฑ์) และนางจันทา
พัฒนาการของการบันทึกเรื่องพระลักพระลาม
            พัฒนาการของการบันทึกเรื่องพระลักพระลามในลุ่มน้ำโขง นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าฟ้างุ่ม
ที่พระลักพระลามเข้ามาในลาว มีเพียงการจารลงในใบลานเท่านั้น แต่มิได้มีการจัดพิมพ์เป็นหนังสือ
แต่อย่างใด โดย ดร. สุเนตร โพธิสาร ได้กล่าวว่า การเรียบเรียงเรื่องพระลักพระลามนั้นมีการดำเนิน
การหลายครั้ง ตามแต่ต้นฉบับที่ต่างกัน
            ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 ศาสตราจารย์ ดร.สัจจิดานันดะ สหายชาวอินเดียได้เดินทาง
เข้ามาสอนหนังสือที่วิทยาลัยครู และเกิดความสนใจในเรื่องพระลักพระลามสำนวนลาวจาก
ใบลานอักษรธรรม หลังจากนั้นก็รวบรวมเพื่อปริวรรตและเรียบเรียงเป็นหนังสือดังกล่าวในช่วง
ประมาณปี พ.ศ. 2516
            อย่างไรก็ตาม มีจ้อสงสัยจากคำว่า “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” ซึ่งปรากฏในหนังสือดังกล่าว
เป็นเหตุให้นักวิชาการบางคน เช่น ทรงฤทธิ์ โพธิ์เงิน เสนอว่า พระลักพระลามน่าจะแต่งขึ้นใน
สมัยเจ้าอนุวงศ์ เนื่องจากยุคนั้นมีการเรียกกรุงเทพมหานครว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี ้พราะ
คำว่ากรุงเทพมหานคร เพิ่งเปลี่ยนมาใช้ในปี พ.ศ. 2515 ตรงกับยุคที่ ศาสตราจารย์ ดร.สัจจิดานันดะ
สหาย ปริวรรตเรียบเรียงพระลักพระลาม ซึ่งทำให้ดห็นว่า บริบทในวรรณกรรมมีการปรับเปลี่ยน
ไปตามเหตุการณ์และ สภาพการณ์ในแต่ละสมัย สอดคล้องกับแนวคิดของอาจารย์สงสาร พรหมจันทร์
ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนฟ้อนพระลักพระลาม ซึ่งกล่าวว่าอิทธิพลของการเมืองมีส่วนอย่างมาก
ในการปรับแก้บทฟ้อนหรือวรรณกรรม
            นอกจากนี้ ในวรรณกรรมท้องถิ่นของลาวและของอีสานจะไม่ปรากฏชื่อคนเขียน เนื่องจาก
เนื้อหาส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องผูกโยงกับราชาธิปไตยหรืออำนาจของพระราชา ดังนั้น หากมีการระบุ
ชื่อผู้แต่งในเนื้อเรื่องที่ไปกระทบต่อเบื้องสูงหรือไปเกี่ยงข้องกับการเมือง ผู้ประพันธ์หรือกวีของเรื่อง
นั้นอาจต้องโทษได้ แม้กระทั่งการเก็บข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัยเรื่องพระลักพระลาม ยังมีความ
ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
            ปัจจุบันสังคมลาวบันทึกและสืบทอดวรรรกรรมพระลักพระลามผ่านรูปแบบของศิลปกรรม
การแสดง และเป็นส่วนหนึ่งของแบบเรียนในระดับการศึกษาขั้นสูงของประเทศ

สังคมลาวผ่านมุมมองพพระลักพระลาม
            การดำเนินเรื่องในภาคหนึ่งของพระลักพระลาม มีลักษณะคล้ายวรรณกรรมเรื่องสินไชย
ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับยักษ์กุมภัณฑ์ที่ไปอุ้มเอานางสุมณฑาโดยไม่ได้รับการยินยอม ดังนั้น
ท้าวราพนาศวรจึงเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมาให้เป็นผู้แทนของคนที่แหกกฏทางสังคม ในทาง
กลับกันพระลักพระลามจึงถูกสร้างขึ้นให้เป็นผู้บังคับใช้กฏของสังคมหรือ ควบคุมกฏเกณฑ์
ของสังคมนั่นเอง
            วรรณกรรมเรื่องพระลักพระลามได้สะท้อนให้เห็นในแง่คิดและวัฒรธรรมของสังคมลาว
ในแง่ความสัมพันธ์ของผู้คน เช่น ในสังคมลาวเมือเกิดการรักชอบพอกัน จะต้องมีการแต่งสินสอด
ไปสู่ขอ ห้ามผิดลูกผิดเมีย ห้ามผิดประเพณี เมื่อท้าวราพนาศวรผิดกฏเกณฑ์ดังกล่าว จึงถูกปราบ
ด้วยคนที่สังคมแต่งตั้งขึ้นมาให้เป็นผู้ควบคุมกฏเกณฑ์นั่นคือ พระลักพระลาม ในภาคแรกของ
พระลักพระลามสำนวนลาว จึงได้สะท้อนให้เห็นเรื่องกฏเกณฑ์ทางสังคม         
                                   
            ภาพที่ 6 การแสดงพระลักพระลาม                                                   ภาพที่ 7 ฤาษีกับสีดา
ส่วนภาคที่ 2 เป็นเรื่องของนางสีดาเต็มฉบับ นางสีดาเป็นธิดาของท้าวราพนาศวรกับ
นางจันทา เหตุที่ไปชอบพบกับพระลามได้นั้นสามารถอธิบายด้วยแนวคิดลักษณะของสังคมลาว
ผ่านงานของอาจารย์ดวงเดือน บุญยวงศ์  กวีรางวัลซีไรต์ของลาว ที่กล่าวถึงการที่เป็นกษัตริย์
แต่งงานกันเอง เพื่อรักษาฐานอำนาจของตน ทำให้สามารถจินตานาการไปถึงสภาพสังคมอินเดีย
ที่มีระบบวรรณะ อันได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ซึ่งหากแต่งข้ามวรรณะ จะทำให้เกิด
จัณฑาลขึ้น กล่าวได้ว่า พระลามและนางสีดา อาจเป็นส่วนหนึ่งของวํฒนธรรมอินเดียที่คงอยู่ใน
สังคมลาว ภายใต้รูปแบบของการแต่งงานในชนชั้นเดียวกัน แต่หากมีการแต่งงานข้ามชนชั้น
บุตรหรือธิดาที่เกิดมาย่อมไม่สามารถสืบทอดราชบัลลังก์ได้ แม้จะมีผู้กล่าวว่า เป็นการแต่งงาน
กับหลานสาวของตนแต่เพื่อการรักษาฐานอำนาจของการเมืองการปกครอง
            นอกจากนี้ ในพระลักพระลามสำนวนลาวนั้น เมื่อทหารไปรบ หากผู้ใดป่วยหรือหนีทัพ
จะถูกจับมาทรมานและปล่อยให้ตาย ซึ่งหากมองลึกลงไปในประวัติศาสตร์ จะทำให้เห็นถึงการเมือง
การปกครองความเด็ดเดี่ยว และเข็มแข็งที่มีอยู่ในกองทัพ ซึ่งแนวคิดเรื่องการปกครอง ดังกล่าว
ก็สะท้อนอยู่ใรวรรณกรรมพระลักพระลามด้วย
            รวมถึงพระลักพระลามยังสะท้อนให้ดห็นถึงคติความเชื่อพื้นถิ่นและหลักธรรมการดำรงชีวิต
ดังปรากฏในความคิดเรื่องการพลัดพรากในวรรรกรรมพระลักพระลามมักสะท้อนและผลิตซ้ำใน
แนวคิดเรื่องการพลัดพราก เพื่อให้มนุษย์เข้าใจความเป็นไปของมนุษย์มากขึ้น การให้คติสอนใจว่า
สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมมีการพลัดพรากทั้งสิ้น  จึงเป็นวรรณกรรมที่สอนให้คนไม่ยึดติดในสิ่งใด
สิ่งหนึ่งจนเกินไป
            นอกจากนี้ ในพระลักพระลามยังเผยให้เห็นถึงเรื่องของสังคม เศรษฐกิจในลาว
สมัยนั้น โดยสื่อให้เห็นระบบการค้าและตลาด ผู้เป็นพ่อค้าแม่ค้ามักจะร้องเรียกให้คนที่มาใน
กองทัพจับจ่ายซื้อของ โดยใช้การแลกเปลี่ยนระหว่างกัน  ดังในตอนหนึ่งที่ว่า “มีแค่น้ำเต้าแตก
ลูกหนึ่งให้เอาไปแลก เขาก็เอา” และ “บ่อาจจักนับอ่านได้ไม่อาจนับได้” ซึ่งสะท้อนให้เห็น
ถึงความมั่นคั่งในเศรษฐกิจ การติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนดังกล่าว

การปรับตัวต่อบริบททางสังคม คือการปรับเปลี่ยนวรรณกรรม
            อย่างไรก็ดี แม้จะมีการเปลี่ยนชื่อหรือผนวกความเชื่อพื้นถิ่น แต่โครงเรื่องร่วมกัน
บางประการเกิดจากการรับวัฒนธรรมภายนอกสอดคล้องกับการศึกษาศาสตราจารย์ธวัช
ปุณโณทก ซึ่งกล่าวถึงโครงเรื่องพระลักพระลามว่า ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมเรื่องรามายณะ
แต่เมื่อวรรณกรรมแต่ละเรื่องเดินทางไปภูมิภาคใหม่ โดยเฉพาะเมื่อรามายณะเดินทางเข้าสู่เอเชีย
ตะวันออกเฉียงใต้ อันเต็มไปด้วยพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม รามายณะจึง
ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับความเป็นท้องถิ่นนั้น
            แนวคิดดังกล่าวเชื่อมโยงกับการศึกษาทางคติชนวิทยา โดยศาสตราจารย์ ดร. ศิราพร ณ ถลาง ซึ่งชี้ว่า พระลักพระลามเกิดจากการแทรกความเป็นท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมประเพณีเข้าไป
            ในการศึกษาวิจัยทางศิลปวัฒนธรรม พบว่า ภาคอีสานมีงานศิลปะเกี่ยวกับพระลักพระลาม
อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น วัดบ้านวังกูล จังหวัดขอยแก่น มีการขุดภาพพุทธประวัติในอุบาสถหรือสิม
เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมถึงสามเรื่อง มีภาพพุทธประวัติอยู่ที่ด้านใน ส่วนด้านนอกเป็นเรื่องสินไชย
และเรื่องพระลักพระลาม
            เมื่อครั้งมีโครงการบูรณะโดยกรมศิลปากร อาจารย์อุดม บัวศรี ให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องการ
ปรับตัวของวรรณกรรมพื้นถิ่นกับพระพุทธศาสนาว่าวรรณกรรมเรื่องใดเกี่ยวกับทางพราหมณ์หรือ
นอกศาสนาพุทธ เมื่อเข้าไปอยู่ในวัดหรือชุมชนที่เป็นพุทธ ก็มักถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็น “พุทธ”
โดยทันทีดังเช่นในสังคมลาวและอีสานนั้นยังมีการนับถือผีอยู่ดังนั้นเมื่อพระลักพระลามไปแต่งงาน กับใคร จึงจำเป็นต้องประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงผีด้ำหรือปู่ย่า ตามด้วยบท
สู่ขวัญตามคติของพราหมณ์ ส่วนพิธีแต่งงานก็ต้องตั้งถาดข้าวก่อน เพื่อเลี้ยงผีปู่ย่าทำให้เห็นว่าความ
เป็นท้องถิ่นได้ถูกแทรกลงไปในวรรณกรรมนั้นด้วย
            หากจะทำให้วรรรณกรรมถูกยอมรับในสังคมได้ ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวบท วิธีคิด
และความเชื่อ ซึ่งสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนในพระลักพระลามได้อย่างดีที่สุดคือ การ
ผสมผสานระหว่างความเชื่อ ผี พราหมณ์ พุทธได้อย่างกลมกลืน และเชื่อมโยงไปถึงลักษณะของ
การเป็นอาเซียน
            ดังนั้น เมื่อวรรณกรรมท้องถิ่นทำให้เห็นการผสมผสานที่เกิดขึ้นในอดีตแล้ว ในอนาคต
หากจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็จำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงความหลากหลายของการอยู่ร่วมกัน
ของผู้คนต่างถิ่น ต่างภาษา ต่างศาสนา ในประชาคมดังกล่าวด้วย โดยศาสตราจารย์พิเศษ
ศรีศักร วัลลิโภดม ได้มีแนวคิดเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่าอย่ามองเพียงเรื่องพรมแดน
ของรัฐชาติ เพราะหากเป็นเช่นนั้นอาเซียนจะม่สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ การเน้นในเรื่อง
วัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่มีร่วมกัน อย่างรามเกียรติ์เป็นสิ่งที่ชาวอาเซียนรับรู้ และ
เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด ซึ่งในฐานะวรรรกรรม รามเกียรติ์ยังส่งผลต่องานศิลปกรรมและการแสดง
รวมถึงการถ่ายทอดรามายณะ ในแต่ละท้องที่ยังทำให้เห็นวัฒนธรรมอันงดงามของแต่ละชาติอีกด้วย
            ในลาว พระลักพระลามได้ถูกนำไปประยุกต์เป็นการแสดงที่เรียกว่า ฟ้อนพระลักพพระลาม
โดยการฟ้อนแบบหลวงพระบางจะถือเป็นแบบเก่า ในขญะที่ฟ้อนพระลักพระลามแบบเวียงจันทร์
จะมีเครื่องแต่งกาย และดนตรีที่ได้รับอิทธิพลแบบไทย  นอกจากนี้ การแต่งกายของตัวละครที่
ปรากฏในรามายณะนานาชาติ ยังทำให้เราได้เห็นเครื่องแต่งกายพระลักพระลามของลาว ไทย
เขมร และชาติต่างๆ หลากหลายรูปแบบ ภาพดังกล่าวทำให้เห็นวิธีคิดของคนที่สร้างผลงาน เพื่อ
ปรับวัฒนธรรมถายนอกให้เข้ากับสังคมภายใน ศิลปวัฒนธรรมและวรรรกรรมต่างๆเหล่านี้จึงได้
สอดแทรกและแฝงอยู่ในชีวิตของผู้คนโดยปราศจากพรมแดน


ข้อเสนอแนะในการถอดบทเรียนเขียนบทความ เรื่องพระลักพระลาม

            ปัจจุบัน วงวิชาการไทยมีการศึกษาวรรณกรรมเรื่องรามายณะในหลายรูปแบบ เช่น
การศึกษารามเกียรติ์สำนวนท้องถิ่นอีสานฉบับของพระอิริยานุวัติ การศึกษาพระรามชาดก
ฉบับของหลวงศรีอมรยาน หรือการศึกษาพระลักพระลามสำนวนของลาวของศาสตราจารย์
ดร.สัจจิดานันดะ สหาย ก็มีนักศึกษากำลังทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทั้งนี้ การศึกษา
อาจเติมเต็มในส่วนของประเด็นการใช้ชีวิตของผู้คน ระบบเศรษฐกิจ การสงครามและการเมือง
เพื่อให้เข้าใจบริบททางสังคมนั้นมากขึ้น ซึ่งการอ่านวรรณกรรมได้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง
ของสังคม โดยผ่านการวิเคราะห์และการศึกษาทฤษฎีรื้อสร้าง  เพื่อให้เห็นพัฒนาการของวรรณกรรม
            อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีงานเขียนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพระลักพระลามอยู่บ้าง แต่ยากที่
จะลงลึกในระดับการทำวิจัยเนื่องจากต้นฉบับหายาก จึงทำให้ประสบปัญหาในการเก็บข้อมูล
และคงเป็นการดีไม่น้อยหากในอนาคตจะมีการศึกษาพระลักพระลามในประเทศลาว และประเทศ
อื่นๆในอาเซียน เนื่องจากการศึกษาพระลักพระลามจะช่วยให้เห็นภาพ ดังต่อไปนี้
            ประการที่ 1 การศึกษากลุ่มชาติพันธ์ไท เพราะการศึกษาเรื่องพระลักพระลาม ทำให้เห็น
ความเหมือนความต่างของกลุ่มชาติพันธ์ไท ที่อาศัยอยู่ในเวียดนาม เมียนมาร์ ไทย ลาว หรือเขมร
แม้วรรรณกรรมอาจจะไม่ได้ช่วยให้เข้าใจบริบทต่างๆได้ครบถ้วน แต่การศึกษาวรรรกรรมนั้น
เปรียบเสมือนเครื่องมือบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่ออรรถรสมากขึ้น
ซึ่งเป็นส่วนช่วยที่ทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการศึกษาเรื่องกลุ่มชาติพันธ์ไทได้
            ประการที่ 2 การศึกษาภาษาลาวโบราณ เนื่องในกรณีศึกษาเรื่องพระลักพระลามนั้น
ทำให้ค้นพบภาษาโบราณเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีคำศัพท์หลายคำที่ทำให้คนลาวในปัจจุบัน
ยังไม่เข้าใจ ทำให้เห็นวิวัฒนาการของภาษาลาวแต่ละยุตสมัย ซึ่งวรรรกรรมได้ทำหน้าที่ช่วย
บันทึกและรักษาภาษาโบราณได้เป็นอย่างดี
            ประการสุดท้าย การศึกษาสีสันท้องถิ่น อันหมายถึง ลักษณะของการใช้รายละเอียด
ท้องถิ่นนั้นๆ  ดังนั้น หากต้องการศึกษาสีสันท้องถิ่นให้เข้าใจมากขึ้น วรรณกรรมท้องถิ่น คือ
สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดช่วยให้คนได้รับรู้ และเข้าใจระบบสังคมวัฒนธรรม อันจะเห็นได้จากการแต่งแต้ม
สีสันในบทกวี งานวรรณกรรมทั้งในแบบโบราณและแบบร่วมสมัย ซึ่งเผยให้เห็นสีสันแห่งท้องถิ่น
ทั้งการแต่งกาย ดนตรี ศิลปะ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อีกทั้งสีสันท้องถิ่นยังช่วยเผยเบื้องลึกของ
สังคมการเมือง และวัฒนธรรมที่แฝงไว้  ซึ่งนอกจากที่จะชี้ให้เห็นในแง่การเมืองแล้ว ยังได้เห็น
ความเชื่อ และพระพุทธศาสนา ที่ยึดโยงกับสังคมลาวอีกด้วย

ความสำคัญของพระลักพระลามที่มีต่ออาเซียน
            การมองอาเซียนผ่านวรรรกรรมเรื่องรามายณะหรือพระลักพระลาม ช่วยให้เห็นภาพ
อาเซียนได้ชัดเจน ดังนี้
            ประเด็นแรก พระลักพระลามสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างศาสนา และ
การปะทะสังสรรค์ระหว่างศาสนา และยังสะท้อนเรื่องของการอยู่ร่วมกัน คติความเชื่อที่แตกต่าง
หลากหลายส่งผ่านมาในรูปแบบของพิธีกรรมต่างๆ อาทิ พิธีแต่งงานที่สื่อถึงประเพณีทางพราหมณ์
พุทธ และผี ในพิธีเดียวกันอีกด้วย
            ในเมื่อวรรรกรรมแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกศาสนาแล้ว ฉะนั้น อาเซียน
หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความหลากหลายทางศาสนาเช่นเดียวกัน จึงจำเป็นจะต้องเรียนรู้
และปะทะสังสรรค์เพื่อการอยู่ร่วมกัน หากอาเซียนยังขีดแบ่งกันด้วยทัศนคติทางความเชื่อ และ
ศาสนาก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน

            
                      ภาพที่ 8 หนุมานกับทหารลิง                                               ภาพที่ 9 ทหารยักษ์

            ประการที่ 2 วรรณกรรมเรื่องพระลักพพระลาม ได้ทำให้เห็นการติดต่อข้ามแดนข้ามรัฐ
ของผู้คนหลายวัฒนธรรม และการเลือกรับปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้
ฉะนั้น เขตแดนจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ปัจจุบันประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนมีข้อพิพาทระหว่าง
กันมากมาย ส่วนใหญ่เป็นข้อพิพาทเหนือพรมแดนของรัฐชาติจากความขัดแย้งของผู้คนส่วยกลาง
จนหลงลืมไปว่า วัฒนธรรมและผู้คนที่อยู่รอบแนวชายแดนนั้นมีการติดต่อเชื่อมโยงไปมาระหว่างกัน
มีภาษา วัฒนธรรม และการรับรู้ร่วมกัน ซึ่งการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมดังกล่าวทำให้ผู้คนต่างรัฐ
แต่ก็เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันได้
            ประการที่  3 รามายณะนานาชาติ คือ สิ่งเชื่อมโยงอาเซียนเข้าหากัน วรรรกรรมดังกล่าว
ปรากฏให้เห็นทั้งในรูปของวรรณกรรมท้องถิ่น และวรรณกรรมราชสำนัก ความเชื่อมโยงของเนื้อหา
ที่มีเหมือนกันทำให้ชาวอาเซียนมีสิ่งร่วมในการรับรู้
            ถึงแม้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้จะมีชื่อเรียนที่แตกต่างกันไปบ้าง เช่น หิยติกศรีรามของมาเลเซีย
หรือรามายณะของอินโดนีเซีย เขมรเรียกว่าเรียมเกร์ ส่วนไทยนิยมเรียกว่ารามเกียรติ์ ส่วนลาวอีสาน
ใช้ชื่อว่าพระลักพระลามหรือรามชาดก ทว่าวรรณกรรมดังกล่าวก็สามารถทำให้อาเซียนสามารถสร้าง
อัตลักษณ์บนพื้นฐานที่ดีร่วมกันได้
            ประการที่ 4 การแสดงผ่านวรรรกรรม สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของอาเซียน
ดังจะเห็นได้จากรายละเอียดไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย บทประพันธ์ และเครื่องดนตรี ซึ่งแต่ละ
ชาติได้นำเสนอผ่านวรรณกรรมรามายณะ เราจึงได้เห็นพัฒนาการของความคิด และสังคมของ
อาเซียนไปควบคู่กันด้วย
            ประการสุดท้าย การศึกษาวรรรกรรมเรื่องรามายณะหรือพระลักพระลามนั้น ภายหลัง
การเปิดอาเซียนแล้ว อาจทำให้การค้นคว้าและการเดินทางไปศึกษาในแต่ละประเทศในภูมิภาค
ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนและนักศึกษาได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมและแนวคิด
ของประเทศอื่นผ่านวรรรกรรม และการศึกษาภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ภาษาลาว พม่า
เขมร หรือบาฮาซา เป็นต้น ซึ่งการเรียนรู้ดังกล่าวจะช่วยให้เราเข้าใจวิถีวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ
และยังช่วยกระตุ้นให้ศึกษาภาษาของประเทศเพื่อบ้าน อันนำมาซึ่งความเข้าใจกันและกัน
มากขึ้นอีกด้วย

        
                                    ภาพที่ 10 จบการแสดงพระลักพระลาม
                                             
          
                                            ภาพที่ 11  จบการแสดงพระลักพระลาม              
                                    
การถอดบทเรียนเขียนบทความโครงการภาคสนามทางมานุษยดุริยางควิทยา
ณ เมืองหลวงพระบาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
วรรณกรรมข้ามสายพันธ์ จากรามายณะ มุ่งสู่รามเกียรติ์ ถึงพระลักพระลาม

            พระลักพระลาม เป็นวรรณกรรมลุ่มน้ำโขงที่หยิบยกโครงเรื่อง “รามายณะ” ซึ่งได้รับ
อิทธิพลมาจากอินเดีย และมิใช่การรับโดยทางตรง แต่ส่งผ่านมาจากเขมร มลายู และเวียดนาม
ซึ่งในแต่ละสังคมก็ได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับระบบสังคมวัฒนธรรมของตนเอง ดังนั้น แม้จะเป็น
รามายณะเรื่องเดียวกันแต่ก็มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปตามแต่ละสังคมที่ใส่ความเป็น
ท้องถิ่นของตนเองเข้าไปด้วย
            ทั้งนี้วรรณกรรมรามายณะ รามเกียรติ์ หรือพระลักพระลาม ในลุ่มน้ำโขง นอกจาก
จะเป็นงานวรรรกรรมอันทรงคุณค่าแล้ว ยังได้ทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ร่วมของอาเซียน
ช่วยผูกโยงประชาคมให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น รวมถึงเป็นสื่อกลางที่ทำให้เห็นถึงการหลั่งไหล และการ
ปะทะกันทางสังคมและวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกฌฉียงใต้ ทำให้เกิดความเข้าใจในเพื่อนบ้าน
มากยิ่งขึ้น รับรู้ระบบการเมืองการปกครอง ระบบคิดของแต่ละสังคม อันจะส่งผลให้ผู้คนใน
ประชาคมอาเซียนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขต่อไป
            วรรณกรรมพระลักพระลาม เป็นการแพร่กระจายตามหลักทฤษฎีการแพร่กระจายทาง
วัฒนธรรม (Cultural  Diffusion Therory ) ของ ฟรานซ์ โบแอส ( Franz Boas ) คือ เป็นการ
แพร่กระจายทางวัฒนธรรมเป็นกระบวนการที่มีลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมหนึ่ง แพร่กระจาย
ไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง โดยปรับเปลี่ยนให่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน คติชนจนเป็นวัฒนธรรมใหม่
            วรรณกรรมพระลักพระลาม ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นการแลกเปลี่ยน
เผยแพร่ และการถ่ายโยงทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังแฝงไว้ซึ่งวิถีความคิด คติชนที่เป็นอัตลักษณ์
เฉพาะกลุ่มชาติพันธ์ เศรษฐกิจ และสังคมการเมือง ของชาวหลวงพระบาง ประเทศสาธารณรัฐ
ประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้เป็นอย่างดี

                                    บรรณานุกรม
           
จิราภรณ์ วิญญรัตน์,กาญจนี ละอองศรี,ปรียา แววหงษ์. 2556. ประวัติศาสตร์ลาว.
                      กรุงเทพฯ. :  มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,มูลนิธิ
                      โตโยต้าแห่งประเทศไทย.สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี. 2551.  ดนตรีลาวเดิม. ขอนแก่น : ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง
                       มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
            นัฏฐิกา  สุนทรธนผล. 2557. ดนตรีอาเซียน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กริดส์ ดีไซน์ แอนด์
                       คอมมูนิเคชั่น จำกัด.
ไม้จัน, ทองแถม นาถจำนง. 2557.  ขับ ลำ เพลงลาวมาจากไหน. กรุงเทพฯ :              
                      สำนักพิมพ์ทางอีศาน.
พิเชฐ สายพันธ์,ปิยณัฐ สร้อยคำ.2557. อาเซียนหลากมุมมอง.  กรุงเทพฯ :
            สำนักพิมพ์หยิน หยาง การพิมพ์.
วิพร เกตุแก้ว.  2553. การเมืองในลาว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ศุภชัย สิงห์บุศย์และคณะ. โครงการสารคดีลาวตอนล่าง. กรุงเทพฯ : โครงการอาณา
                      บริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค,สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
            ศุขปรีดา พนมยงศ์. 2552. เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง. กรุงเทพฯ :
                      สำนักพิมพ์แม่คำผาง.
ศิราพร  ณ ถลาง.2559. มองคติชนเห็นตัวตนชาติพันธ์. กรุงเทพฯ:สำนักพิม์ภาพพิมพ์.
            ศิริรัตน์ แอดสกุล. 2559. ความรู้เบื้องต้นทางสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ :
           สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวทยาลัย.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2553.  ดนตรีไทยมาจากไหน. นครปฐม : สำนักพิมพ์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์
                       มหาวิทยาลัยมหิดล.
 สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2553. เครื่องดนตรีกัมพูชาโบราณ. นครปฐม :
                       สำนักพิมพ์วิทยาลัยดุริยางคศิลป์  มหาวิทยาลัยมหิดล.
สุนีย์ ประสงค์บัณฑิต.2553. แนวความคิดฮาบิทัศปีแอร์ บูร์ดิเยอกับทฤษฎีทางมานุษยวิทยา.
                       กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ภาพพิมพ์.
สังคีต  จันทนะโพธิ. 2555. ตำนานลาวร่มขาว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สยามบันทึก.
           



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น