วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

จะเป็นตำนานเวิ้งนครเกษม


จะเป็นตำนานเวิ้งนครเขษม

"ก่อนจะมาเป็นเวิ้งนาครเขษม ที่ดินตรงนี้เคยเป็นวังมาก่อน ชื่อวังน้ำทิพย์ ในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 ตอนนั้นมีการขุดสระขนาดใหญ่ และทำเป็นสวนสาธารณะให้คนในวังบูรพามาเล่น สวนสนาน พักผ่อนกัน จนกระทั่งมีการล้มเลิกระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พวกข้าราชบริพารไม่ได้ทำงานในวังกันแล้ว ก็เลยออกมากันหมด พร้อมกับทรัพย์สินที่เจ้านายให้ติดตัวมา บางทีก็มีขโมยมาด้วย ซึ่งก็ข้ามคลองมาขายของแถวนี้ ตอนนั้นพื้นที่นี้เลยเป็นที่ขายของเก่า สมัยนั้นเขาก็เรียกกันว่าตลาดโจร กระทั่งทูลกระหม่อมบริพัตร พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ท่านทรงเห็นว่ามีชุมชนเกิดขึ้นที่นี่แล้ว จึงปรับเปลี่ยนที่ดินตรงนี้เป็นศูนย์การค้าที่ทันสมัย เหมือนกับทางฝั่งตะวันตก ที่วังน้ำทิพย์เลยถูกถมที่ใหม่ทั้งหมด จนกลายเป็นเนินกว้างใหญ่เป็นเวิ้ง ท่านเลยประทานชื่อใหม่ว่า "เวิ้งนาครเขษม" และสร้างเป็นศูนย์การค้าขนาดย่อมขึ้นมา อีกทั้งในการสร้างศูนย์การค้าครั้งแรกนั้นมีการสร้างโรงภาพยนต์นาครเขษมขึ้นมาด้วย เป็นศูนย์การค้าแห่งแรกที่มีโรงภาพยนต์ขึ้น และเลื่องชื่อมาก ด้านวังบูรพาก็ไม่มีคนประทับแล้ว เลยทำให้เช่าเป็นโรงเรียนสตรี วิทยาลัยพาณิชย์ แต่รายได้ไม่ดี เลยรื้อ และสร้างเป็นศูนย์การค้าอีกแห่ง ชื่อศูนย์การค้าวังบูรพา ซึ่งก็เจริญมาควบคู่กัน"

เวิ้งแห่งเสียงเพลง ขวัญใจคนบรรเลงดนตรี

"หลังจากนั้นในยุคเบบี้บูม ช่วงปี 2488 หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ลัทธิทางตะวันตกเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น กระแสดนตรีต่างชาติก็เข้ามาด้วย คนไทยก็อยากได้มาเล่น ที่นี่ก็มีการนำเข้าเครื่องดนตรีมาขายเป็นแห่งแรก ทั้งที่แต่ก่อนไม่มีเลย รู้สึกเจ้าแรกที่นำมาก็ร้าน แต้เซ่งเฮง ย่งเสง จนทุกวันนี้มีร้านแตกแขนงออกมาในเวิ้งอย่างที่เห็น นอกจากนี้ก็มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และหนังสือเก่าหายากอีกด้วย"

เวิ้งนาครเขษม นอกจากจะมีความผูกพันต่อชาวเวิ้งมาหลายรุ่น เป็นที่สร้างเนื้อสร้างตัวให้คนในชุมชนจนมีหลักปักฐานถึงทุกวันนี้ได้แล้ว ก็ยังมีเรื่องราว เรื่องเล่า มีคุณค่าทางจิตใจ แต่ตอนนี้เวิ้งนาครเกษมกำลังถูกนำไปตีราคาเพื่อขายให้กับนายทุน เพืื่อรื้อถอนอาคารในพื้นที่เวิ้งนาครเกษมให้กลายเป็นศูนย์ขายส่งแห่งใหม่เหมือนกับคลองถม โดยตีราคาขั้นต้นของเวิ้งที่ 4,700 ล้านบาท การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นทำให้ชาวเวิ้งกว่า 440 หลังคาเรือนออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน เพื่อรักษาสภาพของพื้นที่นี้ให้เป็นเหมือนเดิม โดยรวมตัวกันยื่นเสนอราคาประเมินพื้นที่ถึง 4,800 ล้านบาท เพื่อรักษาเวิ้งนาครเขษมไว้เหมือนเดิม

"ตอนแรกเลยคือทางสำนักงานบริพัตรเขาจะเสนอขายที่ดินแปลงนี้ให้กับเอกชนเข้ามาประมูล โดยตั้งราคาเริ่มต้นที่ 4,700 ล้านบาท ซึ่งก็มีเอกชนหลายแห่ง ที่มีเงินทุนจากประเทศจีนเข้ามาเสนอราคา และมีแนวโน้มว่าเขาจะรื้อเวิ้งออกหมด เพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้า แผงให้เช่าแบบคลองถม ชาวเวิ้งเลยเห็นว่าถ้าเป็นแบบนั้น ก็อยากจะซื้อมาไว้เองดีกว่า ตอนนี้ก็รวบรวมกันซื้อประมาณ 97% แล้ว เราก็จะไปยื่นเอกสารที่สำนักงานบริพัตร เพื่อยื่นเสนอเงื่อนไขการชำระเงินจำนวน 4,800 ล้านบาท มากกว่าราคาที่ทางสำนักงานตั้งไว้ตอนแรก"

มูลค่าซื้อคุณค่า ตีค่าเวิ้งทำเลทอง กอบโกยผลประโยชน์มหาศาล

"ตอนนี้ทางชาวเวิ้งเสนอราคาที่มากกว่าไปแล้ว แต่ทางบริพัตรขอยืดเวลาต่อไปก่อน ซึ่งทุกครั้งที่ยืดเวลา ราคาที่ดินก็ขึ้นเดือนละ 500 ล้านบาท ทำให้มูลค่าของเวิ้งเป็น 5,500 ล้านบาทแล้ว และอาจมีเอกชนปั่นราคาสูงมากกว่านั้นถึง 6,000 ล้านบาท เพราะมีเงินทุนหนาจากประเทศจีน ซึ่งเขาต้องการที่นี้อยู่แล้ว ตอนนี้ถือว่าเป็นที่ดินที่แพงที่สุดในประเทศไทยแล้วขณะนี้ เพราะมันเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพมาก อยู่ในเขตไชน่าทาวน์ อีกทั้งยังมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในย่านนั้น สามารถสร้างศูนย์การค้าขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้ ในส่วของชาวเวิ้งเอง ถ้าสามารถซื้อกลับคืนมาได้ในราคา 4,800 ล้านบาทตามที่เสนอไป เราก็จะปรับปรุงเวิ้งให้ดีกว่าเดิม ทั้งเรื่องทัศนียภาพ สายลงดิน ทำโครงสร้างให้แข็งแรงมีหลังคาคลุมให้คนที่มาเดินสบายขึ้น รวมถึงการสร้างอาคารจอดรถรวม เพราะตอนนี้เวิ้งไม่มีที่จอดรถ ต่อมาก็จะพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัย เพราะที่นี่มันเป็นประวัติศาสตร์ ลูกหลานชาวเวิ้งทุกคนเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวจากที่นี่มาทั้งนั้น แต่ก่อนหน้าที่เราไม่ได้พัฒนาก็เพราะเราเหลือสัญญาเช่าแค่ปีเดียว เลยไม่กล้าทำอะไร แต่ถ้าซื้อได้มาเป็นของเราเองก็จะทำอย่างที่บอก ซึ่งถ้ามองในหลักทางเศรษฐศาสตร์ ที่นี่สร้างอาคารได้ 178,000 ตารางเมตร ทำให้มีมูลค่าทางอาคาร 16,000-20,000 ล้านขึ้นไป ยังไงถ้าเขาทำจริงๆ 4-5 ปีก็มีกำไรแล้ว แต่เขาทำได้ก็ไม่ได้ดูแลรักษาอะไร ได้กำไรเขาก็ไป และขายทิ้งต่ออีก มีนายทุนคนใหม่ เขาไม่สามารถรักษาจิตวิญญาณที่มีอยู่เดิมได้ ซึ่งผมเชื่อว่าเงินทุนที่จะเข้ามาซื้อเป็นของต่างชาติ ส่วนถ้าได้ไปจะเป็นชื่อของใครก็ต้องดูที่ผู้ถือหุ้น เท่าที่ทราบก็คือของจีน แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับการถูกรื้อจนประวัติศาสตร์หายไปหมด"
ความคุ้มค่าในเรื่องของผลกำไรที่ได้มาอย่างมหาศาล หากเทียบกับสิ่งที่ต้องเสียไป คือ ระยะเวลาที่เวิ้งนาครเขษมสะสมมาเกือบ 100 ปี คงไม่สามารเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งทางซินแสชื่อดัง ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้เป็นข้อคิดว่า


"ในเรื่องของประวัติศาสตร์มันเป็นสิ่งที่สร้างมาเป็น 100 ปี ไม่ใช่ 5-6 ปีสร้างได้ ต่างประเทศที่เจริญมาทีหลังเราอย่างสิงคโปร์เขาอายุน้อยกว่าเรา 40-50 ปี ยังสร้างเป็นสถานที่ให้เป็นแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้ได้ หรืออย่างประเทศจีนเอง ถือว่าที่มีพื้นที่แผ่นดินแพงที่สุดในโลกแล้วเนี่ย เขายังเก็บพื้นที่เมืองเก่าไว้ ให้เป็นถนนคนเดิน มีนักท่องเที่ยวชมประวัติศาสตร์รายได้ก็ไม่น้อยด้วย แต่ที่สำคัญวิญญาณทางประวัติศาสตร์ยังคงอยู่ ไม่งั้นเขาคงไปรื้อสร้างเมืองใหม่ แต่นี่เขาไม่รื้อเมืองเก่าเลย บริเวณไหนทรุดโทรม ไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เขาถึงจะรื้อสร้างอาคารสูง แต่ประเทศไทยเราเองมีประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าอยู่ กลับไม่รักษาไว้ เห็นเงินเป็นเรื่องสำคัญ ในขณะที่ประเทศอื่นเขามีประวัติศาสตร์น้อยกว่าเรา ยังพยายามจะสร้างและรักษาไว้ ถ้าคนไทยเห็นคุณค่าของเงินที่มีมากกว่า วันหนึ่งเราก็เป็นทาสเงิน และทุนนิยมก็มาครอบครอง ลูกหลานรุ่นต่อไปก็ไม่รู้จะไปดูหรือเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้ที่ไหน คงตองไปดูของประเทศอื่น ของเราก็คงมีแค่ภาพถ่าย มีชื่อไว้ให้ภาคภูมิใจ แต่ไม่มีสิ่งที่ทำให้ต่างชาติทั่วโลกได้เข้ามาสัมผัสว่าเรามีอารยธรรม มีเลือดเนื้อเช้ื้อไขมาจากที่ไหน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก"

เวิ้งนาครเขษมจะยังคงสภาพเดิมหรือไม่นั้น อีกไม่นานก็คงได้ข้อสรุป ซึ่งถ้าวันนึงต้องถูกรื้อจริงๆ ก็คงน่าเสียดายอย่างมาก เพราะอันที่จริงแล้ว เฉพาะในกรุงเทพมหานคร หรือในย่านที่ใกล้กับเวิ้งนาครเขษม ก็มีทั้งห้างสรรพสินค้า และศูนย์ขายสินค้าส่งจากจีนมากจนดูวุ่นวายอยู่แล้ว หากเวิ้งนาครเขษมจะถูกยกเว้นเหลือไว้ให้คนที่ไปเดินย่านนั้น ได้มีพื้นที่หายใจได้สะดวกบ้างก็คงจะดี ร้านขายเครื่องดนตรี ร้านหนังสือและของเก่า ที่รายเรียงจะได้มีพื้นที่อยู่เหมือนเดิม เพราะนี่แหละคือเสน่ห์ของเว้ิงนาครเขษมที่ฝังรากลึกอยู่ในใจของคนไทย ถ้าถูกขายไป ก็ต้องลองคิดกันดีๆ ว่ากำไรที่เห็นเป็นตัวเงินนั้น จริงๆแล้ว เราอาจขาดทุนย่อยยับทางด้านประวัติศาสตร์อย่างมหาศาล เพราะอดีตที่ใช้เวลาสั่งสมมาเกือบร้อยปีนั้น ไม่สามารถย้อนกลับไปสร้างใหม่ได้อีกแล้ว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น