วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ขบฏชุดเครื่องแบบ

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

จากระเบียบยกเลิกผมทรงนักเรียนเดิม ลามมาถึงการคัดค้านแต่งชุดนักศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดเป็นข้อถกเถียงขึ้นในสังคม ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วย โดยยกอ้าง “เสรีภาพ” ฝ่ายหนึ่งต่อต้านด้วยเห็นว่าเสรีภาพที่ว่า “เกินขอบเขต” ที่ควรจะเป็น
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาที่ไม่สามารถสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิและหน้าที่ให้กับเยาวชนได้ พวกเขาไม่สามารถเข้าใจว่าสิทธิที่ตัวเองมีต้องไม่ละเมิดผู้อื่น หรือละเมิดกติกาของสังคมนั้นๆ ตกลงร่วมกัน
“กติกามีอยู่ในสังคมเป็นข้อกำหนดที่ทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย มีความสุข ถ้าเด็กเติบโตโดยไม่มีขอบเขตกติกาในอนาคตอาจกลายเป็นผู้สร้างปัญหาอื่นๆ มากมาย โดยเฉพาะการคุกคามสิทธิคนอื่นโดย ไม่เข้าใจเรื่องนี้”นพ.สุริยเดว กล่าว
นอกจากนี้ กรณีดังกล่าวยังสะท้อนถึงความล้มเหลวในการมีส่วนร่วมของเยาวชน นพ.สุริยเดว บอกว่า ไม่อยากให้เรื่องทำนองนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นผู้ใหญ่ที่กำหนดกฎเกณฑ์อาจต้องเปิดช่องทางให้เด็กเข้ามานั่งคุยด้วยเหตุผลและมีส่วนในการร่าง   ข้อบังคับที่พวกเขาต้องปฏิบัติ
“สถาบันการศึกษาไม่เคยให้พื้นที่พวกเขาเสนอ แนวคิดที่แตกต่างกัน ทั้งที่แนวทางนี้อาจได้ข้อตกลง  ที่เหมาะสม”นพ.สุริยเดว ระบุ

ข้อวิเคราะห์ 7 แบบขบถเด็กไทย โดย ธาม เชื้อสถาปนศิริ
ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ยืนยันว่า แนวคิดต่อต้านหรือ   ที่เรียกกันว่า “ขบถ” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีทุกสังคมมนุษย์ โดยขบถวัยรุ่นในแต่ละยุคแสดงออกเหมือนๆ กัน คือ การลุกขึ้นประท้วงต่อต้านสิ่งที่พวกเขาเห็นว่ากำลังคุกคามเสรีภาพหรือการแสดงออกของเขา  แม้กระทั่งเรื่องการแต่งกาย ทรงผม ก็เป็นเรื่องที่ขบถวัยรุ่นยุคก่อนๆ ลุกขึ้นมาต่อต้านเช่นกัน
หากขบถไม่ใช่เรื่องใหม่ แล้วความแตกต่างระหว่างยุคคืออะไร ธาม บอกว่า การประท้วงเรื่องชุด   นักศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์|เมื่อเร็วๆ นี้ มีสิ่งที่น่าสนใจคือการให้เหตุผลในการออกมาต่อต้านที่ต่างออกไปจากยุคก่อน
“ขณะที่คนรุ่นก่อนประท้วงเรื่องเดียวกันนี้ โดยยกอ้างความไม่เท่าเทียม แต่เด็กรุ่นใหม่กลับอ้างสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตราย เพราะเป็นเรื่องที่มอง ได้สองแบบ คนรุ่นก่อนมองว่าสิทธิและเสรีภาพของตัวเองต้องไม่กระทบกับของคนอื่นเช่นกัน แต่คนรุ่นนี้คิดต่างไป พวกเขาซึ่งเป็นคนรุ่นที่ นิตยสารไทม์   ล้อเลียนว่าเป็นรุ่น ‘Millennials’ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘เจเนอเรชัน มี’ ซึ่งมีอุปนิสัย มองตัวเองเป็น  จุดศูนย์กลาง เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ให้ความสำคัญกับ ผลประโยชน์ตัวเองเป็นเป้าหมายสำคัญ มองวิธีการ  ที่ตัวเองจะบรรลุเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ โดยตัดตัวเองออกจากสังคม”ธาม ระบุ
นักวิชาการด้านสื่อรายนี้อธิบายอีกว่า ขบถสมัยนี้เป็นคนที่เกิดมาในวัฒนธรรมการบริโภคที่ก้าวไกลมาถึงขั้นขายบุคลิก หน้าตา ตัวตน จนเป็นเรื่องปกติ จึงมักจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับเพื่อนๆ มากกว่าครอบครัว พวกเขาสนใจเพียงว่าในบรรดาเพื่อนๆ ที่โรงเรียน ใครเด่น เท่ เฟี้ยว เป็นผู้นำแฟชั่นและกิจกรรมสุดเจ๋งกว่ากัน อัตลักษณ์ของตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด
ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญหน้ากับข้อบังคับทางสังคม เช่น การแต่งชุดนักศึกษา จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา  ที่จะมีเด็กกลุ่มหนึ่งกล่าวอ้างถึงสิทธิโดยเพิกเฉยต่อความเป็นพื้นที่สาธารณะ
“กล่าวได้ว่าคนรุ่นนี้จำนวนหนึ่งกำลังสำลักอัตลักษณ์ที่ต้องการแสดงออกให้เห็นตัวตนตัวเองให้ชัด โดยหลงลืมไปว่ามหาวิทยาลัยคือพื้นที่สาธารณะที่มีข้อตกลงร่วมกัน ชุดหรือยูนิฟอร์มเป็นข้อตกลงในกรอบพื้นที่และเวลา เป็นสัญลักษณ์ที่กำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ที่สวมใส่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ที่นักศึกษาบอกว่าชุด นักศึกษากดทับเสรีภาพของนักศึกษานั้น เป็นเรื่อง ที่ไม่จริง เพราะต้องเข้าใจว่าเสื้อผ้าเป็นภาษา การเลือกเสื้อผ้าชุดใดเป็นการบอกเล่าเหตุการณ์ที่ต้องเข้าไปร่วมกิจกรรมกับบุคคลอื่น ในบริบทต่างๆ ทำไมเราไม่บอกว่าคนอังกฤษที่ใส่สูทรับประทานอาหารเป็นพวกที่ถูกกดทับเสรีภาพ เป็นเพราะเราเลือกเชื่อความหมายของชุดที่เขาสวมใช่หรือไม่ และถ้าไม่เชื่อเลย เราก็คงไม่สามารถเข้าใจแฟชั่นได้เช่นกัน”ธาม กล่าว

โปสเตอร์อื้อฉาวรณรงค์คัดค้านการใส่ชุดนักศึกษาจัดทำโดย "อั้ม เนโกะ" นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ปี2 ถูกติดตามบอร์ดต่างๆ ในธรรมศาสตร์ รังสิต ช่วงต้นเดือนก.ย. จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง ก่อนที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสั่งเก็บออกหมด


ลูกโป่งหัวเราะ

ยาเสพติดแบบใหม่ ระบาดในวัยรุ่นมีฤทธิ์ถึงตาย

จากกรณีที่มีการขาย "ลูกโป่งหัวเราะ" ซึ่งกำลังระบาดหนักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จนตำรวจมีการกวาดล้างและจับกุมพ่อค้า แม่ค้าหลายราย ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าเจ้าลูกโป่งหัวเราะนี้มีความอันตรายอย่างไร
ลูกโป่งแก๊สหัวเราะ เป็นลูกโป่งที่บรรจุ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ หรือ ก๊าซหัวเราะ ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้ผู้ที่สูดดมเข้าไปมีอาการเคลิบเคลิ้ม แต่จะออกฤทธิ์ในระยะสั้นเพียง 5 นาที และไม่มีอันตรายต่อร่างกาย แต่หากสูดดมเข้าไปในระดับที่เข้มข้นและเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดอันตราย เพราะก๊าซดังกล่าวจะเข้าไปแย่งออกซิเจนในเลือดถึงขั้นเสียชีวิตได้
ทางการแพทย์เมื่อหลายปีก่อนใช้เป็นยาสลบในการทำฟัน แต่พบข้อด้อยหลายอย่างจึงเลิกใช้ ปัจจุบันนิยมใช้บรรจุในเครื่องทำวิปปิ้งครีมหรือเป็นส่วนผสมหรือใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเพิ่มความเร็วรถ
สำหรับผู้ที่นำก๊าซไนตรัสออกไซด์ออกมาจำหน่ายหรือนำมาบรรจุในลูกโป่งนั้น ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา ในข้อหาจำหน่ายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต
ยาเสพติดที่ยังคงระบาดต่อเนื่องและยังปราบปรามไม่จบสิ้นนอกเหนือจากยาบ้าแล้วยังมียาเสพติดประเภท 4 คูณ 100 ใบกระท่อมผสมยาแก้ไอน้ำดำ ยากันยุงและน้ำอัดลม ซึ่งผู้เสพจะมีอาการเคลิ้ม มึน งง กล้าพูดกล้าทำ ทำให้มีอาการประสาทหลอน เมื่อดื่มไปนาน ๆ จะทำให้สมองเสื่อมและเสียชีวิตลงในที่สุด
ล่าสุด มียาเสพติดแนวใหม่ที่ระบาดในหมู่นักเรียน เป็นพฤติกรรมของวัยรุ่นที่ใช้ยารักษาโรคไปในทางลบ ที่กลายเป็นเรื่องเล่าและถูกพูดถึงในโลกโซเชียลมีเดีย กรณีเด็ก ม.2 มีพฤติกรรมตกเป็นธาตุของยาแก้ปวดผสมน้ำอัดลมนอนหมดสติอยู่ในห้องนอน น้ำลายฟูมปาก มีอาการมึนเมาไม่ได้สติ จนกระทั่งแม่ของเด็กไปพบก่อนจะเกิดเหตุร้าย ต่อจากนั้นผู้ปกครองได้ไปแจ้งกับฝ่ายปกครองของโรงเรียนว่ามีเด็กตกเป็นของยาแก้ปวดผสมน้ำอัดลมหลายรายด้วยกัน หวั่นเป็นอันตรายถึงชีวิตและให้ทางโรงเรียนเข้มงวดกวดขันอย่างจริงจัง 
ยาแก้ปวดผสมน้ำอัดลม ความจริงเรื่องนี้เคยได้ยินมาได้สักระยะหนึ่งแล้วแต่เพิ่งจะถูกเปิดโปงจากปากของคนเป็นแม่ที่ลูกต้องตกเป็นทาสของยาแก้ปวด 
ซึ่งยาแก้ปวดชนิดนี้มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง โครงสร้างทางเคมีคล้ายยาเสพติดประเภทมอร์ฟีน มักใช้ในผู้ที่มีอาการปวดรุนแรง เช่น อาการปวดประจำเดือน ปวดตามข้อ เป็นต้น
ยาดังกล่าวสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา แต่ต้องขายและควบคุมการใช้โดยเภสัชกรเท่านั้น 
อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือกับร้านขายยาทั่วไปด้วยห้ามจำหน่ายให้กับเด็กที่มีพฤติกรรมนำยาดังกล่าวไปใช้ผิดประเภท เนื่องจากพบว่ามีรายงานการเสียชีวิตแล้วในต่างประเท