วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เมื่อเพื่อนเมินเฉย ไม่สนใจคนที่อยู่ตรงหน้า โดยเล่นแต่โทรศัพท์มือถือ เพื่อนจะรู้สึกอย่างไร (Phubbing)

บทความโดย: รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล และนส.เสาวภาคย์ ทวีสุข
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ตั้งแต่สมาร์ทโฟนเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ในบ้านหรือนอกบ้าน จะเห็นว่าใครๆ ก็เอาแต่ก้มหน้า กดยุกยิกๆกับมือถือของตนเอง พ่อ แม่ ลูก ถึงแม้จะอยู่ในบ้านเดียวกัน นั่งอยู่ในรถคันเดียวกัน แต่ทุกคนดูเหมือนจะสนใจอยู่กับโทรศัพท์มือถือของตัวเองมากกว่าที่จะพูดคุยหยอกล้อกัน ลูกน้องก้มหน้าจิ้มโทรศัพท์มือถือระหว่างประชุมกับเจ้านาย นักเรียนก้มหน้าแอบใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างครูกำลังสอนในห้องเรียน หรือไม่ว่าจะไปกินข้าวดูหนัง ฟังเพลงกับเพื่อนๆเป็นกลุ่ม เจ้าโทรศัพท์มือถือก็มาขโขยซีน ทำให้คนคุยกันเองน้อยลง เอาเวลาไปแชทกับคนในโลกออนไลน์แทน พฤติกรรมเหล่านี้เราแทบจะเห็นได้ทั่วไปจนชินตา จริงๆแล้ว พฤติกรรมนี้เค้ามีชื่อเรียกเก๋ๆ ว่า Phubbing
 Phubbing (ฟับบิ้ง) คืออะไร
      เป็นคำศัพท์ใหม่ ที่เพิ่งบัญญัติขึ้นเมื่อ พฤษภาคม 2555 โดยกลุ่มนักภาษาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย
      มาจากคำว่า Phone + Snubbing = Phubbing
      หมายถึง การเมินเฉย ไม่สนใจคนที่อยู่ตรงหน้า ด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือต่อหน้าคนๆ นั้น
            คนที่กำลัง "ฟับ (phub)" จะก้มหน้าก้มตาสนใจแต่โทรศัพท์มือถือของตัวเองอย่างเดียว ไม่ดู ไม่มอง ไม่สนทนากับคนรอบข้างซึ่งถือว่าเป็นการกระทำไร้มารยาททางสังคมอย่างมาก
            ปรากฏการณ์นี้ เห็นได้ทั่วๆ ไป พบได้ในทุกๆ ประเทศทั่วโลก เราอาจเรียกกันว่า “วัฒนธรรมก้มหน้า” หรือเรามีชนเผ่าใหม่อุบัติขึ้นบนโลกใบนี้ ได้แก่ "ชนเผ่าหัวก้ม" เพราะดูอย่าง เวลาขึ้นรถไฟฟ้าหรือไปร้านอาหาร เรามักจะเห็นคนรอบๆ ตัวเรากำลังก้มหน้าดูแต่มือถือ ง่วนอยู่กับโทรศัพท์ของตนเอง โดยละเลยการพูดคุยกับคนรอบข้าง ทำให้เกิดเป็นคำถามว่า เอ๊ะ? มันเกิดอะไรขึ้นในสังคมเรา สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม หรือว่า เป็นความผิดปกติของบุคคลกันแน่
 สาเหตุของการ ‘ฟับ
      มีคำอธิบายหลายอย่างเกี่ยวกับสาเหตุของ Phubbing
- ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า คนเราลึกๆ มีความรู้สึกไม่ต้องการอยู่คนเดียว ต้องการเชื่อมโยง ต้องการติดต่อสื่อสารกับคนอื่นตลอดเวลา ต้องการคนอยู่ด้วย ต้องการเป็นที่สนใจ ได้เป็นจุดศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นการที่คนเอาโทรศัพท์ขึ้นมา เช็คเฟสบุ๊ค เช็คไลน์ เช็คอินสตาแกรม อาจจะให้ความรู้สึกเหมือนว่า เค้ากำลังเชื่อมโยงกับคนอื่นอยู่ กำลังเป็นที่สนใจอยู่  ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีๆกับคนๆนั้น
- แต่ว่าในบางครั้ง การที่ใช้โทรศัพท์มือถือในบางสถานการณ์ อาจจะเป็นการใช้ เพื่อหลีกเลี่ยง เพื่อแยกตัว ในสถานการณ์ที่เค้ารู้สึกเบื่อ เกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ อย่างเช่น เวลาเราขึ้นรถไฟฟ้า เราเบื่อที่จะต้องนั่งประจันหน้ากับคนที่เราไม่รู้จัก หรือว่าไม่อยากสนใจคนรอบข้าง เราก็เลือกที่จะควักโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่น เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ต้องไปเผชิญกับความรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ ซึ่งในบางครั้งอาการเช่นนี้เป็นอาการหนึ่งของคนที่เป็นโรค social phobia หรือโรคกลัวการเข้าสังคม ซึ่งคนกลุ่มนี้จะรู้สึกอึกอัดไม่สบายใจ เครียด ตื่นเต้น เวลาที่ต้องอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก แต่คนที่เป็นโรค social phobia จริงๆ นั้นมีน้อยกว่าคนทั่วไปที่เป็นแค่ phubber หรือ คนที่มีพฤติกรรม phubbing
- และอีกสาเหตุหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุของคนส่วนใหญ่ คือ เป็นลักษณะของการติดต่อกันทางพฤติกรรม เช่น กลุ่มเพื่อนไปกินข้าวกัน 4 คน ตอนแรกอาจจะมีแค่ 1-2 คนที่ควักโทรศัพท์มือถือมาเล่น โดยที่ไม่คุยกับเพื่อนที่เหลือ สักพักหนึ่งคนที่เหลืออยู่ก็จะทำตามแม้ว่าตอนแรกอาจจะไม่ได้ต้องการ phubbingเหมือนกับการเป็นโรคติดต่ออย่างหนึ่ง แต่เป็นโรคติดต่อทางพฤติกรรม หรือเป็นเพราะว่าบทสนทนนั้นมันเริ่มน่าเบื่อลงแล้ว หรือเริ่มทำให้รู้สึกอึดอัด
 ผลกระทบ
      ถ้าหากปรากฏการณ์  Phubbing ดำเนินต่อไปเรื่อยๆสังคมจะเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครรู้ เพราะยังไม่มีการทำวิจัยในเรื่องนี้ แต่มีวิจัยงานหนึ่งในต่างประเทศที่นำคนแปลกหน้ามา 74 คน แล้ว จับคู่กัน ให้ต่างฝ่ายต่างคุยอะไรกันก็ได้ เพื่อทำความรู้จักอีกฝ่ายหนึ่ง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ให้ กลุ่มหนึ่งจะมีกระดาษโน้ตวางไว้ และกลุ่มหนึ่งมีโทรศัพท์มือถือวางไว้ โดยที่ไม่ได้ทำอะไรกับโทรศัพท์ เมื่อหมดเวลาพบว่า กลุ่มที่มีโทรศัพท์มือถือวางไว้มีการพูดคุยกันน้อยกว่า และสร้างสัมพันธภาพระหว่างกันแย่กว่า กลุ่มที่มีกระดาษโน้ตวางไว้
     คนที่ได้ชื่อว่าเป็น phubber หรือคนที่ทำพฤติกรรม phubbing มากๆ ได้แก่ คนในวัย 20-30 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ใช้โทรศัพท์มือถืออย่างคล่องแคล่ว แต่ว่าตอนนี้ก็เริ่มระบาดไปยังกลุ่มคนที่มีอายุมาก กับกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
      อาจจะดูเหมือนเป็นพฤติกรรมที่ใครๆก็ทำกัน แต่มันมีผลเสียมากกว่าผลดี คนที่ถูกทำ phubbing ใส่ก็มักจะรู้สึกว่าไม่พอใจ รู้สึกอึดอัด และรู้สึกว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ให้เกียรติกันอย่างรุนแรง
      ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่ามันจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยในต่างประเทศก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวที่จะหยุดพฤติกรรมนี้ อย่างในออสเตรเลีย ก็มีแคมเปญ stop phubbing เพื่อรณรงค์ให้คนกลับมาเชื่อมโยงพูดคุยสื่อสารกันจริงๆ มากขึ้น เงยหน้าขึ้นมาจากจอโทรศัพท์และหันกลับมามองกันและกันให้มากขึ้น ส่วนในประเทศไทย ก็เริ่มมีคนพูดถึงเรื่องนี้กันบ้าง แต่ยังไม่มากเท่าที่ควร
            ปัจจุบันนี้ถึงแม้เราจะมีเทคโนโลยี มีโทรศัพท์มือถือเพื่อการติดต่อสื่อสารที่ดีขึ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้คนเชื่อมโยงระหว่างกันและกันทางอารมณ์หรือจิตวิญญาณมากขึ้นเลยแม้แต่นิด  ถ้าหากคุณกำลังทำพฤติกรรม "ฟับ" อยู่ ถึงเวลาที่ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วหละ ช่วยละสายตาจากจอมามองหน้าสบตาผู้คนรอบข้างบ้าง ช่วยให้ความหวังกับสังคมที่เราอยู่ว่า เรายังเป็นสังคม "มนุษย์" อยู่นะไม่ใช่สังคม "ชนเผ่าหัวก้ม"
            คาดว่าใครหลายๆ คน คงจะคุ้นเคยกับเพลงฮิต “โอมจงเงย” ของคุณแสตมป์  อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ที่มีเนื้อร้องว่า “แต่แล้วเธอก็ไม่มอง แล้วเธอก็ไม่มา ก้มหน้าก้มตาละเลงนิ้วมือลงบนเครื่องนั้น ยิ้มหัวเราะคนเดียว ไม่เหลียวข้างหน้าข้างหลัง ต้องจบลงที่ฉัน พนมนิ้วมือท่องคาถา…” กันดีอยู่แล้ว และใครหลายคน ก็คงจะเคยได้สัมผัสกับการ “ฟับ (Phub)” มาไม่มากก็น้อยเช่นกัน     ลองคิดดูสิว่า เวลาที่คุณกำลังเล่าให้เพื่อนสนิทฟังเรื่องที่คุณเพิ่งจะเลิกกับแฟน คุณเกือบจะร้องไห้อยู่ร่อมร่อ ในขณะที่เพื่อนของคุณกลับวุ่นอยู่กับการอัพสเตตัสผ่านโทรศัพท์มือถือ ถ้าคุณสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ขอให้รู้ไว้ว่าคุณเพิ่งจะโดน  “ฟับ”

ฟับบิ้ง (Phubbing)  คืออากัปกริยาของการให้ความสนใจกับโทรศัพท์มือถือมากกว่าคนรอบข้างหรือสถานการณ์แวดล้อม ที่ประเทศออสเตรเลีย มีกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง นำโดย อเล็กซ์ ไฮย์ นักศึกษาปริญญาโทวัย 23 ปี ได้ริเริ่มแคมเปญ “Stop Phubbing”  ผ่านทางเว็บไซต์ www.stopphubbing.com เพื่อรณรงณ์ให้คนเงยหน้าขึ้นมาจากจอโทรศัพท์และหันกลับมามองกันและกันให้มากขึ้น

หลังจากได้รับความสนใจจากทั่วโลก แคมเปญดังกล่าวก็มาถึงประเทศไทย ที่ซึ่ง ใครๆ ก็ ฟับ กันทุกที่ ทุกเวลา แม้แต่จะเดิน กิน เรียนหนังสือ หรือแม้แต่ในวินาทีเสี่ยงชีวิต อย่างการเดินข้ามถนนก็ตาม จากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่มีอายุตั้งแต่ 12 ถึง 45 โดยเวเบอร์ แชนด์วิค ประเทศไทย (Weber Shandwick)พบว่า คนส่วนใหญ่สารภาพว่าตนเองมีพฤติกรรม ฟับ ขณะที่ผู้ร่วมตอบแบบสำรวจท่านหนึ่งระบุว่า เพื่อนของผู้ถูกสำรวจเกือบจะถูกรถชนเนื่องจากเพลิดเพลินกับการ ฟับ ระหว่างการข้ามถนน!
นอกจากนี้ ผลสำรวจเผยว่า คนส่วนมาก ฟับ เพราะรู้สึกเบื่อ ไม่มีอะไรทำ หรือมีเรื่องสำคัญต้องจัดการ เด็กหญิงวัย 12 ปี ผู้ตอบแบบสำรวจ กล่าวว่า “บางครั้งหนู ฟับ เพราะหนูไม่สามารถพูดสิ่งที่หนูอยากพูดกับคนที่อยู่ตรงหน้าได้ แต่หนูสามารถระบายอารมณ์โกรธให้เพื่อนๆฟังได้ผ่านโลกออนไลน์”
 “ผม ฟับ เพราะคนรอบข้างผมไม่รู้สึกอะไรกับสิ่งที่ผมทำ” ชายอายุ 35 ปีท่านหนึ่งกล่าว
 ผู้ถูกสำรวจวัย 20 ปีอีกท่านหนึ่งกล่าวว่า“เมื่อใดก็ตามที่ผมรู้สึกประหม่าเวลาอยู่ท่ามกลางผู้คน ผมก็จะ ฟับ การแชทกับเพื่อนก็สามารถทำให้ผมรู้สึกมั่นใจขึ้นได้”
เรา ฟับ ในร้านอาหาร ในบาร์ ระหว่างการสนทนา หรือแม้กระทั่งในงานแต่งงาน แต่เราเคยรู้หรือไม่ว่ามันส่งผลกระทบต่อคนรอบตัวเราอย่างไร การโดน ฟับ ทำให้หลายคนรู้สึกหงุดหงิด โมโห รวมไปถึงไม่ได้รับความสนใจจากคู่สนทนา

ด้วยความนิยมของสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นประกอบยอดขายที่เพิมขึ้นเท่าตัวในช่วงสองปีที่ผ่านมา แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะละสายตาไปจาก “ของเล่น” ชิ้นนี้ เราจะเห็นการการ ฟับ ได้ชัดที่สุดระหว่างการโดยสารรถยนตร์ร่วมกับเพื่อน หรือบนรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งผู้ตอบแบบสำรวจถือว่าเป็นการ ฟับ ในสถานการณ์ที่ยอมรับได้มากที่สุด ส่วนการ ฟับ ที่คนส่วนใหญ่รับไม่ได้ที่สุด คือการ ฟับ ทั้งๆ ที่กำลังมีคู่สนทนาเพียงหนึ่ง หรือไม่กี่คน
“ฉัน ฟับ ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันทำให้ฉันมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ‘จริงๆ’ น้อยลง เพราะไม่ได้สื่อสารกับคนรอบข้าง ตอนนี้ฉันจึงพยายามจะ ฟับ ให้น้อยลง” เด็กสาววัย 15 ปีกล่าว “ฉันคิดว่าเราไม่ควรจะ ฟับ ในขณะที่ผู้อื่นพยายามจะคุยกับเรา แต่ถึงแม้ฉันจะรู้ว่าฉันไม่ควรจะ ฟับ ฉันก็ยัง ฟับ อยู่ดี”

พวกเราล้วนแล้วแต่ต่อต้านการ ฟับ แต่ถึงกระนั้นเราก็ทำอยู่ดี แล้วทำไมเราถึงหยุด ฟับ ไม่ได้ล่ะ?

ผลการสำรวจจากเวเบอร์ แชนด์วิค :
จากผลการสำรวจพบว่า 71% ของผู้ถูกสำรวจเคย ฟับ  ในขณะที่ 96% เคยถูก ฟับ โดย 80% ของผู้ที่เคยโดน ฟับ รู้สึกหงุดหงิด โมโห รวมถึงรู้สึกเหมือนไม่ได้รับความสนใจจจากคู่สนทนา 80% เลือกให้การสนทนาแบบตัวต่อตัวเป็นสถานณการณ์ที่ไม่เหมาะสมที่จะ ฟับ มากที่สุด 90% ของผู้ถูกสำรวจ ฟับ เพราะความเบื่อหน่ายหรือเพราะมีเรื่องสำคัญทำให้ต้อง ฟับ สถานการณ์ที่การ ฟับ ถือเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับได้มากที่สุดคือระหว่างการเดินทาง ไม่ว่าเป็นทางรถยนตร์ หรือทางรถไฟฟ้าบีทีเอส/บีอาร์ที รองลงมาคือบาร์ 9% ของผู้ถูกสำรวจกล่าวว่าไม่มีสถานการณ์ใดที่การ ฟับ ถือเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับได้ และ 84.31% ลงความเห็นว่าตนเองต่อต้านการ ฟับ