วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

สิทธิ กับ ระเบียบวินัย ตอบคำถามกันหน่อย

สิทธิ VS ระเบียบวินัย จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อาจทำให้สังคมมองว่าเด็กสมัยนี้ดูแรง ดูกล้ามากขึ้น แต่การจะถ่ายทอดและบ่มเพาะให้คนรุ่นใหม่เข้าใจกับคำว่า 'สิทธิ' และ 'ระเบียบวินัย' ได้อย่างลึกซึ้งนั้นก็ยังคงต้องเป็นหน้าที่ที่ปฏิเสธไม่ได้ของผู้ใหญ่ในสังคม สังคมไทยยังไม่เปิดโอกาสให้มีเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดของคนรุ่นใหม่ได้อย่างเต็มที่ เพราะสังคมไทยยังติดอยู่ในกรอบความคิดแบบมายาคติที่มีต่อนักเรียนนักศึกษาว่าต้องเป็นไป ตามกรอบที่สังคมกำหนด คือ เชื่อฟัง และ ไม่ตั้งคำถาม และยังสะท้อนให้เห็นถึงการปะทะกันของแนวคิดระหว่างกระแสโลกานุวัตร กับ ประเพณีดั้งเดิม ที่คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามและเรียกร้องวิถีชีวิตที่แตกต่างจากระเบียบประเพณีเดิม สังคมไทยยังต้องการให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ผลิต "พลเมือง" ที่มีประสิทธิภาพในการเข้าสู่ตลาดในระบบทุนนิยม มากกว่าผลิตบุคคลที่มีความคิดและสามารถตั้งคำถามกับสังคมได้ สังคมไทยมีความเกลียดชังคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากตนเอง และไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิดอย่างแท้จริง "จริงๆ แล้วคำว่า 'ระเบียบวินัย' เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นในสังคมสมัยใหม่ ถูกนำมาใช้ในการควบคุมวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบ และขับเคลื่อนสังคมให้ดำเนินไปภายใต้การปกครองอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็พึงมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัยและความเหมาะสม และไม่พึงละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิเสรีภาพในความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิในการพูด สิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง และสิทธิที่จะกระทำ หรือ ไม่กระทำ ในสิ่งที่ไม่ไปทำร้ายชีวิตผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องยอมรับ และก้าวข้ามให้พ้นความเกลียดชังที่มีต่อคนที่ความคิดเห็นแตกต่างจากตนเองให้ได้" หากสังคมไทยยังต้องการบุคลากรของประเทศที่มีประสิทธิภาพ ก็ต้องกลับมาดูกันว่าวันนี้เราได้ให้พื้นที่กับคำว่า 'สิทธิ' กับเด็กรุ่นใหม่มากแค่ไหน ได้อบรมและทำความเข้าใจเรื่อง 'ระเบียบวินัย' อย่างลึกซึ้งและจริงใจต่อกันหรือเปล่า "คำว่าระเบียบวินัยในสังคมยังต้องมี แต่ต้องแยกออกจากสิทธิขั้นพื้นฐาน ประเทศนี้ต้องมีระเบียบวินัยไม่งั้นประเทศก็ล่ม เราเพียงแต่มองว่าสิทธิขั้นพื้นฐานก็น่าจะคู่กับระเบียบวินัยไปด้วยกัน"

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

Classic Period รูปแบบเพลง

รูปแบบบทเพลงสมัยคลาสสิค รูปแบบและโครงสร้างของดนตรีที่บรรเลงด้วยวงออร์เคสตร้าในยุคคลาสสิค มักจะเป็นบทเพลงยาวๆ ที่ประกอบด้วยหลายๆท่อนในเพลงเดียวกัน แต่ละท่อนมักจะมีลักษณะที่ตัดกันทั้งจังหวะ ความเร็ว-ช้า และคุณลักษณะอื่นๆ เช่น สีสัน และความดัง ความเบาของท่วงทำนอง โดยทั่วไปแล้วบทเพลงสมัยนี้มักจะมี 4 ท่อนเรียงกันประกอบด้วย 1. ท่อนเร็ว (Fast Movement) 2. ท่อนช้า (Slow Movement) 3. ท่อนที่เป็นเพลงเต้นรำซึ่งสัมพันธ์กับบทเพลง (Dance Movement) 4. ท่อนเร็ว (Fast Movement) ที่จบเป็นการส่งท้ายเพลง เมื่อโครงสร้างเป็นเช่นนี้ก็เลยพูดกันเล่นๆติดปากว่า รูปแบบของบทเพลงยุคคลาสสิค คือ เร็ว-ช้า-เต้นรำ แล้วก็เร็ว (Fast-Slow-Dance-Fast) รูปแบบของเพลงลักษณะนี้พบมากในวงดนตรี Chamber Music โดยเฉพาะอย่างยิ่ง String Quatit แต่บทเพลงประเภท Sonata อาจจะประกอบด้วย 2-3 หรือ 4 ท่อนก็ได้ บทเพลงประเภท Symphony จะแต่งขึ้นสำหรับวง Orchestra Quartet (2 Violins, Viola และ Cello) แต่ประเภท Sonata สำหรับเครื่องดนตรีเพียง 2 ชิ้นเท่านั้น และบทเพลงเหล่านี้จะมีรูปแบบหลากหลายแล้วแต่คีตกวีจะเลือกใช้ เช่น เป็นแบบ A-B-A หรือแบบ Themes Variation บทเพลงแต่ละท่อนมักจะมีลักษณะที่ขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด มีหลายอารมณ์ และเมื่อพูดถึงดนตรียุคคลาสสิค ก็มักจะนึกถึงคีตกวีที่เป็นหลักของยุคนี้ 3 ท่าน คือ Haydn, Mozart และ Beethoven ซึ่งมีบุคลิกแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Beethoven ซึ่งมีผลงานโดดเด่นเป็นพิเศษด้วยสีสันและอารมณ์รุนแรง ขณะที่ Haydn และ Mozart มีลักษณะแบบละครแฝงอยู่ด้วย Mozart เองชอบแต่งเพลงที่สนุกสนาน กุ๊กกิ๊ก มีลูกเล่นมาก ได้อารมณ์สุนทรีและน่ารักๆ ในจำนวนบทเพลงประเภท Sonata และ Theme and Variation นั้น คำว่า “Sonata” มีสิ่งที่จะต้องอธิบายในรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด คำว่า Sonata ซึ่งเป็นประเภทของบทเพลงกับคำว่า Sonata Form นั้นเป็นคนละอย่าง คนละความหมาย Sonata เฉยๆ หมายถึงบทเพลงที่มีหลายท่อนเป็นแบบเร็ว-ช้า-ระบำ-เร็ว แต่คำว่า Sonata Form หมายถึงลักษณะของบทเพลงท่อนใดท่อนหนึ่งเพียงท่อนเดียวซึ่งประกอบด้วยส่วนสำคัญๆ 4 ส่วนด้วยกันคือ Exposition เป็นท่อนที่มีทำนองหลัก 2 ทำนอง ทำนองที่หนึ่ง เล่นในบันไดเสียงที่เป็นเสียงหลักของบทเพลงแล้วตามด้วยทำนองสั้นๆ ที่เชื่อมไปสู่ทำนองที่สอง ซึ่งเปลี่ยนไปบรรเลงในบันไดเสียงอื่นและจบด้วยทำนองนี้จึงได้ชื่อส่วนแรกนี้ว่า Exposition Development เป็นการนำเอาทำนองที่ได้เล่นมาแล้วมาพัฒนา คือขยายในรายละเอียด ใส่กลเม็ดเด็ดพรายต่างๆเข้าไป มีการปรับเสียงไปเล่นในบันไดเสียงอื่นๆต่อไป Recapitulation ส่วนที่ 3 กลับมาบรรเลงทำนองหลักในบันไดเสียงเดิมส่วนที่ 1 เหมือนเมื่อเริ่มต้นแล้วเชื่อมด้วยทำนองสั้นๆ ก่อนที่จะบรรเลงทำนองที่ 2 ในบันไดเสียงหลักจบลงด้วยทำนองในบันไดเสียงหลัก Coda ส่วนที่ 4 เป็นท่อนจบหรือลูกหมดบรรเลงในบันไดเสียงหลักที่เป็นรูปแบบของ Sonata Form ซึ่งอาจจะใช้กับท่อนไหนของบทเพลงก็ได้

วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

ตอนนี้เป็นเวลาของการสอบเข้า ไม่สนใจเรื่องสอบผ่าน ผมจะพาลูกผมไปติว...

วิธีสร้างวินัยในตนเอง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม ตัดตอนจาก "วินัยเรื่องที่ใหญ่กว่าที่คิด" คัดลอกจาก http://www.budpage.com/ ความหมายที่แท้จริงของคำว่า "วินัย" วินัยเป็นการจัดสรรโอกาส วินัยนี้มักจะเข้าใจกันในความหมายเชิงลบ คือไปเข้าใจเป็นเครื่องบังคับควบคุม ซึ่งยังไม่ถูกต้อง เรียกว่าเป็นความหมายสำหรับคนที่ยังไม่ได้พัฒนา ความหมายที่ต้องการของวินัยเป็นความหมายเชิงบวก กล่าวคือวินัยเป็นการจัดสรรโอกาส ทำให้ชีวิตและสังคมมีระบบระเบียบ และมีโอกาสเกิดขึ้น ทำให้ทำอะไร ได้คล่องดำเนินชีวิตได้สะดวก ดำเนินกิจการได้สะดวก ถ้าชีวิตและสังคมไม่มีระเบียบ ไม่เป็นระบบ ก็จะสูญเสียโอกาส ในการที่จะดำเนินชีวิตและทำกิจการของสังคมให้เป็นไปด้วยดี ตลอดจนทำให้การพัฒนาได้ผลดี ทำไมจึงต้องจัดระเบียบ ทำไมจึงต้องมีวินัย ถ้าชีวิตวุ่นวาย การเป็นอยู่ของมนุษย์สับสนหาระเบียบไม่ได้ โอกาสในการดำเนินชีวิตก็จะหายไป เช่นในที่ประชุมนี้ ถ้าเราไม่มีระเบียบเลย โต๊ะเก้าอี้ก็วางเกะกะทั่วไป คนก็เดินกันไปเดินกันมา อาตมภาพพูดนี่ก็ฟังกันไม่รู้เรื่อง สับสน แม้แต่เมื่ออยู่ในบ้านของเรา ถ้าสิ่งของตั้งวางไม่เป็นระเบียบกระจัดกระจายอยู่ตรงโน้นตรงนี้ แม้แต่จะเดินก็ยาก เดินไปก็เตะโน่น ชนนี่ กว่าจะถึงประตูก็เสียเวลาตั้งหลายนาที แต่พอเราจัดของให้เป็นระเบียบ ตกลงกันว่าตรงนี้เป็นทางเดินก็เว้นไว้เป็นช่องว่างเราเดินพรวดเดียวก็ถึงประตูทำให้สะดวกรวดเร็ว กิจการต่างๆ ต้องมีระเบียบหรือต้องอาศัยวินัยมาจัดสรรโอกาสทั้งนั้น ที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น เมื่อแพทย์จะผ่าตัดศัลยแพทย์จะต้องการวินัยมาก จะต้องจัดระเบียบเครื่องมือที่ใช้ตามลำดับการทำงานอย่างเคร่งครัดทีเดียว ต้องตกลงกันไว้ก่อนว่า ขั้นตอนใดจะใช้เครื่องมือไหน และส่งเครื่องมือให้ถูกต้อง คนนี้ยืนตรงนี้ จังหวะนี้ ถึงเวลาไหนส่งเครื่องอันไหนเพราะอยู่ในช่วงของความเป็นความตาย พยาบาลที่จัดเตรียมเครื่องมือ ต้องพร้อมและต้องจัดให้ถูกลำดับทุกอย่างผิดนิดไม่ได้ เพราะงานนั้นต้องเป็นไปตามเวลาที่จำกัด ฉะนั้นในกิจการที่ยิ่งมีความสำคัญ มีความซับซ้อน มีความเป็นความตายเข้ามาเกี่ยวข้อง วินัยจะยิ่งต้องมีความเคร่งครัดแม่นยำมากยิ่งขึ้น ในสังคมวงกว้างออกไป ถ้าชีวิตคนไม่ปลอดภัย สังคมไม่มีความเป็นระเบียบ มีโจร มีขโมย มีการทำร้ายกัน เราจะไปไหนเวลาไหน ก็ไม่สะดวก เพราะกลัวว่าถ้าไปเวลานี้ หรือผ่านสถานที่จุดนั้นแล้ว อาจจะถูกทำร้ายได้ เมื่อคนไม่กล้าเดินทาง มีความหวาดระแวง กิจการงานของสังคมและการ โดยนัยนี้ วินัยจึงช่วยจัดทำให้เกิดระบบระเบียบในชีวิตและสังคมขึ้น ทำให้เกิดความคล่องตัว จะทำอะไรต่ออะไรก็ได้ผล ฉะนั้น การจัดวางวินัยจะต้องคำนึงถึงความมุ่งหมายนี้อยู่เสมอ เช่นต้องตรวจสอบว่า การจัดวางวินัยของเรามีความมุ่งหมายชัดเจนหรือไม่ ที่จะช่วยให้ชีวิตและกิจการงานเป็นไปได้ด้วยดี เกิดมีโอกาส และทำให้มั่นใจว่า เมือเราจัดระบบระเบียบเรียบร้อยดีแล้ว โอกาสในการพัฒนาชีวิตจะเกิดขึ้น ความเป็นอยู่และกิจการต่างๆ จะเป็นไปด้วยความคล่องตัว นำไปสู่จุดหมายดีงามที่ต้องการ ในการพัฒนามนุษย์ระยะยาว ถ้าไม่มีวินัยเป็นฐาน ก็จะทำให้เกิดความขัดข้องวุ่นวายสับสน ฉะนั้น เราจึงจัดวางวินัยเพื่อความมุ่งหมายระยะยาว ในการพัฒนามนุษย์ด้วย และด้วยเหตุนี้ วินัยจึงเรื่องสำคัญในสังคมประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องการโอกาสเหล่านี้ ในการที่จะให้มนุษย์มาสื่อมาแสดงออก เพื่อนำเอาศักยภาพของตัวเองออกมาร่วมในการสร้างสรรค์สังคมอย่างได้ผล สรุปว่า วินัยมีความหมายเชิงบวก คือ เป็นการจัดสรรโอกาสให้ชีวิตและสังคมดำเนินไปโดยสะดวก คล่องตัว ได้ผลมีประสิทธิภาพ และเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์ด้วย ความสำคัญของวินัย อยู่ที่การฝึกคนให้มีศีล ศีลนั้นมีความสำคัญมาก เมื่อคนตั้งอยู่ในวินัยอย่างที่เรียกกันว่าเป็นคนมีวินัยแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม ซึ่งมี ๗ ประการด้วยกัน ความมีวินัยหรือศีลนี้เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา หรือแสงเงินแสงทองนั้นอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อพระอาทิตย์จะอุทัย ย่อมมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อน ฉันใด ชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้น โดยมีความถึงพร้อมด้วยศีลหรือความมีวินัยนี้เป็นสิ่งบ่งบอกเบื้องแรกด้วย ฉันนั้น ถ้าคนตั้งอยู่ในวินัยมีศีลแล้ว ก็มั่นใจได้ว่าชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้น เท่ากับว่าพระพุทธเจ้าตรัสให้คำรับรองไว้ว่าศีลหรือความมีวินัยเป็นรุ่งอรุณของการศึกษา เป็นสัญญาณว่ามนุษย์จะมีการพัฒนาและมีชีวิตที่ดีงามต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

Orchestra Classic Period

วงออร์เคสตร้าในยุคคลาสสิค ได้กล่าวถึงเรื่องราวของลักษณะทางดนตรีหรือ Style ของดนตรีในยุคคลาสสิค คือระหว่างปี ค.ศ. 1750-1820 ไปแล้ว ต่อไปนี้จะกล่าวถึงลักษณะของวงดนตรีที่เรียกว่าวงออร์เคสตร้าในยุคนี้บ้าง พอเป็นที่เข้าใจกันได้ วงออร์เคสตร้าในสมัยบาโร้คนั้นมีรูปแบบไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไปตามใจของคีตกวีว่าบทเพลงไหนจะใช้เครื่องดนตรีอะไรบ้าง แต่พอตกมาถึงยุคคลาสสิค จึงกลายเป็นวงดนตรีที่มีการจัดระบบระเบียบชัดเจนขึ้น คือวงออร์เคสตร้ายุคนี้จะประกอบด้วยเครื่องดนตรี 4 ประเภท ได้แก่ กลุ่มเครื่องสาย กลุ่มพวกปี่และขลุ่ย กลุ่มพวกแตรต่างๆ และกลุ่มเครื่องเคาะเครื่องตี ซึ่งนิยมกำหนดเครื่องดนตรีไว้ดดยประมาณดังนี้ เครื่องสาย (String) ได้แก่ ไวโอลิน 1 และ 2 วิโอล่า เชลโล และดับเบิ้ลเบสส์ ปี่และขลุ่ย (Wood wind) ได้แก่ ฟลุท 2 โอโม 2 คลาวิเนต 2 และบาสซูน 2 แตร (Brass) ได้แก่ เฟรนซ์ฮอร์น 2 และทรัมเปต 2 (ทรอมโบนใช้ใน opera และเพลงศาสนา) เครื่องตี (Percussion) ใช้กลอง Timpani เป็นหลัก มีข้อสังเกตว่า กลุ่มเครื่องสายนั้นใช้เป็นหลักของวง พวกปี่-ขลุ่ยและแตรใช้เป็นคู่ๆ คือ อย่างละ 2 คัน คลาริเนตนั้นเพิ่มเข้ามาจากที่ไม่เคยใช้มาก่อน ส่วนทรอมโบนจะใช้เฉพาะในอุปรากรและบทเพลงทางศาสนาดังที่ Haydn และ Mozart ใช้ในคีตนิพนธ์ของท่าน อนึ่งจำนวนนักดนตรีในวงก็เพิ่มขึ้นจากยุคบาโร้ค แต่อาจจะปรับเปลี่ยนได้ตามกาละเทศะ เช่น Haydn ตามปกติจะใช้วงขนาด 25 คน แต่พอไปบรรเลงที่ London ในปี 1795 จะเพิ่มจำนวน เป็น 60 ตน คีตกวีในยุคคลาสสิคนิยมแต่งเพลงแสดงให้เห็นความโดดเด่นของสีสันหรือสุ้มเสียงที่มีลักษณะเฉพาะของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดจึงไม่มีการใช้เครื่องดนตรี 2 ชิ้น เล่นทำนองเดียวกันทั้งท่อนอย่างที่เป็นในยุคบาโร้ค แต่มักจะผลัดกันแสดงความโดดเด่นโดยกำหนดให้เครื่องดนตรีบรรเลงในแนวทำนองที่ต่างกัน และเปลี่ยนบ่อยๆ ทำนองหลักอาจจะเริ่มด้วยวงออร์เคสตร้า จากนั้นก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเครื่องสายและตามด้วยปี่-ขลุ่ย เป็นต้น เครื่องดนตรีแต่ละกลุ่มจะมีบทบาทหน้าที่ของตนโดยเฉพาะกลุ่มเครื่องสาย ได้แก่ ไวโอลิน วิโอล่า เชลโล และเบส ทำหน้าที่หลักโดยเป็นกระดูกสันหลังของวงออร์เคสตร้า โดยใช้ไวโอลิน 1 บรรเลงทำนองสำคัญ เครื่องสายเสียงต่ำบรรเลงแนวประสานเสียเป็นส่วนมาก ปี่-ขลุ่ย จะบรรเลงในแนวทำนองที่ตัดกันกับกลุ่มเครื่องสายและบรรเลงเดี่ยวบางทำนองเป็นครั้งคราว ส่วนออร์แกนและทรัมเป็ตจะสร้างความรู้สึกในพละกำลัง ในช่วงที่ต้องการเสียงดังหนักแน่นเพิ่อจะเพิ่มเติมแนวประสาน แต่ไม่ค่อยใช้บรรเลงทำนองหลัก และกลองทิมปานี่จะตีเฉพาะในช่วงที่เน้นจังหวะจะโคน และแสดงถึงจุดสำคัญของบทเพลง เป็นต้น โดยทั่วไปแล้ววงออร์เคสตร้าสมัยคลาสสิคแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่น ความแปรผันตามความต้องการในการแสดงอารมณ์ สีสัน และความมีลักษณะพิเศษของเครื่องดนตรีแต่ละชนิด ซึ่งคีตกวีสามารถจะเลือกใช้ได้ตามใจ เพื่อให้บทเพลงของตนมีสีสัน ได้อารมณ์และความรู้สึกอย่างที่ผู้แต่งต้องการ

วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

Classic Period 02

ลักษณะสำคัญของดนตรียุคคลาสสิค 1. ให้อารมณ์ที่ขัดแย้งกันในบทเพลงหนึ่ง หรือในท่อนหนึ่งๆจะมีหลายอารมณ์ มีการเปลี่ยนอารมณ์เพลงอย่างรวดเร็วทันทีทันควัน และบ่อยๆ แสดงงความขัดแย้ง และตรงข้ามกันอย่างชัดเจน แต่ก็อยู่ในกรอบของบทเพลงที่ผู้แต่งจะกำหนดทั้ง Haydn, Mozart และ Beethoven มีความสามารถในการแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งทางอารมณ์นี้อย่างมีเหตุผลและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ตลอดทั้งเพลง 2. จังหวะ ใช้จังหวะหลากหลาย ไม่อาจจะเดาล่วงหน้าคาดการณ์ได้เลยว่าต่อไปข้างหน้าจะมีรูปแบบอย่างไร ไม่เหมือนยุคบาโร้คที่พอฟังไปสัก 2-3 ห้องก็จะทราบได้เลยว่าตลอดทั้งเพลงจะมีจังหวะแบบไร แต่ในยุคคลาสสิคนั้นอาจจะหยุดโดยกระทันหัน หรือลักจังหวะและมีการใช้เสียงสั้นๆ ยาวๆ สลักกันไปมาบ่อยๆ รวมทั้งรูปแบบของจังหวะจะโคนด้วย 3. ผิวพรรณ (Texture) ของบทเพลงยุคนี้แตกต่างกับบทเพลงแบบหลายทำนอง (Polyphony) ของ Baroque โดยสิ้นเชิงเพราะเป็นแบบ Homophonic คือมีทำนองเดียวและใช้การประสานเสียงแบบง่ายๆเสียเป็นส่วนมาก แต่ก็เอาแน่ไม่ได้เพราะบางทีขึ้นต้นทำนองเดียวและมีเสียงประสาน แต่จู่ๆก็อาจจะกลายเป็นหลายทำนอง หรือไม่ก็เป็นทำนองสั้นๆ มาต่อๆ กันก็เอาแน่ไม่ได้ ดังนั้นผิวพรรณของบทเพลงก็ผันแปรไปได้เช่นเดียวกับจังหวะ 4. ทำนองเพลง (Melody) ทำนองของบทเพลงยุคคลาสสิค ฟังคล้ายเพลงร้อง จำง่าย แม้แต่เพลงก็ถือกันว่าชั้นสูงยังนำทำนองมาจากเพลงพื้นบ้าน (Folk) หรือเพลงสมัยนิยม (Popular Music) ได้ ตัวอย่างเช่น บทคีตกวีนิพนธ์บางบทของ Mozart นำมาจากเพลงพื้นบ้านฝรั่งเศสที่ชื่อ Twinkle little star และบ่อยครั้งที่ทำนองแบบนี่ก็ยังเขียนไว้ในลักษณะเดิมของเพลง Pop ด้วยซ้ำไป โครงสร้างของทำนองเพลงมันจะเป็น 2 ส่วน หรือ 2 วลีเท่าๆกัน คือเป็นแบบ A-A ที่เริ่มต้นเหมือนวลีแรก แต่จบต่างกันคล้ายๆเพลงเด็กแบบ Many Had A Little Lamb ซึ่งตรงข้ามกับบาโร้คที่จำยากและสลับซับซ้อน 5. ความดัง-เบา (Dynamic) ในสมัยบาโร้คบทเพลงจะเล่นดังหรือเบาสลับกันเป็นช่วงยาวๆ แต่สมัยคลาสสิคคีตกวีแต่งเพลงให้มีอารมณ์หลากหลายด้วยการบรรเลงแบบค่อยๆ ดังขึ้น หรือค่อยๆ เบาลง บางทีก็ดังกระหึ่มขึ้นมาโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ทำให้คนดูต้องทะลึ่งพรวดจากเก้าอี้ด้วยความประหลาดใจก็มี และเพื่อให้ได้อารมณ์ดังกล่าวมี จึงมีการใช้เปียโนเข้ามาแทนออร์แกน ฮาร์ฟซิคอร์ด และคลาวิคอร์ด ซึ่งนิยมใช้กันในยุคบาโร้ค แม้ว่าเปียโนจะมีใช้มาถึงแค่ ค.ศ. 1700 แล้วก็ตามแต่เพิ่งจะมาเป็นที่นิยมก็ในราว ค.ศ. 1770 นี่เอง แล้วก็ได้กลายเป็นเครื่องมือยอดนิยมไปในยุคนี้ 6. การเลิกใช้ Basso Continuo หรือการเล่นแนวทำนองแบบตามใจ (Improvise) ไปตามแนวของเบสที่กำหนดให้ซึ่งเป็นลักษณะของดนตรียุคบาโร้ค แต่ในยุคคลาสสิคนี้คีตกวีไม่ต้องการใช้การ improvise ของนักดนตรีเพราะมีบทเพลงไม่น้อยที่เขียนให้นักดนตรีสมัครเล่น (amateur) ที่ไม่สามารถจะเล่นทำนองขากจินตนาการของตนเองได้ แล้วตัวคีตกวีเองก็ต้องการแต่งบทเพลงที่บังคับให้นักดนตรีเล่นตามที่ตัวเองแต่งมากกว่าการเล่นบบด้น ดังนั้นลักษณะของแนวเบสที่กำหนดไว้ล่วงหน้า (Basso Contimuo) จึงค่อยๆหมดไป